xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดเครือข่ายอุ้ม “อดีตพระพรหมเมธี” ลี้ภัย จาก“สีกาจุ๋ม” ณ ทุ่งคาฯ ถึง “ธรรมกาย” ณ เยอรมนี?!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อดีตพระพรหมเมธี (จำนงค์  ธมฺมจารี) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร และอดีต กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะภาค 4-5-6-7(ธรรมยุติ)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เวลานี้ เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า อดีตพระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร และอดีต กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และเจ้าคณะภาค 4-5-6-7(ธรรมยุต) เจ้าของอมตวาจา “การตรวจสอบทรัพย์สินพระ ก็เหมือนการตรวจสอบศรัทธาของประชาชน” ล่องหนหายตัวหลบหนี “คดีทุจริตเงินทอนวัด” ไปอยู่ที่ “ประเทศเยอรมนี”

นั่นแสดงว่า อดีตเจ้าคุณจำนงค์ผู้เป็น “ธรรมยุตในธรรมกาย” ย่อมไม่ใช่ธรรมดาและต้องมี “คอนเนกชัน” ในระดับที่สามารถพาเข้านอกออกในได้ ยิ่งเมื่อตรวจสอบ “เส้นทางหนี” ก็ยิ่งเห็นชัด เพราะหลังจากออกจากประเทศไทยก็ไปโผล่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก่อนเดินทางต่อไปที่ประเทศกัมพูชา จากนั้นได้นั่งเครื่องไปยังประเยอรมนี

ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดคำถามตามมาด้วยว่า ทำไมอดีตเจ้าคุณจำนงค์ถึงเลือกประเทศเยอรมนีเป็นจุดหมายปลายทาง และเมื่อเดินทางไปถึงก็ทำเรื่องขอ “ลี้ภัย” ในฉับพลันทันที ซึ่งนั่นแสดงว่าต้องมี “ผู้ให้คำแนะนำ” และให้ความช่วยเหลือในการเลือกช่องทางนี้

ทั้งนี้ หลังปรากฏข่าวการจับกุม อดีตเจ้าคุณจำนงค์ซึ่งขณะนั้นได้รับกิจนิมนต์ที่ จ.พิษณุโลก ก็ได้โดยสารรถยนต์ตู้ โตโยต้า อัลพาด สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน กภ 3 กภ 8672 กรุงเทพมหานคร จากจังหวัดพิษณุโลก มุ่งหน้าไปยังจังหวัดนครพนม ก่อนที่จะนำรถคันดังกล่าวจอดทิ้งไว้ใกล้กุฏิของ “เจ้าอาวาสวัดป่าสุคนธรักษ์ บ้านค่ายเสรี ต.นางาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม” จากนั้นได้เดินทางนั่งเรือข้ามฝั่งจากประเทศไทยไปยังเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ในทางการสืบสวนสอบสวนพบอดีตเจ้าคุณจำนงค์ปรากฏตัวอยู่ที่ “โรงแรมดงชัย เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” ช่วงสั้นๆ ก่อนเดินทางออกจากโรงแรมดังกล่าวเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 26 พ.ค. โดยภาพวงจรปิดของโรงแรมสามารถจับภาพได้ และมีเพียงสัมภาระเป็น กระเป๋าเป้หนึ่งใบ จากนั้นได้เดินทางไปยังท่ารถโดยสาร เพื่อเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. อดีตเจ้าคุณจำนงค์เดินทางด้วยสายการบิน กาตาร์ แอร์เวย์ ออกจากกรุงพนมเปญ ซึ่งเครื่องได้แวะจอดที่สนามบินโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม แล้วบินต่อไปยังสนามบินโดฮา ประเทศกาตาร์ จากนั้นได้ “ต่อเครื่อง” ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวไว้หลังพบไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง

สำหรับตัวละครสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพาอดีตเจ้าคุณจำนงค์หนีออกจากประเทศไทยมีทั้งหมด 5 คนด้วยกัน ได้แก่ 1.คนขับรถ ซึ่งเป็นคนสนิทของอดีตเจ้าคุณจำนงค์ 2.สีกาจุ๋ม เจ้าแม่วงการตลาดหุ้นและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทผู้รับสัมปทานเหมืองแร่รายใหญ่ของไทย แถมสามียังไปประกอบธุรกิจทำเหมืองแร่ใน สปป.ลาว ทำให้รู้ช่องทางในการหลีกเลี่ยงการจับกุม และสามารถพาหนีออกนอกประเทศได้ง่าย3.นายโค๊ด หลานชายของอดีตเจ้าคุณจำนงค์ 4.นางจันทนา หรือจันตนา รัตนวงศ์ หญิงชาวลาว และ 5.ลูกชายของนางจันทนา

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอีก 2 นาย ทั้งระดับสารวัตรและชั้นประทวน ว่าอาจรู้เห็นเป็นใจกับการหลบหนี และมีรายงานข่าวว่า สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้สั่งกรรมการสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


เมื่อครั้งที่เดินทางไปร่วมงานที่วัดพระธรรมกายบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี พร้อมกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ และอัครสาวกมหาเศรษฐีอย่างนายอนันต์ อัศวโภคิน

ทั้งนี้ การหนีไปเยอรมนีน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของอดีตเจ้าคุณจำนงค์ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน

หนึ่ง-เพราะสามารถขอลี้ภัยทางการเมืองได้

สอง-ประเทศไทยกับประเทศเยอรมนี ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน มีเพียงสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษที่มีมาตั้งแต่ปี 2536 เท่านั้น

สาม-ประเทศเยอรมนีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีวัดไทยตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก และในจำนวนนี้มีวัดไทยที่เป็น “สาขาของวัดพระธรรมกาย” ถึง 7 วัดคือ วัดพระธรรมกายบาวาเรีย, วัดพระธรรมกายเบอร์ลิน, วัดพุทธบารมีที่ฮัมบวร์ก, วัดพระธรรมกายแฟรงก์เฟิร์ต, วัดพระธรรมกายชวาร์ซวัลด์, วัดพุทธไฮล์บรอนน์ และ วัดพุทธนอร์ดไรน์ เวสฟาว์เลน

ทันทีที่อดีตพระพรหมเมธีเดินทางถึงประเทศเยอรมนี ได้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยและทาง ตม.เยอรมนีได้ส่งคำร้องขอลี้ภัยของอดีตพระพรหมเมธีไปยัง “สำนักงานดูแลผู้อพยพและผู้ลี้ภัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือ Federal Office for Migration and Refugees (BAMF)” ซึ่งตามขั้นตอนก็คือจะต้องมีการสัมภาษณ์ สอบประวัติ และซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุที่ยื่นคำขอลี้ภัย

ส่วนคณะของ บิ๊กแป๊ะ-พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ที่ประสานเพื่อรับตัวอดีตพระพรหมเมธีกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยนั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้เจอตัว ด้วยเหตุผลเพื่อคุ้มครองสิทธิและเพื่อความปลอดภัยของผู้ยื่นคำขอลี้ภัย เพราะหลังจากได้ยื่นคำขอลี้ภัยแล้วจะได้รับความคุ้มครองตามกฎเกณฑ์ว่าด้วยผู้ลี้ภัยทันที

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การขอลี้ภัยในประเทศเยอรมนีจะสามารถยื่นคำขอได้หากเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1.การขอลี้ภัยทางการเมือง 2.การขอลี้ภัยในประเภทฐานะผู้ลี้ภัย 3.การขอรับความคุ้มครองเพียงบางส่วน 4.การขอคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังประเทศต้นทาง

โดยคำขอลี้ภัยทางการเมืองเป็นประเภทที่ 1 จะเป็นการขอลี้ภัยเนื่องจากถูกละเมิดเสรีภาพทางศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่มีความร้ายแรง ส่วนคำขอลี้ภัยประเภทที่ 2 จะเป็นกรณีขอลี้ภัยด้วยเหตุผลจากการถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี ถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ ละเมิดพื้นฐานความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง โดยกรณีของพระพรหมเมธีคาดว่าจะยื่นคำขอลี้ภัยประเภท 1 หรือ 2
นางศศิร์อร เจียมวิจิตรกุล หรือ “สีกาจุ๋ม”
สำหรับประเทศไทยไม่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นรัฐต้นทางที่มีความปลอดภัย (Safe States Of Origin) ตามหลักเกณฑ์ของเยอรมนีในการพิจารณาคำขอลี้ภัย โดยส่วนหนึ่งคำนึงว่าประเทศนั้นมีประชาธิปไตยหรือถูกปกครองโดยเผด็จการ ส่วนสาเหตุที่คำร้องขอลี้ภัยที่อดีตพระพรหมเมธีได้รับการพิจารณานั้นเนื่องจากประเทศเยอรมนีต้องปฏิบัติตาม Dublin Regulation (ระเบียบดับลิน) เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรปและก็ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 ที่เยอรมนีเป็นภาคีสมาชิกเป็นพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาอีกด้วย ถึงแม้คำขอลี้ภัยของอดีตพระพรหมเมธีจะถูกปฏิเสธ อดีตพระพรหมเมธีก็ยังมีสิทธิยื่นคำขออุทธรณ์ต่อไปได้อีก โดยระยะเวลาในการพิจารณาคำขอ ปัจจุบันมีการเร่งรัดให้เร็วกว่าเดิมมาก โดยใช้ระยะเวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน

ยิ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังก็จะเห็นว่า ไม่เป็นที่น่าแปลกใจอะไรที่อดีตพระพรหมเมธีจะเลือกประเทศเยอรมนีเป็นจุดหมายปลายทาง เนื่องเพราะสายสัมพันธ์ระหว่างวัดพระธรรมกายและอดีตพระพรหมเมธีนั้น ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 อดีตเจ้าคุณรูปนี้เคยเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดพระธรรมกายบาวาเรีย จากนั้นในอีก 4 ปีต่อมาคือเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2558 วัดแห่งนี้ก็นิมนต์มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในพิธีอัญเชิญจักรแก้ว และฝังลูกนิมิต

ในครั้งนั้นนอกจากอดีตพระพรหมเมธีแล้วยังมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่อีกหลายรูปร่วมในพิธีด้วย อาทิอดีตพระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา พระมหาโพธิวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร พระวิสุทธิวงศาจารย์ รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ พระวิเทศภาวนาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พระธรรมสิทธิเวที ที่ปรึกษา เจ้าคณะภาค ๑๒ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม วรวิหาร และพระเทพพุทธิมงคล ประธานสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม ประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมถึงเจ้าสัวแลนด์แอนด์เฮาส์คือนายอนันต์ อัศวโภคิน

หรือเมื่อครั้งที่วัดพระธรรมกายบาวาเรียจัดสอบธรรมศึกษา ปี 2558 อดีตพระพรหมเมธีถึงกับประกาศตัวเป็นผู้แทนแม่กองธรรมสนามหลวงดำเนินการจัดการสอบ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า พระเถระชั้นพรหมจะบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นแม่กองธรรมสนามหลวงให้วัดธรรมกาย
นางศศิร์อรปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้ถือหุ้นลำดับที่ 8 ของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด(มหาชน)

อย่างไรก็ดี รายงานแจ้งว่า การหลบหนีคดีไปเยอรมนีนั้น อดีตพระพรหมเมธีตั้งใจหรือเลือกที่จะซุกที่ “วัดพระธรรมกายแฟรงก์เฟิร์ต หรือวัดพระธรรมกายไรน์แลนด์” เพราะหากดูจากทำเลที่ตั้งจะเห็นว่าค่อนข้างปลีกวิเวก ห่างไกลจากตัวเมืองพอสมควร ทำให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ใครๆ ก็คาดเดาว่า อดีตพระพรหมเมธีน่าจะเลือกซ่อนตัวอยู่ที่ วัดพระพุทธาราม บอร์ลิน ซึ่งมี พระโสภณพุทธิวิเทศ (จิตติก์ ญาณชโย) เป็นเจ้าอาวาส เนื่องจากมีความสนิทสนมมากกว่า เพียงแต่จะตกเป็นเป้าหมายของการไล่ล่าตัวได้ง่าย ทว่า เกิดอุปัทวเหตุไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเสียก่อน

กล่าวสำหรับ พระโสภณพุทธิวิเทศ (จิตติก์ ญาณชโย) นั้น ก็มิใช่ใครอื่น หากแต่คือ “เจ้าคุณเบอร์ลิน” ผู้ประกาศปกป้องพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และเคยเปิดศึกกับอดีตพระพุทธะอิสระอย่างดุเดือดเลือดพล่านจนมีการฟ้องร้องดำเนินคดีและจำต้องย่องไปกราบขอขมาถึงวัดอ้อน้อย จ.นครปฐมมาแล้ว

กระนั้นก็ดี ทางวัดพระธรรมกายได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องในการหนีคดีของอดีตพระพรหมเมธีไปที่ประเทศเยอรมนีออกมาแล้ว

ส่วน สีกาจุ๋ม หรือ นางศศิร์อร เจียมวิจิตรกุล ที่ตกเป็นข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ เชิญตัว มาสอบปากคำว่าเกี่ยวข้องกับการหลบหนีของเจ้าคุณจำนงค์นั้น ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของคดี โดยในช่วงแรกมีข่าวกระเส็นกระสายออกมาว่า นางศศิร์อรไม่เกี่ยวข้องกับการหลบหนี เพียงแต่พบกับอดีตพระพรหมเมธี และต่อมาเมื่อทราบข่าวว่า มีหมายจับและเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีมา จึงเดินทางกลับมาเมืองไทยเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 และพร้อมร่วมมือให้การกับเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ตำรวจนครพนม รวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลจังหวัดนครพนม และมีการอนุมัติออกหมายจับบุคคลที่ให้การช่วยเหลืออดีตพระพรหมเมธี รวม 5 คน และหนึ่งในนั้นก็คือ “สีกาจุ๋ม” หรือนางศศิร์อร เจียมวิจิตรกุล

คำถามก็คือ สีกาจุ๋มรายนี้นั้นคือใคร?

พลิกข้อมูลทางธุรกิจของนางศศิร์อร ซึ่งสำนักข่าวอิศรารวบรวมไว้ พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

นางศศิร์อร มีชื่อถือหุ้นและเป็นกรรมการอย่างน้อย 4 บริษัท

1.บริษัท เจ แอนด์ เจ คอนสตรัคชั่น แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 ก.ค. 2537 ทุน 5 ล้านบาท ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่ตั้งเลขที่ 15/74 ถนนเสรีไทย แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยนางศศิร์อรถือหุ้น 60%

2.บริษัท บางกอก แวลู บิสซิเนส จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท เจแอนด์เจบิลดิ้ง1999 จำกัด) จดทะเบียนวันที่ 4 ก.พ. 2542 ทุน 20 ล้านบาท ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทุกประเภท ที่ตั้งเลขที่ 1213/105 ซอยลาดพร้าว 94 ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยนางศศิร์อรถือหุ้น 30%

3.บริษัท อินคอร์ป จำกัด (ชื่อ เดิม บริษัท เจแอนด์เจคอมพิวเทค จำกัด) จดทะเบียนวันที่ 9 ก.พ. 2542 ทุน 1 ล้าน ปัจจุบัน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ตั้งเลขที่ 1213/105 ซอยลาดพร้าว 94 ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ นางศศิร์อรถือหุ้นใหญ่ 60 %

และ4. ถือหุ้น บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THLในลำดับที่ 8 จำนวน 6,025,900 หุ้น (2.90%)


วัดพระธรรมกายบาวาเรีย วัดพระธรมกายเบอร์ลิน และวัดพระธรรมกายแฟรงเฟิร์ต
ทั้งนี้ กล่าวสำหรับบริษัททุ่งคาฯ นั้น นอกจาก “สีกาจุ๋ม” แล้ว ยังมีเครือญาติของเจียมวิจิตรกุล ถือหุ้นอีกหลายคน เช่น นายบรรยงค์ เจียมวิจิตรกุล ถือหุ้นเป็นลำดับที่ 2 ของ THL โดยถืออยู่ที่ 9.55% นาย วิจิตร เจียมวิจิตรกุล ถือหุ้นเป็นลำดับที่ 4 อยู่ที่ 9.20% น.ส. สุทธิรีย์ เจียมวิจิตรกุล ถือหุ้นในลำดับที่ 5 จำนวน 8.76% นายวิเชียร เจียมวิจิตรกุล ถือหุ้นเป็นลำดับที่ 9 จำนวน 1.94% และเมื่อรวมๆ กันแล้วจะเห็นชัดเจนว่า กลุ่มเจียมวิจิตรกุลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้บริหารบริษัท หรือจะใช้คำว่าเป็น “เจ้าของ” ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริง

ปัจจุบันทุ่งคาฮาเบอร์มีนายวิจิตร เจียมวิจิตรกุล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท / ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ หนึ่งในจำนวนผู้ถือหุ้นของ THL นั้นปรากฏชื่อ “ลูกเอ๋อ-นางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง” บุตรสาวของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถือหุ้นอยู่ด้วยจำนวน 0.97%

และหนึ่งในกิจการของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด(มหาชน) ที่สังคมไทยได้รู้จักในระยะหลังๆ ก็คือ การทำ “เหมืองแร่ทองคำ” ที่ อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งกระทำในนาม “บริษัท ทุ่งคำ จำกัด”

ส่วนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น บริษัททุ่งคาฯ ได้มีการร่วมมือกับ บริษัท ลาวงาม กวางตุ้ง บ่อแร่ จำกัด ในการประกอบกิจการสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ ในพื้นที่เมืองสุลูมารและเมืองมูละปะโมก แขวงจำปาสัก ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาโยงกับการหนีของอดีตพระพรหมเมธี

ไม่เพียงแต่ธุรกิจข้างต้นเท่านั้น กลุ่มนี้ยังเป็นเจ้าของธุรกิจประมาณ 15 บริษัท เปิดดำเนินการในปัจจุบัน 10 บริษัท ทุนจดทะเบียนรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สีกาจุ๋มนั้นไม่ธรรมดา ขณะที่อดีตพระพรหมเมธีนั้นก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน เพราะการที่ตัดสินใจหนีไปต่างประเทศและขอลี้ภัย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าไม่มีเส้นสายและสรรพกำลังเพียบพร้อม




กำลังโหลดความคิดเห็น