ลูกชายคนโต “สรวง สิทธิสมาน” หรือ “เฉินเทียนอี้” เคยเล่าเรื่องเมื่อครั้งเปิดเทอมต้องกลับไปเซี่ยงไฮ้ ก็พบว่ามีมาตรการใหม่แยกขยะในหอพักแบบจริงจัง แรกๆ เขาก็หงุดหงิดจากความเคยชิน แต่พอผ่านไปไม่นานเขาก็พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ และพอระยะเวลาผ่านไปเกือบ 5 เดือน เขากลับต้องทึ่งถึงความเอาจริงเอาจังต่อมาตราการแยกขยะในเซี่ยงไฮ้ จนสามารถทำให้คนในชาติเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว และหนึ่งในนั้นก็คือการใช้กลยุทธ์ “ให้ลูกสอนพ่อแม่”
……………….
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผมได้รับการบ้านจากอาจารย์สอนวิชา 中国现代概况 (Modern China General Situation) เป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับพื้นฐานและความเป็นจริงของประเทศจีนในยุคปัจจุบัน โดยการบ้านที่ผมได้รับนั้นเป็นงานกลุ่ม ต้องออกไปสัมภาษณ์คนจีนในเซี่ยงไฮ้ และถ่ายทำตัดต่อเป็นคลิปวิดีโอออกมา โดยหัวข้อของการสัมภาษณ์คือ
“มาตรฐานใหม่ของการแยกขยะในยุคสมัยใหม่”
ก่อนอื่นคงต้องแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านรู้จักกับนโยบายแยกขยะที่กำลังบังคับใช้อยู่ในเซี่ยงไฮ้ระยะหลังนี้ บางท่านอาจเคยได้ยินผ่านหูมาบ้างแล้ว แต่ผมซึ่งใช้ชีวิตอยู่เซี่ยงไฮ้มาปีนี้ก็เป็นปีที่ 3 แล้ว นโยบายแยกขยะได้ถูกเตรียมการบังคับใช้เมื่อต้นปีนี้ และเพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง
จากตอนนั้นถึงตอนนี้เพิ่งผ่านมาได้เกือบ 5 เดือนเท่านั้น
ความรู้สึกของผมที่มีต่อนโยบายนี้เริ่มต้นเมื่อผมเดินทางกลับมาที่เซี่ยงไฮ้ เพื่อเริ่มเรียนในเทอมแรกของปีการศึกษาที่ 2 ของชั้นปริญญาตรีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากปิดเทอมใหญ่ 2 เดือนตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน กล่าวคือช่วงปิดเทอมนั้นคร่อมเดือนกรกฎาคมในช่วงที่เริ่มบังคับใช้นโยบาย จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เรียกได้ว่าเป็นแบบ “หักดิบ”
ผมกลับไทยไปเพียง 2 เดือน พอกลับมาเซี่ยงไฮ้อีกครั้ง คนเซี่ยงไฮ้ก็แยกขยะไปจนติดเป็นนิสัยกันหมดแล้ว ขณะที่ตัวผม จนถึงปัจจุบันนี้ยังรู้สึกว่ามันยุ่งยากวุ่นวายอยู่เลย
จึงอดแปลกใจไม่ได้ว่าคนเซี่ยงไฮ้เคยชินกับการแยกขยะภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือนได้อย่างไร
การบ้านที่ทำเกี่ยวกับเรื่องนี้นับว่าน่าสนใจมากสำหรับผม และเป็นครั้งแรกที่จะได้มีโอกาสออกไปทำวิดีโอสัมภาษณ์ผู้คนในประเทศจีน ตัวผมเองน่ะเคยมีผลงานทำหนังสั้นมาแล้วครั้งหนึ่งจึงค่อนข้างมั่นใจในฝีมือพอสมควร และมองว่างานนี้เป็นเพียงงานง่าย ๆ งานหนึ่งที่จะทำให้ได้เกรด A+ อย่างแน่นอน
ผมรับหน้าที่เป็นทั้งผู้กำกับ ตากล้อง คนคิดคำถาม และคนตัดต่อ
ในกลุ่มผมมีทั้งหมด 6 คน เป็นคนเกาหลีและคนไทย พวกเราออกไปเดินสัมภาษณ์ที่บริเวณ The Bund ก่อนที่จะพบว่า มันไม่ง่ายเลย...ไม่ง่ายอย่างที่คิด....
คนจีนส่วนใหญ่ที่เราเดินไปขอสัมภาษณ์ล้วนปฏิเสธ โดยส่วนใหญ่มักจะอ้างว่าไม่ใช่คนเซี่ยงไฮ้ ไม่ได้เข้าใจเรื่องแยกขยะขนาดนั้น บางคนบอกว่าต้องรีบ บางคนไม่อยากออกกล้อง และบางคนไม่หยุดคุยกับเราด้วยซ้ำ เราใช้เวลามากกว่าครึ่งชั่วโมงกว่าจะหาคนจีนคนแรกที่ยอมให้สัมภาษณ์ได้ ถึงตอนนั้นพวกเรากระโดดดีใจเหมือนเด็ก เราถามคุณลุง 2 คนที่ยอมให้สัมภาษณ์ด้วยคำถามที่เตรียมมา ก่อนที่จะถูกขัดจังหวะด้วยตำรวจที่เดินตรวจอยู่บริเวณนั้น ตำรวจบอกว่าตรงนี้ถ่ายทำไม่ได้เพราะมีร้านค้าแบรนด์เนมมากมายตั้งอยู่
ทุกคนเปลี่ยนสีหน้ากันหมด จากที่ดีใจเมื่อครู่นี้ก็เหมือนจะมีเหวอกันไปบ้าง ส่วนตัวผมหงุดหงิดถึงขั้นสุด บรรยากาศของทีมก็เริ่มหม่นหมอง เหมือนมันเริ่มมีความรู้สึกสิ้นหวังเข้ามาในใจพวกเรากันแล้ว.
.
หลังจากที่เปลี่ยนสถานที่มายังจุดใหม่ที่ห่างจากร้านค้ามากขึ้น เราก็เริ่มเจอกับคนที่ให้ความร่วมมือบ้างแล้ว ความรู้สึกของพวกเราจึงกลับมาพร้อมลุยงานต่ออีกครั้ง
สิ่งที่ประทับใจมาก ๆ ในกิจกรรมนี้คือตอนที่ผมได้ไปขอสัมภาษณ์เด็กมัธยมต้น 3 คน และได้รับคำตอบตกลงในทันที ด้วยความตื่นเต้น เหมือนน้องจะคิดว่าตัวเองได้ออกทีวี และที่น่ารักกว่าคือทุกคนทำหน้าเหมือนกับเป็นศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านการแยกขยะ ขณะที่ให้สัมภาษณ์นั้น น้อง ๆ ต่างแย่งกันตอบ เหมือนกับแย่งกันเป็นพระเอกในหนังละคร
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ น้อง ๆ รู้วิธีการแยกขยะเป็นอย่างดี
นั่นก็เป็นเพราะว่าทางการจีนได้ใส่เนื้อหาเรื่องวิธีการแยกขยะเข้าไปในบทเรียน ให้กับนักเรียนทุกคนในทุกระดับชั้น ซึ่งต้องบอกได้เลยว่าเด็ก ๆ เหล่านี้เข้าใจเรื่องการแยกขยะมากกว่าพ่อแม่ตัวเองเสียด้วยซ้ำ พ่อแม่บางคนได้ให้สัมภาษณ์ว่า
"ตอนแรกฉันก็ไม่รู้เรื่องการแยกขยะหรอก แต่ที่โรงเรียนลูกฉันเขามีสอนเรื่องการแยกขยะโดยเฉพาะ ฉันก็ได้ลูกของฉันนี่แหละที่มาเป็นคนสอนให้ฉันแยกขยะเป็น บางครั้งที่ฉันขี้เกียจ ฉันก็ทิ้งขยะไปมั่ว ๆ บ้าง พอลูกมาเห็นลูกก็จะสั่งให้ฉันแยกขยะ ฮ่ะฮ่ะฮ่ะ"
นี่คือความเปลี่ยนแปลงหลังจาก 5 เดือนที่ทางการจีนได้เริ่มใช้นโยบายแยกขยะในเซี่ยงไฮ้ สิ่งที่ผมเห็นในตัวเด็ก ๆ ที่สัมภาษณ์ไปในวันนั้น คือภาพอนาคตของประเทศจีนที่เต็มไปด้วยบุคลากรรุ่นใหม่อันเปี่ยมล้นไปด้วยคุณภาพ
นอกจากเด็ก ๆ เหล่านี้ คนอื่น ๆ ที่ผมได้สัมภาษณ์ไปต่างก็ไม่ได้รู้สึกว่าการแยกขยะเป็นเรื่องยุ่งยากแม้แต่น้อย ทุกคนกลับปฏิบัติจนเคยชินและมองว่าการแยกขยะเป็นเรื่องดีและให้คุณประโยชน์ต่อประเทศจีนทั้งนั้น
หลังจากจบวัน ผมก็นำ Footage ทั้งหมดมาตัดต่อรวมกันเป็นคลิปวิดีโอยาว 7 นาที ส่วนเรื่องคุณภาพนั้น แน่นอนว่าได้เกรด A+ ไปอย่างง่ายดาย ทุกคนในกลุ่มต่างมีความสุขกับกิจกรรมนี้
แต่ที่มากกว่านั้นและสำคัญกว่านั้นคือ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากกิจกรรมในครั้งนี้
อย่างแรกเลยคือเรื่องการใช้นโยบายแยกขยะ หลังจากได้คุยกับคนจีนทั้งวันทำให้ผมเห็นถึงการบังคับใช้นโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมที่เด็ดขาด เพื่อเตรียมพร้อมเซี่ยงไฮ้สู่การพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ จาก "เมืองที่เศรษฐกิจดี" เป็น "เมืองที่น่าอยู่"
สองคือมันได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผม ในฐานะคนไทยที่มองเห็นพัฒนาการของประเทศอื่น ตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และพร้อมจะให้ความร่วมมือแยกขยะอย่างเต็มที่ ทั้งในจีน และในไทย
อย่างที่สามเป็นเรื่องของระบบการศึกษาจีน....
ผมได้คุยกับเพื่อนคนจีนคนหนึ่ง เขาเป็นคนทำโฆษณา ผมเล่าให้เขาฟังถึงการบ้านชิ้นนี้ ซึ่งทำให้เขาค่อนข้างตกใจ เพราะเด็กมหาวิทยาลัยในสมัยนี้มีการบ้านให้ทำคลิปวิดีโอคุณภาพใกล้เคียงกับงานโฆษณาที่เป็นงานประจำของเขาเสียด้วยซ้ำ เขาเล่าว่าสมัยที่เขาเรียนปริญญาตรีอยู่ เขาไม่ได้มีโอกาสทำการบ้านสนุก ๆ แบบนี้ด้วยซ้ำ นั่นแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านการศึกษาตามพัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่
การบ้านแบบนี้สามารถทำได้ในสมาร์ทโฟนแค่เครื่องเดียวด้วยซ้ำ
ผมอยู่เซี่ยงไฮ้มา 3 ปี อยู่จีนมา 4 ปี ไม่มีปีไหนที่ผมไม่เห็นพัฒนาการของประเทศจีนเลย และยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่าผมไม่ได้เลือกผิดที่มาเรียนที่นี่ และไม่มีวันเสียใจกับตัวเลือกนี้ สำหรับประเทศจีน ผมเห็นแต่อนาคตและความยิ่งใหญ่ของเขา ทั้งประวัติศาสตร์อันยาวนาน วัฒนธรรมที่หลากหลาย สถานที่ท่องเที่ยวที่มากมายจนเที่ยวเท่าไรก็ไม่ครบสักที เศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นได้เรื่อย ๆ แม้จะมีเรื่องการเมืองที่ผมอาจจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง แต่ผลลัพธ์ของระบบการปกครองแบบนี้ก็อย่างที่เห็น
ด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 5 เดือน การแยกขยะก็กลายเป็นความเคยชินของคนเซี่ยงไฮ้ได้ ผมเชื่ออีกว่าไม่กี่ปี จีนทั้งประเทศก็จะกลายเป็นเมืองที่แยกขยะได้จนเป็นนิสัยเช่นกัน
เห็นได้ชัดเจนว่าถ้าจีนคิดจะทำอะไร เขาเอาจริง และจัดการให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการอย่างรวดเร็ว และเห็นผล
ข้อสังเกตที่ไม่ควรมองข้ามคือเขาเริ่มต้นที่เด็กนักเรียนในทุกระดับชั้น