xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทั้งอดีต-ปัจจุบัน ชี้ รื้อทรัพย์สินแผ่นดินผิด กม.แนะให้อยู่พร้อมฟื้นฟูไปด้วยกัน(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ทั้งอดีตและปัจจุบัน เผย พร้อมยอมรับการพิจารณาของรัฐบาล กรณีโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ ชี้ การจะให้รื้อถอนตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชนเป็นไปได้ยากในทางกฎหมาย เสนอทางออกให้เข้าอยู่อาศัยไปก่อน พร้อมทำการฟื้นฟูสภาพป่าและสิ่งแวดล้อม 10 ปี หากยังไม่ดีให้มาพิจารณาอีกครั้ง


รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 61 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ บริเวณด้านหน้า และด้านข้างของอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในวันสถาปนาศาลยุติธรรมครบรอบ 136 ปี นำโดย นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมด้วย นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม รวมทั้งยังเป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในช่วงที่เริ่มโครงการก่อสร้างก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย


ทั้งนี้ นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 กล่าวถึงการจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ครั้งนี้ว่า เบื้องต้นเป็นการปลูกต้นในเชิงสัญลักษณ์ เพราะยังไม่ถึงฤดูฝน จึงปลูกเฉพาะบริเวณด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังอาคารสำนักงาน ที่สามารถให้คนรดน้ำต้นไม้ได้ ประมาณ 300 ต้น จากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝนจะทำการปลูกเพิ่มเติมอีกในพื้นที่บ้านพักและอาคารที่พักทั้ง 89 ไร่ จนครอบคลุม ซึ่งจะดำเนินการอย่างดีที่สุด เพราะไม่ว่าผลการพิจารณาที่เกี่ยวกับกรณีปัญหาโครงการก่อสร้างก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นเช่นไรก็ตาม ในที่สุดแล้วก็ต้องปลูกป่าและคืนพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว จึงดำเนินการก่อนและทำให้ดีที่สุด


ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนเรียกร้องยืนยันว่าต้องรื้อบ้านพักและอาคารที่พัก รวมทั้งให้มีการนำพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้ ไม่ให้มีการเข้าไปทำกิจกรรมของมนุษย์และเป็นพื้นที่ควบคุมสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งผลักดันสู่การประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติต่อไปนั้น นายสวัสดิ์ บอกว่า ไม่ต้องการโต้เถียง โดยมองว่าโครงการนี้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและความเหมาะสม อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน การจะรื้อทิ้งทำลายน่าจะเป็นไปได้ยาก จึงเห็นควรว่าการฟื้นฟูสภาพเบื้องต้นด้วยการปลูกต้นไม้น่าจะเป็นวิธีการที่ดีกว่า


ด้าน นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม รวมทั้งยังเป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในช่วงที่เริ่มโครงการก่อสร้างก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ว่าท้ายที่สุดผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องมีการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุดและดีที่สุด

โดยสุดท้ายไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรทางสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ขัดข้องใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนประเด็นการเสนอให้มีการนำกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาใช้แก้ไขปัญหากรณีนี้นั้น อยากให้ไปพิจารณาว่าสามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหากรณีนี้ได้จริงหรือไม่ เพราะทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น หากไปทำการรื้อถอนทำลายถือเป็นความผิด และไม่สามารถทำได้ แต่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติซึ่งมีความเสี่ยงภัยต่อการรับผิดชอบ


นายชำนาญ บอกด้วยว่า ในเวลาอีกไม่นานนี้จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และมีคดีเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องร้องคดีกันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หากผู้พิพากษาไม่มีที่พัก อาจจะทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาคดีที่ต้องรับผิดชอบทั้งภาค ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จึงอยากให้มองถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิพากษา เพราะคดีเลือกตั้งต้องพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ เสนอทางออกว่า แทนที่จะต้องรื้อทำลายบ้านพัก ควรให้มีการใช้ประโยชน์บ้านพักและอาคารที่พักไปก่อนเป็นเวลา 10 ปี พร้อมพัฒนาปรับปรุงระบบสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูสภาพป่า จากนั้นค่อยมาพิจารณากันน่าจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่ดีกว่าการรื้อถอน


นอกจากนี้ นายชำนาญ บอกว่า ในความเห็นส่วนตัวการจะให้รื้อถอนบ้านพักและอาคารที่พักตามโครงการนี้เป็นไปได้ยากมากในทางกฎหมาย อีกทั้งรัฐบาลยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่ควรจะนำเวลาไปใช้แก้ไขปัญหามากกว่า พร้อมระบุว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องทำด้วยการรื้อถอนอย่างเดียว แต่ยังสามารถทำได้ด้วยการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งกรณีบ้านพักนี้หาก 10 ปีแล้วการฟื้นฟูสภาพยังไม่ดีขึ้น ให้มาพิจารณากันอีกครั้ง โดยยืนยันว่าศาลมีความรักความหวงแหนเชียงใหม่และดอยสุเทพไม่น้อยไปกว่าคนเชียงใหม่อย่างแน่นอน


ขณะเดียวกัน นายชำนาญ กล่าวว่า พร้อมที่จะพูดคุยหารือร่วมกับทางเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตามไม่ใช่ในรูปแบบของเวทีสาธารณะ หรือการนัดพบพูดคุยกันในค่ายทหาร เนื่องจากอาจจะดูไม่เหมาะสม ส่วนกรณีที่ผ่านมาอาจจะมีผู้กล่าวพาดพิงถึงศาลในเชิงดูหมิ่นนั้น ยืนยันว่า ศาลจะไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายกับประชาชนในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอน เพราะต้องการทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธี ทั้งนี้ หากภาคประชาชนต้องการที่จะพูดคุยกับตัวเอง สามารถติดต่อได้ตลอดและยินดีที่จะพบพูดคุยด้วยเสมอ
นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม รวมทั้งยังเป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในช่วงที่เริ่มโครงการก่อสร้างก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5











กำลังโหลดความคิดเห็น