xs
xsm
sm
md
lg

จงเป็นประชาชนที่ไม่เป็น“ติ่ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ความขัดแย้งในสังคมไทยที่เริ่มจากการต่อต้านระบอบทักษิณของมวลชนฝ่ายหนึ่ง และระบอบทักษิณได้ก่อตั้งมวลชนกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้าน จนต่างฝ่ายต่างสะสมมวลชนสะสมอุดมการณ์ความคิดก่อตัวเป็นกลุ่มก้อนขบวนการนับเนื่องมาเกินกว่าทศวรรษแล้ว

แน่นอนว่าแม้ความแตกแยกทางความคิดจากการชุมนุมของมวลชนทั้งสองฝ่าย อาจทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นบ้างในบางครั้ง ต่างฝ่ายก็โดนดำเนินคดีความไปตามกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วสังคมไทยก็ไม่ได้เอาเป็นเอาตายกันขนาดนั้น เรารู้ว่าเพื่อนเรามีความคิดทางการเมืองตรงกันข้าม เรารู้ว่าญาติของเรามีความคิดทางการเมืองตรงกันข้าม หรือคนในครอบครัวเดียวกันมีความคิดทางการเมืองต่างกัน แต่เราก็ไม่ได้ใช้ความรุนแรงต่อกัน ยังพูดคุยและร่วมทำกิจกรรมกันได้

แต่คำถามว่า ความคิดในอุดมการณ์ที่ต่างกันนั้น มีความไม่ปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองหรือไม่ ผมเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีความมุ่งหวังที่ดีต่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน ดังนั้นในฐานะมวลชนความแตกแยกขัดแย้งกันจึงไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวเลย แต่เป็นการมองคนละด้านและคนละมุม

เพียงแต่นักการเมืองและฝั่งฝ่ายที่เราเลือกเขาอาจใช้เราเป็นประโยชน์ในการรักษาอำนาจของเขา ปกป้องอำนาจของเขาและเรากลายเป็นเครื่องมือ เพราะเชื่อมั่นว่า นักการเมืองรายนั้นมีความคิดและอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับเรา

สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ถ้าเราถอยห่างออกมา ว่าสิ่งที่เราทำนั้น ไม่ก่อให้ใครเอาไปเป็นประโยชน์ของตนแทนประโยชน์ของส่วนรวม เรามองนักการเมืองที่เราชอบและสนับสนุนด้วยสายตาที่มีความยุติธรรม มองทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีของเขา เราอาจทำให้การเมืองของบ้านเรามีทางออกที่สร้างสรรค์และออกจากความขัดแย้งได้

ทว่าสิ่งที่ดำรงอยู่เรามองฝั่งที่เราเชียร์และชอบไม่ว่าทำอะไรก็เป็นเรื่องถูกต้องไปเสียหมด เพราะเราแปลงตัวเองจากพลเมืองที่มีความคิดอ่านที่ดีต่อชาติบ้านเมืองไปเป็น “ติ่ง” ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ผมมองเห็นหลายคนในโลกโซเชียลจะวิจารณ์ด่าทอฝั่งตรงข้ามที่คิดไม่เหมือนกับตัวเอง ฟังให้ดีก่อนนะครับ การด่าทอฝั่งตรงข้ามที่คิดไม่เหมือนกับตัวเองนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดเสมอไป แต่เราต้องโต้แย้งด้วยหลักการและเหตุผลที่คิดว่าดีกว่า ไม่ใช่มองเพียงว่าเขาทำในสิ่งที่เราไม่ถูกใจ

คนจำนวนหนึ่งด่าทอสื่อที่ไม่เชียร์ฝั่งเดียวกัน หรือด่าทอสื่อที่ชวนฝั่งตรงข้ามกับตัวเองมาพูดคุย ทำนองว่า เป็นสื่อที่ไม่มีอุดมการณ์ไม่มีจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลก เพราะถ้าสื่อต้องเอาใจใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ย่อมไม่ถูกใจอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ผมไม่ได้หมายความว่าสื่อจะเลือกข้างไม่ได้ เพราะสื่อต้องเลือกข้างความถูกต้อง ไม่ใช่ระหว่าง “ข้าว” กับ “ขี้” ต้องเลือกกินข้าวครึ่งหนึ่งขี้ครึ่งหนึ่ง เครือผู้จัดการก็เคยเป็นสื่อเลือกข้างในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ แต่ในประเด็นที่เป็นวาระของสังคมสื่อก็ต้องนำเสนอความเห็นทั้งสองด้าน ไม่ใช่พอสื่อเชิญคนที่ตัวเองไม่ถูกใจหรือเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบมาพูดคุยก็กลายเป็นสื่อชั่วสื่อเลวไปเสียหมด

บางทีการที่เราจะต่อต้านอะไรสักอย่างนั้น เราต้องหันมาทบทวนตัวเองเสียก่อน ว่าเราเอาตัวเองไปเป็น “ติ่ง” ของใครจนเกินเลยความยึดมั่นในหลักการหรือเปล่า บอกตรงๆว่าในบรรดา “ติ่ง” ตอนนี้ระหว่าง “ติ่งลุงตู่” กับ “ติ่งธนาธร” นั้น มีจำนวนไม่น้อยที่อยู่เลยหลักการของเหตุผลและตรรกะที่ถูกต้องไป เราปรากฏพบเห็นบุคคลเหล่านี้ได้ตามหน้าต่างของโซเชียลมีเดียทั่วไป
ผมไม่ได้มองเห็นแต่ด้านที่ไม่ดีของความขัดแย้งทางการเมือง และความแตกแยกในอุดมการณ์และจุดยืนทางการเมืองของบ้านเราในระยะเวลาสิบกว่าปีมานี้ ผมคิดว่ามันมีข้อดีที่ทำให้คนไทยจำนวนมากตื่นตัวทางการเมือง ในที่ชุมนุมของแต่ละฝ่ายมีจำนวนมากที่เป็นผู้หญิงแม่บ้านที่ไม่เคยสนใจทางการเมืองมาก่อน แต่วันนี้มีความเข้าใจทางการเมืองในระดับที่ดี ไม่ว่าความเห็นที่เข้าใจนั้นจะเป็นเรื่องต่างอุดมการณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็ตาม

การทำให้คนในสังคมมาสนใจการเมืองนั้น มันทำให้คนในชาติยกระดับขึ้นมาเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น ซึ่งถ้าเราเอาตัวเองออกจากการเลือกข้างแล้วเป็น “ติ่ง” ของตัวบุคคลได้ เราก็จะมีประชากรที่มีคุณภาพที่สามารถรู้เท่าทันนักการเมืองและฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐได้

แต่นี่บางครั้งเรากลายเป็นการเลือกข้างจนหูหนวกตาบอด ไม่ว่าคนธรรมดา ปัญญาชน นักวิชาการ นักกฎหมายที่มีความรู้ ถ้านักการเมืองที่เราชอบทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเราก็ทำเป็นเฉยเมย แต่ถ้าฝั่งตรงข้ามทำแบบเดียวกันเราจะออกมาต่อสู้คัดค้านทันที เป็นแบบนี้กันทั้งสองฝั่งขั้วอุดมการณ์และการเลือกข้างทางการเมือง

พอเรายังเป็นแบบนี้เราก็กลายเป็นเครื่องมือที่หนุนเนื่องอำนาจของฝ่ายที่เราชื่นชอบ คนมีอำนาจก็ชอบเพราะความแตกแยกของประชาชนนั้นเป็นประโยชน์ของผู้มีอำนาจเสมอ เขาจึงไม่แก้ไขความขัดแย้งในชาติหรอกเพราะความขัดแย้งก่อประโยชน์ให้กับเขา

เราด่าทอว่า คสช.ยึดอำนาจเข้ามาแล้วไม่ได้แก้ไขเงื่อนไขของความขัดแย้งในสังคม กว่าเราจะนึกได้ว่า ปัญหาทุกสิ่งที่ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เขาก็ต่อบันไดอำนาจขึ้นไปให้ตัวเองแล้ว เพราะมีมวลชนจำนวนหนึ่งเป็นแรงหนุนเนื่อง เพราะเราต่อสู้ขัดแย้งและเลือกข้างจนลืมเป้าหมายที่แท้จริงว่า ชาติบ้านเมืองต้องการอะไร

ผมยังมองสังคมไทยด้วยความหวังนะครับ แต่ถ้าเรายังขัดแย้งแบบยึดตัวบุคคล เราก็จะกลายเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ ถ้าเราต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของระบอบทักษิณ เราก็ต้องไม่มืดบอดกับการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของอีกฝ่าย ทำไมสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ไม่ถูกลงโทษ เพียงเพราะย้ายข้าง ทำไมนาฬิกายืมเพื่อนจึงมีคำวินิจฉัยที่ประหลาด ถ้าคุณเชื่อมั่นกับระบอบทักษิณ คุณต้องตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่เขาแก้กฎหมายให้ตัวเองได้ประโยชน์ บิดเบือนหลักการของกฎหมายต่างๆ แบบพวกมากลากไป ไม่ใช่ถ้าฝ่ายตัวเองทำแล้วไม่ผิด
ถามว่า ทำไมเราจึงเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาให้ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ เพราะเรามองว่า ฝ่ายได้ประโยชน์คือฝ่ายที่เราชื่นชอบใช่ไหม แล้วแบบนี้จะบอกว่าเรายืนอยู่บนหลักการของความถูกต้องและชอบธรรมได้อย่างไร เราจะถอยห่างจากสังคมสองมาตรฐานได้อย่างไร และเราจะบอกว่าที่เราออกมาต่อสู้ทางการเมืองนั้นเรายืนอยู่บนความถูกต้องชอบธรรมได้อย่างไร

แล้ววันหนึ่งถ้าฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจแล้วทำแบบเดียวกัน เราจะยอมรับได้ไหมสังคมไทยวันนี้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูง คนจำนวนมากเห็นว่าการเมืองก็เป็นภาระของเราทุกคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชาติ เราเห็นต่างทางการเมืองได้ มีจุดยืนอุดมการณ์ทางการเมืองได้ แต่เราต้องไม่หรี่ตาข้างหนึ่งถ้าคนที่ทำผิดเป็นบุคคลที่เราชื่นชอบ เราต้องไม่คิดว่า ถึงโกงก็ไม่เป็นไรถ้าเราได้ประโยชน์ด้วย เพราะนั่นเท่ากับเราเห็นแก่ตัวมากกว่าผลประโยชน์ของชาติที่ควรตกถึงทุกคนเท่าเทียมกัน

เราจงมายืนโต้เถียงต่อสู้ทางการเมืองกันเพื่อผลประโยชน์ของชาติ แต่เราต้องเอาตัวเองออกจากความเป็น “ติ่ง” ให้ได้เสียก่อน

ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น