ส่งออกเดือน ก.ค.เพิ่ม 10.48% บวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ส่วนนำเข้าเพิ่ม 18.45% ทำขาดดุลการค้า 187.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขาดดุลครั้งแรกในรอบ 27 เดือน ส่วนยอดรวม 7 เดือนเพิ่ม 8.2% “พาณิชย์” ปรับประมาณการส่งออกทั้งปีใหม่เป็นขยายตัว 5-6% แย้มมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ถึง 6.5% หลังการค้าโลก เศรษฐกิจโลกโต เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้น การส่งออกเกษตรและอุตสาหกรรมดีขึ้น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน ก.ค. 2560 มีมูลค่า 18,852.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.48% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,039.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.45% โดยขาดดุลการค้า 187.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขาดดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 27 เดือนนับจากเดือน เม.ย. 2558 ที่ขาดดุลการค้า 530.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับการส่งออกในช่วง 7 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 132,399 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.2% การนำเข้ามีมูลค่า 125,616 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.50% โดยเกินดุลการค้า 6,783 ล้านเหรียญสหรัฐ
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค.ได้ทำการปรับประมาณการเป้าหมายการส่งออกของปีนี้ใหม่ จากเดิมคาดไว้ที่ 3.5-5% เป็น 5-6% และอาจจะสูงขึ้นได้ถึง 6.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการค้าโลก เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญมีการขยายตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา และน้ำตาลทราย ทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประมาณการดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ สนค.ได้ประเมินจากปัจจัยบวกที่มีในตอนนี้ แต่เป้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ยังคงกำหนดไว้ที่ 5% เหมือนเดิม ยังไม่ได้ปรับ ซึ่งต้องรอดูว่าในวันที่ 28 ส.ค. 2560 ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาติดตามงานที่กระทรวงพาณิชย์ จะมีการปรับเป้าส่งออกเพิ่มขึ้นหรือไม่
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตายังคงเป็นเรื่องความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่จะต้องติดตาม และเท่าที่ได้ประเมินพบว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกน้อย แต่ก็ไม่ควรประมาท ผู้ส่งออกควรจะมีการทำประกันความเสี่ยงเอาไว้ ส่วนเรื่องการขาดดุลการค้า คาดว่าจะมีการขาดดุลไปอีกระยะหนึ่ง เพราะผลจากเงินบาทแข็งค่าทำให้เกิดการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น รวมถึงการเก็งกำไรทองคำ ซึ่งจะส่งผลดีในการลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทที่จะอ่อนค่าลง