xs
xsm
sm
md
lg

รื้อฟื้นความทรงจำ ก่อนกำนันเทือกเห็นใจพันธมิตรฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่กำลังฟอร์มทีมเพื่อตั้งพรรคการเมืองมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง กำลังไล่ชื่นชมวีรกรรมการต่อสู้ของ13แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกศาลแพ่งสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยหลายร้อยล้านบาท

ก็ต้องขอบคุณกำนันสุเทพนะครับที่เข้าใจว่า แกนนำเหล่านั้นเป็นผู้เสียสละที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบทักษิณเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และแกนนำที่ได้รับการชื่นชมหลายคนก็ออกมาขอบอกขอบใจกำนันสุเทพที่แสดงท่าทีชื่นชมตัวเอง

แต่เป้าหมายที่ซ่อนเร้นของกำนันสุเทพที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เสียงของมวลชนพันธมิตรฯซึ่งแม้จะมีไม่มาก แต่ก็มีความเหนียวแน่นและเป็นเอกภาพ ลำพังจะแบ่งปันเสียงของพรรคประชาธิปัตย์พรรคใหม่ของกำนันสุเทพก็คงจะแย่งชิงไม่ได้มาก ไม่ได้พูดถึงเสียงจากฝั่งตรงข้ามซึ่งไม่มีทางดึงได้เลย

ผมจะไม่พูดถึงที่หลายฝ่ายกำลังขุดคุ้ยว่า กำนันสุเทพกำลังตระบัดสัตย์ที่เคยบอกว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก แต่วันนี้กลับพยายามจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์แม้จะบอกว่าตัวเองจะไม่รับตำแหน่งใดๆในพรรคก็ตาม

แต่เราเห็นได้ชัดว่า การเกิดของพรรคกำนันไม่มีฐานเสียงมวลชนที่แน่ชัด นอกจากเป็นพรรคที่เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน ซึ่งทำให้เสียงของพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละที่อาจจะลดลงบ้าง ถ้าสามารถดึงเสียงของพันธมิตรฯได้บ้างเหมือนกับสามารถดึงระดับนำของพันธมิตรฯที่เข้าร่วมกับ กปปส.ไปเป็นมดงานของพรรคที่กำลังจะก่อตั้งขึ้นได้แล้ว

ตอนที่เกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น แน่นอนฐานมวลชนนอกจากหลายคนที่เพิ่งตื่นตัวแล้ว ฐานใหญ่ก็มาจากมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละ และส่วนใหญ่เป็นมวลชนภาคใต้กับภาคตะวันออก ตอนเกิดกปปส.ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ตอนนั้นมวลชนพันธมิตรฯหันไปสนับสนุนเวทีคปท.ของทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ

แต่เราต้องไม่ลืมนะว่า การที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย วิทยุการบิน และการบินไทยฟ้องแพ่งพันธมิตรฯนั้น อยู่ในปี2552ในช่วงของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งมีกำนันสุเทพนี่แหละที่เป็นคีย์แมนใหญ่ของรัฐบาล ผมแปลกมากมวลชนอาจจะจดจำเหตุการณ์ลำดับเวลาได้ไม่แจ่มชัดนัก แต่ผมคิดว่าแกนนำของพันธมิตรฯที่ถูกฟ้องย่อมจะต้องจดจำได้

ถามว่าการท่าอากาศยานและหน่วยงานต่างๆ ที่ฟ้องแพ่งนั้นเป็นหน่วยงานของรัฐไหม เป็นนะครับ รัฐบาลสามารถกำกับทิศทางและนโยบายได้ไหม พูดตรงๆครับว่าจะสั่งให้ฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ หรือฟ้องแล้วก็สามารถให้นโยบายว่า ให้รอดูคดีอาญาให้จบก่อนแล้วคดีแพ่งค่อยดำเนินการหลังจากนั้นก็ได้

แม้ว่าตอนนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์จะยกกระทรวงสำคัญเช่นคมนาคมให้อยู่ภายใต้การกำกับของนายเนวิน ชิดชอบ ก็ไม่อาจเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงไม่ได้หรอก แล้วไม่ควรให้อำนาจกลุ่มเนวินตัดสินใจเพราะเนวินก็เป็นผู้เสียประโยชน์ส่วนหนึ่งจากการชุมนุมของพันธมิตรฯ เพราะก่อนเข้าร่วมรัฐบาลก็เป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณที่ถูกดึงเข้าสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์

เมื่อกำนันสุเทพมาเป็นผู้นำมวลชนในนามของกปปส.เพื่อลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมเช่นเดียวกับการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อเร็วๆ นี้อัยการได้สั่งฟ้องแกนนำและแนวร่วมจำนวนหนึ่ง กำนันสุเทพได้ออกมาพูดทำนองว่าทำไมจะต้องฟ้องแนวร่วมคนอื่นเช่น พระสุวิทย์ อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ อัญชะลี ไพรีรักษ์ ฯลฯ อัยการควรจะฟ้องเฉพาะแกนนำหลักพอ

คดีกปปส.นั้นถูกฟ้องชุดแรก9คน และถูกฟ้องเพิ่มเติมอีก14คนรวมเป็น23คน

กำนันสุเทพบอกว่า การเอาจำเลยทั้ง 23 คนมารวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม เพราะการฟ้องว่า เป็นผู้ก่อการร้าย , กบฏต่อแผ่นดิน , เป็นอั้งยี่ , ซ่องโจร , ทำผิดพ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน , บุกรุกสถานที่ราชการ , ขัดขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วผู้ที่ฟ้องเป็นจำเลยทุกคนไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหา บางคนแค่ขึ้นเวทีปราศรัยให้ความรู้กับประชาชน บางคนแค่ไปชุมนุมเป็นครั้งคราวตามโอกาส

น่าตั้งคำถามว่าทำไมกำนันสุเทพไม่คิดเช่นเดียวกันนี้ เมื่อเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ปล่อยให้ตำรวจมีการฟ้องร้องพันธมิตรฯถึง98คน โดยไม่แยกแยะอย่างที่กำนันสุเทพพูดถึงคดีของกปปส.นั่นแหละ

ตอนแรกคดีพันธมิตรฯนั้นมีการสั่งฟ้องแกนนำ พิธีกร ผู้ปราศรัย และผู้ประสานงานถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณ28คนเท่านั้นซึ่งก็มากกว่ากปปส.ที่ถูกฟ้องในตอนนี้ทั้งๆที่กปปส.มีองคาพยพที่ใหญ่กว่าพันธมิตรฯมาก แต่เมื่อกำนันสุเทพมอบหมายให้พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงเข้ามาคุมคดีแล้ว กลับปล่อยให้มีการสั่งฟ้องเพิ่มขึ้น แม้แต่นักร้องนักดนตรีและมวลชนข้างเวทีก็ถูกนำมาฟ้องรวมกันหมดในข้อหาร้ายแรงเหมือนกัน

ทำไมวันนั้นกำนันสุเทพที่ยังมีอำนาจทำไมมองไม่เห็นความไม่ชอบมาพากลและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในวันนั้น ทำไมปล่อยให้ตำรวจฟ้องผู้ต้องหาเพิ่มเติมจำนวนมากโดยไม่แยกแยะพฤติกรรมแห่งคดีของแต่ละคน

การฟ้องจำนวนมากถึง98คนเป็นคดีเดียวกัน ทำให้คดีพันธมิตรฯเดินไปได้ยาก เพราะต้องสืบพยานทั้งสองฝ่ายจำนวนมาก และผู้ต้องหาต้องมาครบทุกคนจึงจะสืบพยานในศาลได้ กลายเป็นพันธะของผู้ถูกฟ้องทั้ง98คนที่ไม่สามารถทำอะไรได้โดยอิสระเพราะสิทธิเสรีภาพส่วนหนึ่งถูกตัดรอนไปอีกไม่รู้กี่สิบปีคดีจึงจะจบได้ กลายเป็นความยุติธรรมที่ล่าช้า เพราะคดีเดินไปได้ยากโดยธรรมชาติของมันเอง

วันนี้คนที่ถูกคดีก็เป็นทุกข์เพราะคดีติดตัวไปไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ เพราะการพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความยากลำบากจากจำนวนจำเลยที่มาก ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็โจมตีว่าการพิจารณาคดีของพันธมิตรฯเป็นอย่างล่าช้าเมื่อเทียบกับคดีฝ่ายตัวเอง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วการล่าช้าไม่เป็นผลดีต่อผู้ถูกกล่าวหาเลย

แม้ตอนนี้พันธมิตรฯ หลายฝ่ายกำลังหาทางออกเช่นยื่นให้ศาลพิจารณาเพื่อแยกคดี ไต่สวนมูลฟ้องเป็นรายบุคคลเสียก่อน เพราะการที่ตำรวจเอาผู้ต้องหาทั้ง98คนซึ่งมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันมาฟ้องรวมกันด้วยข้อหาหนักฐานร่วมกันก่อการร้าย ข้อหากบฎ และอื่นๆ ซึ่งเป็นโทษหนักทั้งสิ้นนั้นไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาเช่นที่กำนันสุเทพท้วงติงในคดีกปปส.นั่นแหละ

รวมถึงพันธมิตรฯส่วนหนึ่งได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า การฟ้องผู้ต้องหาและยัดเยียดข้อกล่าวหาที่เกินจริงของพนักงานสอบสวนและอัยการนั้นน่าจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ2560มาตรา5และอื่นๆ

ผมไม่พูดถึงข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่นนะครับ พูดถึงข้อกล่าวหาของผมเองเมื่ออ่านแล้ว ผมเห็นว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จทั้งสิ้น หลายเหตุการณ์เขียนว่าผมเข้าไปมีส่วนร่วมโดยที่ผมไม่เคยรับรู้เลย แล้วยังกล่าวหาว่าผมเป็นหัวหน้ากองกำลังด้วยซึ่งไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย

ซึ่งตามมาตรา 212 วรรคแรกบัญญัติไว้ว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคําวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้น ให้ศาลดําเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

วรรคสอง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคําโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้

ดังนั้นจะเห็นว่า เมื่อมีการโต้แย้งศาลไม่สามารถวินิจฉัยเองหรือดำเนินคดีต่อไปได้นอกจากต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว ดังนั้นแม้จะมีนัดสืบสวนพยานโจทก์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ผมคิดว่า หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่วินิจฉัยลงมาการพิจารณาคดีก็ไม่น่าที่จะดำเนินต่อไปได้ ต้องจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว

ทั้งหมดนี้ผมต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคของคดีพันธมิตรฯที่เกิดขึ้นในสมัยที่กำนันสุเทพมีอำนาจ และพันธมิตรฯควรจะได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกับสิ่งที่กำนันสุเทพพยายามเรียกร้องเมื่อตัวเองถูกดำเนินคดีนั่นแหละ

คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยเล่าว่า ในกรณีของพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับนายตำรวจคนอื่นนั้น ตอนที่ถูกคดี7ตุลา กำนันสุเทพเคยมาขอคุณอภิสิทธิ์หลายครั้งเพื่อให้ก.ตร.ถอนมติลงโทษ พล.ต.อ.พัชรวาทหลังจากที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด โชคดีวันนั้นที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ยอมเล่นด้วยกับกำนันสุเทพที่ต้องการเอาใจพล.อ.ประวิตรพี่ชายของพล.ต.อ.พัชรวาท

แม้ว่าตอนหลังศาลจะสั่งยกฟ้องแล้วป.ป.ช.ชุดใหม่ไม่ยอมอุทธรณ์อย่างน่าเคลือบแคลงใจ พูดชัดว่ากำนันสุเทพต้องการช่วยเหลือพล.ต.อ.พัชรวาทในตอนนั้นนั่นเอง โดยไม่ได้รู้สึกเห็นอกเห็นใจพันธมิตรฯที่บาดเจ็บล้มตายและสูญเสียอวัยวะในเหตุการณ์ครั้งนั้นเลย

ไม่แปลกหรอกว่าวันนี้กำนันสุเทพอาจจะนึกถึงความเป็นธรรมขึ้นมาได้ในวันที่ตัวเองต้องตกเป็นผู้ต้องหาเช่นเดียวกับพันธมิตรฯ คนเราวันหนึ่งอาจมีสำนึกที่ดีกลับมาได้ อาจจะรู้สึกผิดแล้วที่ปล่อยให้พันธมิตรฯถูกกระทำ องคุลิมาลก็ยังกลับใจได้

และแม้ว่าวันนี้พันธมิตรฯ ส่วนหนึ่งแกนนำส่วนหนึ่งอาจจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจกำนันสุเทพเพราะได้ร่วมกันต่อสู้ในภายหลัง อาจจะหันไปสนับสนุนพรรคใหม่ของกำนันสุเทพ สำหรับผมแล้วไม่กล่าวหาไม่ตำหนินะครับถือเป็นดุลพินิจและสิทธิอันชอบธรรมของแต่ละคน

แต่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาเป็นไปอย่างไรนั้น ผมมีหน้าที่ต้องบันทึกเอาไว้ไม่ให้ถูกบิดเบือนไป
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น