กรณีบ้านพักผู้พิพากษาที่ตีนดอยสุเทพที่เขาเรียกกันว่าหมู่บ้านป่าแหว่งนั้น ถ้าดูโดยสภาพภูมิศาสตร์แล้ว ถามผมว่า เหมาะหรือไม่ ผมเองก็มีความรู้สึกเหมือนคนส่วนใหญ่ในตอนนี้ว่า ไม่เหมาะอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาพเก่าที่มีสภาพเป็นป่ามาก่อน
นอกจากนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังมีสภาพเป็นที่ลาดชันใกล้แหล่งน้ำ น่าจะเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยเมื่อเกิดภัยธรรมชาติได้ง่าย ดูโดยสภาพแล้วแม้บ้านพักที่สร้างจะมีความหรูหราเมื่อเทียบกับบ้านพักผู้พิพากษาทั่วไปที่ผมเคยเห็น แต่ใครที่กล้าขึ้นไปอยู่บนตีนภูอย่างนั้นก็นับว่ากล้าหาญมาก และบ้านขนาดนั้นไม่น่าจะอยู่เฉพาะผู้พิพากษาคนเดียวแต่น่าจะมีครอบครัวเข้าไปอยู่ด้วย จึงเหมือนกับเอาชีวิตและครอบครัวขึ้นไปเสี่ยงอย่างไรอย่างนั้นเลย
ไม่ว่าศาลจะอ้างว่าได้พื้นที่นี้มาโดยชอบ มีการขออนุญาตใช้ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์อย่างถูกต้อง ไม่มีการตัดต้นไม้แต่มีการขุดล้อมไปปลูกที่อื่นหรือจะนำกลับมาปลูกใหม่ในภายหลัง มีการปฏิบัติถูกต้องมาตามขั้นตอนของระเบียบราชการก็ตามไม่ใช่สิ่งที่จะยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อคัดง้างกับกระแสสังคมในตอนนี้ได้
สังคมเขามองว่า “ควร” หรือ “ไม่ควร” ไม่ใช่เรื่อง “ผิด” หรือ “ถูก”
แม้ว่าสังคมจะต้องอยู่ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำหนดระเบียบของสังคม แต่การกระทำที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของสังคมส่วนใหญ่ เราจะยึดถือกฎหมายเป็นเครื่องมือที่ขึงตึงไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายไหนบังคับใช้ได้ถ้าคนส่วนมากไม่ยอมรับ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะออกโดยอำนาจใดก็ตาม
ที่สำคัญเขากลับนำไปย้อนคิดถึงเมื่อชาวบ้านถูกกระทำโดยกฎหมายของรัฐ เมื่อถูกขับไล่ให้ออกจากป่าแม้เคยอยู่มาหลายชั่วคน
และผมคิดว่ากระแสสังคมในเรื่องนี้รุนแรงเพราะสังคมสร้างบรรทัดฐานที่สูงของคนในกระบวนการยุติธรรมชั้นศาลนั่นเอง จริงอยู่แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับผู้พิพากษาโดยตรง เราไม่ควรไปตำหนิผู้พิพากษา มีการเริ่มมาตั้งแต่ศาลยังขึ้นตรงกับกระทรวงยุติธรรม และโครงการเกิดขึ้นมาก่อนผู้บริหารศาลชุดนี้หลายปี แต่เพราะสังคมเขาคาดหวังต่อองค์กรตุลาการที่สูงนั่นแหละ เขาจึงมีความรู้สึกสะท้อนกลับต่อเรื่องนี้อย่างรุนแรง
โดยส่วนตัวผมคิดว่าศาลก็จับสัญญานี้ได้นะว่า ความเชื่อมั่นต่อองค์กรตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ควรที่ศาลจะมาเป็นคู่ขัดแย้งของสังคม แม้จะอ้างว่าการกระทำทั้งหมดมีขั้นตอนและกระบวนการที่มาที่ไปที่ถูกต้อง แต่ศาลก็ได้แสดงท่าทีที่ผ่อนปรนลงมาแล้ว
ในตอนแรกนั้นผมคิดว่ากรณีนี้น่าจะจบลงด้วยดี เมื่อนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้นำมติของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มาชี้แจงแล้วว่า โดยข้อกฎหมายสำนักงานศาลไม่สามารถไปสั่งรื้อหรือทำลายได้ เพราะเป็นงบประมาณของแผ่นดิน
แต่ทางศาลได้เปิดทางออกไว้แล้วว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยหากรัฐบาลเห็นสมควรประการใด เช่น ให้ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราวหรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง
น่าเสียดายเมื่อศาลเปิดทางออกนั้นไว้แล้ว รัฐบาลโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์กลับไม่ขานรับเพื่อหาทางออกยุติปัญหา กลับมีข้อเสนอจากรัฐบาลออกมาทำนองว่า จะไม่ให้ใช้เป็นบ้านพักศาลแล้ว แต่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ตลกมาก ประเด็นที่สังคมเขาคัดค้านไม่ได้อยู่ที่ว่าเอาไปใช้อะไร แต่ที่เขาคัดค้านคือไปสร้างบนตีนดอยซึ่งเป็นพื้นที่ป่าและทางน้ำได้อย่างไร เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ให้ทำที่พักศาล และมันจะแก้ไขในสิ่งที่สังคมเขาคัดค้านได้เหรอ
กลายเป็นว่ารัฐบาลก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนกับผู้คัดค้านซึ่งยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าจะต้องทุบทิ้งสถานเดียว ในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์กลับไปพูดเรื่องเสียดายงบประมาณอะไรไปนั่น โดยส่วนตัวผมคิดว่า โครงการบ้านพักที่มีมูลค่ารวมกัน 600 กว่าล้านบาท ถ้าต้องรื้อทิ้งแล้วต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนหนึ่งมันมากไปไหม ผมว่าไม่มากนะครับ เมื่อนึกถึงเงินค่าโง่จำนวนมากที่เสียไปเพราะความเฮงซวยของระบบราชการที่ผ่านมา
เพียงแต่จะทุบหรือไม่ทุบจะทำอย่างไร รัฐบาลต้องออกมาพูดให้ชัด ทำให้สังคมยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลให้ได้ แต่ถ้าข้อเสนอของสังคมฝ่ายที่เขาต้องการให้ทุบทิ้งเพื่อฟื้นฟูป่ามีน้ำหนักมากกว่า และสังคมส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างนั้น แม้รัฐบาลนี้จะเป็นเผด็จการก็จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชน
แน่นอนว่าโครงการนี้มีที่มาจากรัฐบาลพลเรือน เราควรไปด่าฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ซึ่งผมไม่อยากเอ่ยเพราะไม่อยากให้มองว่าผมเขียนเรื่องนี้เพราะมีทัศนคติตรงกันข้ามกับฝ่ายที่ริเริ่มโครงการซึ่งเรารู้ว่าใครอยู่แล้ว แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นรัฐบาลนี้ต้องเป็นคนแก้ไข
ส่วนที่นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้สัมภาษณ์ว่าจะขออยู่ 10 ปีแล้วมาพิสูจน์ว่า ศาลจะปรับปรุงบ้านพักให้มีสภาพเป็นป่าได้ไหมนั้น ผมคิดว่าน่าจะเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่น่าจะมีอำนาจเหนือมติของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมที่บอกไปแล้วว่าให้รัฐบาลตัดสินใจ
ส่วนที่ท่านบอกว่า อีกไม่นานจะต้องมีคดีเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีการฟ้องกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้วใครจะพิจารณาหากผู้พิพากษาไม่มีที่อยู่ ท่านอาจจะต้องเดินทางไปฟ้องกันที่กรุงเทพฯ ทั้งภาคเลย เป็นเรื่องใหญ่ ท่านไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิพากษา ในขณะที่คดีเลือกตั้งต้องใช้ความรวดเร็ว เพราะท่านต้องเดินทางมาไกลในการจะพิจารณาคดีอย่างไร น่าเป็นห่วง ที่อยากให้รื้อถอนไปแล้วให้ไปหาที่ใหม่ พื้นที่ไกลจากเมืองตั้ง 10 กิโลเมตร จะให้ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่เดินทางอย่างไร
ผมไม่ทราบว่า ท่านพูดอย่างนี้เหมือนเอาอำนาจหน้าที่ของตัวเองและความยุติธรรมที่ประชาชนควรจะได้รับไปผูกติดเอาไว้กับบ้านป่าแหว่งแห่งนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำพูดที่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย และคงเห็นผลลัพธ์ที่ตามมาหลังคำพูดของตัวเองแล้วว่า ทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก
กระทั่งล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาบอกว่า จะตั้งคณะกรรมการร่วมที่มาจากทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาปัญหาและรับฟังทุกความเห็นข้อโต้แย้งจากทุกฝ่าย พร้อมขอให้ลดการตอบโต้กันไปมา เพราะทุกอย่างต้องใช้หลักการของกฎหมาย เช่น การชะลอใช้อาคารสามารถทำได้หรือไม่ ดูสัญญาการก่อสร้าง และกรณีเมื่อสร้างแล้วเสร็จแต่ถูกคัดค้านต้องดำเนินการอย่างไร
แต่อยากจะบอกว่าอย่าเอาข้อจำกัดของกฎหมายสัญญามาเป็นข้ออ้างเลย เพราะรัฐบาลท่านเป็นรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่แล้ว เรื่องที่ยากกว่านี้ยังทำได้ ขออย่างเดียวให้มีใจกล้าๆ เท่านั้นแหละ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan