MGR Online - “ไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีต สว. ยื่นฟ้องอดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เร่งรัดสั่งฟ้องแกนนำ กปปส.ปี 57 แบบเหมาเข่ง ไม่จำแนกรายละเอียด ศาลนัดฟังคำสั่ง 10 เม.ย.นี้
วันนี้ (15 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป เดินทางมาพร้อมกับทนายความเพื่อยื่นฟ้องนายนันทศักดิ์ พูลสุข อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ผู้มีคำสั่งฟ้องคดีการชุมนุม กปปส.เมื่อปี 2557 เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีมีการมีคำสั่งฟ้องกลุ่ม กปปส.ทั้งหมด 54 คนเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2557 ภายหลังรับสำนวนคดีจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในวันที่ 1 พ.ค. 2557 แต่ใช้เวลาในการพิจารณาสำนวนเพียง 6 วันเท่านั้น
ทั้งนี้ ศาลได้รับสำนวนไว้ในสารบบความ คดีที่ อท.49/2561 โดยศาลนัดตรวจคำฟ้องว่าครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ เพื่อจะมีคำสั่งต่อไปว่าจะรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์หรือไม่ต่อไป
โดยนายไพบูลย์ กล่าวถึงเหตุการฟ้องคดีว่า มายื่นฟ้อง นายนันทศักดิ์ พูลสุข อดีตอธิบดีอัยการคดีพิเศษ ซึ่งปัจจุบันเป็นอัยการอาวุโส เป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เนื่องจากการสั่งคดีโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย คือ 1. จำเลยมีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์ ฐานความผิด “ร่วมกันขัดขวางการปฏิบัตินของคณะกรรมการการเลือกตั้งและร่วมกันขัดขวางเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และร่วมกันกระทำโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้งหรือเข้าไป ณ ที่ลงคะแนนเลือกตั้ง”
ความผิดข้อหาดังกล่าว โจทก์ไม่เคยได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ทราบมาก่อน ดังนั้น ที่จำเลยสั่งคดีโดยเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์ในข้อหาดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พุทธศักราช 2547 ข้อ 67 รรคแรก ที่กำหนดว่า การพิจารณาฐานความผิดย่อมพิจารณาจากการกระทำที่ผู้ต้องหาทราบ และมีความเห็นไว้เท่านั้นไม่ได้ หากการกระทำที่กล่าวหาเป็นความผิดฐานอื่นด้วย ให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งคดีในความผิดฐานนั้นด้วย แต่ก่อนสั่งคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการในเรื่องการแจ้งข้อหาให้ครบถ้วนเสียก่อน
2. ที่จำเลยสั่งคดีโดยเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์ ยังเพิกเฉยในส่วนที่ควบรวมหรือทับซ้อนกับพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องด้วย คือไม่นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 56/2556 และ 73/2556 ซึ่งศาลระบุว่า การคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองโดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อีกทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน โจทก์ได้ฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นคดีอาญาทุจริตหมายเลขดำที่ อท(ผ) 101/2559 หมายเลขแดงที่ อท(ผ) 31/2559 ซึ่งศาลมีคำสั่งคดีมีมูล เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2561 ดังนั้นการสั่งคดีเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์ของจำเลย จึงเป็นการสั่งคดีที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 216 วรรคห้า และเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 และฝ่าฝืนระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พุทธศักราช 2547 ข้อ 69
3. จำเลยได้รับสำนวนการสอบสวนจำนวน 217 แฟ้ม ประกอบด้วย เอกสารจำนวน 57,514 แผ่น มีผู้ถูกกล่าวหา รวม 51 ราย เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2557 ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาหลาย 10 วันในการตรวจสำนวนคดี แต่ปรากฎว่าจำเลยได้ใช้เวลาพิจารณาตรวจสอบสำนวนคดีดังกล่าวเพียง 6 วัน แล้วเร่งรีบมีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์และผู้ต้องหาอื่น รวม 48 ราย ในวันที่ 8 พ.ค. 2557 โดยมีเหตุผลสืบเนื่องจากโจทก์ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในวันที่ 7 พ.ค. 2557 เป็นเอกฉันท์ว่าให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับรัฐมนตรีอื่นอีก 9 คน ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อสถานภาพรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งมีอดีตผู้บังคับบัญชาของจำเลย เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลและกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วย จึงเป็นเหตุให้จำเลยบิดผันอำนาจมีคำสั่งเห็นควรสั่งฟ้องโจทก์ในวันที่ 8 พ.ค. 2557 อย่างเร่งรีบรวบรัดผิดปกติไม่เป็นไปตามกระบวนการตามขั้นตอน โดยการกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ซี่งศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549 ไว้ว่า “ความอิสระของพนักงานอัยการที่จะวินิจฉัยสั่งคดี ไม่ใช่จะไร้ขอบเขตเสียทีเดียวในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกคนจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ถ้าการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการคนใดเกินล้ำออกนอกขอบเขต การใช่ดุลพินิจนั้นย่อมเป็นการมิชอบ...” การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ดังนั้น เพื่อรักษาหลักนิติธรรม และเป็นประโยชน์แก่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อประโยชน์ของประชาชน จึงนำคดีมาฟ้องอดีตเพื่อให้เป็นบรรทัดฐาน ในการสั่งคดีของอัยการ จะต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า การรวบรัดและสั่งคดีดังกล่าวนั้นทำให้ละเลยไม่เห็นรายละเอียด ไม่ได้จำแนกผู้ต้องหาแต่ละรายอย่างละเอียด จึงเป็นการฟ้องแบบเหมาเข่งไปอย่างเร่งรีบ
เมื่อถามว่าการฟ้องอดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษซึ่งพ้นตำแหน่งไปแล้วจะมีผลอย่างไรในทางกฎหมาย นายไพบูลย์กล่าวว่า คดีกระทำความผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มาตรา 157 มีอายุความ 10 ปี ดังนั้น การฟ้องคดีจึงยังอยู่ในอายุความที่จะฟ้อง ส่วนทางคดีจะมีผลต่อการพิจารณาคดีที่อัยการส่งฟ้องแนวร่วม กปปส.ต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ไปเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) เพราะการฟ้องก็มีพฤติการณ์แห่งคดีทับซ้อนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้ว ดังนั้นการสั่งคดีของอัยการและฟ้องต่อศาลอาญาดังกล่าวก็อาจจะนำประเด็นไปต่อสู้ด้วย