จากกรณีที่สำนักงานศาลยุติธรรม ดำเนินโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ด้านหลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ถนนเลียบคันคลองชลประทาน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กลายเป็นที่วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
เนื่องจากหมู่บ้านสร้างอยู่บนเชิงเขาใกล้กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย พื้นที่ป่าเต็งรังเดิม ถูกแผ้วถางกลายเป็นทัศนียภาพอุจาดตา และถูกตั้งฉายาว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง”
กระทั่ง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงที่มาที่ไปของที่ดินผืนดังกล่าว ว่าเดิมเป็นของกรมป่าไม้ แต่เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม กองทัพภาคที่ 3 จึงขอใช้สถานที่เพื่อฝึกกำลังพล
ต่อมาในปี 2500 กรมที่ดินได้ออกเอกสารหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) 394/2500 จำนวน 23,787 ไร่ เพื่อให้กระทรวงกลาโหมใช้ในราชการ กองทัพภาคที่ 3 ได้ไปขอขึ้นทะเบียนการใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์
ปี 2540 สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ได้ทำเรื่องขอแบ่งใช้ประโยชน์พื้นที่บางส่วน ปี 2547 กองทัพบกได้อนุมัติให้สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ให้ใช้พื้นที่ 143 ไร่
โดยกองทัพบกได้ทำเรื่องส่งคืนพื้นที่ตามแปลงที่ดินนั้นให้กรมธนารักษ์ จากนั้นปี 2549 กรมธนารักษ์ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุดังกล่าว
ต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บ้านพัก และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้รับงบประมาณ ปี 2556 จึงเริ่มเปิดพื้นที่ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้
สิ่งที่น่ากังขา คือ นิยามของคำว่า “ป่าเสื่อมโทรม” ที่โฆษกรัฐบาลกล่าวอ้าง เนื่องจากในอดีตยังมีสภาพของความเป็นป่า ก่อนที่จะถูกแผ้วถางออกเป็นหมู่บ้านตุลาการจนเป็นที่อุจาดตาแก่ผู้พบเห็น
โดยเฉพาะภาพถ่ายทางอากาศที่ “กลุ่มขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” นำมาเผยแพร่ พบว่าปี 2557 ยังคงมีสภาพเป็นป่าเขียวขจี แต่ผ่านไป 4 ปี พบว่ากลายเป็นป่าแหว่งเฉยเลย
นอกจากนี้ ที่มาที่ไปของที่ดินผืนนี้ ไม่ใช่ “ที่ราชพัสดุ” ตั้งแต่ต้น แต่กองทัพภาคที่ 3 เอาที่ดินกรมป่าไม้ อ้างว่า “ป่าเสื่อมโทรม” ไปใช้ฝึกกำลังพล แล้วถึงได้หนังสือ นสล.ก่อนไปขึ้นทะเบียนต่อกรมธนารักษ์
หนำซ้ำ ผู้ใหญ่ในกองทัพอ้างว่า ที่ดินผืนนี้ตลอดมาก็แทบจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ จากนั้นทางสำนักงานศาลยุติธรรมจึงมาขอใช้ต่อ
จึงไปพ้องกับคำพิพากษาศาลฎีกา 16060/2557 กรณีที่ดินทัณฑนิคมคลองไผ่ จ.นครราชสีมา ที่พิพากษาว่า เมื่อยังไม่มีการใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ใช่ที่ดินราชพัสดุ
เมื่อมาดูนิยามของคำว่า “ป่าเสื่อมโทรม” พบว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดสภาพป่าเสื่อมโทรม และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดสภาพป่าเสื่อมโทรม ระบุนิยามเอาไว้ว่า
ป่าเสื่อมโทรม หมายความว่า ป่าที่มีสภาพเป็นป่าไม้ร้าง หรือทุ่งหญ้า หรือเป็นป่าที่ไม่มีไม้มีค่าขึ้นอยู่เลย หรือมีไม้มีค่าลักษณะสมบูรณ์เหลืออยู่เป็นส่วนน้อยและป่านั้นยากที่จะฟื้นคืนดีตามธรรมชาติได้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดสภาพป่าเสื่อมโทรมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 คือ
1. เป็นป่าไม้ที่มีไม้มีค่าที่มีลักษณะสมบูรณ์เหลืออยู่เป็นส่วนน้อย และป่านั้นยากที่จะกลับฟื้นคืนดีได้ตามธรรมชาติ โดยมีไม้ขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง 130 เซนติเมตร ตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตร ขึ้นไป ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ 8 ต้น หรือมีไม้ขนาดความโตเกิน 100 เซนติเมตร ขึ้นไป ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ 2 ต้น
2. ในกรณีที่ป่านั้นอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารชั้นที่ 1A ชั้นที่ 1B และชั้นที่ 2 แม้จะมีต้นไม้น้อยเพียงใดก็ตาม ก็มิให้กำหนดเป็นป่าเสื่อมโทรม
3. มีลูกไม้ขนาดความสูงเกิน 2 เมตร ขึ้นไป ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ 20 ต้น หรือมีไม้ขนาดความโตวัดโดยรอบลำต้นตรงที่สูง 130 เซนติเมตร ตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตร ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ 8 ต้น หรือมีไม้ขนาดความโตเกิน 100 เซนติเมตร ขึ้นไป ขึ้นกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ไม่เกินไร่ละ 2 ต้น หรือพื้นที่ป่าที่มีไม้เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ลักษณะดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วต้องมีจำนวนไม่เกินไร่ละ 16 ต้น
ในส่วนของกลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ 16 องค์กร ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน เป็นป่าเขตกันชนรอยต่ออุทยานแห่งชาติ
“โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ ได้ก่อสร้างล้ำขึ้นจากแนวการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาอัคคีภัย อุทกภัย โคลนถล่มตามฤดูกาล และที่สำคัญก็คือ การบุกเบิกใช้พื้นที่บริเวณนั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มของการขยายพื้นที่ใช้ประโยชน์เขตราชพัสดุส่วนที่เป็นป่าดอยสุเทพลุกลามตามมา” แถลงการณ์กลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุ
ทั้งนี้ ข้อเสนอของภาคประชาชนก็คือ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมคืนพื้นที่บางส่วนของโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการ แก่กรมธนารักษ์ ก่อนฟื้นฟูสภาพป่าและระบบนิเวศ เพื่อให้กลับมาเป็นป่าของชาวเชียงใหม่โดยรวมต่อไป
น่าสังเกตว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้มีแนวทางไว้ 3 ทาง คือ ก่อสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการต่อให้เสร็จ เพราะถือว่าทำถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบทุกอย่าง โดยศาลยุติธรรมและผู้รับเหมาต้องการทางออกนี้ แต่ประชาชนจะไม่พอใจ
แนวทางที่ 2 ยุติการสร้างเฉพาะส่วนบ้านพักแล้วรื้อถอนออก แม้ประชาชนต้องการ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้รับเหมาก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อศาล ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยให้ คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งรองรับ
หรือทางออกสุดท้าย ยุติก่อสร้างชั่วคราว ทำความตกลงว่าจะไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย คาดว่ารัฐบาลกำลังใช้แนวทางนี้อยู่ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ใช้มาตรา 44 ตามแนวทางที่ 2 เพื่อระงับปัญหาที่เกิดขึ้น