xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ภัยเงียบ...ของเล่นพิษ” สารทาเลตเกินมาตรฐาน ฮอร์โมนวิปริตเสี่ยงเป็นหมัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สุ่มตรวจของเล่นเด็กวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารทาเลต (Phthalates)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัญหา “ของเล่น” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ โดยเฉพาะของเล่นราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน “ของเล่นพิษ”ปนเปื้อน “สารทาเลต (phthalates)” ภัยเงียบส่งผลต่อร่างกายเด็กเล็ก หากเผลอไผลหยิบจับเข้าปากสะสมพิษทีละเล็กทีละน้อย รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ มีผลต่อฮอร์โมนทั้งเพศชายและเพศหญิง เสี่ยงเป็นหมันและก่อมะเร็ง

ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ทำการสุ่มเก็บ “ตัวอย่างของเล่นและของใช้ประเภทพลาสติกพีวีซี (PVC)” ที่เด็กอาจนำมาใช้เป็นของเล่น จำนวน 51 ตัวอย่าง จากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า ท้องตลาด และบริเวณหน้าโรงเรียน ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เว็บไซต์ ห้างร้าน และออนไลน์ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารทาเลต (phthalates) 6 ชนิด ที่สกัดได้จากพลาสติก ยาง และสารเคลือบจากผิวของเล่นที่เด็กอาจสัมผัส

ได้แก่ 1. บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต Bis-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP) 2. ไดนอร์มอลบิลทิลทาเลต Di-n-butyl phthalate (DBP) 3. เบนซิลบิวทิลทาเลต Benzyl butyl phthalate (BBP) 4. ไดไอโซโนนิลทาเลต Di-iso-nonyl phthalate (DINP) 5. ไดไอโซเดซิลทาเลต Di-iso-decyl phthalate (DIDP) และ 6.ไดนอร์มอลออกทิลทาเลต Di-n-octyl phthalate (DNOP)

สำหรับชนิดของทาเลตที่พบมากที่สุดในการสุ่มตรวจ คือ บิส-2-เอทิลเฮกซิลทาเลต หรือ bis-(2-ethylhexyl phthalate) หรือ DEHP โดยแบ่งกลุ่มของเล่นออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจไม่พบทาเลต หรือ พบแต่ไม่เกิน 0.1 (ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด) ประกอบด้วย 12 ตัวอย่าง ได้แก่ ยางกัดมีที่จับ (สีส้ม-เขียว) ยี่ห้อ Mind Care, ยางกัดเป็ด (สีชมพู) ยี่ห้อ Tesco loves baby, ยางกัด (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ Playskool baby, ตุ๊กตาพ่นน้ำ, กรุ๊งกริ๊ง (สีน้ำเงิน), ชุดตุ๊กตาไดโนเสาร์, อมยิ้มด้ามยาว, ชุดทำอาหารพลาสติก, ตุ๊กตากระต่าย (สีเหลือง), หุ่นยนต์ซูเปอร์ฮีโร่, ชุดผลไม้ผ่าครึ่ง และตุ๊กตาช้าง (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ NB Toys

2. กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 (เกินเกณฑ์ที่กำหนด) ประกอบด้วย 7 ตัวอย่าง ได้แก่ พะยูนสีเขียว (35.73), แมวน้ำสีชมพู (34.51), ยางบีบ ผลไม้ (33.17), ตุ๊กตาเป็ดสีเหลือง ยี่ห้อ Baby gift set (30.34), ตุ๊กตาหมี (สีน้ำเงิน) ยี่ห้อ NB Toys (27.529), ตุ๊กตาไก่สีเหลือง (22.593) และชุดบล็อกต่อ (12.94)

3. กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจไม่พบทาเลต หรือ พบแต่ไม่เกิน 0.1 (ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด) ประกอบด้วย 21 ตัวอย่าง ได้แก่ ช้อน (สีแดง), พวงกุญแจม้า (สีเหลือง), ช้าง (สีส้ม), หมี (สีเทา), ไดโนเสาร์ (สีชมพู), ลูกบอลยาง (มีไฟกระพริบ), ลูกบอลยาง, ชุดตักดิน, ตุ๊กตาสัตว์เล็ก, แหวนยาง, ตุ๊กตาหนู (สีม่วง-เทา), แม่เหล็กผีเสื้อ, พวกกุญแจโมชิ (สีชมพู), ยางกัดทรงห่วงกลม, ยางกัดลายแมว, ยางกัดน้ำ fin, ที่กัดเด็ก, ยางกัดยีราฟ (สีเหลือง), ยางกัดรูปหัวใจ (สีแดง-เขียว), ตัวต่อไดโนเสาร์ และรถตักดิน

และ 4. กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. และตรวจพบทาเลตเกิน 0.1 (เกินเกณฑ์ที่กำหนด) ประกอบด้วย 11 ตัวอย่าง ได้แก่ ยางบีบหมู (37.863), พวงกุญแจสไปเดอร์แมน (36.688), แรคคูณสีเหลือง (36.422), สายรัดข้อมือสีชมพู (33.84), ตุ๊กตาบีบสัตว์ (33.18), เป็ดสีเหลือง (28.436), ตุ๊กตาเจ้าหญิง (18.83), พวงกุญแจจระเข้ (17.56), ตุ๊กตาเจ้าหญิง (9.485), พวงกุญแจยางไดโนเสาร์ (5.43) และตุ๊กตาม้า (2.92)

ของเล่นจำนวนมากที่ผลิตจากของพลาสติกพีวีซี (PVC) ตรวจพบสารทาเลต เกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อร่างกายเด็ก ก่อมะเร็ง เสี่ยงเป็นหมัน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงการทดสอบของเล่นเด็กและพบว่ามีสารทาเลตสูง จากการทดสอบของเล่น ทั้งหมด 51 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กลุ่มที่มีเครื่องหมายสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 19 ตัวอย่าง และกลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. 32 ตัวอย่าง

ผลปรากฏว่า “กลุ่มที่มีเครื่องหมาย มอก.” พบทาเลตเกินกว่าค่ามาตรฐานสากลจำนวน 7 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 36.84 จาก 19 ตัวอย่าง “กลุ่มที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก.” พบทาเลตเกินเกณฑ์ 11 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 34.38 จาก 32 ตัวอย่าง หากคิดโดยรวมมีของเล่นที่พบทาเลตเกินมาตรฐาน 18 จาก 51 ตัวอย่าง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35 ของตัวอย่างทั้งหมด

โดยกลุ่มตุ๊กตายางบีบ อาทิ ยางบีบหมู, แร็กคูนสีเหลือง, พะยูนสีเขียว ฯลฯ มีสารทาเลตเกินมาตรฐาน EU มากถึง 378 เท่า

ขณะที่ สหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรฐานของเล่นทั่วไป และของเล่นสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ ที่มีส่วนที่นำเข้าปากได้ว่าต้องมีปริมาณรวมสูงสุดของอนุพันธ์ทาเลตไม่เกินร้อยละ 0.1

กล่าวสำหรับสารทาเลตในของเล่นเด็กเป็นกลุ่มของสารที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซี เพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ไม่มีพันธะทางเคมีที่เชื่อมต่อกับพลาสติก ดังนั้น สารนี้จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่น เช่น มือเมื่อมีการสัมผัส หรือหากนำเข้าปาก เป็นต้น

รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงอันตรายของสารทเลตซึ่งมีหลายชนิด บางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลต

ความเป็นพิษสารทาเลตเป็นสารที่ปนเปื้อนอยู่ในของเล่นเด็ก ผลการวิจัยทดลองในสัตว์พบว่าทำให้สัตว์ที่ตั้งครรภ์คลอดลูกออกมาจะผิดปกติตั้งแต่กำเนิด และได้ทดลองให้สัตว์ที่พึ่งคลอดกินสารทาเลตพบว่าสารดังกล่าวมีผลต่อตับและระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ ทำให้เป็นหมัน หรือถึงขั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ แม้ผลการทดลองวิจัยสารทาเลตยังไม่ได้นำมาใช้ทดลองกับมนุษย์ แต่หากได้รับสารทาเลตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ย่อมมีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพได้โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

นอกจาก “สารทาเลต” ในของเล่นเด็ก ยังมีสารอื่นๆ ที่เป็นอันตราย เช่น “สารโบรมีน” ซึ่งตรวจพบในของเล่น “รูบิก” ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งเป็นอันตรายทำลายระบบประสาท และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา (ไอคิว) ของเด็ก และยังก่อให้เกิดมะเร็งในตับ

ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรเลือกของเล่นที่มีมาตรฐาน สำหรับของเล่นพลาสติก หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง หรือมองหาฉลาก “ปลอดพีวีซี PVC - Free” หรือ “ปลอดสารทาเลต Phathalate - Free” ส่วนของเล่นไม้ ที่ใช้กาวเป็นส่วนประกอบ มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ สารชักเงา ตะกั่ว และสารโลหะหนักอื่นๆ ควรเลือกของเล่นไม้แบบเรียบๆ ที่ไม่ได้ทาสีและเคลือบเงา หรือมีส่วนที่ติดกาวให้น้อยที่สุด

ด้านสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้จัดทำร่างแก้ไขมาตรฐานของเล่น มอก. 685/2540 อย่างละเอียดมานานว่า 22 ปี โดยฉบับร่างได้บรรจุเรื่องการควบคุมการใช้สารทาเลตไว้ 6 ชนิด โดยกำหนดไม่ให้เกินร้อยละ 0.1 โดยมวล รวมทั้ง เตรียมห้องทดสอบไว้พร้อมทำการตรวจเมื่อมีการประกาศใช้มาตรฐาน คาดว่าในปลายปี 2562 ทั้งนี้ ฉบับร่างแก้ไขได้พิ่มเติมมาตรฐานความปลอดภัยของเล่นเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

"หลังการประกาศใช้ ควรหาข้อตกลงใหม่ในการพัฒนาระบบการตรวจสอบของเล่นหลังการวางตลาดให้เข้มข้นขึ้น ปัจจุบันเน้นการตรวจก่อนการวางตลาดว่าเป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่ เป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งมีภารกิจกำหนดมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมคุณภาพผลิตภัณฑ์ อันจะส่งผลต่อเนื่องสู่การค้าขาย การส่งออก ทำให้การตรวจหลังการวางตลาดแล้วมีน้อยมาก หน่วยงานอื่นไม่สามารถเข้ามาตรวจได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแม้แต่องค์กรท้องถิ่นเอง ก็ไม่สามารถส่งของเล่นที่วางขายในตลาดตัวเองเพื่อทำการตรวจสอบในห้องแล็บได้” รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น