xs
xsm
sm
md
lg

พท.เปิดโปงเหตุวิ่งซบ “พปชร.” “แม้ว” กลับกลอก- “เจ๊สุดแสบ” อยู่ไปไร้ค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ส.เพื่อไทย เผยความในใจต้องทิ้งพรรคไปซบพลังประชารัฐ เพราะ 'นายใหญ่' บอกคนใกล้ชิดหลายครั้งว่า “ไม่สู้แล้ว” แต่ก็เปลี่ยนความคิดหากมีผลกระทบใกล้ตัว แถมต้องอดทนกับข่าว 'เจ๊สุดแสบ' เจอชักหัวคิวได้ทุกเรื่อง ขณะที่พวกเราอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี ด้าน 'สมศักดิ์ เทพสุทิน' ถูกลดบทบาทไปแล้ว 'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' ได้บทเรียนครั้งใหญ่ต้องใส่เกียร์ถอย ส่วนแกนนำหลายคนรู้ซึ้งสู้แบบถวายหัว สุดท้ายต้องติดคุก-พบสัจธรรม 'ชินวัตร' คิดถึงแต่ตัวเอง ยันอยู่เพื่อไทยต่อ มีหน้าที่เดียว 'แก้ต่าง' ให้นายใหญ่และชินวัตร กลับมาเป็นรัฐบาลต่อไป

'พลังดูด' ทางการเมืองในขณะนี้ ต้องยอมรับว่านับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น และเป้าหมายที่จะถูกดูดมากที่สุด ก็น่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่วันนี้ 'เลือดไหลไม่หยุด' โดยมุมมองของแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ยังคงอยู่กับพรรคนี้ต่อไปต่างก็เชื่อว่าพลังดูดครั้งนี้เป็นเพราะคนมีสี มีอำนาจและถือกฎหมายอยู่ในมือเลือกที่จะบีบบรรดาอดีต ส.ส.ที่มีคดีความติดตัวพร้อมให้เงื่อนไขที่จะช่วยให้พ้นผิดได้ รวมไปถึงการให้ทุนก้อนโตที่จะใช้ในการเลือกตั้งและถ้าใช้ไม่หมดจะเก็บไว้ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนไป ซึ่ง 'นายทุน' ที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่จะไม่มีการทวงคืนเด็ดขาด

ไม่ใช่แค่นั้น ดูเหมือนว่าจะสร้างหลักประกันให้อดีต ส.ส.เหล่านี้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมด้วยว่าอยู่กับขั้วอำนาจ มีโอกาสได้เป็น ส.ส.แน่ เพราะธรรมชาติของนักการเมืองไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองใดก็ตาม ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน

“เราก็รู้กันอยู่ทุกพรรคอยากเป็นรัฐบาล เพราะมันมีงบประมาณเยอะมากที่จะทำให้คนทำงานการเมืองนำไปใช้สร้างบารมีและผลประโยชน์ได้ แต่การอยู่เป็นฝ่ายค้านนานๆ ก็ทำให้หลายคนอดอยากปากแห้งตามๆ กัน

แต่นั่นเป็นเพียงความเห็นของคนที่ยังอยู่กับพรรคเพื่อไทยเท่านั้น!

เพราะในความเป็นจริง! อดีต ส.ส.เพื่อไทย หลายมุ้งและหลายคน รวมไปถึงในระดับแกนนำที่ตัดสินใจออกจากพรรคเพื่อไทยและเลือกที่จะไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรือจะไปตั้งพรรคใหม่ที่ถือเป็นพรรคสาขาของพรรคพลังประชารัฐได้ให้ความเห็นถึงสาเหตุสำคัญในการตัดสินใจทิ้งพรรคเพื่อไทยว่าไม่ใช่เรื่องการเนรคุณแต่เพราะมึนงง กับคำกลับกลอกของ 'นายใหญ่' รวมไปถึงอิทธิพลและความเอาเปรียบของ 'เจ๊สุดแสบ' ไม่ได้อีกต่อไป จนทำให้อดีต ส.ส.อีสาน กลายเป็นคนไร้ค่า ในสายตาพี่น้องชินวัตร' และแกนนำสำคัญๆ ที่อยู่ใกล้ชิดศูนย์กลางอำนาจมองด้วยสายตาดูหมิ่นเย้ยหยัน

“เป็นจังหวะที่ดีที่มีพรรคพลังประชารัฐมาชักชวนพวกเรา ก็ได้มีการพูดคุยถึงอนาคตในทางการเมือง พูดถึงการเลือกตั้ง พูดถึงประเทศจะต้องเดินหน้าอย่างไร ถือว่าเป็นการให้เกียรติกัน ดูพวกเรามีค่ามีบทบาท ไม่ใช่ให้พวกเราทำหน้าที่แก้ต่างให้กับนายใหญ่ และคนชินวัตร เท่านั้น

จะว่าไปแล้วพลังดูดที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ได้ต่างจากเหตุการณ์เมื่อปี 2544 ที่พรรคไทยรักไทยดูด ส.ส.ซึ่งมีทั้งย้ายพรรคและยุบรวมพรรค เริ่มตั้งแต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคเอกภาพ พรรคประชากรไทย พรรคเสรีธรรม ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ได้ ส.ส.มากถึง 325 คน 

ปรากฏการณ์ครั้งนั้นทำให้แบรนด์ 'ทักษิณ ชินวัตร' เป็นที่ชื่นชอบและศรัทธาของคนในภาคอีสานและภาคเหนือ ไม่ว่าจะส่งใครลงสมัคร ก็จะได้รับเลือกตั้ง และเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในทางการเมืองให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถอยู่จนครบเทอมได้ รวมไปถึงการเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมาในปี 2544, 2548, 2550 และปี 2554 (ครั้งสุดท้าย) แม้จะถูกยุบพรรคจากพรรคไทยรักไทย เป็นพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า 'ทักษิณ' ก็ไม่เคยพ่ายแพ้แม้แต่ครั้งเดียว

“ปี 44 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุวิทย์ คุณกิตติ ก็ได้พาอดีต ส.ส.จากกิจสังคมมาอยู่ไทยรักไทย กับกลุ่มสะสมทรัพย์ จากพรรคเอกภาพ กลุ่ม ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข จากพรรคเสรีธรรม ส่วนพรรคความหวังใหม่ พ่อใหญ่จิ๋ว และป๋าเหนาะ ก็นำทีมมาทั้งหมด

ชัยชนะของพรรคทักษิณ ต้องยอมรับว่ามาจากนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนยากคนจนเข้าถึงบริการสุขภาพ หรือโครงการรถคันแรก-บ้านหลังแรก ที่ทำให้คนจนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือนโยบายที่ทำให้คนจนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเช่นโครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการพักหนี้เกษตรกร การเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ เป็นต้น

นโยบายเหล่านี้ไม่ใช่แค่โดนใจประชาชนเท่านั้น แต่ยังโดนใจบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ เชื่อว่าถ้ามาอยู่พรรค 'ทักษิณ' ไม่มีทางสอบตก

“เราเชื่อในนโยบาย คิดใหม่ ทำใหม่ คนจนจะลืมตาอ้าปากได้ และการพูดคุยในพรรคก็จะเป็นเรื่องของการดูแลประชาชนในพื้นที่ แต่ระยะหลังทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ซึ่งปัญหาเหล่านี้สะสมมานานพอสมควร”

อดีต ส.ส.เพื่อไทย ในภาคอีสาน ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพรรคเพื่อไทยนับตั้งแต่ 'นายใหญ่' หลุดคดีซุกหุ้น เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2544 ส่งผลให้ นายทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้นกลายเป็น 'พยัคฆ์ติดปีก' ที่ทุกคนต้องทำทุกอย่างเพื่อสนองนายใหญ่!

นี่คือบทสรุปแรกที่อดีต ส.ส.สะท้อนภาพ..คือ ทำทุกอย่างเพื่อนายใหญ่และชินวัตร!

เพราะเมื่อนายใหญ่ ได้กลายเป็นพยัคฆ์ติดปีก ความสัมพันธ์ภายในพรรคก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะนายใหญ่ เริ่มไม่สนใจและไม่ฟัง ส.ส.บ้านนอก แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับหัวหน้ามุ้ง การจัดสวัสดิการภายในพรรคก็ยังดีอยู่ทุกอย่าง และถ้าอดีต ส.ส.คนไหนทำตัวมีปัญหา ก็จะได้รับการดูแลดีเป็นพิเศษ ด้วยการให้มีหัวหน้ามุ้ง 2-3 คนเป็นผู้ดูแล

“ต้องเข้าใจการดูแล ก็มีการให้เป็นรายเดือน บางคนมีหัวหน้ามุ้งหลายคนก็ได้มาก ตอนนั้นก็สุขสบายตามๆ กัน จะพูดคุยเรื่องปัญหาประชาชนน้อยลง แต่จะพุ่งเป้าไปที่การสนองวาระงานนายใหญ่ ที่เรายอมทำแบบนี้ก็เพื่อรักษาสวัสดิการของพวกเรากันเอง”

โดยเฉพาะในช่วงการอภิปราย บรรดาอดีต ส.ส. จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ แต่ต้องทำงานให้ทันฝ่ายค้านที่จะอภิปราย ต้องรู้ว่าใครจะทำอะไร อย่างไร ส.ส.ห้ามขาด ห้ามลา และถ้าหัวหน้ามุ้งโทร.ติดต่อต้องรีบรับสายทันที แต่หากเรียกหาก็ต้องมาให้ทันภายใน 15 นาที
นี่คือ กฎหรือคำสั่ง ที่อดีต ส.ส.ทุกคนต้องปฏิบัติตาม แต่หากจะถามว่าดีหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นข้อดีที่ทำให้สมาชิกพรรคไม่แตกแถว แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสียเพราะเมื่อมีมุ้งมากปัญหาก็ตามมา

ซึ่งในพรรคนี้มีหลายมุ้ง ประกอบด้วย 'วังจันทร์ส่องหล้า ของนายใหญ่-นายหญิง, วังบัวบาน ของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ 'เจ๊แดง', วังน้ำเย็น ของนายเสนาะ เทียนทอง, วังน้ำยม ของนายสมศักดิ์ เทพสุทินและนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ วังพญานาค ของนายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ, วังน้ำเขียว ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, กลุ่ม กทม.ของ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, กลุ่มชลบรี ของนายสนธยา คุณปลื้ม, กลุ่มบ้านริมน้ำ ของนายสุชาติ ตันเจริญ, กลุ่มวาดะห์ ของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทะ เป็นต้น

เมื่อมีหลายมุ้งการบริหารจัดการก็เริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น ใครใกล้นายใหญ่-นายหญิง ก็จะมีเขี้ยวเล็บ มีอิทธิพลต่อการควบคุมและการสร้างอิทธิพลได้มาก ซึ่งต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งรัฐมนตรีมีจำกัด ก็ต้องมีการหมุนเวียนกันไป

“มุ้งต่างๆ จะมีนายทุนของตัวเอง เมื่อคนของตัวเองขึ้นเป็นรัฐมนตรี ก็เท่ากับว่าพรรคให้แล้วนะ แต่นั่งได้ไม่นานก็ต้องเปลี่ยนให้คนอื่นนั่งบ้าง เมื่อพ้นตำแหน่งไปแล้ว พวกนี้เขาก็จะหยุดดูแล ส.ส.ในสังกัดตัวเอง พรรคก็ถือว่าให้แล้ว ก็ไม่สนใจ หากย้ายไปอยู่มุ้งอื่น ก็กลายเป็นส่วนเกิน ไม่มีค่า แถมยังมองเราเป็นกระดาษชำระ ใช้แล้วทิ้ง เพราะมีคนใหม่รอมากมาย” อดีต ส.ส.อีสาน ย้ำ

โดยเฉพาะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน บารมีในพรรคลดลงอย่างมาก รวมทั้งความสัมพันธ์กับนายใหญ่ ก็ถือว่ามีระยะห่างมากเช่นกัน เนื่องเพราะไม่สามารถรักษาตัวเลข ส.ส.ไว้ได้ ที่สำคัญยังไม่สามารถรักษาเก้าอี้ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยซึ่งเป็นจังหวัดของตัวเองไว้ได้ โดยถูกพรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย แย่งไปได้ทั้งหมด

จุดนี้เองทำให้เจ๊แดงแผ่บารมีเข้ามา ดัน วราเทพ รัตนากร ที่ถูกตัดสิทธิเมื่อปี 2550 เป็นเวลา 5 ปี เข้ามามีบทบาทเป็นมือไม้สำคัญดูแลต่อ ซึ่งวราเทพได้พิสูจน์ให้เห็นด้วยการนำประชาชนเข้ามาสนับสนุนเวลามีปัญหาได้”

สำหรับเจ๊แดง นั่นต้องเรียกว่ามากบารมีทั้งในฐานะ 'น้องสาว' ของนายใหญ่แล้ว ยังเป็นภรรยาของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ซึ่งทุกคนในพรรคคาดหวังว่า หากมีคดีความต่างๆ จะช่วยเหลือเกื้อกูลได้มากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนต้องช่วยตัวเอง

“สุริยะ รู้ดี เขาเป็น รมต.คมนาคม ผลักดันจนเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิได้ พอมีปัญหา CTX ถูกปล่อยเกาะ ต้องเคลียร์ทุกอย่างเอง เครือข่ายของ นายสมชาย ในกระทรวงยุติธรรม มีไว้เพื่อช่วยครอบครัวชินวัตรเท่านั้น ไม่เผื่อถึงคนนอก แกนนำรู้สึกผิดหวังเพราะได้ทุ่มเท แต่ที่สุดชินวัตรนึกถึงแต่ตัวเอง

อย่างไรก็ดี กรณีของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ ที่ต้องติดคุกจากโครงการรับจำนำข้าว ก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้พวกเรารู้สึกไม่ดีต่อตระกูลชินวัตร เพราะนายบุญทรง ก็รู้อยู่ว่าเป็นคนของ 'เจ๊แดง' และทำงานนี้เพื่อใคร แต่ในที่สุดก็ต้องรับกรรมไปคนเดียว

“เขาไม่ยอมให้ยิ่งลักษณ์ติดคุกแม้เพียงวันเดียว แต่พวกเราล่ะต้องสละชีวิตเพื่อเขาถึงขนาดนี้เหรอ” นี่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้พวกเราตัดสินใจง่าย

แต่อะไรก็ไม่เท่าผลประโยชน์จากการทำงาน เล่าลือกันในพรรคว่าต้องมีการหักหัวคิวให้ 'เจ๊' ทุกงาน เพราะ 'เจ๊' ล้วงลูกทั้งหมด แม้กระทั่งการแต่งตั้งโยกย้าย 'เจ๊' ก็ขอเอี่ยว นี่ก็อีกความน่าเบื่อที่หัวหน้ามุ้งและนายทุน รู้สึกทนไม่ได้กับพฤติกรรมของ 'เจ๊' คนนี้

อดีต ส.ส. เล่าอีกว่า ได้มีการรวมตัวไปพบนายใหญ่กันหลายชุดและหลายครั้ง ซึ่งนายใหญ่ก็บอกกับพวกเราว่า

'ไม่สู้แล้ว' แต่พอมาออกข่าวก็เหมือนกับจะสู้ต่อ ซึ่งพวกเราก็รู้สึกทุกครั้งว่า นายใหญ่ จะออกมาส่งสัญญานสู้เฉพาะเวลามีปัญหาเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวเท่านั้น

“พวกเราก็รู้สึกว่า นายใหญ่ ไม่ชัดเจน จะเอาอย่างไร จะสู้หรือไม่สู้กันแน่ ถามบรรดาคนสนิทที่เป็นคนของวังจันทร์ส่องหล้า ก็ไม่อยากจะบอกอะไร คุยกับเราก็แบบเหยียดๆ เหมือนคนละชนชั้น พวกเราก็รู้สึกขมขื่นนะ”

แต่พอมาถึงวันนี้ วันที่ 'นายใหญ่' ต้องการจะยึดอำนาจรัฐคืนผ่านช่องทางการเลือกตั้ง ที่จะต้องได้ชัยชนะเท่านั้น ก็มานึกถึงว่าต้องใช้พวกเราที่ลงพื้นที่อยู่เป็นประจำก็ย่อมมีความสัมพันธ์กับประชาชน ผสมกับคะแนนพรรค ก็จะทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสได้ชัยชนะแน่นอน
“จะมาว่าเราเนรคุณไม่ได้ ต้องมองย้อนไปด้วยว่า พวกเขาปฏิบัติกับพวกเราอย่างไร”

ที่สำคัญพวกเราได้มีการประเมินสถานการณ์และเลือกที่จะอยู่ในพรรคเพื่อไทยหรือจะไปพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคสาขา บนข้อมูลที่เป็นจริง เพราะหากเราอยู่พรรคเพื่อไทยต่อไป จะมีข้อดีตรงที่ว่า พวกเราไม่ต้องคิด ไม่ต้องเสนออะไรทั้งสิ้น เพราะพรรคเพื่อไทย มีทีมงานคอยคิดและวางแผนให้อยู่แล้ว หน้าที่ของพวกเรามีเพียงอย่างเดียวก็คือไปหาชาวบ้าน และทนต่อวัฒนธรรมในพรรคเพื่อไทยให้ได้ เพราะพรรคนี้คนที่ใหญ่และมีอำนาจที่สุดอยู่ที่ต้องเป็นคนในเครือข่ายชินวัตรเท่านั้น

“หน้าที่เราคือไปหาชาวบ้าน พูดง่ายๆ คือไปแก้ตัวให้นายใหญ่ และโน้มน้าวให้ชาวบ้านลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย เพื่อทวงคืนอำนาจให้ตระกูลนายใหญ่ และต้องได้ชัยชนะในการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาล เพื่อให้นายใหญ่กลับประเทศไทยอย่างมีศักดิ์ศรีเท่านั้น”

ขณะเดียวกันถ้าเพื่อไทยได้รับชัยชนะ ก็ใช่ว่าพวกเราจะมีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรี และถ้าเราไม่ออกจากพรรคเพื่อไทย พวกเราก็ต้องเสี่ยงกับคดีที่มีติดตัวอยู่ แถมยังต้องต่อสู้กับคนมีสีที่จะมีปัญหาตามมาสารพัด

ส่วนนายใหญ่ หากแพ้เลือกตั้งก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างสุขสบายอยู่ในต่างประเทศเช่นเดิม!



กำลังโหลดความคิดเห็น