xs
xsm
sm
md
lg

“อ.ยักษ์” ผนึกกำลัง “โจน จันได” ออกหุ้น-ระดมทุน SAVE “ชุมพรคาบาน่า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อ.ยักษ์” จับมือ “โจน จันได” เตรียมแถลงข่าวเปิดขายหุ้น “บ.ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม” เพื่อรักษา “ชุมพรคาบาน่า” สานปณิธาน “ศาสตร์พระราชา” ก่อนถูกฮุบขายทอดตลาด ตั้งเป้าระดมทุนให้ครบ 130 ล้าน ด้าน “วริสร” ชี้ บ.บริหารสินทรัพย์ต่างชาติมั่วใช้กฎหมายสมัย IMF ปั่นยอดเงินกู้ หวังยึดแผ่นดินหาดทุ่งวัวแล่น ยันชุมพรคาบาน่าไม่เคยขาดทุน ขณะที่ “พิเชษฐ” แจงโครงสร้างธรรมธุรกิจ สินค้าหลากหลาย เครือข่ายแน่นปึ้ก

นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตาและท้าทายระบอบทุนอย่างยิ่ง สำหรับการประกาศขาย “หุ้น” ของ “ธรรมธุรกิจ” องค์กรธุรกิจเพื่อสังคมตามศาสตร์พระราชาที่เกิดจากการผนึกกำลังของเครือข่ายอินทรีย์ ที่นำโดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, โจน จันได นักเก็บเมล็ดพันธุ์ แห่งสวนพันพรรณ จ.เชียงใหม่ และ “หนาว” พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีศิริภิญโญ ที่เคยทุ่มเงินนับร้อยล้านเพื่อช่วยเหลือชาวนา และปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธรรมธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อต้องการะดมทุนซื้อ “ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท” เพื่อรักษารีสอร์ตและศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมและสร้างคนตามแนวทางศาสตร์พระราชา ที่กำลังจะถูกขายทอดตลาดในเร็วๆนี้

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออาจารย์ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานที่ปรึกษาธรรรมธุรกิจ
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ในฐานะประธานที่ปรึกษาธรรรมธุรกิจ ระบุว่า ขณะนี้ชุมพรคาบาน่ามีหนี้สิน อยู่ 130 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ธรรมธุรกิจได้ดำเนินการระดมทุนเพื่อ Save ชุมพรคาบาน่า มาสักพักหนึ่งแล้ว โดยเป็นการระดมทุนแบบ ‘ลงขัน’ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก อย่างไรก็ดี หลังจากที่ธรรมธุรกิจได้รับการรับรองจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม(สวส.) องค์การมหาชนภายใต้กำกับของนายกรัฐมนตรี ให้เป็น ‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมาแล้ว ธรรมธุรกิจก็จะดำเนินการระดมทุนด้วยการ ‘ขายหุ้น’ โดยมีเป้าหมายแรก คือการระดมทุนให้ครบ 130 ล้าน (ยังขาดอีก 67 ล้านบาท) เพื่อซื้อชุมพรคาบาน่า คืนจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างชาติซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ก่อนที่จะถูกนำไปขายทอดตลาด

ทั้งนี้ การระดมทุนแบบ “ลงขัน” ของธรรมธุรกิจในช่วงก่อนหน้านั้นมี 2 แบบด้วยกัน คือ

แบบที่ 1 : แบบมีส่วนร่วม ร่วมลงขันเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อนำไปขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านธรรมธุรกิจ ซึ่งไม่ได้สูญเปล่าเนื่องจากสามารถขอเงินลงขันคืนได้ และเมื่อธรรมธุรกิจได้รับการรับรองเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว จะมีการแปลงการลงขันแบบมีส่วนร่วมไปเป็นหุ้นๆ ละ 100 บาท

แบบที่ 2 : แบบมีผลตอบแทน คือ การให้ธรรมธุรกิจกู้ยืมเงิน ขั้นต่ำ 11,000 บาท (แบบมีผลตอบแทน 10,000 บาท แบบมีส่วนร่วม 1,000 บาท) ได้รับดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี สามารถขอคืนเงินได้เช่นกันโดยแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน และธรรมธุรกิจจะคำนวณดอกเบี้ยให้เป็นรายวัน

ทั้งนี้ ล่าสุด ณ วันวันที่ 17 พ.ย. 2562 ธรรมธุกิจมียอดเงินลงขันแล้ว 63.733 ล้านบาทแล้ว จากสมาชิก 2,474 คน

พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการธรรมธุรกิจ
ด้าน พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการธรรมธุรกิจ เปิดเผยว่า ธรรมธุรกิจจะจัดแถลงข่าวการขายหุ้นเพื่อระดมทุน ในวันอังคารที่ 26 พ.ย. 2562 เวลา 14.00 น. ณ. Mind Space by C Asean ชั้น 2 สามย่านมิตรทาวน์ โดยจะเปิดขายหุ้นละ 101 บาท (เป็นค่าธรรมเนียมหุ้นละ 1 บาท) เชื่อว่าจะมีผู้สนใจจำนวนมาก แต่หากการขายหุ้นไม่เป็นไปตามเป้าก็จะระดมทุนด้วยการขอกู้ควบคู่ไปด้วย โดยจะให้ดอกเบี้ยในอัตรา 3%

“ชุมพร คาบาน่า จะครบกำหนดชำระหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ในวันที่ 4 ธ.ค. 2562 นี้ ดังนั้น ธรรมธุรกิจมีเวลาขายหุ้นก่อนครบกำหนดแค่ 4-5 วันเท่านั้น อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด ตามขั้นตอนจะต้องมีการประชุมเจ้าหนี้ก่อนที่จะยึดทรัพย์ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ช่วงนี้ก็อาจจะพอมีเวลาระดมทุนเพิ่ม แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าการขายหุ้นอย่างเดียวไม่พอที่จะชำระหนี้ก็จะขอกุ้ด้วย นอกจากนั้นตอนนี้เราก็กำลังเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 3 เดือน โดยเสนอจ่ายหนี้ก้อนแรก 50 ล้านบาทก่อน และจะทยอยจ่ายส่วนที่เหลือ แต่ขณะนี้ยังตกลงกันไม่ได้”’ พิเชษฐกล่าว

อย่างไรก็ดี ธรรมธุรกิจมีเป้าหมายใหญ่คือการระดมทุนให้ครบ 333 ล้านบาท เพื่อนำมาขยายธรรมธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมาย โดยเริ่มจากการซื้อชุมพรคาบาน่า และโรงสีศิริภิญโญ เพื่อใช้เป็นฐานธรรมฯ ชุมพร และฐานธรรมฯ ฉะเชิงเทรา เพิ่มเติมจากฐานธรรมฯสันป่าตองและฐานธรรมพระราม 9 ที่มีอยู่แล้ว

วริสร รักษ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท
ขณะที่ วริสร รักษ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท ได้ให้ข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับที่มาของหนี้ก้อนโตที่ส่งผลให้ชุมพรคาบาน่าถูกบริษัทต่างชาติฟ้องร้องยึดกิจการ ว่า ที่ผ่านมาหนี้สินของชุมพร คาบาน่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาขาดทุนหรือมีปัญหาในการบริหารงาน แต่เป็นเพราะมีการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจเพื่อปั่นให้ยอดเงินกู้เพิ่มขึ้น โดยหลังจากที่บริหารสินทรัพย์ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด ได้ซื้อหนี้ของชุมพรคาบาน่า จาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2550 สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดก็ใช้ช่องทางของ พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ ปี 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกบัญญิติขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการหนี้ของสถาบันการเงินและบริษัทต่างๆในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง มาเป็นเครื่องมือให้การประเมินสินทรัพย์และคำนวณตัวเลขหนี้เพื่อปั่นให้ตัวเลขหนี้เพิ่มขึ้น จากซึ่งเดิมที่เรามีหนี้แค่ 77 ล้านบาท ก็งอกเพิ่มขึ้นไปถึง 212 ล้านบาท และหลังจากที่มีการสู้คดีในศาลก็มีการเจรจากันจนตัวเลขหนี้สุดท้ายมาอยู่ที่ 130 ล้านบาท

วริสร กล่าวต่อว่า ที่สำคัญสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดพยายามบีบให้ครอบครัวของตนตกอยู่ในฐานะล้มละลาย เพราะต้องการยึดที่ดินชายทะเลหาดทุ่งวัวแล่น (จ.ชุมพร) ที่อยู่ติดกับชุมพรคาบาน่า ซึ่งเป็นของมารดาซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้ชุมพรคาบาน่า เนื่องจากที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าทางธุรกิจสูง ทั้งที่ที่ดินผืนนี้ไม่ได้ติดจำนอง โดยสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไม่ยอมไกลเกลี่ยหนี้ แม้ว่าช่วงแรกทางเราจะถอดใจยอมให้ยึดชุมพร คาบาน่า ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ถึง 166 ล้านบาท เพื่อแลกกับหนี้เพียง 77 ล้านบาทเท่านั้น

“ตั้งแต่เปิดกิจการมา ชุมพรคาบาน่า ไม่คยขาดทุน เราทำกำไรทุกปี อย่างปีนี้มีกำไร 8 ล้านบาท เรามีศักยภาพในการจ่ายหนี้เงินกู้ แต่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดหยิบเอา พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ปี 2540 มาเป็นเครื่องมือ ทั้งที่พระราชกำหนดฉบับนี้เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาหนีเสียในยุค IMF เท่านั้น เราได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ ซึ่งทางศูนย์ฯยืนยันว่าเจ้าหนี้ไม่สามารถนำพระราชกำหนดดังกล่าวมาใช้บังคับในปัจจุบันได้ อีกทั้งศูนย์ประสานงานลูกหนี้ยังช่วยเราสู้คดีในเรื่องนี้ด้วย ” กรรมการผู้จัดการบริษัท ชุมพรคาบาน่าฯ กล่าว

กิจกรรมที่ฐานธรรมฯสันป่าตอง
อย่างไรก็ดี วริสร ยังมีความหวังว่า หากวันนี้ธรรมธุรกิจสามารถเข้ามาบริหารชุมพรคาบาน่าได้ก็คงสามารถสืบสานขับเคลื่อนองค์ความรู้จากศาสตร์พระราชาที่ดำเนินการผ่านศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลินซึ่งเป็นส่วหนึ่งของชุมพรคาบาน่าให้คงอยู่และถ่ายทอดสู่ประชาชนต่อไปได้

สำหรับเรื่องศักยภาพของธรรมธุรกิจที่จะดึงดูดให้ผู้คนสนใจมาร่วมลงทุนซื้อหุ้นนั้น ผู้จัดการธรรมธุรกิจ ให้ความมั่นใจว่า ธรรมธุรกิจเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มีความเข้มแข็งมาก และดำเนินงานมาเป็นปีที่ 6 แล้ว ปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกกว่า 2,400 คน มีโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแรงและสามารถสร้างรายได้ โดยดำเนินกิจกรรมและขับเคลื่อนธุรกิจผ่านฐานธรรม 2 แห่ง อันได้แก่

“ข้าวกล้องมหัศจรรย์” หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมของธรรมธุรกิจ
1. ฐานธรรมฯ สันป่าตอง เป็นศูนย์การฝึกอบรมให้แก่ชาวนาและเกษตรกรที่สนใจกสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์ธุรกิจที่รวบรวมผลผลิตของลูกศิษย์ยักษ์กะโจนมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคด้วย

2. ฐานธรรมฯ พระราม 9 เป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรผู้ปลูกกับคนกินในเมืองหลวง โดยมีการรวบรวมผลผลิตธรรมชาติไร้สารเคมี ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร และอาหารสดปลอดภัยซึ่งเป็นผลผลิตของศิษย์ยักษ์กับโจน มาจัดจำหน่ายที่ “ตลาดนัดธรรมชาติ” ซึ่งตั้งอยู่ที่พระราม 9 ซอย 17 และเป็นตลาดของธรรมธุรกิจ โดยเปิดจำหน่ายทุกวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนั้นฐานธรรมแห่งนี้ยังจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชากลางเมืองหลวงอีกด้วย

และหากสามารถระดมทุนได้ครบ พอที่จะซื้อคืนชุมพรคาบาน่า ธรรมธุรกิจก็จะมี “ฐานธรรมฯชุมพร” เพิ่มอีกหนี่งฐาน เป็นแหล่งดำเนินกิจกรรมเพื่อสืบสานพัฒนาศาสตร์พระราชา โดยมีรีสอร์ต และ “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน” เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน อีกทั้ง “โจน จันได” ในฐานะรองประธานที่ปรึกษาธรรมธุรกิจ จะลงไปดูแลและขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับ วริสร รักษ์พันธุ์ ด้วย เชื่อว่าการเข้ามาเสริมทัพของโจนซึ่งเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจธรรมชาติและเห็นคุณค่าของการพึ่งพาตนเอง ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ จะทำให้ชุมพรคาบาน่าเป็นทั้งที่พักตากอากาศและแหล่งเรียนรู้ที่คึกคักไม่แพ้สวนพันพรรณ ที่แม่แตง จ.เชียงใหม่ เลยทีเดียว


นอกจากนั้น ธรรมธุรกิจยังมีสินค้าอินทรีย์มากมายที่จำหน่ายผ่านระบบออนไลน์และนำไปออกบูธขายในงานต่างๆ เช่น น้ำมันมะพร้าว, สบู่เหลวถ่านไม้ไผ่, น้ำยาล้างจากจากมะกรูด, สเปรย์บรรเทาปวดจากสมุนไพรธรรมชาติ, ปุ๋ยบำรุงดิน, ข้าวกล้องมหัศจรรย์ ซึ่งนอกจากจะขายออนไลน์แล้วยังมีจำหน่ายที่บิ๊กซี และวิลล่า มาร์เก็ต ทุกสาขาอีกด้วย

อย่างไรก็ดี มิใช่เพียงความมุ่งมั่นและปณิธานของบรรดาแกนนำด้านเกษตรอินทรีย์เท่านั้นที่จะสามารถรักษา “ชุมพร คาบาน่า” แผ่นดินที่ทำหน้าที่บ่มเพาะและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตรที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงคิดค้นไปสู่ประชาชนเอาไว้ได้ หากแต่เครือข่ายภาคประชาชนที่พร้อมใจกันเข้ามาร่วมระดมทุน ผ่านการถือหุ้นธรรมธุรกิข ก็นับเป็นกำลังสำคัญยิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนสืบสานศาสตร์พระราชาให้คงอยู่ต่อไปชั่วลูกหลาน


กำลังโหลดความคิดเห็น