xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมแก่หรือยัง? เปิด 2 โมเดลดูแล “ผู้เฒ่า” ชาวเชียงใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เพราะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้งประเทศประมาณร้อยละ 17 แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่ “เชียงใหม่” พบว่า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเกินร้อยละ 20 ไปแล้ว จึงจำเป็นต้องมีระบบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เจ็บป่วยมีคนเหลียวแล ไม่ติดบ้านติดเตียง รอตายไปวันๆ


นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ติดตามการสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอานุ คนพิการ และการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนในเชียงใหม่ ว่า สสส.ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะในทุกกลุ่มวัย ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มผู้สูงอายุ จึงมีการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยในส่วนของ 8 จีงหวัดภาคเหนือ สสส.สนับสนุนโครงการภายใต้แผนประชากรกลุ่มเฉพาะจำนวน 23 โครงการ จำนวนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุ 7 โครงการ ซึ่งแต่ละโครงการก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เช่น โครงการพัฒนาต้นแบบกิจการเพื่อสังคมบัดดี้โฮมแคร์ในการดูแลผู้สูงอายุ โครงการพัฒนากลไกส่งเสริมนวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“โมเดลการดูแลสุขภาวะผู้สูงอายุทั้ง 2 โครงการ มีการดึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบูรณาการการทำงาน ทำให้เกิดความประสบความสำเร็จ เช่น โครงการบัดดี้โฮมแคร์ เป็นลักษณะของกิจการเพื่อสังคม ที่มีการอบรมเยาวชนด้อยโอกาสกลุ่มชาติพันธุ์ มาเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ และนำกำไรจากค่าบริการผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่ายมาช่วยดูแลผู้สูงอายุยากไร้ในลักษณะของจิตอาสา ขณะที่โครงการส่งเสริมนวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย ก็เป็นความร่วมมือของภาควิชาการ อย่าง ม.เชียงใหม่ และพลังจากชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น” นางภรณีกล่าว


สำหรับโมเดลแรก "บัดดี้โฮมแคร์" น.ส.นราธิป เทพมงคล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บั๊ดดี้โฮมแคร์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นมูลนิธิโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน โดยมีการฟอร์มทีมอาสาสมัครไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนมีอาสาสมัครจำนวนมากและมีความเหนียวแน่น จนตั้งเป็นชมรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน มีประมาณ 111 คน และผู้สูงอายุยากไร้ที่ดูแลกันแบบเพื่อนบ้าน มีประมาณ 218 คน แต่เมื่อโครงการหมดจบ ทรัพยากรที่เคยได้รับสนับสนุนก็หมดไป แต่ความต้องการดูแลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นายสว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (มพส.) จึงมาหาวิธีที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน ประกอบกับพบว่า ยังมีผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่ายและต้องการการดูแล จึงจับจุดตรงนี้มาเพื่อหารือกันว่าจะทำเป็นธุรกิจเพื่อสังคม และช่วงนั้นประมาณปี 2558 ก็เริ่มมีกระแสของธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามา จึงทำโครงการ เขียนแผนธุรกิจ เสนอมายัง สสส. ก็ได้รับงบประมาณมาดำเนินโครงการทดลองทำธุรกิจ 2 ปี จำนวน 6 ล้านบาท ว่าโมเดลกิจการเพื่อสังคมแบบนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และเป็นการพิสูจน์ว่า การเปลี่ยนจากลักษณะของมูลนิธิที่ขอรับทุน มาเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินแบบดีประสิทธิภาพ หลังจบโครงการต้องสร้างรายได้ได้หรือไม่ โดยไอเดียคือการให้บริการผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่าย เพื่อให้มีรายได้มาดูแลผู้สูงอายุที่ยากไร้อีกฝ่ายหนึ่ง เป็นเหมือนบัดดี้คู่กัน จึงเป็นที่มาของชื่อบัดดี้โฮมแคร์


น.ส.นราธิป กล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากบุคคลทั่วไปแล้ว ยีงมีการให้โอกาสเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กชาติพันธุ์ ซึ่งหากไม่ทำให้เขาเติบโตมามีงานทำ เมื่อเขาแก่ตัวไปก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุที่ยากไร้ขึ้นมาอีก จึงเป็นการตัดวงจร โดยใช้งบประมาณที่ได้รับมาจาก สสส.ส่วนหนึ่งมาสนับสนุนส่งเด็กเหล่านี้ไปอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 420 ชั่วโมง โดยได้รับความร่วมมือจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้อบรมไปแล้วประมาณ 30 คน ทั้งนี้ จากการดำเนินงานพบว่า ผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่ายขณะนี้มีประมาณ 40 กว่าราย ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป้นราคาที่พอจะจ่ายได้ เพราะสำรวจพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง บางส่วนไม่มีลูกหลาน ต้องมาำหาเลี้ยงครอบครัว แต่หากไม่มีคนดูแลผู้สูงอายุที่บ้านก็ต้องลาออกจากงานมา อย่างไรก็ตาม โมเดลที่นำรายได้จากผู้สูงอายุที่เสียค่าบริการมาช่วยผู้สูงอายุยากไร้แบบ 1 ต่อ 1 นั้นไม่เพียงพอ เพราะผู้สูงอายุยากไร้มีมากกว่า 200 คน ก็ต้องมีการระดมทรัพยากรอื่นๆ เข้ามาช่วย เช่น ลักษณะของหมอ พยาบาลจิตอาสาที่เข้ามาช่วย รวมถึงทำเรื่องของการระดมทุนออนไลน์บนเว็บไซต์เทใจด็อทคอม และทำโครงการต่างๆ เพื่อขอสนับสนุนสงเคราะห์ รับบริจาคทั่วๆ ไป หรือลูกค้าที่มีอะไรเหลือเฟือก็ส่งมาให้เรา


"จากการดำเนินงานพบว่า ผู้สูงอายุที่เป็นลูกค้าของบัดดี้โฮมแคร์ส่วนใหญ่มีสุขภาพดีขึ้น เพราะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับผู้สูงอายุยากไร้ที่ได้รับการดแลก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ของเราเข้ามาช่วยดูแลเรื่องของชีวิตประจำวัน บางคนสามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ ตากติดบ้านติดเตียงก็เริ่มลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างอื่นได้ โดยจากการประเมินพบว่าที่ลงทุนไป 1 บาท สร้างผลตอบแทนทางสังคมกลับคืนได้ประมาณ 5.10 บาท ซึ่งผลตอบแทนที่ได้กลับมานั้น มาจากการประเมินเรื่องภาครัฐไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออย่างค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการเป็นผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง เช่น ค่าผ้าอ้อม หรือการที่เยาวชนมีรายได้จากการเข้ามาดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยหากตีจากเงินลงทุน 6 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่ได้รับก็จะอยู่ที่ 29 ล้านกว่าบาท โดยเป็นผลประโยชน์ต่อผู้สูงอายุถึง 99% อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงแรกที่ดำเนินการบัญชีจะเป็นตัวแดง แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงกำไรเริ่มมีประมาณ 3-5 หมื่นบาท" น.ส.นราธิป กล่าว

ส่วนโมเดลที่สอง "นวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย" มีศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (UDC) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหลักๆ มี 2 ส่วน คือ


1.การให้คำปรึกษาและความรู้เรื่องการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อรองรบผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยเรื่องนี้ นายมานพ ตันสุภายน หรือครูแดง ประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.หนองตองพัฒนา อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่หนองตองเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท บ้านโดยทั่วไปจะเป็นบ้านใต้ถุนสูง ขณะที่ประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากที่บ้าน โดยเฉพาะที่บันได ซึ่งไม่ได้มาตรฐานทั้งลูกตั้งลูกนอน ราวจับ และห้องน้ำ ที่ลื่น มืด แสงสว่างไม่พอ จึงเป็นบันดาลใจให้ตนนำเอาความรู้ที่ไปศึกษามาจากศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนมาถ่ายทอดให้พี่น้องชาวบ้าน จึงต้องทำโมเดลบ้านจำลองให้เห็นเป็นรูปธรรม และต้องการเน้นเรื่องมาตรฐานระยะจริงๆ ให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งการสร้างบ้านในปัจจุบันจะเเป็นการสร้างบ้านตามสมัยนิยม ภายในบ้านขึ้นจากบันไดแล้วจะมีความต่างระดับจากระเบียงไปในบ้าน บ้านไปห้องน้ำ มีธรณีประตูมีอะไรอีก และการสร้างบ้านในปัจจุบันไม่ได้สร้างเพื่อรองรับอนาคต แต่สร้างเพื่อปัจจุบันให้สวยงามต่างๆ อนาคตหมายถึงต้องคิดว่าสภาพร่างกายเราไม่ได้อยู่ยงคงกระพัน ต้องมีวันหนึ่งที่อาจต้องนั่งรถวีลแชร์ แล้วการสร้างบ้านที่ไม่ได้นึกถึงทางลาด เราจะมาสร้างภายหลังก็ไม่ได้หรือยาก จึงเป็นแรงบันดาลใจสร้างบ้านตัวอย่างให้คนในชุมชนตำบลหนองตองได้มาศึกษาและเอาไปใช้จริงๆ และเกิดความปลอดภัยขึ้น


"จากการดำเนินการมา มีการปรับปรุงบ้านไปแล้ว 25-30 หลังโดยใช้เงินงบประมาณท้องถิ้นบ้าง ชมรมผู้สูงอายุบ้างทีไปสนับสนุน และส่วนการปรับปรุงจะใช้เงินส่วนตัวของเจ้าของบ้าน และวันนี้ชุมชนของเรา 14 ชุมชน ได้ให้ความรู้ช่างในการสร้างบ้าน โดยเลือกมาจากหมู่บ้านและ 5 คน ในการให้ความรู้เรื่องมาตรฐานการสร้างบ้าน ด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่ออบรมจบก็ให้เกียรติเรียกว่าเป็นหมอบ้าน ที่ดูแลการจัดสภาพสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยแก่คนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม หมอบ้านจะให้คำปรึกษาในการสร้างปรับปรุงซ่อมบ้านแก่คนในชุมชน จากเดิมที่คนแค่ไปจ้างเท่านั้น ทำให้เกิดความภูมิใจ เพราะชาวบ้านจะมาปรึกษาและให้คำแนะนำ หมอให้คำปรึกษาด้านที่อยู่อาศัย" นายมานพ กล่าว


นายมานพ กล่าวว่า สำหรับบ้านที่ได้มาตรฐานสำหรับรองรับผู้สูงอายุคนพิการไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต เริ่มจากทางลาด ซึ่งระยะมาตรฐาน คือ หากความสูงของทางลาดมากกว่า 200 มิลลิเมตรขึ้นไป อัตราความชันของทางลาดต้องอยู่ที่ 1:12 คือ ความสูงจากพื้นถึงบ้าน 1 เมตร ส่วน 12 คือความยาวของทางลาด แต่จะไม่สร้างในช่วงเดียว จะสร้างเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงละ 6 เมตร แล้วถึงชานพัก ซึ่งความกว้างต้องอยู่ที่ 1.50 เมตร ส่วนบันไดที่ได้มาตรฐาน ลูกนอน 28-30 เซนติเมตร ลูกตั้ง13-15 เซนติเมตร ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ สำหรับประตู ส่วนใหญ่มักพบปัญหาคือวงกบ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ขายในร้านความกว้างสุทธิอยู่ที่ 70-80 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อติดตั้งแล้วไม่ได้มาตรฐาน เจ็บป่วยต้องนั่งรถวีลแชร์ปรากฎว่าเข้าไม่ได้ ซึ่งความกว้างสุทธิจริงๆ ต้องอยู่ที่ 90 เซนติเมตรขึ้นไป และบานประตูต้องเป้นบานเลื่อน

ขณะที่ห้องต่างๆ จะต้องมีพื้นที่รองรับรถวีลแชร์ อย่างน้อยเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 เมตรถึงเพียงพอ ไม่ว่าจะเป้นห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ราวจับตามบันได ทางลาด ระเบียง บริเวณที่ยกสูงจากพื้นที่ตั้งแต่ 40 เซนติมเตรเป้นต้นไป ควรมีการติดตั้งราวจับ โดยราวจับควรมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4 เซนติเมตร ราวห่างจากผนัง 4-5 เซนติเมตร สำหรับห้องน้ำพื้นต้องไม่ลื่น มีราวจับ ตรงฝักบัว ที่อาบน้ำ ควรมีที่นั่งและสัญญาณฉุกเฉิน ฝักบัวเป็นชนิดแรงดันต่ำ ประตูห้องน้ำควรเป็นแบบที่เปิดให้คนอื่นสามารถเข้าไปได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ


2.นวัตกรรมท้องถิ่นจากการรวบรวมในชุมชนและที่ได้รับการพัฒนาขึ้นในโดย UDC ซึ่ง ผศ.ดร.สุมาวลี จินดาผล อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า เรมีการร่วมมือกับโรงเรียนผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรมท้องถิ่นเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการทำกายภาพ เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ ในท้องตลาดมีราคาสูงมาก จึงอยากออกแบบนวัตกรรมจากวัสดุท้องถิ่น เช่น ทางเดินหินนวดเท้า เก้าอี้ไม้ไผ่สำหรับนั่งอาบน้ำ เก้าอี้ยืดแขนขา อุปกรณ์บริหารข้อมือ ไม้ยู้สำหรับกายภาพแขน เป็นต้น สิ่งสำคัญคือไม้ไผ่ที่เอามาสร้างเราทำกันเอง โดยอาสัยการอบวิธีพิเศษ เป็นการร่วมกันระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ออกมาเป้นตัวไม้ไผ่ที่อบแล้วป้องกันแมลง เชื้อรา อยู่ได้ 5-10 ปี อยู่ในห้องน้ำได้ ราวจับจึงอาจไม่ถึง 100 บาท ก็มีราคาถูก เก้าอี้มีน้ำหนักเบา ผู้สนใจก็สามารถปรึกษาเข้ามาที่ UDC หรือมาใช้อุปกรณ์เพื่อกายภาพต่างๆ ได้ภายในศูนย์หรือที่โรงเรียนผู้สูงอายุ






กำลังโหลดความคิดเห็น