xs
xsm
sm
md
lg

แฉอ้างหมู่บ้านป่าแหว่งเป็นป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านยันรื้อ ศาลโยนนายกฯ ตัดสินใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-แม่ทัพภาค 3 นั่งหัวโต๊ะเวทีประชุมหารือเจรจาเคลียร์ปมปัญหากรณีสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ป่าเชิงดอยสุเทพ ภาคประชาชนเข้าร่วมกันพร้อมหน้า ยืนยันจุดยืนต้องรื้อทิ้งคืนผืนป่าเท่านั้น ส่วนตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 แจ้งยกเลิกเข้าร่วมกะทันหัน ทั้งที่ตอบรับแล้ว ด้านคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมมีมติให้เปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา พร้อมชง "บิ๊กตู่"ทราบ เผยหากมีคำสั่งชะลอใช้บ้านพัก ก็ไม่ขัดข้อง แฉเหตุก่อนเป็น "หมู่บ้านป่าแหว่ง" ทหารขอใช้เป็นพื้นที่ฝึกกำลังพล อ้างเป็นป่าเสื่อมโทรม ต่อมาเจียดพื้นที่ให้ศาลไปใช้ประโยชน์


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยถึงกรณีมณฑลทหารบกที่ 33 (มทบ.33) นัดภาคประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ ที่มีการใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ใน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งบริเวณเชิงดอยสุเทพและใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ว่า ต้องรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่หารือร่วมกับตัวแทนผู้คัดค้านก่อน ต้องรอผลการพูดคุยก่อน อย่าเพิ่งไปรีบร้อนถึงข้อสรุป เราต้องฟังจากทุกหน่วยงาน รวมถึงฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ด้วย

ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออกกรณีโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการ ตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพ โดยได้เชิญตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่เรียกร้องให้ยุติและยกเลิกโครงการแล้วคืนพื้นที่ป่า เข้าร่วมพูดคุยนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นและข้อเรียกร้อง ร่วมกับตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อหาทางออกร่วมกัน พร้อมทั้งมีการเชิญตัวแทนส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเริ่มดำเนินการประชุม ทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่มีตัวแทนเข้าร่วมแต่อย่างใด โดยเพิ่งมีการแจ้งยกเลิกช่วงเช้า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ได้ตอบรับและส่งรายชื่อตัวแทนที่จะเข้าร่วมไว้แล้ว

พล.ท.วิจักขฐ์ กล่าวว่า การจัดเวทีในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและทางฝ่ายศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พูดคุยเจรจาเหตุผลการเพื่อหาทางออก โดยที่ทางกองทัพภาคที่ 3 เป็นตัวกลาง รวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อสรุปทั้งหมดนำเสนอให้ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. เพื่อนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.พิจารณาตัดสินใจต่อไป ซึ่งน่าจะนำเสนอได้ ไม่เกินวันที่ 11 เม.ย.2561

ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยืนยันจุดยืนว่า ต้องการเรียกร้องให้มีการยุติและยกเลิกโครงการนี้ โดยการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเฉพาะในพื้นที่บ้านพักที่ล้ำยื่นเข้าไปในพื้นที่ป่าด้านบนออกทั้งหมดแล้วทำการฟื้นฟูพื้นที่สภาพป่าให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ไม่เกี่ยวข้องกับในส่วนของพื้นที่ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และแฟลตที่พักที่อยู่พื้นราบ รวมทั้งโครงการอื่นๆ ของหน่วยงานอื่น

วันเดียวกันนี้ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้มีการประชุมที่ห้องประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ศาลฎีกา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อพิจารณาวาระพิเศษเพิ่มเติมกรณีที่บ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการศาล โดยที่ประชุมก.บ.ศ. มีมติว่า ให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ไชปัญหาที่ถูกต้อง ชอบธรรม และด้วยสันติวิธี โดยตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม และให้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยหากรัฐบาลเห็นสมควรประการใด เช่น ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราวหรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ "หมู่บ้านป่าแหว่ง" กรณีที่พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นป่าเสื่อมโทรม กองทัพภาคที่ 3 จึงขอใช้สถานที่เพื่อฝึกกำลังพล ต่อมากรมที่ดินได้ออกเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) 394/2500 จำนวน 23,787 ไร่ เพื่อให้กระทรวงกลาโหมใช้ในราชการ กองทัพภาคที่ 3 ได้ไปขอขึ้นทะเบียนการใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ จากนั้น 2540 สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอแบ่งใช้ประโยชน์พื้นที่บางส่วน ปี 2547 กองทัพบกได้อนุมัติให้สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ให้ใช้พื้นที่ 143 ไร่ โดยกองทัพบกได้ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ตามแปลงที่ดินนั้นให้กรมธนารักษ์ จากนั้นปี 2549 กรมธนารักษ์ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุดังกล่าว ต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพัก และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้รับงบประมาณ ปี 2556 จึงเริ่มเปิดพื้นที่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม มีข้อกังขาว่า นิยามของคำว่า “ป่าเสื่อมโทรม” ที่โฆษกรัฐบาลกล่าวอ้าง เนื่องจากในอดีตยังมีสภาพของความเป็นป่า ก่อนที่จะถูกแผ้วถางออกเป็นหมู่บ้านตุลาการจนเป็นที่อุจาดตาแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะภาพถ่ายทางอากาศที่ “กลุ่มขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” นำมาเผยแพร่ พบว่าปี 2557 ยังคงมีสภาพเป็นป่าเขียวขจี แต่ผ่านไป 4 ปี พบว่ากลายเป็นป่าแหว่ง และที่มาที่ไปของที่ดินผืนนี้ ไม่ใช่ที่ราชพัสดุตั้งแต่ต้น แต่กองทัพภาคที่ 3 เอาที่ดินกรมป่าไม้ ที่อ้างว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมไปใช้ฝึกกำลังพล แล้วถึงได้หนังสือ นสล.ก่อนไปขึ้นทะเบียนต่อกรมธนารักษ์ และที่สำคัญที่ดินผืนนี้ ก็แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ จากนั้นทางสำนักงานศาลยุติธรรมจึงมาขอใช้ต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ล่าสุดได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไว้ 3 แนวทาง คือ ก่อสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการต่อให้เสร็จ เพราะถือว่าทำถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบทุกอย่าง โดยศาลยุติธรรมและผู้รับเหมาต้องการทางออกนี้ แต่ประชาชนจะไม่พอใจ , แนวทางที่ 2 ยุติการสร้างเฉพาะส่วนบ้านพักแล้วรื้อถอนออก แม้ประชาชนต้องการ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้รับเหมาก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาล ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยให้ คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งรองรับ และทางออกสุดท้าย ยุติก่อสร้างชั่วคราว ทำความตกลงว่าจะไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย คาดว่ารัฐบาลกำลังใช้แนวทางนี้อยู่ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ใช้มาตรา 44 ตามแนวทางที่ 2 เพื่อระงับปัญหาที่เกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น