หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ผมมองเห็นความเป็นไปของสังคมไทยที่ยากจะหลีกเลี่ยง การเผชิญหน้าของคนสองฝ่ายสองรุ่นสองอุดมการณ์ที่ต่างความคิดกัน วันนี้ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่า ฝั่งของตัวเองถูกต้อง และมองฝั่งตรงข้ามว่า เป็นผู้ร้ายที่กำลังทำลายสังคมไทย
ฝั่งหนึ่งเชื่อว่าอำนาจรัฐถูกใช้อย่างขาดความยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมมีสองมาตรฐาน ฝั่งหนึ่งเชื่อว่าอำนาจรัฐจะตกอยู่ในมือของคนโกงไม่ได้ หรือตกอยู่ในมือของคนที่กำลังต้องล้มล้างมุ่งหวังจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไม่ได้ แต่เหนืออื่นใดคือต่างเชื่อว่าฝั่งตัวเองมีความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง
ความเห็นนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย สังคมมีความเห็นต่างกันได้ แต่สังคมไทยก้าวเลยไปกว่านั้นคือ ไม่เคารพความเห็นต่างของอีกฝ่าย
และที่หนักกว่านั้นก็คือ ฝั่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นมีความรุ่มร้อนรุนแรงท้าทายอำนาจรัฐขนบธรรมเนียมประเพณีจารีตของสังคมไปเสียหมด และทำลายศรัทธาของคนไทยที่มีความยึดมั่นในสถาบัน
ฝ่ายหนึ่งต้องการสานเจตนาของ 2475 แต่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามสถาปนาอำนาจนิยม และอาจถอยไปไกลกว่านั้น
เมื่อความต้องการและปรารถนาของมวลชนสองฝ่ายที่มีกำลังก้ำกึ่งกัน แต่มีความคิดอุดมการณ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พร้อมจะท้าทายต่อสู้ขัดขวางแนวทางของกันและกัน มันจึงมองเห็นความรุนแรงรออยู่ข้างหน้าอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง
โลกวันนี้ความเป็นชาติมันเจือจางมากกว่าความเป็นโลกใบใหญ่ที่ไม่มีพรมแดน คนฮ่องกงหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งไม่สนว่าเขาจะเป็นคนจีนหรือไม่ ลุกฮือขึ้นมาก่อหวอดโบกธงและร้องเพลงชาติอเมริกาเหมือนไม่มีจิตสำนึกและศักดิ์ศรีของความเป็นชาติ ซึ่งเป็นความหมายที่เราพูดกันว่า “ชังชาติ” นั่นเอง
ในขณะที่บ้านเรานั้น ฝ่ายปฏิกิริยาเชื่อว่าแนวทางที่ตัวเองเสนอและผลักดันนั้นจะนำชาติไปสู่หนทางที่ดีกว่าเป็นอารยะแบบสังคมตะวันตกและมีประชาธิปไตยที่เป็นสากล พวกเขาอ้างว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ใช่หมายถึงการชังชาติ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปรมาจารย์ของฝ่ายปฏิกิริยา และสมาชิกพรรคอนาคตใหม่พยายามอธิบายว่า การมองตะวันตกเป็นต้นแบบ และมองไทยเป็นความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง กลายเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของจารีตทางปัญญา หรือ intellectual tradition ของไทยสืบมา
นิธิบอกว่า อัตลักษณ์ไทยย่อมประกอบด้วยการรักษาสืบทอดสิ่ง“ดีๆ” ที่ตกทอดมาแต่อดีตให้ดำรงอยู่สืบไป แต่ก็ไม่ได้รักษาสืบทอดอย่างไม่ลืมหูลืมตา ต้องปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้มีความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับวิธีคิดของคนตะวันตกด้วย
ข้างล่างนี้ผมตัดบางตอนของนิธิมาให้อ่านนอกเหนือจากข้างต้น
.......
ถ้าใครได้อ่านประกาศพระบรมราชโองการใน ร.๕ เรื่องยกเลิกประเพณีหมอบคลาน บางคนคงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นคน “ชังชาติ” อย่างแน่นอน เพราะมีพระราชดำรัสโจมตีธรรมเนียมการหมอบคลานของไทยไว้อย่างรุนแรง ถึงกับทรงอ้างสิ่งที่ในปัจจุบันคงเรียกว่า“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ซึ่งเป็นสภาวะที่นำมาสู่หลักความเสมอภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย
การชี้ให้เห็นความด้อย, ความไม่เหมาะแก่กาลสมัย, ความไร้ “เหตุผล” (แบบตะวันตก), ความไม่มีประสิทธิภาพ, ตลอดจนการกดขี่ข่มเหงกันอย่างไม่ชอบธรรม, ฯลฯ ในวัฒนธรรมไทย, ประเพณีไทย, ระบอบปกครองไทย, หรือแม้แต่ “ศาสนา”ไทย และโน้มนำหรือสั่งให้เปลี่ยนไปตามตะวันตก เป็นพระบรมราโชบายและนโยบายหลักอย่างหนึ่งของชนชั้นปกครองไทย นับตั้งแต่ร.๕ (หรือบางคนว่าร.๔) สืบมาจนปัจจุบัน
ความรู้ว่าโลกตะวันตกเขาทำหรือจัดการเรื่องนั้นๆ อย่างไร เพราะอะไร นับแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อย เช่นการแต่งกาย, มารยาทบนโต๊ะอาหาร, การดูละครหรือฟังดนตรี ไปจนเรื่องใหญ่ๆ เช่นการก่อตั้งและจัดการสถาบันใหม่ๆ หอพระสมุดสำหรับพระนคร, ราชบัณฑิตยสภา, โบราณคดีสโมสร, มหาวิทยาลัย, หรือแม้แต่การบริหารบ้านเมือง เช่นระเบียบการดูแลหัวเมือง, การบริหารราชการ, การศึกษามวลชน, ฯลฯ ก็ริเริ่มและกระทำกันในเมืองไทย ด้วยการปรับเอารูปแบบของตะวันตกมาใช้ทั้งสิ้น รวมทั้งต้องแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของสิ่งที่ทำกันอยู่ในเมืองไทยไปพร้อมกัน
ด้วยเหตุผลที่บางคนคงเรียกว่า “ชังชาติ”นั่นแหละ ชนชั้นนำไทยจึงปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เดินเข้าสู่ความทันสมัยได้ในที่สุด ทั้งยังนิยามความทันสมัยด้วยรูปแบบของตะวันตกเสียด้วยซ้ำ (เฉพาะรูปแบบนะครับ ไม่รวมเนื้อหามากนัก)
.......
นั่นเป็นความเห็นของนิธิ จะเห็นได้ว่า นิธิพยายามอธิบายให้เข้าใจว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่หรือพรรคอนาคตใหม่ทำและถูกบางฝ่ายกล่าวหาว่า เป็นพวก“ชังชาติ”นั้น ก็เหมือนกับที่สิ่งที่ในหลวง ร.๕ได้กระทำมาในอดีต คือการเปลี่ยนแปลงไทยให้เป็นแบบสากลหรือตะวันตก ทั้งที่สิ่งที่ คนรุ่นใหม่และธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ กระทำนั้นแตกต่างกับที่ในหลวง ร.๕กระทำอย่างสิ้นเชิง
แน่นอนการหมอบคลานเป็นการเหยียดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การนำวิวัฒนาการต่างๆ มาสร้างความเจริญให้ประเทศชาตินั้นเป็นการลอกตะวันตกมานั้นนำความเจริญมาให้สังคมไทยจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าถูกต้องนั้น ไม่อาจไปโยงว่า เป็นการ”ชังชาติ” เพียงเพราะลอกเลียนตะวันตก เพื่อสร้างความชอบธรรมกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่และพรรคอนาคตใหม่บางคนถูกกล่าวหาได้เลย
เพราะการรับเอาวัฒนธรรมที่ดีมานั้นเป็นเรื่องปกติในอดีตไทยอาจรับวัฒนธรรมของเขมรอย่างที่นิธิว่า เพราะโลกขณะนั้นมันยังแคบอยู่ ต่อมาเมื่อโลกหมุนเร็วและกว้างขึ้นการส่งถ่ายวัฒนธรรมของแต่ละชาติก็ไหลบ่าข้ามกันไปมาเป็นเรื่องปกติ
ไม่มีคนไทยคนไหนปฏิเสธการรับวัฒนธรรมที่ดีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีจากตะวันตกหรือจากต่างชาติ ไม่มีอะไรที่เราล้าหลังจนน่าชิงชัง การเปลี่ยนค่านิยมที่ผิดในสังคมไทยไปเป็นค่านิยมแบบสากลอย่างที่นิธิพยายามเปรียบเทียบ แล้ว “เล่นใหญ่” ด้วยการย้อนไปยกเอาสมัยในหลวง ร.๕เลิกการหมอบคลานและพัฒนาบ้านเมืองแบบตะวันตกเข้ามาเปรียบเทียบ แบบคนละเรื่องเดียวกันกับการท้าทายศรัทธาของคนอีกฝั่งในสังคม
ถ้าจะเปรียบเทียบความเคลื่อนไหวการแสดงออกของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่า ชังชาติของไทยนั้นก็คงเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในฮ่องกงที่กำลังชูธงตะวันตกแบบบ้าคลั่งอย่างที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นเท่านั้นเอง ซึ่งฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐไม่มีวันยอมให้เป้าหมายของฝ่ายเรียกร้องประสบความสำเร็จและมีผลลัพธ์ของความรุนแรงเกิดขึ้นในฮ่องกงอย่างที่เราได้เห็น
สำหรับบ้านเราผมเองไม่ได้เห็นด้วยกับฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐทั้งหมด และเห็นว่าฝ่ายอำนาจรัฐเองก็พยายามจะสถาปนาอำนาจนิยมให้ย้อนกลับไปเป็นอดีตซึ่งสวนทางกับยุคสมัย ซึ่งทำให้ผมหวั่นว่า ความพยายามที่ต่างกันสุดขั้วของสองฝ่ายนั้น มันอาจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งในสังคมไทย โดยมีภาพของฮ่องกงนั่นแหละเป็นตัวอย่าง
ธนาธรพยายามอ้างว่าเขาต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ถามว่ามีใครกลัวการเปลี่ยนแปลงไหม ผมว่าไม่มีหรอก แต่เขากลัวพฤติกรรมที่ซ่อนเร้น พฤติกรรมในอดีตของธนาธรและแกนนำของพรรคมากกว่า แน่นอนมีสิทธิ์จะคิดและเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองต้องการได้ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับคนที่เขาลุกขึ้นมาต่อต้าน และอำนาจรัฐที่ต้องปกป้องระบอบที่ดำรงอยู่
สังคมไทยหรือสังคมไหนในโลกก็ตามย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเป็นเรื่องชังชาติไปเสียหมดอย่างที่นิธิพยายามจะเชื่อมโยง แต่การท้าทายศรัทธาของสังคมไทย ลบหลู่จารีตประเพณี คุณค่าของวัฒนธรรมสถาบันดั้งเดิม หรือเหยียดหยามความเชื่อของคนอีกฝั่งในสังคม การปลุกปั่นว่าไม่ต้องมีความเชื่อต่อศาสนานั้น มันก็มีเหตุผลพอที่จะถูกเรียกว่า “ชังชาติ”
แถมแกนนำพรรคอนาคตใหม่กำลังปลูกฝังให้คนที่ศรัทธามองสังคมไทยว่าเป็นสังคมที่ไม่มีความอารยะ ไม่มีความยุติธรรม แล้วบิดเบือนว่าการถูกดำเนินคดีต่างๆนั้นเป็นเพราะการต่อสู้กับฝ่ายอำนาจรัฐ ซึ่งผมคิดว่า เป็นการบิดเบือนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองมากกว่า และทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายเสียเอง ก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการปลุกปั่นให้ความผิดที่ตัวเองก่อขึ้นและถูกดำเนินการตามกฎหมายนั้นกลายเป็นเรื่องของการถูกกลั่นแกล้งและรังแก
คดีความต่างๆ ที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่ถูกดำเนินคดีอยู่นั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ตัวเองกระทำขึ้นไม่ใช่การถูกกลั่นแกล้ง และกระบวนการยุติธรรมก็ต้องดำเนินการตามไปไม่เช่นนั้นแกนนำพรรคอนาคตใหม่ก็กลายเป็นอภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือกฎหมายไป
ไม่ใช่เรื่องการถูกโบยตีด้วยความอยุติธรรมที่ตัวเองแอบอ้าง แต่เป็นฝ่ายย่ำยีความยุติธรรมเสียเองมากกว่า
และเชื่อว่ากระบวนการทางศาลจะสามารถอธิบายให้สังคมเข้าใจถึงเหตุผลในการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นได้ว่า มีบรรทัดฐานที่ถูกต้องชอบธรรมอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกนำเอาไปปลุกปั่นเพื่อเร่งความรุนแรงแบบที่ผมเชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้นให้มาถึงเร็วยิ่งขึ้น ดังเช่นคดีหุ้นสื่อที่ผ่านมา ซึ่งศาลได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งแล้วว่า การโอนหุ้นนั้นไม่น่าเชื่อถืออย่างไร
ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเราต่อสู้ด้วยความถูกต้องหรือต่อสู้กับความเป็นธรรม ก็ไม่ควรจะใช้วิธีการปลุกกระแสแบบที่พรรคอนาคตใหม่บอกว่าความผิดที่ตัวเองก่อขึ้นนั้นมาจากผลของการต่อสู้กับฝ่ายถืออำนาจซึ่งเป็นเรื่องที่บิดเบือน