“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากนานแล้วด้วยชัยชนะของการทำประชามติ โดยการโหมโปรโมทว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่จะมีสักกี่คนที่ศึกษารัฐธรรมนูญแล้วเชื่อว่า รัฐธรรมนูญสามารถใช้ปราบโกงได้จริง
และปีหน้าเราจะได้กลับสู่การเลือกตั้งซึ่งมีคำถามว่า เมื่อเราได้กลับไปหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วนั่นหมายความว่าคุณค่าและความหมายของระบอบประชาธิปไตยจะกลับสู่สังคมไทยใช่หรือไม่
เราคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้และการเลือกตั้งจะนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤตของความขัดแย้งได้หรือไม่ และทำไมคนบางกลุ่มจึงไม่อยากเลือกตั้ง และจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธการเลือกตั้งเป็นคนชั้นกลางที่น่าจะเป็นกลุ่มคนที่เชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด
แม้ว่ากำลังเกิดคำถามขึ้นทั่วโลกว่า ระบอบประชาธิปไตยกำลังเกิดความเสื่อมถอย จากการเกิดของทรัมส์ที่เป็นผลผลิตของระบอบประชาธิปไตยเอง หรือชัยชนะของฝ่ายขวาในประเทศยุโรปหลายประเทศ แต่ต้องยอมรับว่า แม้ประชาธิปไตยจะเกิดความถดถอยในสังคมไทยเช่นเดียวกัน แต่ปัจจัยสำคัญของสังคมไทยสำหรับผมแล้วก็คือ วิกฤตต่อนักการเมืองที่เกิดจากระบบตรวจสอบที่ล้มเหลว
ผมเชื่อว่าคนชั้นกลางเราไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่เขาปฏิเสธนักการเมือง แต่ประชาธิปไตยในระบอบตัวแทนหนีไม่พ้นต้องมีนักการเมืองเข้าไปทำหน้าที่แทนคนส่วนมาก ดังนั้นถามว่า ปัญหามันอยู่ที่ระบบการคัดคนเข้าสู่การเมือง สำนึกพลเมือง หรือการขาดประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการใช้อำนาจกันแน่
ทำไมเมื่อนักการเมืองไทยได้อำนาจแล้วก็ละทิ้งประชาชน เอาอำนาจที่ประชาชนมอบให้ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนและเครือข่ายของตัวเอง ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลแสวงหาผลประโยชน์
วงจรประชาธิปไตยในการเมืองไทยจึงอยู่แค่ที่การเลือกตั้ง และเมื่อการเลือกตั้งผ่านไปแล้วประชาชนกลายเป็นผู้ถูกปกครองที่ไม่มีปากมีเสียงอีกต่อไป ประชาธิปไตยระบอบตัวแทนนั้นถูกเปลี่ยนจากตัวแทนของประชาชนไปเป็นพวกตัวแทนของพรรคที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนอีกต่อไป และสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ10กว่าปีคือกลายเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนการเมือง
แม้จะมีคนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อสู้กับนักการเมืองที่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่พอใจนักการเมืองที่ประชาชนอีกฝ่ายออกมาขับไล่ เพราะนักการเมืองพรรคนั้นได้สร้างนโยบายประชานิยมขึ้นมามอมเมาประชาชน จนเกิดอุปทานว่า นี่คือประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนในอดีตที่ตอบสนองผลประโยชน์ของคนชั้นล่างมาก่อน
การเมืองในรอบสิบปีแม้จะมีประชาชนสองฝ่ายผลัดกันออกมาชุมนุมประท้วงเมื่อฝ่ายที่ตัวเองเลือกไม่ได้อยู่ในอำนาจ แต่ถามว่า เนื้อหาของการประท้วงนั้นต่างกันไหม คำตอบก็คือต่างกัน ถ้าเราแบ่งความขัดแย้งเป็นฝ่ายที่เอาทักษิณและไม่เอาทักษิณซึ่งเป็นข้อเท็จจริงของความขัดแย้งแม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องให้ก้าวข้ามทักษิณไป แต่แท้จริงแล้วทักษิณเป็นเพียงตัวแทนของโครงสร้างทางการเมืองที่ใช้ประชาธิปไตยตอบสนองผลประโยชน์ของผู้เข้าสู่อำนาจ ดังนั้นแม้จะไม่เอ่ยชื่อทักษิณก้าวข้ามทักษิณไป ปัญหาแบบทักษิณก็จะยังคงอยู่ต่อไปนั่นเอง
เพียงแต่บางคนทำให้ฝ่ายต่อต้านโครงสร้างอปกติที่ปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาแสวงหาอำนาจว่าเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย และทำให้ฝ่ายตัวเองซึ่งปกป้องโครงสร้างทางการเมืองแบบทักษิณเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตยและสถาปนาตัวเองว่ายืนอยู่ข้างฝ่ายความชอบธรรม ทั้งๆที่สิ่งที่ยึดโยงกับฝ่ายทักษิณมีอย่างเดียวคือมาจากการเลือกตั้งซึ่งประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแค่นั้น
และถ้ามองว่าฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณเป็นพวกไม่เอาประชาธิปไตย เท่ากับไม่มองข้อเท็จจริงว่า การต่อต้านทักษิณนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเมื่อพรรคของทักษิณชนะเลือกตั้งแล้วได้อำนาจรัฐ แต่ออกมาต่อต้านทักษิณเมื่อพบว่ามีการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล ไม่ต่างกับกรณีขับไล่ยิ่งลักษณ์ที่เกิดขึ้นหลังการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเช่นเดียวกัน
และเป็นที่รู้กันว่า การขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมนั้นเป็นกระบวนการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย
แต่ความชอบธรรมของทักษิณนั้นอาจถูกมองว่า เพราะเขาสร้างประโยชน์ให้กับคนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่สิ่งที่ทักษิณหยิบยื่นให้ประชาชนก็คือนโยบายประชานิยมซึ่งคือการใช้นโยบายมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียงโดยการให้เปล่าที่ไม่ได้ตอบสนองคุณค่าในทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งประชาชนเข้าใจว่านี่คือ คุณสมบัติของนักการเมืองที่ดี
แล้วประชาชนกลุ่มนั้นก็ลดทอนผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติลงไปว่า แม้นักการเมืองจะทุจริตแต่ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ด้วยก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้
การหาทางออกให้ประเทศพ้นจากหล่มของความขัดแย้งนั้น แม้เราอยากจะให้ลืมอดีตแล้วหันมาหาทางออกร่วมกัน แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องพูดถึงตัวบุคคลและปัญหาที่แท้จริง เพราะถ้าเราไม่ศึกษาและยอมรับว่าอะไรคือปัญหาแล้ว เราก็ไม่มีวันที่จะคลี่คลายหาทางออกได้
แม้การรัฐประหารของทหารก่อนที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะรัฐล้มเหลวนั้น จะเป็นทางเลือกที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่การสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ในขณะนี้ก็ไม่ได้ตอบสนองให้มีเนื้อหาของการตรวจสอบการใช้อำนาจที่เข้มแข็งและข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆก่อนกลับไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลทหาร มีแต่การสร้างโครงสร้างเพื่อให้การสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้งเป็นไปอย่างราบรื่นเท่านั้นเอง
นั่นเท่ากับว่า เราไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงระบบอันเป็นช่องทางให้นักการเมืองเข้ามาใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลเลย ทั้งที่ถ้าเรามีระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจที่เข้มแข็ง แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่ใช่วิธีการคัดคนที่ดีที่สุดเข้าสู่อำนาจ แต่เราก็มีระบบที่ดีที่ควบคุมการใช้อำนาจได้ และถ้าเราควบคุมการใช้อำนาจได้คนที่มุ่งหวังหาประโยชน์ก็จะไม่กล้าเข้าสู่วงจรอำนาจ และเมื่อไม่มีการฉ้อฉลการเมืองบนท้องถนนก็จะไม่เกิดขึ้น
แม้ว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยก็คือสำนึกความเป็นพลเมือง ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และเคารพต่อความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แต่เราจะรอให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจที่เข้มแข็งไม่ได้ เพราะเราไม่มีหลักประกันว่า เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วพฤติกรรมของเขาจะเปลี่ยนไปหรือไม่
จึงเป็นเรื่องเสียดายอย่างมากที่เราไม่นำปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทยในระบอบ10กว่าปีมาเป็นพื้นฐานในการทางออก เราคิดเพียงว่า เมื่อรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ ก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่แล้วกลับไปสู่การเลือกตั้ง ผมถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรามีองค์กรตรวจสอบทางการเมืองที่ดีขึ้นไหม เรามีองค์กรอิสระที่จะถ่วงดุลกับรัฐบาลหลังเลือกตั้งไหม คำตอบคือไม่มีเลย แถมองค์กรอิสระก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น
ไม่ต้องพูดถึงส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลนี้ และระบบสามอำนาจของไทยคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั้นไม่ได้คานอำนาจกันอย่างแท้จริง ในระบอบของไทยนั้นอำนาจนิติบัญญัติเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายบริหารเท่านั้น ในขณะที่ระบบตุลาการถูกตั้งคำถามอย่างมากในรอบสิบกว่าปีมานี้
ผมจึงเสียดายการลุกขึ้นมาต่อสู้ของประชาชนทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือแดง อย่างน้อยที่ผมสัมผัสได้ก็คือ ประชาชนทั้งสองฝ่ายเริ่มมีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น รู้ถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น มีความสำนึกเป็นพลเมืองมากขึ้น เชื่อไหมว่า คนที่ตื่นตัวทางการเมืองมากในช่วงสิบกว่าปีมานี้มีจำนวนไม่น้อยเป็นผู้หญิงที่ในอดีตไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน ซึ่งเราเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งสองเสื้อสี
พรรคอนาคตใหม่เอาการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งสองเสื้อสีในรอบสิบกว่าปีมาสร้างวาทกรรมว่าเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” เหมือนมองไม่เห็นคุณค่าของการต่อสู้ของประชาชนเลย แต่ผมกลับมองว่า สิบปีมานี้เป็นย่างก้าวสำคัญที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยและจะเป็นรากฐานสำคัญในอนาคต
แน่นอนว่า ถ้าสังคมตกผนึกร่วมกันวันข้างหน้าเราจะมีการออกแบบระบบการเมืองใหม่ที่สอดคล้องกับสังคมไทยได้สำเร็จ เราอาจเรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ แม้ว่าคำคำนี้จะมีน้ำเสียงเหยียดหยันมาจากพวกที่บูชาประชาธิปไตยแบบนำเข้าจากตะวันตก แต่ถึงวันนี้เสียงเหล่านั้นก็คงไม่มีความหมายอะไร เพราะทั้งโลกกำลังตั้งคำถามกับระบอบประชาธิปไตยว่ามันไม่ใช่การปกครองแบบสำเร็จรูปที่ใช้ร่วมกันได้ แต่ต้องมีบริบทที่แตกต่างกันไปตามสภาพวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น
เพราะเอาเข้าจริงแล้ววันนี้ที่มีปัญหามากกว่าสังคมไทยก็คือ คำว่า “ประชาธิปไตย”นั่นแหละที่กำลังเกิดคำถามทั่วโลกว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นมันตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่หรือตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มทุนซึ่งทำให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากขึ้นกันแน่
นอกจากนั้นยังเกิดกระแสของ disruptive democracy ที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโครงสร้างของสังคม โดยการสร้างภูมิศาสตร์ใหม่ในรัฐเสมือนจริงที่ปฏิเสธรัฐชาติแบบเก่า มีการสร้างชุมชนที่ไม่มีพรมแดนขึ้นโดยกลุ่มทางเลือกต่างๆที่มีจุดสนใจร่วมกัน เราจะเห็นว่า โซเชียลมีเดียสามารถสร้างกระแสให้เกิดค่านิยมของสังคมได้ สามารถสร้างกระแสเพื่อให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ สร้างกระแสเพื่อพิพากษาสังคมได้ แน่นอนละมันมีดาบสองคมของเทคโนโลยีที่คนจะใช้สัมผัสแรกและความรู้สึกมากกว่าเหตุผลข้อมูล แต่นี่เป็นพรมแดนที่ท้าทายอำนาจรัฐอย่างแน่นอน
แล้วย้อนกลับมาสู่รัฐไทยวันนี้ ผู้มีอำนาจไม่ได้ศึกษาอดีตไม่ได้เรียนรู้โลกที่เปลี่ยนไป เรายังคิดเพียงการสร้างเครื่องมือเพื่อเข้าสู่อำนาจแล้วยังคิดว่าจะควบคุมคนในสังคมด้วยอำนาจที่ได้มาเท่านั้นเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan