xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ศาสนาคริสต์ และ พระสันตะปาปาฟรันซีส

เผยแพร่:   โดย: ดร. เสรี พงศ์พิศ



โดย ดร. เสรี พงศ์พิศ

ขอฝากข้อเขียนนี้เพื่อต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส เพื่อเข้าใจศาสนาคริสต์และพระสันตะปาปาฟรันซิส

1.ศาสนาคริสต์มีความเป็นมาอย่างไร

ศาสนาคริสต์ในฐานะสถาบันศาสนากำเนิดขึ้นเมื่อ 2000 ปีก่อน พร้อมกับพระเยซูคริสต์ ในประเทศอิสราแอล ซึ่งตามพระคัมภีร์ไบเบิล บรรพบุรุษชื่ออาบราฮัมและลูกหลานได้อพยพมาจากเมโสโปเตเมีย (อีรักในปัจจุบัน) บุตรชายผู้หนึ่งของอาบราฮัมถูกขายไปเป็นทาสในอียิปต์ อันเป็นที่มาของเรื่องราวเกี่ยวกับโมเสส ที่ได้นำลูกหลานชาวยิวออกจากอียิปต์ข้ามทะเลแดง ทะเลทรายกลับอิสราแอล ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ช่วงก่อนกำเนิดของพระเยซู อิสราแอลได้ถูกครอบครองโดยจักรวรรดิ์โรมัน

2.พระคัมภีร์ไบเบิล

เป็นหนังสือที่รวบรวมหนังสือเล่มเล็กต่างๆ อีก 66 เล่ม เป็น “พันธสัญญาเก่า” (Old Testament) 39 เล่ม “พันธะสัญญาใหม่” (New Testament) 27 เล่ม (จำนวนอาจต่างกันตามนิกาย) ส่วนแรก (เก่า) เป็นเรื่องราวก่อนการเสด็จมาของพระเยซู ส่วนหลัง (ใหม่) หลังจากนั้น ชาวคริสต์เชื่อว่า พระคัมภีร์ไบเบิลได้รับการดลใจจากพระเจ้า (divine inspiration)

หนังสือพันธะสัญญาเก่าเริ่มตั้งแต่การสร้างโลกและพัฒนาการของมนุษยชาติ ส่วนพันธะสัญญาใหม่เริ่มจาก “พระวรสารทั้ง 4” (The Gospels) ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตและคำสอนของพระเยซู จดหมายของเซนต์ปอล และหนังสือที่ว่าด้วยวาระสุดท้ายของโลก (Apocapypse)

3.ศาสนาคริสต์มีกี่นิกาย เป็นมาอย่างไร

มี 3 นิกายใหญ่ คือ 1. นิกายโรมันคาทอลิก 2. นิกายออร์ธอดอกซ์ 3. นิกายโปรเตสแตนท์

หลังจากพระเยซูสิ้นพระชนม์ บรรดาสาวกก็ได้เริ่มออกไปประกาศ “พระวรสาร” (Gospel) ทั่วอาณาจักรโรมัน ได้กลายเป็นศาสนาประจำอาณาจักรโรมันในศตวรรษที่ 4 แพร่หลายไปทั่ว “ยุโรป” โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคตะวันออกมีศูนย์กลางอยู่ที่เมื่องคอนสตันติโนเปิล (เมืองอิสตันบูลในตุรกีปัจจุบัน) และภาคตะวันตกที่กรุงโรม มีความขัดแย้งระหว่างสองศูนย์กลางอำนาจนี้มาตลอด จนกระทั่งแตกแยกอย่างถาวรในปี 1054 ทางตะวันออกเป็นศาสนจักรออร์ธอดอกซ์ ทางตะวันตกเป็นศาสนจักรโรมันคาทอลิก

ส่วนโปรเตสแตนท์นั้นแยกออกในศตวรรษที่ 16 เริ่มที่ประเทศเยอรมนี ที่มีความพยายามปฏิรูปศาสนา (นิกายลูเธอรัน หรืออีวันเจลิกัล) จากนั้นก็เกิดนิกายอื่นๆ ในสวิส ฝรั่งเศส อังกฤษ ในยุโรป และที่อเมริกา เป็นร้อยเป็นพันนิกาย

4.ระบบโครงสร้างศาสนจักรคาทอลิก

นักบุญเปโตรหรือเซนต์ปิเตอร์ เป็นหัวหน้าอัครสาวกทั้ง 12 ของพระเยซู ถือว่าเป็นพระสันตะปาปาองค์แรก ที่ได้ไปตั้งศูนย์กลางศาสนาที่กรุงโรม ท่านถูกตรึงกางเขนและเชื่อว่าร่างของท่านว่าถูกฝังในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งมหาวิหารเซนต์ปิเตอร์

พัฒนาการของศาสนจักรในยุคกลางได้ก่อกำเนิดระบบโครงสร้างทางศาสนา ผู้นำสูงสุด คือ พระสันตะปาปา รองลงมา คือ พระสังฆราชหรือบิชอบ และรองลงไปคือบาทหลวง ส่วน “พระคาร์ดินัล” เป็นสมณศักดิ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อการปกครอง และมีอำนาจในการเลือกพระสันตะปาปา

ศูนย์กลางของศาสนจักรคาทอลิกอยู่ที่กรุงโรม บริหารจัดการในฐานะรัฐวาติกัน รัฐที่เล็กที่สุดในโลก มีพื้นที่เพียง 268 ไร่ ประชากรประมาณ 1,000 คน เท่านั้น มีกระทรวงต่างๆ ทีทำหน้าที่บริหารกิจการของศาสนจักรทั่วโลก

ในแต่ละประเทศจะมีการปกครองทางศาสนาโดยคณะพระสังฆราช (บิชอบ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นประมุขเขตปกครองหรือสังฆมณฑลต่างๆ ประเทศไทยมีอยู่ 11 เขต มีบิชอบ 11 องค์ มีองค์เดียวที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล คือ ท่านอาร์ชบิชอบเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช มุขนายกของกรุงเทพฯ ศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยขึ้นต่อ “วาติกัน” ในด้านการปกครองทางศาสนา

5.คณะนักบวช นักพรต

ในช่วงต้นยุคกลาง (ประมาณตั้งแต่ศตวรรษที่ 4-5) ที่อิยิปต์และซีเรีย ได้มีนักบวชและฆราวาสที่รวมตัวกันเพื่อปฏิบัติศาสนาอย่างเคร่งครัดในสถานที่จำกัด เรียกว่าเป็นนักพรต (hermits) ในอาราม (monastery) อันเป็นต้นกำเนิดของนักบวชคณะต่างๆ ซึ่งได้รับอนุมัติจากกรุงโรม คณะเหล่านี้มีผู้ก่อตั้ง มีสมาชิกอยู่รวมกัน มีกฎระเบียบที่ร่างขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เฉพาะต่างๆ มีบางคณะที่อยู่แต่ในอาราม บางคณะทำงานเพื่อสังคม

คณะนักบวชที่รู้จักกันดีในยุคกลาง คือ คณะเบเนดิกติน คณะโดมินิกัน คณะฟรันซิสกัน เป็นต้น คณะเหล่านี้ได้เป็นศูนย์กลางอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะบรรดานักรบผู้ดีที่กลับจากการรบสังครามครูเสด เบื่อโลก สละทรัพย์สมบัติ ที่ดิน ให้แก่อารามนักบวชเหล่านี้ สินทรัพย์ทางโลกทำให้ทางธรรมเสื่อม อันเป็นที่มาของการก่อตั้งคณะนักบวชใหม่ที่สละทรัพย์สมบัติทั้งหมดอย่างฟรันซิสกัน (นักบุญฟรัสซิส อัสซีซี ผู้ก่อตั้งคณะฟรันซิสกัน และนักบุญคลารา ผู้ก่อตั้งคณะคลาสริสต์คาปูชิน หรือชีมืด)

นักพรตนักบวชมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทำการเกษตร การแปรรูปผลผลิต ขนม นม เนย เหล้า ไวน์ เบียร์ ล้วนมาจากอารามนักพรตนักบวช และเป็น “โรงเรียน” สำหรับลูกหลานชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ชาย พัฒนาจากโรงเรียน “วัด” จนกลายเป็น “มหาวิทยาลัย” ในศตวรรษที่ 13

คณะนักบวช และอารามยังเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ ดาราศาสตร์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม กฎหมาย ปรัชญา เทววิทยา ศิลปะ และดนตรี คือผู้ให้กำเนิดภูมิปัญญาว่าด้วยการก่อสร้างโบสถ์วิหารแบบโรมัน-โกธิคอันยิ่งใหญ่อย่างมหาวิหารนอตเตรอดามและที่อื่นๆ ทั่วยุโรป

7.ศาสนาคริสต์มาถึงเมืองไทยเมื่อไร

มิชชันนารีคณะโดมินิกัน คณะฟรันซิสกัน เข้ามาเมืองไทยในศตวรรษ 16 ไม่นานก็ออกไป ต่อมาต้นศตวรรษที่ 17 คณะเยซุอิตเข้ามา และต่อมาคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีสก็เข้าในในรัชกาลสมเด็จพระนาราย์มหาราช ทั้งสองคณะนี้มีบทบาทสำคัญในราชสำนัก ทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ การแพทย์ ดาราศาสตร์ และการทูต โดยเป็นผู้นำคณะทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยที่ 14 ของฝรั่งเศส และเราได้ทราบเรื่องราวต่างๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจากการบันทึกของมิชชันนารีเหล่านี้

สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาและปลายกรุงธนบุรีมีปัญหา ทำให้มิชชันนารีต้องออกจากสยามไปทั้งหมด แต่ก็ค่อยๆ กลับมาตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบัน มีคาทอลิกในเมืองไทยประมาณ 380,000 คน โปรเตสแตนท์ประมาณ 440,000 คน

8.สังคายนาวาติกันที่ ๒ กับการปฏิรูปศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก

สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (1963-1965) นับเป็นเหตุการณ์สำคัญเพื่อการปฏิรูปศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เพราะสังคายนาครั้งสุดท้าย (วาติกันที่ 1) เกิดขึ้นร้อยปีก่อนนั้น โลกเปลี่ยน ศาสนจักรพยายามปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อ “สัญญาณแห่งกาลเวลา”

นับเป็นเวลา 3 ปีของการระดมความคิดจากผู้นำศาสนาคริสต์ทั่วโลก นักปราชญ์บัณฑิตทางเทววิทยา ปรัชญาและศาสตร์ต่างๆ มีธรรมนูญ ปฏิญญา เอกสารสำคัญออกมามากมาย เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ แนวปฏิบัติของศาสนจักรในโลกปัจจุบัน

ประเด็นที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การยอมรับว่า คนที่ไม่เป็นคริสต์ ไม่เป็นคาทอลิก ถ้าเป็นคนดีก็ไปสวรรค์ได้ ไม่ว่านับถือศาสนาใด หรือมีความเชื่อแบบใด เป็นการเปลี่ยนแบบ 360 องศา เพราะก่อนนั้น ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกถือว่า ตนเป็นศาสนาแท้แต่ศาสนาเดียว จึงเรียกคนอื่นว่าคนนอกศาสนา การเปลี่ยนเช่นนี้ได้รับการต้อนรับดีจากทั่วโลก แต่ก็มีผู้สงสัยว่าอาจเป็นยุทวิธีที่แยบยลเพื่อการเผยแพร่ศาสนาแนวใหม่ ที่แท้ตั้งใจจะไปกลืนศาสนาอื่น

9.แนวคิดแนวทางการปฏิรูปและปัญหาภายในพระศาสนจักรคาทอลิก

โลกเปลี่ยนเร็วมาก เกิดปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ คนจำนวนมากเลิกนับถือศาสนาแบบสถาบัน แต่ก็ยังเชื่อในหลักธรรมคำสอนสำคัญ นอกนั้น ยังมีปัญหามากมายภายในศาสนจักรคาทอลิก เรื่องต่างๆ ภายในวาติกัน การถือพรหมจรรย์ (การไม่ให้บาทหลวงแต่งงาน-celibacy) การละเมิดทางเพศ การให้สตรีบวชเป็นบาทหลวงได้ (เช่นเดียวกับในนิกายอังกลิกัน)

ในทางเทวศาสตร์ก็มีการประยุกต์แนวคิดต่างๆ เกิดเทววิทยาสตรีนิยม (สิทธิสตรี), เทววิทยาสีดำ (ต่อต้านการเหยียดผิว) เทวศาสตร์เพื่อการปลดปล่อย (Theology of Liberation) แบบมาร์ซิสท์ในการวิเคราะห์สังคม และหาคำตอบเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม ให้ความหมายของ “บาปสังคม” ที่ต้องแก้ที่โครงสร้างที่เต็มไปด้วยความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เทศน์อยู่บนธรรมาสน์ขอให้คนรวยช่วยคนจน

10.คณะเยซุอิต

คณะเยซุอิต (Society of Jesus) เป็นคณะที่พระสันตะปาปาฟรันซิสสังกัด ลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของคณะเยซุอิต คือ ความเป็นนักวิชาการ นักพัฒนาที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

คณะเยซูอิตก่อตั้งโดยนักบุญอิกญาซิโอ แห่งโลโยลา และนักบุญฟรันซิส แห่งเซเวียร์ในศตวรรษที่ 16 นักบุญฟรันซิสแห่งเซเวียร์ได้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในเอเชีย ไปอินเดีย ผ่านมะละกา ไปเกาะในแปซิปิก ไปญี่ปุ่น และสุดท้ายตั้งใจจะไปจีน แต่ยังไม่ได้ปักหลักที่เมืองจีนก็ถึงแก่กรรมบนเกาะใกล้ชายฝั่งจีน

คณะเยซุอิตทำงานด้านการศึกษาเป็นหลัก และบางส่วนทำงานพัฒนาสังคมด้วย มีสถาบันอุดมศึกษา 168 แห่งใน 40 ประเทศ โรงเรียนมัธยม 324 แห่งใน 55 ประเทศ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของเยซุอิตในสหรัฐ เช่น Boston College, Georgetown University, Seattle University, University of San Francisco และอื่นๆ รวม 27 แห่ง ในยุโรปและเอเชียอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัย Ateneo ที่มะนิลา มหาวิทยาลัยโซเฟียที่โตเกียว และหลายแห่งในอินเดียและอินโดนีเซีย

คณะเยซูอิตในเมืองไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ เคยมีหอพักนักศึกษา ปิดไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน มีประธานศิษย์เก่าชื่อ ศ.น.พ.เกษม วัฒนชัย และอีกแห่งหนึ่งที่สวนเจ็ดริน ถนนห้วยแก้ว เชียงใหม่ เคยเป็นหอพักนักศึกษา วันนี้เป็นที่ “เข้าเงียบ” (retreat) ของผู้ที่อยากภาวนาปฏิบัติธรรม

ศูนย์กลางใหญ่ของคณะเยซุอิตอยู่ที่กรุงโรม มีสมาชิกนักบวชของคณะอยู่ทั่วโลกประมาณ 16,000 คน

11.ปราชญ์เยซุอิต

ขอพูดถึงเยซุอิต 2 ท่านที่มีความสำคัญต่อสังคมวันนี้ และต่อผู้เขียน

ผู้สนใจทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน จะต้องได้อ่านงานของ เทล์ฮาร์ด เดอ ชาร์แดง บาทหลวงเยซุอิตชาวฝรั่งเศส ผู้ถูกสั่งให้หยุดการสอนที่ปารีส จึงได้เดินทางไปทำงานต่อที่เมืองจีนในฐานะผู้ชำนาญวิชาว่าด้วยสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ (paleontologist) นักธรณีวิทยา คือคนที่ค้นพบ “มนุษย์ปักกิ่ง” (Peking Man)

และที่เสนอแนวคิดเรื่องกำเนิดมนุษยชาติที่วันนี้พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 (ที่เกษียณพระองค์) และพระสันตะปาปาฟรันซิสยังอ้างอิงคำสอนของนักวิชาการเยซุอิตผู้นี้ ที่เหมือนถูกขับออกจากประชาคมนักบวชและศาสนจักรเมื่อร้อยปีก่อน

อีกท่านหนึ่งคือคุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์ นักปรัชญาและเทวศาสตร์ชาวเยอรมัน ศิษย์ของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ผู้ทรงคุณวุฒิในสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่ได้เสนอแนวคิดหลักๆ หลายประการที่มีผลในหลักคำสอนความเชื่อของคาทอลิกจนถึงทุกวันนี้ ท่านน่าจะเป็นนักเทวศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20

คือบุคคลที่ยืนรอผมที่ประตูห้องสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1978 (2521) ที่มิวนิก ท่านยื่นมือมาจับแสดงความยินดี และมอบหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่งพร้อมคำอวยพรและลายเซ็น เป็นของขวัญวันสอบปริญญาเอกที่ยิ่งใหญ่และประทับใจที่สุดของผม ท่านเป็นคนเดียวที่รอแสดงความยินดี ไม่มีใครคนอื่นอีกในวันนั้น

12.พระสันตะปาปาฟรันซิส

พระสันตะปาปาฟรันซิส เป็นชาวอาร์เจนไตน์เชื้อสายอิตาเลียน ยังมีญาติพี่น้องอยู่ไม่น้อยทางภาคเหนืออิตาลี และมีลูกพี่ลูกน้องทำงานเป็นมิชชันนารีที่เมืองไทย คือ ซิสเตอร์อันนา โรซา ซิโวริ อยู่เมืองไทยมากว่า 50 ปีแล้ว

พระสันตะปาปาฟรันซิสเกิดที่อาร์เจนตินา เป็นพระนักวิชาการและนักปฏิบัติ เคยสอนวิชาวรรณกรรมและจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยหลายปี เคยตั้งใจไปเรียนปริญญาเอกที่เยอรมัน ไปอยู่ไม่ถึงปีก็ถูกเรียกกลับไปอาร์เจนตินาเพื่อเป็นผู้อำนวยการศูนย์เยซุอิต เป็นนักคิด นักเขียน เขียนหนังสือหลายเล่ม

พระสันตะปาปาฟรันเซิสเป็นคนสมถะ เรียบง่าย ไม่ได้มีแนวคิดก้าวหน้ารุนแรง แต่เปิดกว้างรับฟังแนวคิดที่แตกต่างได้เสมอ ตอนเป็นสังฆราชที่เมืองหลวง ท่านพักที่อพาร์ตเมนท์เล็กๆ ไม่มีแม่ครัว ทำอาหารทานเอง นั่งรถเมล์รถไฟใต้ดินไปทำงาน ตอนที่ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาที่กรุงโรม ยังเดินทางไปจ่ายค่าที่พักในเกสท์เฮาส์เล็กๆ ด้วยตัวเอง

ด้วยวิถีชีวิตแบบนี้ ท่านจึงได้เลือกนามว่า “ฟรันซิส” เมือได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา เพราะนักบุญฟรันซิสแห่งอัสซีซี คือ นักบุญที่ได้สละทุกอย่างเพื่อทำงานให้สังคม เคยไปรบสงครามครูเสด กลับมาได้ทิ้งมรดกกองโตของพ่อแม่ ออกบวช ทำงานแลกกับอาหาร

พระสันตะปาปาฟรันซิส คงต้องการเดินตามแบบอย่างของทั้งนักบุญฟรันซิสแห่งอัสซีซี และนักบุญฟรันซิสแห่งเซเวียร์ผู้ร่วมก่อตั้งคณะเยซุอิต เช่นเดียวกับคำภาวนาของนักบุญฟรันซิส อัสซีซีที่ว่า

ข้าแต่พระเจ้า ขอโปรดให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือสันติของพระองค์
ที่ใดมีความเกลียดชัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความรัก
ที่ใดมีความเจ็บแค้น ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการอภัย
ที่ใดมีความแตกแยก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสามัคคี
ที่ใดมีความเท็จ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความจริง
ที่ใดมีความสงสัย ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความเชื่อ
ที่ใดมีความสิ้นหวัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความหวัง
ที่ใดเป็นที่มืด ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสว่าง
ที่ใดมีความเศร้าโศก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำ ความยินดีเบิกบานใจ
ข้าแต่พระเป็นเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรเทา มากกว่าจะเป็นผู้รับการบรรเทา
เห็นใจผู้อื่นมากกว่าจะรับความเห็นใจ
รักผู้อื่นก่อน และมากกว่าที่จะให้คนอื่นรักข้าพเจ้า
เหตุว่า ผู้ที่ให้เท่านั้น จะได้รับความอิ่มเอิบยินดี
ผู้ที่ลืมตนเองเท่านั้น จะพบตนเองในทางสันติ
ผู้ที่ยกโทษให้เท่านั้น จะได้รับการอภัยโทษ
และดังนี้ เมื่อเราตาย จะได้ไปสู่พระราชัยของพระองค์ตลอดนิรันดร




กำลังโหลดความคิดเห็น