“สุเทพ-แกนนำ กปปส.23 คน” ขึ้นศาลนัดตรวจหลักฐาน หลังอัยการทยอยฟ้องร่วมกบฏ ยืนยันให้การปฏิเสธ พร้อมขอศาลพิจารณาเป็นรายคดี ระบุอัยการฟ้องแบบเหมารวม ไม่แยกแยะข้อหาแต่ละคน
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (19 มี.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.), นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอดีต ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำ กปปส. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์, นางอัญชะลี ไพรีรัก อดีตพิธีกรเวทีชุมนุม กปปส. และแนวร่วม กปปส. จำนวนหนึ่ง ซึ่งตกเป็นจำเลยคดีร่วมกันกบฏ, สนับสนุนกบฏ, ขัดขวางการเลือกตั้งฯ และข้อหาอื่นรวม 8-9 ข้อหา พร้อมด้วยทนายความ เดินทางมาเพื่อตรวจหลักฐาน คดีที่อัยการยื่นฟ้องไว้ 2 สำนวน คือ หมายเลขดำที่ อ.247/2561 ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องนายสุเทพ อดีตเลขาธิการ กปปส. และแกนนำ กปปส. รวม 9 คน และคดีหมายเลขดำคดีที่ อ.832/2561 ที่อัยการยื่นฟ้องนางอัญชะลี ไพรีรัก, พระพุทธอิสระ และแนวร่วม กปปส.รวม 14 คน
โดยก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีเพื่อตรวจพยานหลักฐาน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวว่า พวกตนและจำเลย ทั้ง 2 รุ่น รุ่นแรกคือ แกนนำ 9 คนที่ถูกยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ศาลให้นำพยานหลักฐานมายื่นต่อศาลในวันนี้ ส่วนรุ่นที่ 2 รวม 14 คนอัยการเพิ่งยื่นฟ้องวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลนัดให้มาตรวจหลักฐานวันเดียวนี้ จึงมีจำเลย 23 คนที่ถูกฟ้องคดีอาญาเป็นผู้ก่อการร้าย, กบฏต่อแผ่นดิน, เป็นอั้งยี่, ซ่องโจร, ทำผิด พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ, บุกรุกสถานที่ราชการ, ขัดขวางการเลือกตั้ง ฯลฯ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วผู้ที่ฟ้องเป็นจำเลยทุกคนไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่ถูกกล่าวหา บางคนเพียงแค่ขึ้นเวทีปราศรัยให้ความรู้แก่ประชาชน บางคนก็เพียงแค่ไปชุมนุมเป็นครั้งคราวตามโอกาส ดังนั้น วันนี้พวกตนจะยื่นคำร้องต่อศาลว่าอย่าได้นำคดีทั้ง 2 สำนวน หรือเอาจำเลยทั้ง 23 คนมารวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน เพราะจะไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี ไม่เป็นความสะดวกทั้งสิ้น เราจะร้องขอต่อศาลให้แยกพิจารณาเป็นคดีไป แต่หากสุดท้ายศาลมีคำสั่งว่าเพื่อความสะดวกให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันหรือมีคำสั่งใด เราก็ต้องยอมรับเช่นนั้น
“ผมและแกนนำ กปปส.รวม 9 คนต้องรับผิดชอบทุกข้อหาอยู่แล้ว ยินดีที่จะเข้ารับการพิจารณาเป็นชุดแรก แต่บรรดา 14 คนที่มาชุดหลัง ก็อยากให้ศาลได้พิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้อัยการถอนฟ้องไปก่อน ไปทำการสอบสวนใหม่ให้ชัดเจนว่าพฤติกรรมของแต่ละท่านที่เกี่ยวข้องในการชุมนุม ที่แท้จริงแล้วมีอะไรบ้างก็ฟ้องไปตามนั้น เช่น ถ้าผิดฐานขัดขวางเลือกตั้งก็ไปดำเนินคดีข้อหาขัดขวางการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ไปบุกรุกสถานที่ราชการไหนก็ไปดำเนินคดีฐานบุกรุกฯ แต่บางคนแค่มาขึ้นเวทีปราศรัยผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาข้อหาอะไร ดังนั้นสมควรที่สำนักงานอัยการฯ จะพิจารณาหากยังยึดหลักความยุติธรรมก็ควรจะให้โอกาสจำเลย”
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ในทางกฎหมายหลักการดำเนินคดีอาญาต้องถือว่า จำเลยด้อยโอกาส เสียโอกาส พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการ มีโอกาสทำสำนวนตั้ง 4-5 ปี แจ้งข้อหามาก็ต้องให้จำเลยได้รวบรวมข้อเท็จจริงไปแสดง แล้วจำเลยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการประกอบอาชีพ การทำหน้าที่ฐานะสื่อมวลชน ครูบาอาจารย์ จะได้ไปทำประโยชน์ให้กับสังคมตามหน้าที่ความรับผิดชอบของเขา แทนที่จะมัดรวมมามัดเดียวแล้วต้องมาศาลทุกคนทุกนัดซึ่งหากใครไม่มาสักคนก็พิจารณาคดีไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องการจะกัน กปปส.ทั้ง 14 คนออกจากข้อหาร่วมกบฏใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวปฏิเสธว่า ตนไม่ได้พูดเช่นนั้น พวกตนประชาชนทุกคนไม่ใช่เฉพาะ 14 คนนี้ แต่เป็นล้านคนที่ก่อนออกมาต่อสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน เรารู้แล้วว่าเราต้องเจออะไรบ้างและเราก็พร้อมเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แต่เราขอความเป็นธรรมว่าอย่าเอาข้อหาครอบจักรวาลมาใส่ แต่ขอให้ว่าไปตามความผิดของแต่ละคน
เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับแนวร่วม กปปส.ที่เหลืออีก 27 ราย ประสานให้มาพบกับอัยการตามวันนัดครั้งที่ 3 ในวันที่ 19 เม.ย.นี้หรือไม่ หลังจากเลื่อนมาแล้วถึง 2 ครั้ง นายสุเทพกล่าวว่า อันนั้นก็เป็นความจำเป็นของแต่ละคน บางคนก็ต้องเดินทางไปต่างประเทศ บางคนก็มีภารกิจอย่างอื่นก็มีเหตุผลที่จะเลื่อน ส่วนตัวยังไม่ได้ประชุมพิจารณาอะไรกัน เท่าที่พูดคุยกันนี้ก็บรรดากลุ่มที่ถูกฟ้องแล้วเพราะร่วมกันต่อสู้คดี พวกเราให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พวกตนเป็นพลเมืองดีออกมาสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน ไม่ได้ทำอะไรที่ทำผิดคิดร้ายต่อประเทศชาติต่อประชาชน
เมื่อถามว่าทราบเรื่องที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หนึ่งในจำเลยร่วมได้ฟ้องกลับอดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ กรณีการสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า จริงๆ แล้วตนก็เห็นด้วยแต่ว่าไม่ได้คุยกับนายไพบูลย์ ใจจริงตนก็คิดอยู่ว่าน่าจะทบทวนว่าสิ่งที่อัยการได้ดำเนินการมานั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าดำเนินการผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีเหมือนกัน และยังคิดว่างานนี้อัยการไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถจิตวิญญาณในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้สมบูรณ์