MGR Online - “พระพุทธะอิสระ” เตรียมยื่นคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อัยการใช้สิทธิฟ้องข้อหากบฏขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่ศาลอาญากำชับอัยการแจกแจงรายละเอียด กปปส.แต่ละรายให้ชัดเจน ก่อนเลื่อนตรวจหลักฐานอีกครั้ง 25 มิ.ย.นี้
ที่ห้องพิจารณา 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (19 มี.ค.) ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุม กปปส.ร่วมกันกบฏ พร้อมกันรวม 2 สำนวน ประกอบด้วย คดีหมายเลขดำที่ อ.247/2561 ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 69 ปี ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) และอดีตเลขาธิการ กปปส. กับแกนนำ กปปส.เวทีจุดต่างๆ รวม 9 คน และคดีหมายเลขดำที่ อ.832/2561 ที่ยื่นฟ้อง น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก อายุ 52 ปี อดีตพิธีกรเวทีชุมนุม กปปส., พระพุทธะอิสระ อายุ 58 ปี เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และอดีตแกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ กับแนวร่วม กปปส.รวม 14 คน ในความผิดฐานร่วมกันกบฏ, สนับสนุนกบฏ, ร่วมกันก่อการร้าย (ฟ้องเฉพาะนายสุเทพ กับนายชุมพล จุลใส 48 ปี แกนนำ กปปส.เวทีแยกราชประสงค์), ขัดขวางการเลือกตั้งฯ และข้อหาอื่นรวม 8-9 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365, พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 76, 152 ประกอบมาตรา 83, 86, 91 จากการร่วมชุมนุมกันของ กปปส.ที่มีนายสุเทพ เป็นผู้นำการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 - 1 พ.ค. 2557 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยด้วยมีกำหนด 5 ปี
โดยวันนี้จำเลย แกนนำและแนวร่วม กปปส.มาศาลทั้งหมด 23 ราย แต่อย่างไรก็ตาม องค์คณะพิพากษาได้เริ่มตรวจหลักฐาน ในสำนวนของนายสุเทพและแกนนำ กปปส.รวม 9 รายก่อน ซึ่งอัยการโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดตรวจหลักฐานในวันนี้ออกไปก่อน อ้างเหตุคดีนี้มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารจำนวนมาก และพยานหลักฐานบางส่วนยังอยู่ในสำนวนคดีอื่นที่มีความเกี่ยวพันกับคดีนี้
ส่วนทนายความจำเลยได้แถลงคัดค้านการขอเลื่อนของอัยการ ซึ่งนายสุเทพ และแกนนำ กปปส.จำเลยร่วม ต่างก็แถลงด้วยวาจาคัดค้านคำร้องของอัยการด้วยว่า อัยการโจทก์มีพยานหลักฐานในสำนวนอยู่แล้ว ย่อมสามารถนำเอกสารหลักฐานได้อยู่แล้ว การขอเลื่อนมีเจตนาประวิงเวลาทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย
นอกจากนี้ ทนายความจำเลยได้แถลงขอศาลใช้อำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพราะคดีนี้ถูกฟ้องในข้อหาที่ครอบคลุมทั้งที่พฤติการณ์ของจำเลยมีลักษณะแตกต่างกัน อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยเรื่องการชุมนุมของกลุ่มจำเลยว่าชอบด้วยกฎหมายไว้หลายครั้งแล้ว จึงขอศาลให้ความเป็นธรรมด้วยการพิจารณาแยกแยกการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละราย ซึ่งมีจำเลยบางคนที่ไม่ได้ไปปักหลักชุมนุมเป็นประจำหรือไปบุกรุกสถานที่ราชการแต่กลับถูกฟ้องด้วยข้อหาที่ครอบคลุม ดังนั้นจึงขอให้ศาลสั่งฝ่ายโจทก์ลงรายละเอียดพฤติการณ์และรายละเอียดข้อหาต่างๆ ให้จำเลยทราบด้วย เพื่อไม่ให้ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบในการสู้คดีคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายสุเทพ และทนายความแถลงต่อศาลแล้ว จำเลยร่วม เช่น พระพุทธะอิสระ, นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ, นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนายสาธิต เซกัลป์ นักธุรกิจเชื้อสายอินเดีย ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลย้ำถึงการฟ้องครอบคลุมทุกข้อหาทุกคนของอัยการด้วย
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์คำร้องขอเลื่อนนัดของอัยการโจทก์แล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเป็นจำนวนมาก และเป็นพยานหลักฐานสำคัญ กรณีมีเหตุที่ศาลไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ออกไปก่อน โดยศาลให้นัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
ต่อมาศาลได้ตรวจหลักฐานคดี น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, พระพุทธะอิสระแกนนำ กปปส. และแนวร่วม กปปส.รวม 14 ราย โดยพระพุทธะอิสระ จำเลยที่ 7 ก็ได้แถลงขอให้ศาลอาญาดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อการกระทำใดมีคำวินิจฉัยของศาลเป็นเด็ดขาดแล้ว สิทธิดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำนั้นย่อมระงับสิ้นไป แต่กฎหมายนั้นก็ไม่ได้บัญญัติให้หมายรวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเด็ดขาดแล้วไว้ด้วยว่าให้สิทธิดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นเด็ดขาดแล้วเป็นอันระงับไป โดยการที่ไม่บัญญัติไว้เช่นนั้นจึงน่าจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 5 ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช้ได้กับคดีทั้งปวง คู่ความจึงมีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้ได้ เพราะการฟ้องดำเนินคดีของอัยการได้กล่าวหาร่วมกันกบฏ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการชุมนุมของ กปปส. เป็นไปโดยชอบและสงบปราศจากอาวุธแล้ว ขณะเดียวกันจำเลยที่ 7 ยังยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญา แยกสำนวนการพิจารณาคดี 2 ชุดนี้ และขอให้อัยการโจทก์ บรรยายพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนให้ตรงกับข้อกล่าวหานั้น
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า หากจำเลยที่ 7 มีความต้องการให้ศาลดำเนินการทั้ง 2 ประเด็นที่แถลงมา ก็ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเข้ามา โดยจำเลยต้องให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่า การฟ้องของอัยการดังกล่าว มีส่วนไหนที่ขัดกับรัฐธรรมนูญฯ มาตราไหนบ้าง เพื่อให้ศาลพิจารณาคำร้องต่อไป
ส่วนที่จำเลย 2, 3, 4, 7, 9, 10, 12, 14 แถลงทำนองเดียวกันว่า อัยการโจทก์ ทำคำฟ้องไม่แยกวัน-เวลา และบรรยายพฤติการณ์การกระทำผิดว่าเข้าองค์ประกอบอย่างไรนั้น ในส่วนนี้ข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้ในการสืบพยานซึ่งยังไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการตรวจพยานหลักฐานนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลกำชับให้อัยการโจทก์นำประเด็นและพยานเข้าสืบในส่วนที่เกี่ยวข้องตามพฤติการณ์จำเลยแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร วันไหน เหตุการณ์ใด และจะใช้พยานหลักฐานอะไรบ้างสรุปให้ชัดเจนส่งให้ศาลวันที่ 31 พ.ค.นี้
โดยจะนัดพร้อมและตรวจหลักฐานจำเลยในคดีนี้ อีกครั้งวันที่ 25 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ซึ่งตรงกับวันนัดคดีของนายสุเทพ-แกนนำ กปปส. รวม 9 คนเช่นกัน
ภายหลัง นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ จำเลย ระบุว่า ศาลเลื่อนนัดตรวจหลักฐานคดีของกลุ่มนายสุเทพ 9 คน ออกไปเนื่องจากอัยการไม่ได้ยื่นบัญชีพยานหลักฐานและเอกสารให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งฝ่ายจำเลยก็ได้แถลงคัดค้านแต่อัยการโจทก์แจ้งว่า พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในอีกสำนวนที่ฟ้อง 4 กปปส.ไปแล้วก่อนหน้านี้ จริงๆ แล้วเราเห็นว่าแม้จะอยู่ในอีกสำนวนหนึ่ง ซึ่งอัยการก็สามารถจะนำมายื่นต่อศาลเพื่อตรวจหลักฐานในวันนี้ได้แต่ไม่ได้ดำเนินการ ขณะที่ศาลคำสั่งให้เลื่อนนัดไปโดยกำชับให้ทั้ง 2 ฝ่าย ทำบัญชีระบุพยานแถลงเข้ามาว่าจะนำสืบกี่ปาก กลุ่มใดบ้าง แต่ส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไรให้ชัดเจนและครบถ้วน
ด้านนายสุเทพกล่าวว่า ในส่วนของจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำร้องที่เคยระบุว่าจะขอให้อัยการถอนฟ้องคดีกลุ่ม 14 แกนนำ กปปส. เพื่อให้ทำการสอบสวนใหม่ โดยวันนี้อัยการได้ขอเลื่อน แต่ก็ได้แสดงบัญชีพยานไว้คร่าวๆ ประมาณ 800 ปาก ซึ่งในส่วนของจำเลยชุดของตนคิดว่าในการต่อสู้คดี เราจะยื่นบัญชีพยานไม่มากเท่าขนาดของอัยการ แต่เรายื่นเฉพาะพยานที่จำเป็นโดยความชัดเจนเกี่ยวกับบัญชีพยานของทั้งสองฝ่ายจะทราบอีกครั้งในวันที่ 25 มิ.ย.นี้
ขณะที่พระพุทธอิสระ จำเลยในชุด 14 กปปส.ได้กล่าวว่า วันนี้ตนได้แถลงต่อศาลเพื่อจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวกับการฟ้องคดีของอัยการ ซึ่งศาลยังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็ถือว่าศาลได้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาแล้ว โดยทุกประเด็นที่ได้ต่อสู้รวมทั้งความชัดเจนที่จะให้อัยการแจกแจงการกระทำผิดของจำเลยแต่ละราย