xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเช็กจะ ‘ปฏิวัติ’ อีกรอบ...?

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


นายกรัฐมนตรีอันเดรจ บาบิส ของสาธารณรัฐเช็ก


ประชาชนสาธารณรัฐเช็กกว่า 2 แสนคนชุมนุมในกรุงปราก เมืองหลวงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อฉลองวันครบรอบ 30 ปีของการ “ปฏิวัติกำมะหยี่” ล้มล้างระบอบคอมมิวนิสต์ เข้าสู่ประชาธิปไตยเหมือนหลายประเทศในยุโรปตะวันออก

เดินตามรอยการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียต ทำให้ยุโรปตะวันออกประกาศอิสระ ไม่เข้าอยู่ในเครือข่ายของรัสเซียอีกต่อไป ชาวเช็กแยกจากเชโกสโลวาเกีย เป็นเช็กกับสโลวัก เข้าสู่เศรษฐกิจตลาดเสรีทุนนิยมตะวันตก

แต่การชุมนุมของชาวเช็กมีอีกนัยหนึ่งนอกจากการฉลองวันครบรอบอิสรภาพของประเทศ มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี อันเดรจ บาบิส ลาออกจากตำแหน่งเพราะถูกค้นพบว่ามีพฤติกรรมเป็นสายตำรวจลับหน่วยเอสทีบีในยุคคอมมิวนิสต์

ตำรวจลับในยุคนั้นมีพฤติกรรมไม่ต่างจากต้นแบบคือเคจีบีของสหภาพโซเวียต เมื่อบาบิสจนมุมด้วยหลักฐานเอกสารมัดตัว แม้ได้ปฏิเสธเสียงแข็ง ก็ยังไม่ยอมลงจากตำแหน่งหลังจากได้เป็นผู้นำประเทศเพียง 2 ปีโดยชนะการเลือกตั้งทั่วไป

บาบิสไม่ธรรมดา เป็นนักธุรกิจมีความมั่งคั่งประเมินแล้วประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ รวยอันดับ 2 ในประเทศเช็ก จากการเป็นเจ้าของกลุ่มธุรกิจอะโกรเฟิร์ท ค้าขายเคมี โภคภัณฑ์เกษตร ทั้งขยายกิจการเป็นเจ้าของ 2 กลุ่มสื่อใหญ่ของประเทศ

บาบิสเกิดในส่วนที่เป็นสโลวัก หลังจากแบ่งแยกประเทศ ก็เลือกที่จะย้ายเข้าอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก ทำธุรกิจสร้างฐานะจนมั่งคั่ง แต่มีเบื้องหลังพฤติกรรมไม่สะอาด เช่น ผลประโยชน์ทับซ้อน เลี่ยงภาษี มีความไม่โปร่งใสหลายประการ

คนเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้มีทั้งประชาชนซึ่งได้มีส่วนชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 30 ปีก่อน ผู้จัดชุมนุมเรียกตัวเองว่าเป็น “1 ล้านวาระเพื่อประชาธิปไตย” และถูกมองว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ในปี 1989

มีคนมากกว่า 4.3 แสนคนเข้าร่วมลงชื่อเรียกร้องให้บาบิสลาออก และผู้เดินขบวนประท้วงให้ฉายาบาบิสว่าเป็น “เช็กทรัมป์” ประกาศว่ายอมรับไม่ได้ที่จะให้อดีตตำรวจลับยุคคอมมิวนิสต์มาเป็นนายกฯ จะว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ได้เด็ดขาด

บาบิสยอมรับว่าตัวเองได้เคยพบปะกับเจ้าหน้าที่ของตำรวจลับในช่วงปี 1980 ซึ่งตอนนั้นตัวเองเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำงานให้บริษัทค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นงานสำคัญเปิดโอกาสให้ได้เดินทางไปต่างประเทศ

การได้ไปต่างประเทศยุคนั้นถือว่าเป็นสิทธิพิเศษสำหรับประชาชนชาวเช็ก ซึ่งก็เป็นเหมือนคนในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งอยู่ในเครือข่ายของสหภาพโซเวียต

ข้อมูลถูกเก็บในแฟ้มของทางการสถาบันที่ระลึกแห่งชาติสโลวัก ได้ระบุว่าบาบิสเป็นผู้ยอมมีส่วนร่วมงานในองค์กรตำรวจลับ เมื่อได้พบกับเจ้าหน้าที่ขององค์กร พูดคุยกันนานชั่วโมงครึ่งในบาร์ที่เมืองบราติสลาวาเดือนพฤศจิกายน ปี 1982

แฟ้มข้อมูลบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ได้กล่าวถึงบาบิสว่ามีความกังวลว่าจะโดนเพื่อนร่วมงานจับได้ว่าเป็นผู้ร่วมมือกับตำรวจลับ และจะทำให้มีผลเสียหายต่อหน้าที่การงาน แต่บาบิสก็ยอมลงชื่อเข้าร่วม มีชื่อโค้ดว่า “บูเรส”

บาบิสได้พยายามต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญของสโลวักปีที่ผ่านมา ขอให้ลบชื่อตัวเองออกจากสารบบแฟ้ม แต่ถูกศาลตัดสินให้แพ้คดี และสถาบันที่ระลึกแห่งชาติสโลวักมี 12 แฟ้มซึ่งมีลายเซ็นของอดีตตำรวจลับ 40 คนเป็นหลักฐานมัดตัวบาบิส

แม้ประชาชนเช็กส่วนหนึ่งต้องการให้บาบิสลงจากเก้าอี้นายกฯ ยังมีส่วนหนึ่งให้การสนับสนุนอย่างมากเช่นกัน พรรคเอเอ็นโอของบาบิสได้ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้แทนในรัฐสภายุโรปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 20 เปอร์เซ็นต์

ในการเลือกตั้งในปี 2017 พรรคเอเอ็นโอได้คะแนนเสียง 30 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าพรรคโอดีเอส ซึ่งใหญ่อันดับ 2 แต่ได้คะแนนเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้บาบิสเป็นผู้ส่งเสริมการเมืองแนวประชานิยม ซึ่งไม่ยอมรับผู้ลี้ภัยอพยพมาจากประเทศอื่นๆ

ไม่ยอมรับทั้งโควตาสำหรับผู้อพยพ และบาบิสยังอยู่ในกลุ่ม 4 ผู้นำประเทศซึ่งไม่ยอมรับกฎของประชาคมยุโรปในการควบคุมระดับการปล่อยสารคาร์บอน

ดังนั้นผู้ประท้วงจะกดดันให้บาบิสลงจากตำแหน่งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรู้ว่าอาจเผชิญกับการสอบสวนพฤติกรรมละเมิดกฎหมาย ดังนั้นจึงเรียกร้องให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่แตกแยกกันให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อวางแผนเอาชนะบาบิสให้ได้

ขณะเดียวกันการชุมนุมเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลยังคงมีต่อไป ผู้ประท้วงอ้างว่าระบบกระบวนการยุติธรรมและสื่อมวลชนอยู่ในภาวะอันตราย และยังอาจมีเหตุให้ประธานาธิบดีประกาศอภัยโทษให้นายกฯ บาบิส ก็เป็นได้

บาบิสยังเผชิญข้อกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน มีพฤติกรรมฉ้อฉล เกี่ยวโยงกับการได้รับเงินอุดหนุนจากประชาคมยุโรปสำหรับกลุ่มธุรกิจอะโกรเฟิร์ท ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการขนาดใหญ่ช่วงกว่า 10 ปีก่อน ทำให้ตำรวจสอบสวนดำเนินคดีอาญา

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บาบิสครบรอบวันเกิด 65 ปี อัยการพยายามเตะถ่วงคดี และสุดท้ายสั่งไม่ฟ้องทุกคดีตามข้อกล่าวหา ส่วนบาบิสก็ปฏิเสธเหมือนเดิม

ประชาคมยุโรปก็สอบสวนบาบิสเช่นเดียวกันในข้อกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ก่อนหน้านี้บาบิสได้ถ่ายโอนการถือครองหุ้นบริษัทอะโกรเฟิร์ทเข้ากองทุนก่อนรับตำแหน่งนายกฯ แต่อียูยังสงสัยว่าบาบิสยังคงได้รับผลประโยชน์อยู่หรือไม่

ต้องรอดูว่ามหาเศรษฐีนักการเมืองเช็กเข้าข่าย “รวยแล้วไม่โกง” จริงหรือไม่!
กำลังโหลดความคิดเห็น