“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ในขณะที่ประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังถูกตั้งคำถามถึงสุขภาพและประสิทธิภาพของมันว่า มันเป็นระบอบการปกครองที่ชราเกินไปสำหรับโลกปัจจุบันหรือไม่ หรือมันมีระบบคัดเลือกตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีอำนาจที่ดีได้หรือไม่
สำหรับประเทศไทยนั้นวิกฤตศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ต่างกับทั่วโลกและถูกตั้งคำถามว่า การเอาประชาธิปไตยแบบตะวันตกมันใช้ได้จริงไหมกับสังคมไทยและคนไทยที่เป็นสังคมอุปถัมภ์ และดูเหมือนว่า 86 ปีที่ผ่านมาประชาธิปไตยยังไม่สามารถผ่านบททดสอบและจำหลักได้ในสังคมไทย
แม้เราจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ.2475 แต่ไม่ได้หมายความว่า เราได้การปกครองในความหมายของ “ประชาธิปไตย” ที่ประชาชนเป็นใหญ่ในทันที ดังนั้นหากพูดกันตามความเป็นจริงแล้ว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475สิ่งที่เราได้ก็คือ ระบอบคณาธิปไตย ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่พร้อมของประชาชนต่อระบอบการปกครองที่นำเข้ามาจากตะวันตก
ผมเข้าไปเรียนหลักสูตรการเมืองการปกครองกับสถาบันแห่งหนึ่ง เมื่อไม่กี่วันก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่งมาบรรยายในหัวข้อประชาธิปไตยกับวิถีชีวิต ผมไม่อยากเอ่ยนามสถาบันและอาจารย์ที่สอน แต่ท่านบรรยายในชั้นเรียนว่าอำนาจอธิปไตยมาเป็นอำนาจของประชาชนเมื่อมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ผมฟังแล้วไม่เห็นด้วยก็กดไมค์ขออนุญาตแสดงความเห็นซึ่งเป็นวิถีทางปกติที่ใช้มาในการเรียนกับอาจารย์หลายท่านในหลายๆ หัวข้อ
ผมบอกว่า อาจารย์ครับผมคิดว่าไม่น่าจะใช่นะครับ เพราะหลังการปฏิวัติ 2475นั้นสิ่งที่เราได้คือ คณาธิปไตยการปกครองโดยคณะบุคคล เพราะอำนาจยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เรามีการเลือกตั้งทางตรงโดยประชาชนอย่างแท้จริงในพ.ศ.2480
อาจารย์ท่านนั้นไม่ตอบคำถามผมครับ แต่ตำหนิผมด้วยท่าทีที่ไม่พอใจว่า ผมไม่ควรถามแทรกระหว่างที่กำลังบรรยาย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีผู้ร่วมชั้นเรียน2-3ท่านก็ถามแทรกขึ้นมาระหว่างบรรยายเช่นกัน
ข้อเท็จจริงก็คือ หลังการปฏิวัติ 2475แม้เราจะมีสภาผู้แทนราษฎรตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราไม่ได้มีตัวแทนประชาชนที่ผ่านการคัดเลือกโดยประชาชน เพราะช่วงแรกสมาชิกสภาทั้งหมดถูกเลือกโดยสี่ทหารเสือโดยดำรงตำแหน่ง6เดือน และต่อมามีการเลือกสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่กึ่งหนึ่ง และอีกกึ่งหนึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามแบบประชาธิปไตยทางอ้อม แต่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการตรวจสอบจากคณะราษฎรก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง
ส่วนประชาชนนั้นได้เลือกตั้งผู้แทนโดยตรงของตัวเองเมื่อการเลือกตั้งวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 นับไป5 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นจะบอกว่า เมื่อได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความหมายว่าอำนาจเป็นของประชาชนจึงไม่ถูกต้อง แต่ความจริงมันคือ คณาธิปไตย เพราะผู้มีอำนาจขณะนั้นเห็นว่าประชาชนยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์การเมืองที่ผ่านมาในรอบสิบกว่าปีนี้นั้นสะท้อนว่า ประชาชนมีความเข้าใจต่อการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนฝ่ายหนึ่งก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวแทนเข้าไปเป็นผู้ใช้อำนาจแทนตัวเอง จนคนบางกลุ่มเกิดความเบื่อหน่ายต่อระบอบประชาธิปไตย และยินดีให้ระบอบเผด็จการที่พวกเขาเชื่อว่าสามารถคัดคนที่มีคุณภาพมากกว่ามาปกครองตัวเอง
ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วระบอบเผด็จการนั้นไม่ได้มีหลักประกันอะไรเลยว่า ผู้ปกครองที่มาจากระบอบนี้จะเป็นคดีมีความสามารถ กลายเป็นเรื่องของโชคชะตาที่หากได้คนดีก็ดีไป แต่ถ้าได้คนเลวแล้วก็จะประสบกับความเลวร้ายเพราะในระบอบเผด็จการนั้นกระบวนการตรวจสอบคานอำนาจไม่สามารถใช้ได้เลย และเสรีภาพของตัวเองถูกลิดรอนในหลายๆ ด้าน
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมเชื่อว่าสิบกว่าปีนี้แม้คนไทยจะแตกออกเป็นสองฝ่ายที่ต่างยึดถือความคิดและอุดมการณ์ของตัวเองว่าถูกต้องและถูกมองว่าความแตกแยกนี้เป็นตัวบั่นทอนคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย แต่หากมองอีกด้านพบว่าคนทั้งสองฝ่ายได้เรียนรู้สิทธิของตัวเองในระบอบประชาธิปไตยว่า เราสามารถออกขับไล่รัฐบาลที่ไม่พึงปรารถนาเพราะเห็นว่าเขาใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลได้ มันน่าจะเป็นการเรียนรู้ระบอบประชาธิปไตยจากประสบการณ์จริงที่จะก้าวไปสู่ความมั่นคงในอนาคต
ความเข้าใจทางการเมืองที่มากขึ้นของประชาชนนี่เองที่จะเป็นกระบวนการตรวจสอบนักการเมืองแทนองค์กรอิสระอย่างแท้จริง เพราะพูดกันตามความเป็นจริงแล้วที่มาขององค์กรอิสระนั้นไม่สามารถมองเห็นความอิสระที่แท้จริงได้เลย
ระบบการแยกอำนาจของเรานั้นไม่ได้ทำให้เกิดการแยกอำนาจที่แท้จริง เพราะอำนาจฝ่ายบริหาร กับเสียงข้างมากของอำนาจนิติบัญญัตินั้นมีที่มาจากฝ่ายเดียวกัน และอำนาจนิติบัญญัติก็เป็นฝ่ายเลือกองค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง ซึ่งการได้เข้าสู่คณะกรรมการในองค์กรอิสระได้นั้นก็ต้องพึ่งพาระบบเส้นสายในฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารนั่นเอง
แล้วถามว่าหากเป็นเช่นนั้นการตรวจสอบคานอำนาจจะทำได้ไหม ผมยกตัวอย่างง่ายๆว่า จากโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น องค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้นมาจากสภานิติบัญญัติในขณะนี้จะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพไหม
แต่เราทราบกันว่า ปัญหาของวิกฤตการณ์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจและประชาชนที่ออกมาต่อต้านในรอบสิบปีนี้ก็คือ การใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ เพราะระบบการตรวจสอบการคานอำนาจไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนประชาชนต้องใช้สิทธิการชุมนุมบนท้องถนนเพื่อขับไล่รัฐบาล
อาจจะต่างกันอยู่บ้างถ้ามองการชุมนุมของประชาชนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณนั้นออกมาชุมนุมเมื่อทักษิณและยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ส่วนคนเสื้อแดงที่เป็นมวลชนสนับสนุนระบอบทักษิณนั้นเห็นว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียงข้างมาก แต่ได้รับการแต่งตั้งในค่ายทหารและบีบให้ส.ส.กลุ่มหนึ่งแปรพักตร์ไปสนับสนุน
แน่นอนล่ะ การใช้สิทธิในการชุมนุมเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่แปลกไหมปัญญาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งสนับสนุนระบอบทักษิณระบุว่าฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณนั้นเป็นฝ่ายต่อต้านระบอบประชาธิปไตย เพราะนักการเมืองฝ่ายระบอบทักษิณนั้นมาจากการชนะเลือกตั้งจากประชาชนเสียงข้างมาก แต่ลืมไปว่า แม้จะได้รับการเลือกตั้งของประชาชนก็ไม่ใช่ว่าจะใช้อำนาจแทนประชาชนได้อย่างไม่มีขอบเขต
ผมจึงคิดว่าความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยที่ตีความหมายแค่ว่าคือ การเลือกตั้ง นั้นน่าจะมีปัญหา เพราะในการปกครองระบอบประชาธิปไตยผู้มีอำนาจจะต้องมีธรรมาภิบาล ต้องใช้อำนาจอย่างชอบธรรม ต้องปล่อยให้ระบบการตรวจสอบคานอำนาจสามารถทำหน้าที่ได้
สำหรับผมมันมีคำถามนะครับว่า เมื่อฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติไม่ได้ทำหน้าที่แยกออกจากกันอย่างแท้จริงเพราะมีที่มาจากแหล่งเดียวกันก็ย่อมจะต้องเกื้อกูลช่วยเหลือกัน เมื่อฝ่ายบริหารคือฝ่ายที่ได้รับเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจก็ไม่สามารถใช้ได้เลย และยิ่งพรรคไหนมีเสียงข้างมากโดยเด็ดขาด เสียงข้างน้อยก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย ซึ่งเราเห็นได้จากการพยายามออกกฎหมายนิรโทษในสมัยของยิ่งลักษณ์จนนำมาสู่การเมืองบนท้องถนนอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมาจากพรรคเสียงข้างมากเหมือนกันแล้วที่มาของ ส.ส.ก็มาจากการกำหนดชะตากรรมของนายทุนพรรคทั้งการให้โอกาสในการลงเลือกตั้งและการให้เงินสนับสนุน เราจึงเห็นว่า ส.ส.ไม่ได้ทำหน้าที่โดยคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรม แต่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองของพรรคตัวเองและตอบแทนนายทุนที่สนับสนุน
หากพูดถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นอีกครั้ง นอกจากมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนแล้ว ส.ว.และองค์กรอิสระก็ล้วนแล้วแต่มาจากการแต่งตั้งของพล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น
ระบบแบบนี้อาจจะไม่เป็นไรนะครับถ้าเราได้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ดีมาบริหารบ้านเมือง เราอย่าลืมว่า ระบบประชาธิปไตยที่วัดกันด้วยหีบเลือกตั้งนั้นไม่สามารถคัดกรองคนดีคนเก่งเข้ามาบริหารประเทศได้ เราได้แต่คนที่มีพวกมากหรือคนที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนด้วยการตอบแทนผลประโยชน์ที่มากกว่ากัน โดยเฉพาะในยุคที่นโยบายประชานิยมเป็นยาเสพติดสำหรับผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในระบบที่เรียกว่า “คนเท่ากัน” มันง่ายมากที่ใครจะได้ชัยชนะมาด้วยการตอบแทนประชาธิปไตยที่กินได้ให้ประชาชนด้วยการใช้เงินของรัฐไปซื้อความนิยมจากประชาชน
แต่เราจะเห็นว่าระบบการตรวจสอบคานอำนาจที่เข้มแข็งและมีอิสระต่อกันเพื่อใช้ระบบควบคุมการใช้อำนาจนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเลยตามรัฐธรรมนูญ 2560
ถามว่าหากเรายังเคารพสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของประชาชนตามความหมายที่เป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย แต่สรรหากระบวนการเลือกตัวแทนให้ได้บุคคลที่มีคุณภาพอย่างแท้จริงเราควรจะต้องทำอย่างไรถ้าไม่ใช่วิธีเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวต นั่นเป็นคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีใครคิดได้ ดังนั้นเราจึงต้องสร้างระบบที่ดีก่อนเพราะไม่ว่าใครเข้ามาใช้อำนาจระบบจะควบคุมผู้มีอำนาจไม่ให้ออกนอกลู่นอกรอยได้
เพียงแต่ว่า วันนี้ยังไม่มีใครมองเห็นความจำเป็นและข้อด้อยของคนที่ชนะการเลือกตั้งแล้วเอาไปทั้งอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ อำนาจนิติบัญญัติยังมีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระซึ่งสะท้อนบทเรียนผ่านมาแล้วตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ2540ว่า ระบบไม่สามารถทำงานตรวจสอบและคานอำนาจกันได้จริง
วันนี้ ได้แต่รอว่าประชาชนทั้งสองฝ่ายเมื่อไหร่จะออกจากความคิดในการยึดติดกับตัวบุคคล คลั่งไคล้ตัวบุคคล และมองว่าฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนนั้นทำอะไรก็ถูกหมด และมองเห็นเสียทีว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นเพราะเราไม่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจที่ดีนั่นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan