xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โป๊ปฟรันซิส จาริกเส้นทางสันติสุข เสด็จเยือนไทยในรอบ 35 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชวโรกาสให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นเหตุการณ์สำคัญแห่งยุคสมัย เมื่อ “สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส” หรือ “โป๊ปฟรันซิส” ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน รัฐอธิปไตยที่ตั้งอยู่ภายในกรุงโรม เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในรอบ 35 ปี ระหว่างวันที่ 20 - 23 พ.ย. 2562 ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย และสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย

“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส” ทรงเป็นพระสันตะปาปาลำดับที่ 266 แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก และถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,300 ล้านคนทั่วโลก ส่วนในไทยมีอยู่จำนวน 3 แสนกว่าคนเท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.58 เปอร์เซ็นต์ของประชากรกว่า 69 ล้านคน

ทั้งนี้ “สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส” นับเป็นสันตะปาปาองค์ที่ 2 ที่เสด็จเยือนไทยในรอบ 35 ปี หลังจาก “สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2” เคยเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ เป็นครั้งแรกในปี 2527 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

สำหรับเป้าหมายหลักๆ ของการเสด็จมาเยือนของผู้นำทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนั้น เป็นการแสดงความยินดีต่อคริสต์ชนคาทอลิกไทย ในโอกาสครบรอบ 350 ปี หลังจากมีการสถาปนา “มิสซังสยาม” ซึ่งเข้ามาเผยแผ่ธรรมในแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงปี พ.ศ. 2212

นอกจากนี้ ยังเป็นการร่วมฉลองครบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-วาติกัน และที่สำคัญเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งการเสด็จเยือนไทยครั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิสได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต อีกด้วย

“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส” ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่มาจากทวีปอเมริกา มีพระนามเดิมว่า “ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ” ประสูติเมื่อปี 2479 ในครอบครัวชาวอิตาเลียนที่อพยพหนีความยากจนจากประเทศอิตาลี มาตั้งรกรากในประเทศอาร์เจนตินา

“โป๊ปฟรันซิส” มีพระจริยวัตร เรียบง่าย อ่อนน้อม ไม่ถือตัวเป็นกันเอง เป็นคนเปิดกว้าง เผยแพร่คำสอนในคริสต์ศาสนาอย่างร่วมสมัย ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตสมถะ และเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลแห่งปี 2013” โดยนิตยสารไทมส์ และเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่มาจาก คณะสงฆ์เยสุอิต (Society of Jesus)

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ประมุขแห่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก และนครรัฐวาติกัน ซึ่งเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ
พระองค์ให้ความสนใจเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นพิเศษ ตระหนักว่า “ความเหลื่อมล้ำเป็นรากฐานของปัญหาสังคม” พระองค์ได้วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจที่ไร้ความเป็นธรรม คำนึงเฉพาะผลประโยชน์คนบางกลุ่ม พระองค์ทรงมองว่า “การแก้ไขต้นเหตุของความยากจนนั้นไม่สามารถเลื่อนเวลาได้” สอดรับกับพระนาม “ฟรันซิส” ที่มาจากนามของนักบุญฟรันซิสแห่งอัสซีซี นักบุญผู้เชิดชูความยากจนในฐานะคำสอนสำคัญของพระเยซู

รวมทั้งเปิดประเด็นที่มีความล่อแหลมหลายเรื่อง เช่น การให้เกียรติ LGBT บาทหลวงแต่งงานแล้วจะมาเป็นบาทหลวงได้ไหม นักบวชที่เป็นบาทหลวงผู้หญิง ฯลฯ ให้เกิดการทบทวนด้วยบริบทโลกนั้นเปลี่ยนไปแล้ว

ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง “สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส” พระองค์เริ่มต้นจากเข้าศึกษาในสามเณราลัย และได้ปฏิญาณตนเป็นนักบวชคณะแห่งพระเยซู หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเขตศาสนปกครองกรุงบัวโนสไอเรส เป็นรู้จักโดยทั่วไปในนาม “คุณพ่อฮอร์เก้” ก่อนได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น “พระคาร์ดินัล”

ต่อมา “สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16” ทรงสละสมณศักดิ์ ในปี 2556 สู่การคัดเลือกประมุขแห่งศาสนจักรคนใหม่ โดยพระคาร์ดินัลจาก 51 ประเทศทั่วโลก ที่มีอยู่ราว 112 คน คุณสมบัติอายุไม่เกิน 80 ปี และมีสิทธิในพิธีคัดเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่

ในตอนนั้นประเทศไทยมีพระคาร์ดินัล 1 พระองค์ คือ “พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู” แต่ไม่อาจลงคะแนนเลือกและไม่มีสิทธิ์เข้าประชุม เนื่องจากท่านอายุเกิน 80 ปีแล้ว แต่ยังสามารถเดินทางไปให้กำลังใจที่นครวาติกันได้

กระทั่ง ได้รับเลือกตั้งจากคณะพระคาร์ดินัลใน “การประชุมคอนเคล็ฟ” ให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ เป็นสมเด็จพระสันตะปาปาลำดับที่ 266 เป็นประมุขโรมันคาทอลิก พร้อมกับดำรงตำแหน่งประมุขนครรัฐวาติกัน ซึ่งเป็นรัฐอธิปไตยที่ตั้งอยู่ภายในกรุงโรม ศูนย์กลางการปกครองดูแลชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่มีอยู่จำนวนหลายล้านคนทั่วโลก

ในการเสด็จมาเยือนประเทศไทย สมเด็จพระสันตปาปาฟรันซิสได้ประทานพระดำรัสถึงประเทศไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจในบางช่วงบางตอนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมอันหลากหลาย เป็นประเทศพหุสังคมที่มีความหลากหลายอันเป็นเอกลักษณ์ เป็นประเทศที่ยอมรับถึงความสำคัญในการสร้างความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยแสดงความเคารพและยกย่องต่อวัฒนธรรม ศาสนา และความคิดเห็นที่แตกต่าง

“...ผืนแผ่นดินของท่านได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินไทย คือแผ่นดินแห่งอิสรภาพ เราทราบกันดีแล้วว่าอิสรภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราสามารถที่จะเติมเต็มความรับผิดชอบที่เรามีต่อกันและกัน เพื่อเอาชนะความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องพยายามให้ประชาชนทุกคน ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา อาชีพการงาน และความช่วยเหลือด้านสุขภาพ เพื่อที่จะได้สามารถบรรลุถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์และยั่งยืน”

นอกจากนั้น สมเด็จพระสันตปาปาฟรันซิสยังมีพระดำรัสแสดงความห่วงใยถึงปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยทรงมองว่าเป็นปัญหาทางด้านจริยธรรมที่สำคัญยิ่งในยุคสมัยนี้ พร้อมวิงวอนให้ประชาคมระหว่างประเทศ ดำเนินการด้วยความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาที่ผลักดันให้ประชาชนต้องหลบหนีออกจากประเทศของตน และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย มีการจัดการ และมีการควบคุม

ที่สำคัญคือทรงหวังให้ทุกประเทศจัดตั้งกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของบรรดาผู้ย้ายถิ่นและผู้อพยพ ผู้ซึ่งต้องเผชิญภยันตราย ความไม่แน่นอน และการถูกเอารัดเอาเปรียบ

“ปัจจุบันนี้สิ่งที่สังคมของเราต้องการมากกว่ายุคสมัยใดๆ คือ ผู้ส่งเสริมให้เกิด ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชายและหญิงที่มีความตั้งใจจริงในการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการสำหรับประชากรในครอบครัวมนุษยชาติ ที่จะดำเนินชีวิตในความยุติธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความสมัครสมานสามัคคีฉันพี่น้อง ท่านทั้งหลายต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน ในการที่จะพยายามให้ผลประโยชน์ร่วมกันไปทั่วถึงทุกหนแห่งของประเทศ นี่คือหนึ่งในภารกิจอันประเสริฐที่บุคคลๆหนึ่งสามารถทำได้ ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะให้ทุกท่านปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายของตนให้สำเร็จ และข้าพเจ้าวอนขอพระพรอันไพบูลย์จากพระเจ้า สำหรับประเทศ บรรดาผู้นำ และประชาชนชาวไทยทั้งมวล ข้าพเจ้าภาวนาวิงวอนขอให้พระเจ้าทรงนำท่านและครอบครัวของท่าน ในหนทางแห่งปัญญา ความยุติธรรม และสันติสุข”สมเด็จพระสันตปาปาฟรันซิสประทานพระดำรัส

ซิสเตอร์ อานา โรซา ซิโวรี” ลูกพี่ลูกน้องของโป๊ปฟรันซิส ซึ่งปัจจุบันเป็นรองอธิการโรงเรียนเซนต์เมรี่ จ.อุดรธานี เดินทางไปรับเสด็จ



คริสตศาสนิกชนเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจในการเสด็จเยือนไทย “โป๊ปฟรันซิส” ยังได้พบกับพระญาติสนิทซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ คือ “ซิสเตอร์ อานา โรซา ซิโวรี” ธรรมทูตจากอาร์เจนตินาที่พำนักอยู่ไทยมานานหลายสิบปี โดยปัจจุบันเป็นรองอธิการโรงเรียนเซนต์เมรี่ จ.อุดรธานี

ซิสเตอร์ซิโวรี เป็นพระญาติใกล้ชิดกับโป๊ปฟรันซิส เนื่องด้วยพ่อแม่ของทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน สมัยเด็กๆ ครอบครัวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน สังกัดวัดนักบุญคาร์โล หรือ นักบุญชาร์ลส เป็นวัดของคณะซาเลเซียน และได้รับศีลล้างบาปที่วัดเดียวกัน

ซิสเตอร์ซิโวรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเสด็จเยือนของ โป๊ปฟรันซิส ว่าพระองค์ทรงมีความประสงค์ที่จะส่งเสริมการหารือกับศาสนาอื่นและเผยแผ่สาส์นแห่งสันติภาพ

“ไม่คิดว่าท่านจะได้เสด็จมาประเทศไทย เพราะปกติท่านจะเลือกเสด็จไปเยือนประเทศเล็กๆ ที่ยากจน ที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจมากกว่า เมื่อท่านจะเสด็จมาที่ไทย ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพื่อที่จะได้ฟื้นฟูชีวิตครอบครัวชาวไทยที่ธรรมดาๆ”

นอกจากนี้ ซิสเตอร์ซิโวรียังบอกด้วยว่า “พระองค์เลือกที่จะมาประเทศไทยของเราเพราะพระองค์รักและอยากพบทุกคนไม่ว่าชาติใดศาสนาใด พระองค์ยินดีมอบสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ทุกคนพบความสุขแท้ในชีวิต การเยี่ยมของพระองค์เป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่สำหรับเราทุกคน”

กล่าวสำหรับศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนั้นมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยมายาวนาน เพราะฉะนั้นการมาเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส จึงถือเป็นบันทึกครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยปัจจุบันผู้ที่ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดก็คือ“พระคาร์ดินัล ฟรันซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช”

ทั้งนี้ นอกจาก “พระคาร์ดินัล ฟรันซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช” แล้ว คริสตจักรไทยยังมีพระคาร์ดินัลอีก 1 รูปคือ “พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอัครมุขนายกกิตติคุณมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ

สำหรับรายละเอียดการมาเยือนไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส คุณพ่ออนุชา ไชยเดช ผู้รับผิดชอบด้านสื่อมวลชนคาทอลิกในประเทศไทย สำนักงานกลาง และเครือข่ายเอเชีย เปิดเผยไว้ว่า การมาครั้งนี้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ให้ความสำคัญกับภารกิจ 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่ง-การทำพิธีมิสซา ที่สนามศุภชลาศัย สำหรับประชาชนทั่วไป และการทำพิธีที่อัสสัมชัญ สำหรับเยาวชน สอง - งานพิธีการ โดยร่วมกับภาครัฐในฐานะพระประมุขและรัฐและผู้นำศาสนา รวมทั้งสานความสัมพันธ์กับ 5 ศาสนา และสาม - งานสงเคราะห์ ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปโรงพยาบาลเซ็นหลุยส์ ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ เยาวชน พระสงฆ์ นักบวช ครูคำสอน ที่ทำหน้าที่แพร่ธรรม

ที่น่าสนใจคือ การเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป็นไปอย่างสมถะเรียบง่ายตามพระประสงค์ของโป๊ปฟรันซิส โดยรถที่ใช้ในระหว่างการเสด็จเยือนประเทศไทย หรือ Popemobile มีความเรียบง่าย ไม่เน้นหรูหรา เลือกใช้รถกระบะเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความเรียบง่าย เป็นตามแบบมาตรฐานและรายละเอียดต่างๆ จากนครรัฐวาติกัน ส่วนป้ายทะเบียน SCV1 ซึ่งย่อมาจาก Status Civitatis Vaticanae (นครรัฐวาติกัน)

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิสประกอบพิธีมิสซาที่สนามศุภชลาศัย
ทั้งนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ทรงฉลองอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่ตัดเย็บด้วย “ผ้าไหมไทยลายกนก” ปักดิ้นทองลายไทย อันสื่อถึงความอ่อนช้อยแบบไทย และตอบโจทย์เรื่องความเรียบง่ายของพระองค์ แต่สง่างามและสะท้อนวัฒนธรรมไทยไปทั่วโลก ตัดเย็บโดย ซิสเตอร์สุกัญญา สุขชัย แผนกอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ คณะพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า

อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ประกอบพิธีมิสซาที่สนามศุภชลาศัย วันที่ 21 พ.ย. ประกอบด้วย “เสื้อกาสุลา” หรือเสื้อชั้นนอกที่ใช้ประกอบพิธีมิสซาแบ่งเป็น 2 แบบ โดยชุด “สีทอง” เพราะสีทองและสีขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์และความชื่นชมยินดี ตรงกับวันระลึกถึงแม่พระถวายพระองค์ที่พระวิหาร และชุด “สีแดง” จะใช้ในวันที่ 22 พ.ย. ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ โดยสีแดงเป็นการระลึกถึงนักบุญเซซีลีอา ซึ่งเป็นมรณสักขีหรือนักบุญผู้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อในพระเจ้า จึงใช้สีแดงที่สะท้อนถึงความรักและโลหิตที่หลั่งออกมาเพราะความรักต่อพระเจ้า

สำหรับในพิธีมิสซาจะใช้ “จอกกาลิกส์ อายุ 173 ปี” ซึ่งผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 1846 สมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งนักประวัติศาสตร์คาทอลิกเชื่อว่าเป็นสมบัติของ พระสังฆราช ฌอง บัปติสต์ ปัลเลอกัว ทำด้วยเป็นเงินแท้กับกะไหล่ทอง เป็นศิลปะยุคบาโรก ในอดีตเคยใช้ประกอบพิธีมิสซามาแล้ว เสมือนเป็นตัวแทนมิชชันนารีที่เข้ามาสู่มิสซังสยามเมื่อหลายร้อยปีก่อน เป็นมรดกที่มิชชันนารีได้มอบให้กับสังคมไทย เนื่องในโอกาส 350 ปีมิสซังสยาม

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยจัดทำแสตมป์ชุดพิเศษ ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส พระประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่ง นครรัฐวาติกัน เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20 - 23 พ.ย. 2562 กำหนดจัดนิทรรศการแสตมป์ชุดพิเศษ นำเสนอเส้นทางจาริกเพื่อสันติสุขของโป๊ปฟรังซิส ในการเสด็จไปเยือนประเทศต่างๆ รวม 50 ประเทศ ระหว่างปี 2556 - 2562 ผ่านดวงแสตมป์ที่ระลึกของแต่ละประเทศ ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน สะพานควาย ในช่วงของการเสด็จเยือนฯ ไปจนถึง 30 พ.ย. ศกนี้