กสศ.จับมือ 20 จังหวัดคืนเด็กนอกระบบกลับสู่การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันหลุดซ้ำ ปี 62 จะช่วยเด็กได้ 5,000 คน ระดมทีมสหวิชาชีพวางแผนช่วยเหลือฟื้นฟูรายกรณี ล่าสุด อบจ.ยะลาจับมือ ร.ร.ราชประชานุเคราะห์ 41 ส่งเด็กคืนสู่โรงเรียนรับเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ครอบครัว ครู เพื่อนนักเรียน ร่วมหนุนอย่างเข้าใจ
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ได้ดำเนินการโครงการตัวแบบการดูแลเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอายุระหว่าง 3-21 ปี ใน 20 จังหวัด 115 อำเภอ โดยมีเป้าหมายในการสำรวจค้นหาทั้งหมด 218,895 คน ล่าสุดสำรวจพบเจอตัวเด็กและเก็บข้อมูลสภาพปัญหาแล้ว 60,941 คน เบื้องต้นด้วยงบประมาณจำกัดในปี 2562 กสศ.จะช่วยเหลือได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือประมาณ 2.28% จาก 218,895 คน โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีในพื้นที่ในการนำเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยมีการทำงาน 3 ด้าน สำคัญ คือ 1.เดินหน้าด้วยกลไกจังหวัดที่มีทั้งความร่วมมือจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด สมัชชาการศึกษาจังหวัด เครือข่ายประชาสังคม มูลนิธิ สมาคมต่างๆ 2. ระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับส่วนกลาง ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลเด็กนอกระบบรายบุคคล 3.ตัวแบบมาตรการความช่วยเหลือเด็กนอกระบบ ที่มีการให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างต่อเนื่อง มีแผนดูแลรายกรณี เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาซ้ำอีก รวมถึงเงินช่วยเหลือเบื้องต้น
“ประเทศไทยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสนอกระบบการศึกษา ราว 670,000 คน ซึ่งระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะเป็นคำตอบของปัญหาเด็กนอกระบบ เพราะหากส่งเด็กกลุ่มนี้กลับเข้าระบบการศึกษาแบบเดิม โดยโรงเรียนไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะไม่ได้ผล เด็กกลุ่มนี้จะหลุดออกจากระบบอีก การดำเนินงานของกสศ.และ 20 จังหวัด มุ่งเน้นวางแผนการช่วยเหลือรายกรณี เด็กแต่ละคนมีปัญหาต่างกัน ควรแก้ไขด้วยวิธีการอย่างไร รวมถึงการทำงานร่วมกับโรงเรียนที่มีความพร้อมในการปรับวิธีการเรียนการสอน ปรับเวลาการเรียนการสอน ให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาพปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ด้วย ขณะที่เด็กนอกระบบบางกลุ่มอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ อาจมีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมเช่น การสามารถเก็บสะสมชั่วโมงการฝึกอาชีพเทียบโอนเป็นวุฒิการศึกษาได้ อย่างไรก็ดีการทำงานของกลไกจังหวัดทั้ง 20 จังหวัด จะเกิดทั้งตัวแบบการดูแลช่วยเหลือเด็กนอกระบบรายกรณี และโรงเรียนนำร่องที่มีระบบการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นพร้อมไปกับระบบการดูแลช่วยเหลือไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกนอกระบบซ้ำอีก” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว
น.ส.รุ่งกานต์ ศิริรัตน์เรืองสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ยะลา กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลาจากการสำรวจพบว่าเด็กออกนอกระบบการศึกษาเพราะความยากจน พ่อแม่มีลูกเยอะทำให้ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ครบทุกคน บางครั้งพี่คนโตต้องออกมาช่วยเลี้ยงน้องหรือดูแลงานบ้าน ล่าสุดได้ติดตาม คัดกรองเด็กและเยาวชนนอกระบบช่วงอายุ 3-21 ปี ในพื้นที่นำร่อง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอรามัน อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา โดยอันดับแรกทีมสหวิชาชีพจะวิเคราะห์ว่าเด็กแต่ละคนต้องได้รับการช่วยเหลือด้านไหน เช่น บางคนต้องการเข้าระบบการศึกษาเต็มรูปแบบ ขณะที่บางคนด้วยบริบทของครอบครัวเด็กจะเหมาะกับการส่งเสริมอาชีพมากกว่า จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป หรือบางคนพบว่าเด็กมีปัญหาด้านสุขภาพ เราก็จะให้ความช่วยเหลือในด้านการดูแลรักษาก่อน โดยส่งต่อให้หน่วยงานสาธารณสุขที่มีความชำนาญเฉพาะทาง จากนั้นเมื่อเด็กมีสุขภาพดีขึ้น การจัดการศึกษาที่เหมาะสมจะเป็นเรื่องที่ดำเนินการเป็นลำดับถัดมา
“ปัญหาเรื่องเด็กนอกระบบเป็นปัญหาสำคัญ เพราะเด็กนอกระบบการศึกษาส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการดูแลจนอาจมีพฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายสังคม การทำให้เด็กเข้ามาสู่ระบบการศึกษาจึงทำให้เขามีเกราะป้องกันอยู่ในทางที่ถูกที่ควร และป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบซ้ำ ล่าสุด ในช่วงเปิดภาคเรียนที่2 นี้ กสศ.และอบจ.ยะลา ได้เริ่มส่งเด็กนอกระบบกลับเข้าโรงเรียนได้บางกรณีแล้ว โดยได้มีความร่วมมือกับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นและมีระบบที่พร้อมเยียวยาช่วยเหลือเด็กๆกลุ่มนี้ให้กลับมาเรียนได้อย่างมีความสุข ”รองปลัด อบจ.ยะลา กล่าว
นายมามะซูฟี อารง ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโรงเรียนมีเด็กที่เข้าเรียนกลางเทอมเป็นประจำ รวมถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่หลุดจากโรงเรียนไปในระยะเวลาหนึ่งแล้วกลับมาเรียนใหม่ เด็กกลุ่มนี้ช่วงแรกจะมีความเครียดกังวล สับสน วางตัวไม่ถูก จึงแสดงออกด้วยความขัดเขิน แยกตัวจากเพื่อน และไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ทางโรงเรียนเล็งเห็นปัญหา จึงได้จัดกระบวนการช่วยปรับตัวให้เด็ก โดยจัดครูที่ปรึกษาไว้คอยดูแลเด็ก หนึ่งต่อหนึ่ง รวมถึงให้เพื่อนช่วยเพื่อน ให้เด็กที่มีทักษะสังคมที่ดีอยู่แล้ว คอยดูแลใกล้ชิดอีกที ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการเรียน การไปกินข้าว การเล่น หรือเข้านอน
“ปกติเราจะจัดให้มีครูที่ปรึกษาคอยดูแลเด็กนักเรียนที่เข้ากลางเทอมโดยเฉพาะอยู่แล้ว ส่วนในระดับสังคมของเด็ก เราจะมีเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่อยู่มาก่อน เป็นเด็กที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี คอยช่วยประกบตลอด เด็กพวกนี้เขาจะมีจิตอาสาพร้อมช่วยดูแลเพื่อนหรือน้องๆ ที่เข้าใหม่ ให้เขาสามารถปรับตัว เข้าสังคม พูดคุยกับเพื่อนใหม่ หรือทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ทั้งในห้องเรียนและในหอพัก กระบวนการในการช่วยเด็กปรับตัวนี้สำคัญมากเพื่อประคับประคองให้กลับมาเรียนได้ ไม่หลุดออกจากระบบไปอีก ต้องอาศัยความร่วมมือ ความเข้าใจ ทั้งครู เพื่อนนักเรียน ครอบครัว” ผอ.โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 กล่าว
นายฮูดอยบี เหล่าเขตกิจ อายุ 17 ปี เป็นเด็กนอกระบบที่ได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2 กล่าวว่า เปิดเทอมวันแรกรู้สึกตื่นเต้น ตนเรียนถึงแค่ชั้น ม.2 ต้องออกจากโรงเรียนเพราะตอนนั้นบ้านไม่มีเงิน ความรู้สึกตอนนั้นคือเศร้า เมื่อออกมาแล้วก็ต้องไปทำงานในสวนในไร่ เก็บน้ำยาง ขึ้นต้นลองกอง ที่ไหนมีงานผมก็ไป เคยไปไกลสุดถึงนครศรีธรรมราช แต่ความรู้สึกคืออยากไปโรงเรียนอีก แล้ววันนี้สิ่งที่คิดก็เป็นจริงแล้ว เมื่อนึกถึงโรงเรียนจะคิดถึงเวลาที่ได้เล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ เท่าที่รู้เกี่ยวกับโรงเรียนใหม่ตอนนี้คือเป็นโรงเรียนที่ใหญ่ มีนักเรียนเยอะ และเป็นโรงเรียนประจำที่จะได้กลับบ้านเดือนละครั้ง คิดว่าคงรู้สึกคิดถึงบ้านมาก แต่เมื่อได้โอกาสกลับมาเรียนอีกครั้ง ตนก็จะตั้งใจทำให้เต็มที่
นายชำนาญ เหล่าเขตกิจ บิดาของฮูดอยบี เผยว่า ตนเองทำงานกรีดยางและงานก่อสร้าง มีรายได้ไม่แน่นอน ช่วงที่ลูกออกจากโรงเรียนคือช่วงที่ตนว่างงานและไม่มีเงินจ่ายค่ารถรับจ้างไปโรงเรียนให้ ฮูดอยบีจึงตัดสินใจเลิกไปโรงเรียน สำหรับตนเองมองว่าอยากให้ลูกได้เรียนเพื่อจะได้มีอนาคตที่ดีกว่าออกไปทำงานด้วยวุฒิแค่ ป.6
“วันที่มีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านเพื่อพาเขากลับไปเรียน เรายังคิดว่าให้ลูกได้กลับไปเรียน กศน. ได้ก็ดีใจมากแล้ว แต่นี่เขากำลังจะได้เรียนในรูปแบบโรงเรียนปกติ ได้ไปอยู่หอพักที่โรงเรียน ก็รู้สึกดีใจไปกับลูกด้วย เพราะถ้าได้กลับไปเรียนแล้วยังอยู่บ้าน สักวันก็จะมีปัญหาไม่มีค่ารถไปโรงเรียนเหมือนเดิมอีก แล้วการที่เขาได้อยู่ที่โรงเรียนคิดว่ามันดีกว่า เพราะจะได้ฝึกตัวเองให้มีกฎระเบียบ มีเพื่อน และน่าจะทำให้ตั้งใจกับบทเรียนได้มากขึ้น”บิดาของฮูดอยบี กล่าว
นางพาตีเมาะ ดีรี ครู กศน. ในพื้นที่อำเภอรามัน เล่าว่า ตนได้ลงสำรวจในพื้นที่และพบว่าฮูดอยบี เป็นเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปีซึ่งตกหล่นจากระบบโรงเรียนเนื่องจากต้องออกจากโรงเรียนระหว่างเรียนชั้น ม.2 เมื่อได้พูดคุย ตัวเด็กบอกว่าทางบ้านไม่มีเงินจ่ายค่ารถโดยสาร จึงไม่สามารถไปโรงเรียนได้ และหยุดเรียนไปตั้งแต่นั้น จากนั้นเจ้าตัวต้องไปทำงานรับจ้างขึ้นต้นลองกองและเก็บยาง ได้รับค่าจ้างครั้งละประมาณ 30 บาท ตนจึงได้เข้าไปคุยกับครอบครัวเพื่อหาทางช่วยเหลือให้ได้กลับไปเรียน ซึ่งทางบ้านของฮูดอยบีตอบรับโอกาสนี้ และสนับสนุนให้เด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนเต็มเวลา ซึ่งตนเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินงานเร่งด่วนเพราะหากรอให้ถึงอายุ 18 เด็กจะเข้าเรียนในการศึกษาแบบปกติได้ลำบาก
นางสาวนูรีฮา จิ อายุ 16 ปี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เป็นเด็กอีกหนึ่งคนที่จะได้กลับเข้าเรียนในภาคเรียนที่สองนี้ นูรีฮาออกจากโรงเรียนกลางคันขณะอยู่ชั้น ม.1 ด้วยเหตุที่ทางบ้านขาดเงินส่งเสียให้เรียนต่อ ด้วยสถานภาพครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกันและมีพี่น้องหลายคน นูรีฮาต้องออกหางานทำ โดยต้องเดินทางไป ๆ มา ๆ เพื่อรับจ้างเก็บยางที่ประเทศมาเลเซีย แต่ก็เป็นงานไม่ประจำ ช่วงไหนที่ไม่มีงานนูรีฮาจะอยู่บ้านช่วยพี่สาวขายลูกชิ้นปิ้งหน้าบ้าน มีรายได้ที่วันละประมาณ 50-100 บาท
นายซูกอรนัย เจ๊ะหนิ ครูอาสาในพื้นที่อำเภอยะหา กล่าวว่า นูรีฮา อยากเรียนหนังสือมาตลอด แต่ด้วยความที่ครอบครัวไม่มีรายได้ที่แน่นอน จึงต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ระหว่างนั้นก็ต้องตระเวนตามผู้ปกครองไปช่วยทำงานเพื่อช่วยหารายได้เข้าบ้านอีกแรงหนึ่ง ขณะที่ตนมองว่านูรีฮายังอายุน้อย เพิ่งออกจากโรงเรียนมาไม่นาน คิดว่ายังสามารถกลับไปเรียนต่อและจบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ในเบื้องต้น ประกอบกับที่มีความช่วยเหลือจาก กสศ. ผ่านทาง อบจ. ยะลา ที่มีโครงการค้นหาเด็กนอกระบบเพื่อนำกลับสู่ระบบการศึกษา ตนเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ของเด็ก
“นูรีฮาเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีมาตลอด ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายหากต้องออกจากระบบการศึกษาไป หลังคุยกับครอบครัวจึงได้ส่งนูรีฮาเข้าโครงการคืนเด็กนอกระบบกลับสู่โรงเรียนของ กสศ. ซึ่งในตอนแรกเจ้าตัวยังไม่รู้ว่าตนเองจะได้เรียนในระบบแบบไหน แต่แค่รู้ว่าจะได้กลับมาเรียนอีกครั้ง เจ้าตัวก็ดีใจมาก ถึงวันนี้ถือว่าความตั้งใจของเจ้าตัวและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนได้บรรลุผลแล้ว เมื่อเด็กได้กลับมาเรียนอีกครั้งและกำลังจะไปโรงเรียนวันแรก” นายซูกอรนัย กล่าว