xs
xsm
sm
md
lg

เลขาศาลฯ แจงบ้านพักเชิงดอยต้องทำตามสัญญา บอกไม่ได้หยุดสร้างหรือไม่ รอ ก.บ.ศ.ชี้ขาด 9 เม.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายสุริยันห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม
เลขาธิการศาลยุติธรรม แจงโครงการสร้างบ้านพักศาลเชิงดอยสุเทพ รอคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ชี้ขาด 9 เม.ย. นี้ ยังไม่เห็นหนังสือนัดประชุมจาก “พล.อ.ประวิตร” ยังบอกไม่ได้จะหยุดก่อสร้างหรือไม่ เผยยังเหลือ 2 สัญญา มูลค่ารวม 663 ล้านบาท กำหนดเสร็จ มิ.ย. นี้ ยันต้องทำตามสัญญาและกฎหมาย โครงการไม่ได้ทำลายป่า ต้นไม้ในพื้นที่ย้ายไปปลูกใหม่ และปลูกต้นไม้เพิ่ม พร้อมรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะชาวบ้านในพื้นที่

ที่ห้องประชุมสํานักงานศาลยุติธรรมอาคารศาลอาญา ชั้น 12 ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ (5 เม.ย.) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายสุริยันห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีการก่อสร้างบ้านพักตุลาการบริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

นายสราวุธ กล่าวว่า บ้านพักที่เชียงใหม่ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของทางราชการไม่ใช่เป็นบ้านพักส่วนบุคคล โดยขั้นตอนในการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ขั้นตอนการขออนุญาตกระทำมาตั้งแต่ต้น โดยก่อนปี 2543 ช่วงที่ศาลสังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ทางธุรการในการจัดสร้างอาคารต่างๆ ของศาลยุติธรรม ต่อมาวันที่ 20 ส.ค. 2543 ศาลได้แยกจากกระทรวงยุติธรรม และมีการจัดตั้งสำนักงานศาลยุติธรรมเกิดขึ้น ทำหน้าที่ทางธุรการทุกอย่างและสนับสนุนการพิพากษา

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นมีการขออนุญาตใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ และผ่านการเห็นชอบจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว กระทั่งมีการเปิดการประมูล มีเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญารวม 3 สัญญาด้วยกัน สัญญาที่ 1 เป็นการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 สัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 ที่เหลืออยู่คือ อาคารชุดและอาคารที่พักของข้าราชการในจังหวัดเชียงใหม่ที่ทำงานให้กับศาลยุติธรรม เพื่อให้ข้าราชการที่ย้ายมาทำงานที่จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าพักเมื่อครบวาระต้องย้ายก็ออกจากบ้านพักไปในส่วนของสัญญาที่ 2 มีมูลค่าสัญญา 321 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 มีมูลค่า 342 ล้านบาท โดยสัญญาจะเสร็จสิ้นในวันที่ 9 กับวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ตามลำดับ
 
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า พื้นที่ขออนุญาตไว้มีจำนวน 147 ไร่ใช้ที่พื้นที่ในการดำเนินการไป 89 ไร่ ในส่วนของการดำเนินการในปัจจุบันยังมีสัญญาที่ยังผูกพัน ในระหว่างการดำเนินงานนั้นไม่ได้ตัดต้นไม้ทำลายป่า จำนวนต้นไม้ที่มีการขุดย้ายในพื้นที่ต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.30 เมตรขึ้นไปมีต้นประดู่ 29 ต้น ต้นพลวง 86 ต้น ต้นสัก 4 ต้น ต้นกระบาก 77 ต้น ไม้เนื้ออ่อนอีก 44 ต้น ไม่มีการตัดแต่เป็นการขุดล้อมแล้วย้ายเพื่อปลูกในโครงการ ทั้งนี้แผนระยะสั้นระยะที่ 1 จะไม่มีการตัดต้นไม้ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการปรับพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มเติมจะดูแลรักษาสภาพพื้นที่ให้สมบูรณ์ โครงการก่อสร้างทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ป่าที่ไม่ได้ดำเนินการเลย 58 ไร่ โดยในวันที่ 21 เม.ย.นี้ เป็นวันศาลยุติธรรม จะมีการปลูกต้นไม้ตามแบบภูมิทัศน์ในสัญญา แบ่งเป็นไม้ยืนต้น ปลูกต้นพยุง 60 ต้น ต้นแคนาป่า 94 ต้น ต้นลีลาวดี 299 ต้น และต้นไม้ประเภทต่างๆ อีก 6,400 ต้น

นายสราวุธ กล่าวประกอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าว ก่อสร้างขึ้นในแนวระดับเดียวกับการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ในพื้นที่ดอยสุเทพตามแนวขอบตะเข็บเดียวกัน อันนี้คือข้อเท็จจริงที่ปรากฏแตกต่างจากการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ อาจจะเป็นการนำเสนอเฉพาะโครงการ สิ่งที่เกิดขึ้นตนไม่เคยปฏิเสธความรับผิดชอบ แม้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้รับตำแหน่ง แต่เป็นหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนในการทำหน้าที่

ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการบ้านพักไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพราะถ้าสัญญามาก่อนตอนสังกัดกระทรวงยุติธรรมก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมที่เป็นผู้ที่ดำเนินการ แต่หากเกิดขึ้นภายหลังสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรมก็จะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ตอบว่าเราจะทำถูกกฎหมายอย่างเดียว สิ่งที่ประชาชนให้ความห่วงใยก็พร้อมจะรับฟังและรับข้อเสนอแนะและแผนที่จะดำเนินการต่างๆ ก็อาจจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะศาลก็อยากจะรักษาด้านสิ่งแวดล้อมไว้แต่การดำเนินการต่างๆ อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของทุกคน แต่เราก็พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การที่จะดำเนินการใดๆ ก็ตาม ต้องกระทำตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ ไม่อาจจะกระทำการใด เช่นไปทุบทำลายทิ้งได้เองเพราะถือเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ขั้นตอนต่อไปในวันที่ 9 เม.ย. เวลา 09.30 น. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) จะมีการประชุม ตนในฐานะเลขานุการคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่ามีความเห็น อย่างไรแล้วจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีทราบต่อไป จากนั้นจะมีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนทราบ

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อยากจะให้มีการประชุม 3 ฝ่ายในวันที่ 9 เม.ย. นี้ ยังไม่มีการแจ้งหนังสือมาถึงสำนักงานศาลยุติธรรมแต่อย่างใด ส่วนหากมีการประชุมร่วมก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไร เพียงแต่ว่าตนต้องดำเนินการตามขั้นตอนคือ ตามมติของ ก.บ.ศ. โดยตนยังไม่อาจให้ความเห็นส่วนตัวได้ ว่า จะมีการยุติการก่อสร้างหรือไม่ หรือการจัดการในบริเวณก่อสร้างดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ การก่อสร้างยังคงดำเนินการต่อไป โดยต้องรอการประชุมของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมก่อน ในฐานะที่ตนอยู่ในภายใต้สัญญาก็จะต้องปฏิบัติตามสัญญาและข้อกฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีการดำเนินคดีฟ้องร้องได้ ทั้งนี้ การแถลงข่าวในวันนี้ก็เพื่อที่ต้องการให้ทราบถึงจุดยืนว่าสำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายที่เป็นประโยชน์ของส่วนรวม

เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า เหตุที่เลือกทำเลดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเนื่องจากพื้นที่ในการก่อสร้างของทางราชการมีน้อยลงกว่าแต่ก่อน จึงจำเป็นต้องหาจากที่ของราชพัสดุว่าตรงไหนที่อนุญาตให้ใช้ได้ โดยทำตามขั้นตอนทุกอย่าง เข้าใจว่าเหตุที่เลือกพื้นที่ดังกล่าวเพราะอยู่ใกล้ที่ทำการของสำนักงานศาลและเพื่อลดเวลาการเดินทางและเพื่อทำงานให้มีประสิทธิภาพ

นายสุริยันห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวมีบ้านพักของผู้พิพากษาอยู่ 38 หลัง อาคารชุดของธุรการ 16 หน่วย และอาคารชุดจำนวน 36 หน่วยอีก 1 หลัง โดยมีทั้งหมด 3 สัญญาภายในบริเวณเดียวกัน อาคารที่ส่งมอบไปแล้วคืออาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5


กำลังโหลดความคิดเห็น