xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมนิสิตเก่า ม.เกษตรฯ ภาคเหนือ ออกโรงร่วมค้านบ้านพักศาลดอยสุเทพ-ชี้ไม่เหมาะสมทุกมิติ จี้รื้อถอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคเหนือ ออกโรงร่วมขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ แถลงการณ์ชี้โครงการนี้ไร้ความเหมาะสมในหลายมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม, วิศวกรรม, เศรษฐศาสตร์ และสังคม พร้อมทั้งเสนอให้มีการรื้อถอนโครงการในส่วนบ้านพักตุลาการ และฟื้นฟูให้คืนสภาพป่าธรรมชาติดังเดิมเพื่อหยุดย่ำยีหัวใจคนเชียงใหม่และลดภาพอัปลักษณ์ของดอยสุเทพ รวมทั้งช่วยเรียกคืนศรัทธาให้ศาล

ความคืบหน้าการเคลื่อนไหวของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียกร้องให้มีการยุติและยกเลิกโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า วันนี้ (17 เม.ย. ) สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคเหนือ ได้แถลงการณ์ ที่ลงชื่อโดย นายบุญชู เทพสุนทร นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคเหนือ เรื่อง การสร้างสำนักงานและบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่เชิงดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าโครงการนี้ไม่มีความเหมาะสมในหลายมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม, วิศวกรรม, เศรษฐศาสตร์ และสังคม พร้อมทั้งเสนอให้มีการรื้อถอนโครงการในส่วนบ้านพักตุลาการ และฟื้นฟูให้คืนสภาพป่าธรรมชาติดังเดิม

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีการสร้างสำนักงานและบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บนพื้นที่เชิงดอยสุเทพดังที่เป็นข่าวแพร่หลายอยู่ในสังคมขณะนี้นั้น สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภาคเหนือซึ่งเป็นองค์กรที่เน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเป็นที่รวมของเหล่านักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญหลายด้านหลายแขนงที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น นักวิชาการเกษตร ป่าไม้ ชลประทานสิ่งแวดล้อมวิศวกรรมเศรษฐศาสตร์สังคมศาสตร์ และอื่นๆ ได้พิจารณาประเด็นปัญหานี้ในหลากหลายมิติแล้วมีความเห็นว่าโครงการนี้ไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในหลายมิติ ดังนี้

1. มิติทางด้านสิ่งแวดล้อม โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ซึ่งโดยธรรมชาติจะผลัดใบในฤดูแล้งและกลับมามีใบเขียวในฤดูฝนอันเป็นธรรมชาติของป่าประเภทนี้ แม้ว่านิยามทางกฎหมายไม่ได้ระบุว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ก็ตามหากในโครงการดังกล่าวได้ทำลายและเปลี่ยนแปลงสภาพป่าธรรมชาติโดยสิ้นเชิง ทำให้เกิดความสูญเสียและทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชสัตว์และจุลินทรีย์ ก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน มีการเปลี่ยนหรือกีดขวางทางน้ำตามธรรมชาติ จึงมีความเสี่ยงจากน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน และยังมีความเสี่ยงจากปัญหาไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งปัญหาด้านอื่นที่จะเป็นผลกระทบต่อเนื่องกันมา

2. มิติทางด้านวิศวกรรม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นเนินเขาที่เป็นดินและมีความลาดชันสูง การก่อสร้างโครงการดังกล่าวนับว่ามีความเสี่ยงสูงจากดินถล่มเมื่อมีฝนตกหนักหรือมีความเสี่ยงจากการทรุดตัวของพื้นที่จากน้ำที่ไหลหลากลงมาตามความลาดชันของพื้นที่

3. มิติทางด้านเศรษฐศาสตร์ โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วเป็นจำนวนมาก และจะต้องมีงบประมาณตามมาอีกมากจากค่าใช้จ่ายในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่จะตามมา เช่น การป้องกันไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง การป้องกันการชะล้างพังทลายของดินน้ำป่าหลากและดินถล่มในช่วงฤดูฝนไหล และความต้องการน้ำไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นตลอดไป ค่าใช้จ่ายจึงสะสมไว้ตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งเงินที่นำมาใช้ในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทั้งหลายก็มาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

4. มิติทางสังคม ดอยสุเทพเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่ แต่ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่าประชาชนชาวเชียงใหม่ที่รับทราบเรื่องนี้ต่างมีความรู้สึกเหมือนกำลังถูกย่ำยีจิตใจ และตราบใดที่โครงการดังกล่าวยังปรากฏอยู่ ภาพการลุกล้ำดอยสุเทพอย่างชัดเจนจะไม่มีทางลบหายไปได้ไม่ว่าทางโครงการจะพยายามปลูกต้นไม้อย่างไรก็คงทำได้ไม่มากไม่สามารถทำให้ป่ากลับมาเป็นแบบเดิมได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในทางลบขึ้นกับศาลยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในจิตใจประชาชนมาก่อน และภาพลักษณ์ในทางโลกนี้จะคงอยู่ตลอดไป

ด้วยเหตุผลนี้สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภาคเหนือ จึงขอเสนอให้มีการรื้อถอนโครงการในส่วนบ้านพักตุลาการ และฟื้นฟูให้คืนสภาพป่าธรรมชาติดังเดิม ส่วนสำนักงานศาลอุทธรณ์ได้ตั้งอยู่ด้านล่างนั้น เห็นควรให้อยู่ในดุลพินิจของสำนักงานศาลยุติธรรม พิจารณาตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ดังนี้

1. ช่วยลดภาพอัปลักษณ์ของดอยสุเทพลงได้อย่างมาก

2. จะไม่กลายเป็นพื้นที่นำร่องหรือต้นแบบในการบุกรุกป่าไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ถูกต้องในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นอีกในหลายพื้นที่ของประเทศ

3. ไม่เสี่ยงต่อน้ำป่าหรือดินถล่มในฤดูฝน และไฟป่าในฤดูแล้ง เพราะพื้นที่นี้ไม่เหมาะใช้เป็นที่อยู่อาศัย เนื่องจากมีความลาดชันสูง และธรณีสัณฐานเป็นภูเขาดิน

4.ไม่ต้องสูญเสียป่าไม้เพิ่มอีกจากการทำแนวกันไฟโดยรอบอีกหลายสิบไร่เมื่อเข้าไปอยู่อาศัยจริง

5 ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นตามมา

6. หากไม่รื้อถอน (ทิ้งไว้) ย่อมไม่สามารถฟื้นฟูป่าไม้ดั้งเดิมคืนมาได้ การปลูกต้นไม้จะได้แค่บางส่วนเท่านั้น

7. หากมีการรื้อถอนโดยเร็ว ได้จะช่วยเรียกศรัทธาและภาพลักษณ์ด้านจิตนิเวศของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้กลับคืนมาได้อย่างดียิ่ง แม้จะยังคงสำนักงานศาลไว้ก็ตาม

ดังนั้น สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภาคเหนือ จึงขอประกาศแถลงการณ์ฉบับนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้สมาชิกและประชาชนชาวเชียงใหม่ได้ทราบโดยทั่วกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น