xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม (The Third Industrial Revolution) โดย ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล และอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial revolution) ครั้งแรกของโลกเกิดในอังกฤษ เกิดการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำโดย James Watt ทำให้เกิดการปั่นฝ้าย ทอผ้าด้วยเครื่องจักร เริ่มมีรถไฟที่ใช้หัวจักรไอน้ำ ทำให้การขนส่งเกิดความสะดวก เกิดการขยายอุตสาหกรรมขึ้นอย่างมากมาย James Watt เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผลงานของ Watts ทำให้โลกเกิดการประดิษฐ์ เกิดการผลิตแบบอุตสาหกรรม และเป็นต้นแบบของการผลิตเครื่องจักรจากการต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอมาเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์แบบจุดระเบิดในลูกสูบที่เราใช้ในรถยนต์มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตและพัฒนาไปสู่ความสมัยใหม่ (Modernization) สาเหตุเพราะเครื่องจักรไอน้ำในยุคนั้นที่ Watts คิดค้นได้เป็น Disruptive technology ของยุคนั้น เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก และทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเติบโตและมีการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและท้ายที่สุดมีคนวิเคราะห์กันว่าการนำไปสู่ Glorious revolution หรือการกำเนิดประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งในอังกฤษ (ซึ่งตอนแรกเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่สุดท้ายก็มีปัญหาต้องไปเชิญพระเจ้าแผ่นดินกลับมาครองอังกฤษเช่นเดิม)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง (The second industrial revolution) นั้นกล่าวกันว่าเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน แต่หลักสำคัญสุดน่าจะเป็นการปั่นไฟฟ้าได้ ด้วยไดนาโม ของ Michael Faraday ซึ่งเอาแม่เหล็กมาหมุนกับขดลวดเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดการสร้างเขื่อนและกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ นำไปสู่การผลิตเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้ามากมาย นำไปสู่การประดิษฐ์หลอดไฟโดย Thomas Alva Edison ในเวลาเดียวกันนี้ก็เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในการถลุงเหล็กให้ดีขึ้น ทำให้การผลิตเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมหนักและการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทำได้ง่ายขึ้นและทำได้อย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์โทรเลขโดย Samuel Morse และการประดิษฐ์โทรศัพท์โดย Alexander Graham Bell และนำไปสู่การคิดค้นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้า จากแนวคิดเครื่องจักรที่คิดคำนวณได้ของ Charles Babbage หลังจากนั้นโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม เริ่มมีคนพูดถึงคำนี้เป็นครั้งแรกในหนังสือ The Third Industrial Revolution; How Lateral Power is Transforming Energy, the Economy, and the World แต่งโดย Jeremy Rifkin ตีพิมพ์จำหน่ายในปี 2011 โดยมีความเห็นว่าพลังงานไฟฟ้าทางเลือกที่นำกลับมาใช้ได้อีก (Renewable Electricity) จะเปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิง

ผมไม่คิดว่า Renewable Electricity จะเปลี่ยนโลกได้ และไม่คิดว่าเป็น disruptive technology ที่เปลี่ยนโลกได้แต่อย่างใด การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามของโลก น่าจะเกิดจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) วิทยาการข้อมูล (Data Science: DS) และอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things: IOTs)

ปัญญาประดิษฐ์ นั้นเกิดจากการคิดค้นของ Herbert A Simon แห่ง Carnegie Mellon ผู้ได้รับรางวัลโนเบล โดยการพัฒนาให้คอมพิวเตอร์คิดได้เหมือนคน โดย Simon ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Protocol Analysis หรือ Think out loud ให้ผู้เชี่ยวชาญมาแก้ปัญหา และอธิบายกระบวนการในการคิดและการแก้ปัญหาออกมาเป็นขั้นตอนย่อยๆ เป็น chunk เล็กๆ แล้วพูดออกมาว่ามี input process และ output อะไรบ้างในแต่ละขั้นตอน นำมาเขียน flowchart ให้เข้าใจแล้วเอาไปเขียนโปรแกรม เท่านี้คอมพิวเตอร์ก็คิดได้เท่ากับผู้เชี่ยวชาญ และต่อมาปัญญาประดิษฐ์ก็ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ได้แก่ Artificial neural network และ Deep learning เป็นต้อน ปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดการสร้างเครื่องจักรที่คิดและทำงานได้ใกล้เคียงกับคนมากขึ้นเรื่อยๆ

วิทยาการข้อมูล เป็นบูรณาการระหว่างสามสาขาวิชาคือหนึ่ง คณิตศาสตร์และสถิติ สองวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และสามความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ถ้าเอาความรู้ทางบริหารธุรกิจมารวมก็จะกลายเป็น Business Analytics ถ้าเอาความรู้ทางชีววิทยามารวมก็กลายเป็น Bioinformatics เป็นต้น วิทยาการข้อมูลช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายและนำไปสู่ความรู้ที่นำไปใช้งานได้จริง (Actionable knowledge)

อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง เกิดจากการที่อุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงตึกรามบ้านช่อง ถนน รถยนต์ มี censor หรือแม้แต่ร่างกายเราก็สามารถติดตั้ง biosensor ไว้ตรวจจับสัญญาณและข้อมูลต่างๆ ไว้ได้อย่างรวดเร็ว เกิดข้อมูลเรียลไทม์ที่มีปริมาณมหาศาล หากเอาความรู้ด้าน Data Science และ ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยกันก็จะช่วยทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และนวัตกรรมได้เป็นอันมาก

ปัญญาประดิษฐ์+วิทยาการข้อมูล+อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง ในปัจจุบันนี้พยากรณ์ว่าผู้ป่วยคนใดจะเกิดหัวใจล้มเหลวเมื่อไหร่ ได้แม่นยำกว่าหทัยแพทย์ ต่อไปจะอ่านฟิลม์ได้ดีกว่ารังสีแพทย์ ดูรูปถ่ายผิวหนังแล้วสามารถวินิจฉัยโรคได้ดีกว่าตจแพทย์ และน่าจะวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ดีกว่าอายุรแพทย์ด้วยในอนาคตอันใกล้ ในขณะเดียวกันเมื่อนำ ปัญญาประดิษฐ์+วิทยาการข้อมูล+อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง มาหลอมรวมกัน สร้างหุ่นยนต์อัตโนมัติ ก็สามารถผ่าตัดได้แม่นยำกว่าศัลยแพทย์เสียอีก

โรงงานผลิตรถยนต์ สินค้า ต่างๆ จะใช้หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง มาแทนที่คนงานในโรงงานทั้งหมด ที่เคยต้องมีคนงานเป็นพันๆ คน อาจจะเหลือเพียง 6 คนเท่านั้น ล่าสุดที่ Donald Trump บอกว่าจะตั้งกำแพงภาษีสำหรับรถยนต์ที่ผลิตใน Mexico เพื่อบังคับให้ Nissan และ Toyota มาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งค่าแรงแพงกว่ามาก เพื่อให้เกิดการจ้างแรงงานในสหรัฐอเมริกา ทำให้ Nissan รับปากทันทีและออกแบบโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาให้สายพานการผลิตเป็นแบบ automated ทั้งหมด ใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุม และใช้คนสำหรับดูแลโรงงานผลิตรถยนต์ทั้งโรงงานไม่ถึงสิบคน ทำให้ลดต้นทุนค่าแรงลงไปจนสามารถตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างสบายๆ ถ้าใครเคยไป Detroit ที่สหรัฐอเมริกาย่อมทราบว่าเมืองนี้เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากผลิตรถยนต์แต่ทุกวันนี้โรงงานปิดไปหมดแล้ว และเมืองก็แทบจะเป็นเมืองร้าง เห็นซากปรักหักพังของบ้านเรือนที่ไม่มีคนอยู่อาศัยและโรงงานร้างเต็มไปหมดทั้งเมือง และที่ Trump คิดว่าเอาโรงงานกลับมาตั้งในสหรัฐอเมริกาก็จะไม่ช่วยเพิ่มการจ้างงานสักเท่าไหร่

ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์เก่งมากขึ้นถึงกับเริ่มมีการออกแบบให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่บริบาลผู้สูงอายุง่ายๆ แทนคนในบ้านได้ดีมาก เอาหุ่นยนต์มาใช้แทนพนักงานเสิร์ฟ ต่อไป แอร์โฮสเตส อาจจะไม่มี และใช้หุ่นยนต์แทนก็ย่อมได้ ดังนั้นหุ่นยนต์ที่เก่งขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์จะมาแทนที่คนแทบจะทั้งหมด AI+DS+IOTs จะทำให้คนตกงานอีกมากมาย แต่จะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิงในเร็ววันนี้ อุปกรณ์แทบทุกอย่างจะคิดเองได้ เชื่อมต่อ พูดคุยและสื่อสารกันเอง และปรับตัวหรือปรับแต่งได้อย่างรวดเร็วให้เหมาะกับสถานการณ์ Computer และ หุ่นยนต์จะไม่เพียงแค่ทำงานซ้ำๆ ได้ดี แต่จะฉลาดมากขึ้น คิดและตัดสินใจได้เองมากขึ้น ทุกสิ่งอย่างจะ automated เองได้มากขึ้น

AI+DS+IOTs จะทำให้สิ่งต่างๆ รอบตัวเราฉลาดขึ้น Smart Car เอยต่อไปก็ไม่ต้องมีคนขับแล้ว รถยนต์ไม่มีคนขับจะเป็นสิ่งที่เราน่าจะได้เห็นในเร็วๆ นี้ คนขับรถจะตกงานได้ไม่ยากแต่อย่างใด Smart City ที่ต่อไปอาจจะไม่ต้องมีตำรวจ เพราะทุกอย่างควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ การกำกับดูแลจราจร ทุกอย่างมี กล้องวีดิโอ คอยติดตามกำกับและควบคุม Block chain และ Fin Tech จะเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเงินการธนาคาร ทำให้สามารถระดมทุนผ่าน Crowdsourcing ได้ และผู้กู้กับผู้ให้กู้เงินไม่ต้องเจอหน้ากันก็ได้ และไม่ต้องมีคนกลางเช่นธนาคารพาณิชย์ก็ยังได้ ไม่มีความจำเป็นต้องทำ IPO: Initial public offering ในการระดมทุนเช่นในอดีต

ในสิบปีข้างหน้านี้จะมีอาชีพที่เตรียมตัวตกงานอีกมากมาย ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล และอินเทอร์เน็ทแห่งสรรพสิ่งจะสามารถทำงานที่มนุษย์และผู้เชี่ยวชาญในอดีตต้องทำ แต่เมื่อ AI+DS+IOTs เข้ามา ความจำเป็นในการจ้างงานที่ใช้คนจะลดลงไปเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ศัลยแพทย์หรือพยาบาลที่อาจจะตกงานได้ไม่ยากนัก ผมนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่กิจการการพิมพ์ต้องใช้คนงานเรียงพิมพ์ตัวตะกั่วซึ่งกลับซ้ายเป็นขวา ต้องจ้างพนักงานเรียงพิมพ์ไว้มากมาย ต่อมาเกิดการเรียงพิมพ์ด้วยแสงและการเรียงพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้พนักงานเรียงพิมพ์เหล่านี้ตกงานกันไปจนหมดสิ้น มีน้อยรายมากที่สามารถปรับตัวมาเรียนรู้การเรียงพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ และวันนี้ผมก็ได้เห็นว่า digital media และ social media กำลังมาฆ่าสื่อสิ่งพิมพ์ให้ตายไปจนหมดสิ้น แม้แต่วิศวกรคอมพิวเตอร์ของอินเดียที่ไม่มีความรู้เรื่อง AI+DS+IOTs ยังถูกเลย์ออฟ มีการประมาณว่าบุคลากรด้าน IT กว่าหนึ่งในสี่จะถูกเลย์ออฟภายในสามปีนี้เพราะทักษะและความรู้ที่มีด้าน IT ล้าสมัย ไปแล้วอย่างรุนแรง ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น พนักงานขายประกัน Teller หน้าเคาน์เตอร์ของธนาคาร ยาม ซึ่งเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนเท่าแพทย์หรือพยาบาลคงหนีไม่พ้นการตกงานอย่างแน่นอน

ทางเลือกและทางรอดของคนที่กำลังจะเผชิญกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม คือการต้องเก่งกว่า AI+DS+IOTs ต้องมีทักษะฝีมือที่เก่งกว่า หรืออีกทางเลือกคือต้องมาเป็นคนประดิษฐ์และพัฒนา AI+DS+IOTs ให้ทำงานแทนคนได้ ต้องออกแบบและพัฒนาให้ทำงานแทนคนและพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ หรืออีกทางก็คือเป็นคนควบคุมหุ่นยนต์ AI+DS+IOTs เหล่านี้ ตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้อง หรือซ่อมแซมเมื่ออุปกรณ์เหล่านี้ เสียหาย

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามก้าวมาหาทุกท่านแล้ว หากไม่อยากตกงาน จำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่ครับ ก่อนที่จะสายเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น