xs
xsm
sm
md
lg

IMF แนะ ธปท.ควรมี Policy Space

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



IMF แนะ ธปท. ควรมี Policy Space สำหรับนโยบายการเงิน ดำเนินโยบายการเงินผ่อนปรน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง และใช้เครื่องมืออย่างระมัดระวัง เตือนสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย

นางคริสตาลีนา กอร์เกียว่า กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) "Joint BOT-IMF High level Conference" ว่า การดำเนินนโยบายการเงิยของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ต้องพิจารราหลายๆปัจจัยมาประกอบกัน โดยมองภาพรวมทั้งโลก แนะนำให้ประเทศต่างๆ มี Policy Space สำหรับนโยบายการเงิน และแนะนำให้ใช้ space นี้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อให้สามารถอัดฉีด Momentum และการขยายตัวได้ ทุกประเทศต้องดูความเหมาะสมเฉพาะประเทศนั้นๆ

“ในสภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่นี้ก็ต้องเก็บกระสุนไว้บ้าง เราอยู่ในภาวะที่ดีขึ้นจากการตัดสินใจด้านการค้าของสหรัฐฯ และจีน ที่จะลดความตึงเครียดลง" กรรมการจัดการ IMF กล่าว

สำหรับประเทศไทยอยู่ในภาวะภาคอุตสาหกรรมชะลอลง การลงทุนก็ชะลอลง แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงสูงอยู่ แต่จะเป็นการดีหากประเทศไทยจะอัดฉีดมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ Space ด้านนโยบายการคลัง แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนที่มีประสิทธิผล (Productive) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงมีสาเหตุมาจากความตึงเครียดทางการค้าที่สร้างแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และการลงทุน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่ต่างสร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก ดังนั้น จึงเห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนควรเตรียมความพร้อมสำหรับการทำนโยบายร่วมกัน ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

แม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ความเสียหายจากสงครามการค้าก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดย IMF ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง 0.8% มาเหลือที่ 3% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 3.4% ส่วนเศรษฐกิจในอาเซียนคาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 4.6% ลดลงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 5% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 4.8%

"ความเสียหายจากที่ผ่านมาเกิดขึ้นแล้ว และยังจำเป็นต้องรอบคอบ ประเทศไทยยังมี space สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง และยังคงมี space สำหรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงอยู่ในสถานะที่ดี การจะใช้ Space เหล่านี้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้วางนโยบายเป็นสำคัญ"

ประเทศไทยนั้น ยังเผชิญกับกับท้าทายจากปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ โดยปัจจัยด้านต่างประเทศนั้น ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน เป็นตัวเร่งให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งล้วนก่อให้เกิดเป็นข้อจำกัดต่อขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น