xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการร่วมสรุปยึดแนวเขตป่าดั้งเดิม รื้อบ้านศาลดอยสุเทพเสนอนายกฯ ฟันธงขั้นสุดท้าย (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คณะกรรมการร่วมราชการและประชาชน กรณีปัญหาโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟันธงแล้วแนวเขตรื้อถอน แม้ล่าสุดยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสำรวจพื้นที่จริง สรุปยึดแนวเขตป่าดั้งเดิม พร้อมข้อเสนอประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมเพื่อทำการฟื้นฟูสภาพป่า และทำสัญญาประชาคมว่าจะไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปใช้ เพื่อผลักดันสู่การประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ต่อไป โดยเร่งจัดทำรายงานข้อสรุปให้แม่ทัพภาคที่ 3 นำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจขั้นสุดท้าย



วันนี้ (20 เม.ย. 61) ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานเชียงใหม่ คณะกรรมการร่วมประกอบด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ประกอบด้วย ตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่, ชลประทานเชียงใหม่,ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, ป่าไม้ และเครือข่ายของคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามข้อสั่งการของ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 จากการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออกกรณีโครงการดังกล่าว ร่วมประชุมหารือกันเพื่อกำหนดแนวเขตที่เหมาะสมหากจะต้องมีการรื้อถอน

อย่างไรก็ตาม เดิมคณะกรรมการร่วมมีกำหนดที่จะเข้าพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วย เพื่อสำรวจสภาพจริง แต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานศาลยุติธรรม แม้ว่าจะมีการทำหนังสือขออนุญาตล่วงหน้าแล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของความพยายามจะขออนุญาตเข้าพื้นที่ แล้วไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้คณะกรรมการร่วมดำเนินการประชุมพิจารณาตัดสินใจกำหนดแนวเขตร่วมกันตามข้อมูลที่สามารถรวบรวมไว้ได้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เนื่องจากเกินกำหนดเวลาที่จะจัดทำรายงานสรุปผลการสำรวจและกำหนดแนวเขตให้กับแม่ทัพภาคที่ 3 ในวันที่ 19 เม.ย. 61 เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีที่มีกำหนดพิจารณาตัดสินใจกรณีปัญหานี้ในวันที่ 29 เม.ย. 61

ทั้งนี้ การประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ในส่วนของภาคประชาชนมีความเห็นว่า 1. มีความเห็นให้รื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างเหนือแนวประสีแดงขึ้นไป ประกอบด้วย อาคารชุด จำนวน 9 หลัง และอาคารบ้านพักอาศัย จำนวน 45 หลัง และ 2. ให้มีคณะทำงานพิจารณารื้อถอน วิธีการและการปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ตลอดจนข้อบังคับต่างๆ ขณะที่ความเห็นร่วมกันของคณะกรรมการร่วม ได้แก่

(1. พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมดอยสุเทพ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิมโดยเฉพาะการเปิดหน้าดินเพื่อการปลูกสร้าง มีความจำเป็นต้องฟื้นฟูสภาพพื้นที่เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรวมมากยิ่งขึ้นเป็นมาตรการเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เห็นควรนำ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาบังคับใช้ (2. ให้รัฐบาลจัดสรรพื้นที่แห่งใหม่และงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างในราชการสำนักงานศาลยุติธรรมทดแทน

(3. ในพื้นที่ส่วนที่สำนักงานศาลยุติธรรมไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว ตามข้อ 1 ให้ส่งคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เพื่อพิจารณาอนุญาตให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใช้เพื่อประกาศเป็นเขตอุทยาน หรือพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป และ (4. ให้มีการประกาศเป็นทางการต่อสาธารณะ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อเป็นสัญญาประชาคมว่า จะไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราชพัสดุที่เป็นป่ารอยต่อ ตามแนวป้องกันระหว่างพื้นราบกับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย โดยจะประกาศเขตอุทยานแห่งชาติคลุมลงมาให้เป็นป่าผืนเดียวกันในที่สุด

ขณะที่นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการร่วมในครั้งนี้จะมีการจัดทำรายงานสรุปส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และแม่ทัพภาค 3 ต่อไปตามลำดับภายในวันนี้ เพื่อนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินขั้นสุดท้ายในวันที่ 29 เม.ย. 61 โดยที่คาดหวังว่านายกรัฐมนตรีจะเข้าใจและตัดสินใจคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพให้ตามที่ชาวเชียงใหม่เรียกร้อง ซึ่งแนวเขตที่ภาคประชาชนเสนอนั้น เป็นแนวป่าดั้งเดิม ที่ทำให้จะต้องมีการรื้อบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด จำนวน 9 หลัง จากทั้งหมด 13 หลัง ทั้งนี้หากในท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปในทิศทางที่ภาคประชาชนเรียกร้องจะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้จัดทำหนังสือแถลงสรุปกรณีการเรียกร้องให้มีการยุติและยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ระบุเหตุผลว่าเพื่อลบรอยแผลบนผืนป่าแห่งนี้ออกไปเสีย คืนพื้นที่ป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ ไม่เพิ่มมลพิษซึ่งเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงที่แห่งนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติสูง ทั้งเรื่องไฟป่า น้ำป่า และดินสไลด์ เนื่องจากการก่อสร้างขวางลำห้วยถึง 3 สาย และที่สำคัญสุด คือ การกระทบต่อความรู้สึกของชาวล้านนาที่มีต่อดอยสุเทพ ดอยอันศักดิ์สิทธิที่ชาวเชียงใหม่นับถือมาอย่างยาวนานเกินกว่าพันปี จึงเป็นสิ่งที่จะยอมรับไม่ได้ เมื่อเกิดการกระทำที่ผิดจารีตประเพณี และความเชื่อ ทั้งๆที่มีการร่วมกันคัดค้านมาตั้งแต่ต้น

โดยกรณีปัญหานี้หวังให้นายกรัฐมนตรีเป็นที่พึ่ง ในการแก้ปัญหาเรื้อรังนี้ โดยมีทางเลือก 2 ทาง คือ รื้อ หรือไม่รื้อเท่านั้น หากรื้อจะเป็นการจบปัญหาไม่ให้กลายเป็นเรื่องบานปลาย พร้อมทั้งเริ่มทำการฟื้นฟูป่า และจะได้ไม่ถูกประณามจากคนรุ่นหลัง ตลอดจนจะเกิดความศรัทธาต่อนายกรัฐมนตรีว่าเป็นผู้มีจิตใจเป็นธรรม แต่หากไม่รื้อ และเก็บไว้เป็นศูนย์เรียนรู้ จะทำให้ผู้คนหมดศรัทธาในตัวนายกรัฐมนตรี เพราะไม่เข้าใจความศรัทธาของชาวเชียงใหม่ที่มีต่อดอยสุเทพ และจะก่อให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลายไม่รู้จบ



กำลังโหลดความคิดเห็น