“อุตตม สาวนายน” เผยผลหารือ “กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ” ซึ่งแนะนำให้ไทยใช้เครื่องมือการเงินและการคลังดูแลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด พร้อมชื่นชมเศรษฐกิจของไทยยังมีความแข็งแกร่งและมีความสามารถที่จะใช้เครื่องมืองดังกล่าวได้ทันเวลา และไอเอ็มเอฟหนุนไทยใช้เศรษฐกิจพอเพียงหนุนการปฏิรูปประเทศ รมว.คลัง ย้ำ พร้อมใช้ทุกเครื่องมือที่มีดูแลเศรษฐกิจ ยังตอบไม่ได้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมาเพิ่มอีกหรือไม่ แม้จะเห็นอัตราการเจริญเติบโตของไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงก็ตาม
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการเข้าพบของนางคริสตาลินา จอร์จิวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พร้อมคณะ โดยไอเอ็มเอฟเห็นว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความท้าทายจากสงครามการค้าและปัญหาการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทย ได้ผลกระทบจากหลากหลายปัจจัยที่ไอเอ็มเอฟว่า Synchronized Slowdown
อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟยังระบุถึงประเทศไทยว่า มีความโชคดีจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งทำให้ไทยสามารถใช้เครื่องมืองทางการเงินและการคลังในการดูแลเศรษฐกิจ แต่ไอเอ็มเอฟได้ให้คำแนะนำและเน้นว่าประเทศไทยยังต้องดูแลเศรษฐกิจในข่วงนี้อย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาถึงการใช้ทั้งเครื่องมือทางการเงินและการคลังต่อไป เนื่องจากไทยมีความสามารถและมีความแข็งแกร่งที่จะใช้เครื่องมือดังกล่าวนี้ได้ทันการณ์
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังกล่าวด้วยว่า ตนได้เล่าให้ไอเอฟได้รับทราบถึงช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการทางการเงินนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบสยไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยไอเอ็มเอฟยังเห็นว่าสำหรับประเทศไทยแล้วยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทางการยังสามารถที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ได้อีกช่วงหนึ่ง รวมทั้งไอเอ็มเอฟยังให้ความสนใจต่อการนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วย
นายอุตตม ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงการคลังเตรียมพร้อมที่จะนำเครื่องมือต่างๆ ในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศมาใช้อยู่แล้ว เพียงแต่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจ โดยตนมองว่าแนวโน้มในไตรมาส 4 ของปี 62 นั้น เศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาการทำสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ตนเห็นเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันยังคงไม่สามารถขยายตัวได้เต็มตามศักยภาพที่เคยคาดหวังไว้ที่ระดับ 4% แต่ก็ยังไม่มีคำตอบว่าประเทศไทยควรต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษกิจระยะสั้นออกมาใช้เพิ่มเติมอีกหรือไม่
ส่วนประเด็นการหารือในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สหรัฐฯ สนใจที่จะร่วมปฏิรูปประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงเทคโนโลยี แต่จะไม่มีวาระการหารือประเด็นสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรที่ให้แก่ประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้