xs
xsm
sm
md
lg

๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ แรกมีประปาในสยาม! ฝรั่งว่าเป็นน้ำสะอาดไม่แพ้เมืองใดในโลก!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ที่ทำการประปาสี่แยกแม้นศรี
ก่อนที่จะมีน้ำประปาดื่มได้ในวันนี้ คนไทยต้องดื่มกินน้ำในแม่น้ำลำคลอง แม้แต่ในพระบรมมหาราชวังก็ต้องเสวยน้ำแม่น้ำเหมือนกัน แต่ไปตักใส่โอ่งมาจากต้นน้ำเพชรบุรีที่ถือว่ายังบริสุทธิ์อยู่มาก ทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้ายังทรงถือว่าเป็นน้ำอร่อยกว่าที่ใดทั้งหมด แม้กรุงเทพฯจะเริ่มมีน้ำประปาแล้ว ก็ยังทรงนิยมเสวยน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีที่ “อร่อย” กว่า

ต่อมาแม่น้ำเพชรมีบ้านเรือนเกิดขึ้นทั้ง ๒ ฝั่ง มีปฏิกูลที่น่ารังเกียจอยู่มาก จึงงดเป็นน้ำเสวยให้กระทรวงมหาดไทยรับจัดน้ำเสวยแทน เจ้าพระยายามราชจึงให้เจ้าหน้าที่จัดทำน้ำประปาขึ้นโดยเฉพาะเป็นน้ำเสวย ไม่ให้ใช้น้ำประปาตามธรรมดาที่ปล่อยไปตามท่อ

การประปาของสยามเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังเสด็จประพาสยุโรป ๒ ครั้ง ทรงพระราชดำริว่า กรุงเทพฯน่าจะมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้ จึงทรงพระกรุณราโปรดเกล้าฯว่าจ้างช่างผู้ชำนาญการประปามาจากฝรั่งเศส ชื่อ นายเดอลาม โฮเตียร์ มาวางแผนการประปาของกรุงเทพฯ ตั้ง“ การประปาสยาม” ขึ้น ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๕๒ ประกาศพระบรมราชโองการให้กรมสุขาภิบาลจัดการนำน้ำมาใช้ในพระนคร คือ

๑.   ให้ทำที่ขังน้ำขึ้นที่คลองเชียงราก เมืองปทุมธานี อันเป็นที่พ้นเขตน้ำเค็มขึ้นถึงทุกฤดู

๒.   ให้ขุดคลองแยกจากที่ขังน้ำลงมาถึงคลองสามเสนฝั่งเหนือ ตามแนวทางรถไฟ

๓.    ตั้งโรงสูบขึ้น ณ ที่ตำบลนั้น สูบน้ำขึ้นยังที่เกรอะกรองตามวิธีทำให้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งซึ่งจะเป็นเชื้อโรค แล้วส่งน้ำไปในที่ต่างๆ ตามควรแก่ท้องที่ของเขตพระนคร

ต่อมาจึงจัดซื้อที่ดิน ขุดคลอง ทำอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างประตูน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบ ส่งน้ำจืดมายังโรงกรองน้ำสามเสน ซึ่งได้ก่อสร้างอาคารติดตั้งระบบผลิตน้ำ ได้แก่การติดตั้งเครื่องกวนสารส้มเพื่อให้ตกตะกอน ต่อท่อเหล็กจากถังกรองส่งน้ำไปตามท้องที่ที่จะจ่ายน้ำไปทั่วพระนคร รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประปารวมค่าที่ดินทั้งสิ้น ๔,๓๐๘,๒๒๑ บาท ๘๑ สตางค์ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ ๕ ปีเศษ จึงสามารถจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวพระนครได้ใช้ นับว่าเป็นโครงการใหญ่ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

ต่อมาในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดกิจการที่มีชื่อเรียกว่า “การประปากรุงเทพฯ” และมีพระราชดำรัสในวันนั้นว่า

“...ท่านทั้งหลายที่ได้ช่วยเราทำการอันนี้ให้สำเร็จไปได้ ควรรู้สึกปลื้มใจว่า ได้ทำการอันเป็นประโยชน์และกุศลอย่างยิ่ง เพราะน้ำซึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ใครๆย่อมรู้อยู่แล้วทั้งในโบราณและบัดนี้ ว่าเป็นของจำเป็นเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขสำหรับป้องกันโรคอันตรายของมนุษย์ น้ำใสสะอาดย่อมเป็นเครื่องบำบัดโรคได้ดีกว่าโอสถหรือเภสัชทั้งหลาย...”

ในสมัยนั้นกรุงเทพฯมีประชากรเพียง ๓๓๐,๐๐๐ คน อยู่ฝั่งพระนคร ๒๘๐,๐๐๐ คน อยู่ฝั่งธนบุรีเพียง ๕๐,๐๐๐ คน เมื่อเริ่มจ่ายน้ำครั้งแรกมีผู้ขอใช้น้ำเพียง ๔๐๐ คน ต่อมาจึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ Mr”Fermand Didier วิศวกรชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเป็นผู้บริหารการประปายุค ร.๕ ได้ไปเขียนหนังสือที่ตีพิมพ์ในยุโรปว่า “น้ำประปาของกรุงเทพฯ เป็นน้ำสะอาดไม่แพ้เมืองใดในโลก”

ในปี ๒๔๙๖ เมื่อประชาชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ จนมีการขุดน้ำบาดาลกันมากมายโดยเฉพาะในกิจการอุตสาหกรรม ในปี ๒๕๑๐ รัฐบาลได้รวมกิจการ การประปากรุงเทพฯ การประปาเทศบาลธนบุรี การประปาสมุทรปราการ และการประปานนทบุรี เป็นกิจการเดียวกัน เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีชื่อว่า “การประปานครหลวง”

ปัจจุบันการประปานครหลวงมีพื้นที่รับผิดชอบ ๓,๑๙๒ ตารางกิโลเมตร ใช้น้ำดิบจากสองแหล่งในการผลิต คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำแม่กลอง มีโรงงานผลิตน้ำหลัก ๔ แห่ง คือ โรงงานผลิตน้ำบางเขน มหาสวัสดิ์ สามเสน และธนบุรี รวมกำลังการผลิต ๔.๗ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำประปาที่ผลิตได้มีคุณภาพตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มีผู้ใช้น้ำ ๑,๘๐๐,๐๐๐ ราย คิดเป็นประชากรประมาณ ๘ ล้านคน หรือเป็นร้อยละ ๙๑.๑๓ % ของประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น