ผู้จัดการรายวัน360-ส่งออกม.ค. พุ่งทำนิวไฮ 17.56% สูงสุดในรอบ 62 เดือน "สนธิรัตน์"สั่งลุยต่อ ทั้งเจาะตลาดใหม่ เพิ่มสินค้าส่งออกและบริการ สร้างหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับคู่ค้า ดัน SMEs ส่งออก และเพิ่มการค้าผ่านออนไลน์ มั่นใจเป้าทั้งปี 8% ทำได้แน่ เผยบาทแข็งไม่กระทบ แต่ส่งผลดีมีการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเพิ่ม คาดส่งออกอนาคตรุ่งแน่ ด้านรองนายกฯ "สมคิด" ประกาศปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยหนุนจีดีพีเติบโตอย่างก้าวกระโดดตามแสโลกยุคใหม่ นำเทคโนโลยีปรับใช้กับการเลือกตั้ง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนม.ค.2561 มีมูลค่า 20,101.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.56% เป็นการขยายตัวที่ดีที่สุดในรอบ 62 เดือน หรือ 5 ปี 2 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย.2555 ที่การส่งออกขยายตัว 26.83% และเป็นการส่งออกที่เริ่มต้นได้ดี ทั้งๆ ที่ปัจจุบันไทยมีปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่า แต่เท่าที่ติดตามพบว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยไทยยังส่งออกได้ดีและสู้กับประเทศคู่แข่งได้
"เราเริ่มต้นได้ดี ถือเป็นสัญญาณดีของการส่งออกของไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะทำงานอย่างหนัก และทำอย่างมีเป้าหมาย เพื่อผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะปีนี้ได้ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 8% การจะไปสู่เป้าหมาย ต้องส่งออกให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 21,412 ล้านเหรียญสหรัฐ และมั่นใจว่าจะทำได้ จากการที่ได้ปรับแผนการทำงานผลักดันส่งออกใหม่ที่มีเป้าหมายชัดเจน"นายสนธิรัตน์กล่าว
สำหรับแผนผลักดันการส่งออกที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ ได้แก่ การผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น จีน อินเดีย CLMV และรัสเซีย เป็นต้น การเพิ่มการส่งออกสินค้าตัวใหม่ เช่น ผลไม้ และการส่งออกบริการ การใช้ยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจร่วมมือค้าขายกับคู่ค้า การเพิ่มจำนวนบุคลากรเพื่อทำตลาด การส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้ส่งออกได้มากขึ้น และการใช้ช่องทางออนไลน์ในการค้าขายสินค้า เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนม.ค.2561 ที่ออกตัวได้แรง มาจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่เติบโตดีขึ้น และนโยบายในการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ได้ผล ทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น CLMV เพิ่มถึง 18.4% รัสเซียและ CIS เพิ่ม 72% เป็นต้น ส่วนเงินบาทแข็งค่า มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยน้อย เพราะค่าเงินของคู่แข่งในภูมิภาคก็แข็งค่า ทำให้การส่งออกไทยยังแข่งขันได้ดี
ส่วนการนำเข้าในเดือนม.ค.2561 มีมูลค่า 20,220.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.26% ทำให้กลับมาขาดดุลการค้า 119.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นับจากธ.ค.2560 โดยพบว่า การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ โดยเพิ่มขึ้น 34.3% และ 12.4%และมีการนำเข้าเชื้อเพลิง เพิ่ม 48.1% สินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่ม 19.5% ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เพิ่ม 27.1% อาวุธ ยุทธปัจจัยและอื่นๆ เพิ่ม 43% ซึ่งจะเห็นได้ว่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก และเป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร โดยใช้จังหวะจากการที่เงินบาทแข็งค่า
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนม.ค.2561 ที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการสินค้า โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 16.2% สินค้าสำคัญที่เพิ่ม เช่น ข้าว เพิ่ม 37.2%มันสำปะหลัง เพิ่ม 42.3% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 18.4% อาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 20.4% ส่วนน้ำตาลทราย ลด 42.2% ยางพารา ลด 20.7%ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ลด 7.3% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 17.2% สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 18.2%คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 21.5%เครื่องยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 87.9% เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 40.5% ส่วนทองคำ ลดลง 21.3%
สำหรับตลาดส่งออก เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยตลาดหลัก เพิ่ม 15.1% ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เพิ่ม 26.3% , 11.3% และ 8.9%ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 15.1% เช่น อาเซียนเดิม (5 ประเทศ) เพิ่ม 14.3% CLMV เพิ่ม 18.4% จีน เพิ่ม 11.6% อินเดีย เพิ่ม 30.4% ไต้หวัน เพิ่ม 18.1% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 18.9% จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แอฟริการ และกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 18.7% , 11.0% , 37.0% และ 72.0% ตามลำดับ
“สมคิด” ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษภายในงานสัมมนา “Digital Intelligent Nation 2018” ว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศผ่านยุทธศาสตร์ Digital Drive Economy เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกด้านผ่านดิจิทัลผลักดันชาวบ้าน ผู้ประกอบการสตาร์ทอัป เอสเอ็มอีนับล้านราย เอกชนรายใหญ่ สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ขยายเป็นสินค้าทุกด้านด้วยแรงของชาวบ้านที่ขายได้เองโดยตรงไปต่างประเทศ จึงทำให้เศรษฐกิจเติบโตทวีคูณอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่เพียงแค่จีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปัจจุบันตามที่คาดการณ์ เพราะทุกหมู่บ้าน ทุกองค์กร ทุกบริษัท เชื่อมโยงกับตลาดโลกได้โดยตรง
โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณทุกด้านผ่านดิจิทัล Digital For All เพื่อใช้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผ่านกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงดีอี เชื่อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน ทุกโรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค เพื่อบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสมคิด กล่าวว่า ประเด็นสำคัญรัฐบาลพร้อมนำระบบดิจิทัลพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ Digital Political เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็น ความต้องการ สิ่งที่รัฐบาลออกมาตรการไปช่วยเหลือ ถูกใจ ต้องการหรือไม่ เพื่อให้รับรู้ทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ชาวบ้านสื่อสารโดยตรงกับภาครัฐ
นายสมคิด ยอมรับว่า ขณะนี้เศรษฐกิจผ่านจุดหลุมดำปรับมาเป็นฟื้นตัวอย่างยั่งยืน หลังจาก สศช. คาดการณ์จีดีพีในปีนี้เติบโตร้อยละ 4.1 การลงทุนภาครัฐผ่านหลายโครงการ 7 แสนล้านบาท ขณะที่การส่งออกเติบโตร้อยละ 17.6 สูงสุดในรอบ 62 เดือน หากประคับประคองทุกปัจจัยให้เดินต่อไปได้ จีดีพเติบโตได้สูงกว่าที่ สศช. คาดการณ์อย่างแน่นอน แต่เราเองก็ต้องปรับตัว ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการปรับตัวของไทยก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลใน “ยุครุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่”