ประมาณการเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปี 2562 ถูกปรับลดมาตลอด จากต้นปีหน่วยงานภาครัฐบาลประเมินกันว่า จะโตประมาณ 4% ก่อนปรับลดเหลือ 3.5% และลดลงเหลือ 3% จนล่าสุดปรับลดลงเหลือเพียง 2.6% เท่านั้น
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ แถลงถึงจีดีพีไตรมาสที่ 3 เติบโตเพิ่มขึ้น 2.4% รวมงวด 9 เดือนแรกขยายตัว 2.5% โดยคาดว่าปีนี้จะเติบโต 2.6%
ถ้าจีดีพีโตเพียง 2.6% จะเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือต่ำสุดนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจ โค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
จีดีพีในไตรมาสที่ 3 ได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวด้านการบริโภค การลงทุนภาค ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนการส่งออกลดลง โดยคาดว่าปีนี้ส่งออกจะติดลบ 2%
ส่วนปีหน้า สภาพัฒน์ประเมินว่า จีดีพีจะโต 2.7-3.7% การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.3% โดยได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐและเอกชน การฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก มาตรการกีดกันทางการค้าที่ผ่อนคลาย รวมทั้งมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐและการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว
แต่ประมาณการเป้าหมายจีดีพีปีหน้า อาจไม่แตกต่างจากประมาณการปีนี้ เพราะถึงเวลาต้องทยอยปรับลดลงมา โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจปีหน้า อาจแย่กว่าปีนี้
การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังไม่มีข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ทั่วโลกเฝ้าจับตาด้วยความหวาดผวา กลัวข้อตกลงล้มเหลว จนเกิดการปะทุรอบใหม่ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เปลี่ยนท่าที ประกาศจะเปิดสงครามกับจีนต่อไป
ส่วนค่าเงินบาทยังแข็ง แม้แบงก์ชาติจะมีมาตรการแทรกแซงก็ตาม ขณะที่การส่งออกไม่กระเตื้องขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคตกต่ำ ธุรกิจซบเซาอย่างหนัก และจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น
การโฆษณาชวนเชื่อว่า เศรษฐกิจไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่อาจฟื้นตัวช้านั้น อาจทำให้ประชาชนประเมินภาวะเศรษฐกิจผิดๆ จนไม่ได้เตรียมการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จะต้องเดือดร้อนอย่างหนัก
ถึงเวลานี้ ต้องพูดความจริงกับประชาชนแล้ว ต้องส่งสัญญาณให้รู้ว่า เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะเลวร้าย และไม่ควรมีใครสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ต้องเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง เตรียมการรับมือผลกระทบ โดยเฉพาะปีหน้า ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะทรุดหนักลงไปอีก
รัฐบาลจะต้องประเมินเศรษฐกิจบนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และต้องไม่หลอกตัวเองว่า เศรษฐกิจยังดี ไม่มีปัญหา เพราะจะทำให้กำหนดมาตรการแก้ปัญหาไม่ถูกทาง และไม่อาจดับชนวนวิกฤตที่กำลังคืบคลานเข้ามาได้
ตัวเลขจีดีพี 9 เดือนแรกปีนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อัตราการเติบโตเพียง 2.6% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี เป็นการประจานความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และไม่อาจบิดเบือนได้ เพราะตัวเลขเป็นสิ่งยืนยันในความล้มเหลว
จะโยนให้ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นแพะรับบาป โดยอ้างว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจทรุด คงแก้ตัวไม่ได้เต็มปากนัก
เพราะสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนเพิ่งเปิดฉากเมื่อกลางปี 2561 แต่เศรษฐกิจทรุดมาหลายปีติดต่อ หรือทรุดตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาบริหารประเทศก็ว่าได้
รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาล ผลักดันนโยบายประชานิยมออกมาต่อเนื่อง ทั้งช้อปช่วยชาติ ชิมช้อปใช้ แต่ไม่อาจปลุกเศรษฐกิจให้ฟื้นได้
ปีหน้าอะไรจะเกิดขึ้น ยังไม่อาจคาดหมายได้ แต่ทุกคนเตรียมใจกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเลวร้ายลง เพราะหมดความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะนำประเทศรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ได้
แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กลับจะเป็นตัวเร่งวิกฤตเสียด้วยซ้ำ จากนโยบายเมกะโปรเจกต์และนโยบายประชานิยม โดยการสร้างหนี้สาธารณะให้พุ่งขึ้น
จีดีพีที่ทรุดฮวบ จนต้องปรับลดประมาณการปีนี้โตเพียง 2.6% อาจเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจปีนี้เลวร้ายเพียงใด แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือ เศรษฐกิจปี 2563
เพราะฟังจากที่ไหนๆ ฟังจากใครๆ ทุกคนมองเหมือนกัน ปีหน้าจะแย่กว่าปีนี้
ดังนั้น จึงอย่าฝันหวานว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้น