ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ทุกวันนี้คนไทยเริ่มเห็นปัญหาจากวิกฤติประชากรชัดเจนมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการต้องยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีเด็กเรียน และครูไทยอาจจะตกงานได้ มหาวิทยาลัยไทยอาจจะไปไม่รอด มีที่ต้องขายที่ดินทำคอนโดขาย เรามีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่งบประมาณบานปลายมากเนื่องจากคนไทยแก่ เป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มวัย พี่ตูนต้องออกมาวิ่งหาเงินช่วยโรงพยาบาลให้อยู่รอด การบริโภคบางอย่างเช่นเสื้อผ้า อาหาร สำหรับคนสูงอายุอาจจะลดลงนิดหน่อย แต่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลอาจจะเพิ่มขึ้นมาก นี่คือปัญหาจาก Aging Society ในประเทศไทยล้วน ๆ
ลองมองไปประเทศที่ไม่ไกลจากเรามากนักเช่นญี่ปุ่น ปัญหานี้หนักหนายิ่งกว่าประเทศไทยเสียอีก ไปไหนในญี่ปุ่นมีแต่คนแก่มากกว่าหนึ่งในสี่ คนญี่ปุ่นต้องยอมให้แรงงานต่างด้าว เช่น เกาหลี ที่คนญี่ปุ่นเกลียดนัก รัสเซีย จีน เข้ามาทำงานกันเต็มไปทั้งญี่ปุ่น ซึ่งสมัยก่อนจะไม่มีทางยอมให้เป็นเช่นนี้ แต่ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกแล้ว สวัสดิการสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่นผ่านการเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น (Aged society) มากว่า 25 ปีก็ยังไม่กระเทือนมาก ถูกปรับลดชั้นลงมาเท่ากับไทย (ซึ่งเพิ่งเริ่มต้นสังคมผู้สูงอายุ) และไทยเราทั้งแก่และจนน่าจะลำบากมากยิ่งนัก
การพยากรณ์จำนวนประชากรไปข้างหน้าหลายสิบปีนั้นเรียกว่าการฉายภาพประชากร (Demographic projection) โดยอาศัยอัตราการเกิด อัตราการตาย และอัตราการย้ายถิ่นมาคำนวณไปล่วงหน้า เรียกว่าการฉายภาพประชากร (Demographic projection)
ผลการฉายภาพประชากรของแผนกกิจการสังคมและเศรษฐกิจ องค์การสหประชาติ ในหนังสือชื่อว่า World Population Prospect 2019 สามารถดาวน์โหลดได้ที่ >> https://population.un.org/wpp/Publications/Files/WPP2019_Highlights.pdf
มีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการดังนี้
หนึ่ง จำนวนประชากรทั้งหมดของโลกจะแตะหมื่นล้านในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้านี้ แม้ว่าอัตราการเติบโตของประชากร (Population growth) จะค่อย ๆ ลดลงไปก็ตาม
สอง ทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะในส่วนของซับซาฮาร่า (Sub-Sahara) จะมีจำนวนประชากรเพิ่มแบบก้าวกระโดด ในขณะที่ญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยด้วยจะมีประชากรถดถอยอย่างรุนแรง ในขณะที่ละตินอเมริกามีจำนวนประชากรเพิ่มค่อนข้างสูง และทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือนั้นจำนวนประชากรจะคงที่แทบไม่เพิ่มขึ้น (แต่แก่มากขึ้น)
สามเป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มจำนวนประชากรถดถอย/เพิ่มขึ้นน้อยมาก ส่วนประเทศด้อยพัฒนากลับมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กล่าวได้ว่าขั้นตอนของพัฒนาเศรษฐกิจ (Stage of economic development) แปรผกผันกับการเพิ่มขึ้นของประชากร
สี่ ในช่วง 30 ปี ข้างหน้า ประเทศที่จะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากสุดตามลำดับ คือ อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน คองโก เอธิโอเปีย แทนซาเนีย อินโดนีเชีย และอียิปต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามหรือเป็นมุสลิม ทำให้ไม่มีการคุมกำเนิดเพราะขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนา มีอัตราการเกิดที่สูง
ห้า ในสามสิบปีข้างหน้า อันดับของประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกจะเปลี่ยนไป โดยที่อินเดียจะเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากร เป็นอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาคืน จีน (ปัจจุบันอันดับ 1) และไนจีเรีย (ขึ้นมาจากปัจจุบันอันดับ 7) สหรัฐอเมริกาจากอันดับสามจะกลายเป็นอันดับ 4 และอินโดนีเชีย ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวนประชากรจะร่วงจากอันดับ 4 ลงมาเป็นอันดับ 7
หก ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรลดลงในอีก 30 ปีข้างหน้าราวร้อยละ 5 หรือเหลือประมาณหกสิบล้านคนหรือน้อยกว่า ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปจะมีการลดลงของประชากรมากสุด บางประเทศในทวีปยุโรปจะมีจำนวนประชากรลดลงถึงร้อยละ 20 ประเทศญี่ปุ่นในอีก 30 ปี ข้างหน้าจะมีจำนวนประชากรลดลงร้อยละ 17 โดยประมาณ
ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์โลกจะเปลี่ยนไปอีกมาก สิ่งที่อยากจะแนะนำมีดังนี้
ประการแรก ไทยต้องให้ความสำคัญกับอินเดีย ประเทศที่จะมีจำนวนประชากรในอนาคตมากที่สุดในโลกให้มากกว่านี้ เพราะจะมีกำลังซื้อมหาศาล และอินเดียกำลังมีเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เติบโตเช่นกัน การเข้าตลาดอินเดียนั้นไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเช่นกัน เพราะคนอินเดียนิยมยกย่องสินค้าไทยว่ามีคุณภาพมาก เวลามาเที่ยวเมืองไทยชอบซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยกลับไปใช้ในอินเดีย ตลาดที่ใหญ่สุดในโลกต่อไปคืออินเดีย สิ่งที่ต้องเร่งคือการเรียนการสอนเกี่ยวกับอินเดียศึกษาที่ต้องทันสมัย เช่น ต้องเรียนภาษาที่ใช้ในอินเดียในปัจจุบัน เช่น ฮินดี เบงกาลี คุชราตี มากกว่าการเรียนภาษาโบราณของอินเดียที่มีคนใช้น้อยกว่ามากเช่น ภาษาบาลี สันสกฤต ซึ่งนิยมเรียนกันมากในประเทศไทย การเจรจาต่อรองและการค้าแบบอินเดียต้องมีการเรียนการสอน การทำธุรกิจแบบอินเดีย เป็นต้น วิชาเหล่านี้ต้องสอนในมหาวิทยาลัยได้แล้ว
ประการที่สอง ตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคตลอดจนสินค้าอื่น ๆ น่าจะเพิ่มขึ้นในทวีปแอฟริกา ซึ่งน่าจะเข้ายากกว่าตลาดอินเดีย เพราะพ่อค้าไทยไม่ค่อยสนใจ ประกอบกับกำลังซื้ออาจจะมีไม่มากนักเพราะเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมากมหาศาลก็ไม่ควรปล่อยไว้ ควรเริ่มบุกเบิกตลาดก่อนที่จีนจะบุกเข้าไปครองและผูกขาดได้ทั้งหมด ในอีกด้านหนึ่งทวีปแอฟริกายังมีทรัพยากรสำหรับการผลิตอีกมาก เช่น อัญมณี ปิโตรเลียม หรืออื่นๆ ซึ่งน่าจะเป็นที่สนใจนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมไทยได้เช่นกัน
ประการที่สาม อาหารจะขาดแคลนและไม่พอสำหรับโลก เพราะจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นมาก จีนนั้นถึงกับพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ปลูกในทะเลทรายได้ด้วยน้ำทะเลได้ ประเทศไทยที่คิดว่าจะเป็นครัวของโลกหรืออู่ข้าวอู่น้ำของโลกนั้นไม่ได้เป็นเรื่องง่าย ข้อแรก ไทยจะเจอปัญหาเรื่องน้ำอย่างหนัก ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate change) ภาวะโรคร้อน แม้กระทั่งธารน้ำแข็งแห่งเทือกเขาหิมาลัยละลายก็จะทำให้แม่น้ำโขงเหือดแห้งได้เช่นเดียวกัน เราจะมีปัญหาน้ำเสีย น้ำเน่า น้ำแล้ง และน้ำเค็มรวมกันทำให้เพาะปลูกได้ไม่ดีมากนัก ข้อสอง ผลผลิตต่อไร่ (Yield) ของไทยก็ต่ำกว่าแม้ประเทศด้อยพัฒนาก็ยังดีกว่าไทย ข้อสาม การผลิตสินค้าเกษตรของไทยใช้ทรัพยากรเช่น น้ำ หรือพื้นที่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับโรงงานเกษตรที่ปลูกพืชผักซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในระบบปิดในหลายประเทศของยุโรปที่ประหยัดน้ำและพื้นที่ได้มากกว่ามากและมีประสิทธิภาพมากกว่า เกษตรกรไทยยังมีปัญหาไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง มีความรู้ในการทำการเกษตรประณีตต่ำ และไม่มีความสามารถในการแปรรูปและการตลาดได้ดีเพียงพอ ทำให้โอกาสที่ไทยจะเป็นครัวโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กระทั่งมาเลเซียก็ส่งออกอาหารสำเร็จรูปมากกว่าไทย โดยนำเข้าวัตถุดิบและพืชผักจากไทย โดยอาศัยความได้เปรียบในแง่ของการเป็นอาหารฮาลาล (Halal food)
ประการที่สี่ กลุ่มประเทศในโลกที่นับถือศาสนาอิสลาม น่าจะมีบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะจะมีจำนวนประชากรมากมายมหาศาลในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่ สหรัฐอเมริกาหรือยุโรปมีจำนวนประชากรคงที่ ดังนั้นภูมิรัฐศาสตร์โลกมีโอกาสเปลี่ยนแปลงสูงมาก ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามและประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีบทบาทในการเมืองโลกมากยิ่งขึ้นตามจำนวนประชากรที่จะเพิ่มขึ้นมาก ไทยควรเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอนาคต ด้วยการผูกมิตรไมตรีกับประเทศต่างๆ เหล่านั้น ให้มากขึ้น เช่น ให้ทุนการศึกษากับหัวกะทิของประเทศที่มุสลิมมากๆ มาเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยเพื่อกลับไปเป็น elite หรือชนชั้นนำในประเทศนั้น ๆ ซึ่งในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นมาก วิธีการนี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก