xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อบริษัทผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯ ถูก FBI สอบสวน : ข้อหาขัดขวางโซลาร์รูฟ

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อดูชื่อบทความแล้ว บางท่านอาจจะรู้สึกว่า ผมนำเรื่องไกลตัวมาเขียน จึงไม่น่าสนใจ แต่ผมขอเรียนตั้งแต่ต้นเลยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากที่สุด มันเกี่ยวกับการขัดขวางโดยบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าไม่ให้ประชาชนได้ใช้แสงแดดที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปมาผลิตไฟฟ้าได้

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่ผมจะนำมาเล่านี้ มีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่างจากในบ้านเราซึ่งเราจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งการเยียวยาปัญหาโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขอเริ่มต้นจากส่วนที่เหมือนกันก่อนนะครับ เริ่มจากประเทศไทย

ขอย้อนไปเมื่อเดือนมกราคม 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แต่งตั้งโดย คสช.ซึ่งอ้างว่าจะเข้ามาปฏิรูปประเทศไทย ได้ผ่านมติของสภาฯ ด้วยคะแนนท่วมท้น เพื่อให้รัฐบาลเปิดโครงการ “โซลาร์รูฟเสรี” ซึ่งหมายถึงให้ผู้อยู่อาศัยสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้อย่างเสรีโดยไม่จำกัดจำนวน โดยใช้ระบบที่เรียกว่า “Net Metering” ซึ่งหมายถึงการให้ทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านสามารถผลิตได้ในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ใช้เพราะส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ไหลเข้าสู่สายส่งได้ (ถือเป็นการรับฝากไฟฟ้าไว้ชั่วคราว) และเมื่อถึงเวลากลางคืนก็ให้สามารถถอนคืนไฟฟ้าดังกล่าวกลับมาใช้ในบ้านได้ เมื่อสิ้นเดือนก็คิดบัญชีจ่ายเงินกันตามที่ปรากฏในมิเตอร์

ทางรัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ส่งมติดังกล่าวไปให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพลังงานก็ส่งเรื่องต่อไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

คุณรสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.ได้เล่าว่า “ทาง กฟผ.ได้ตอบกลับมาว่า ไม่เอาแบบเสรี ต้องการให้มีโควตาเหมือนเดิมทาง สปช.ก็ได้ทำเรื่องกลับเข้าไปใหม่ว่า ข้อเสนอของ สปช.ไม่ได้ต้องการให้ทางการไฟฟ้าฯ จ่ายเงินพิเศษแบบโซลาร์ฟาร์ม แต่ต้องการให้เปิดเสรีโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม”

โครงการโซลาร์รูฟเสรี ที่ สปช.เรียกอย่างสวยหรูว่า “Quick Win” ก็ได้สะดุดหยุดอยู่เพียงแค่นี้แหละครับ ไม่มีอะไรได้ขยับไม่ว่าอย่างช้าๆ หรือเร็วๆ นอกจากความรู้สึกตั้งข้อสงสัยของผู้บริโภคต่อความจริงใจของภาครัฐที่จะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในเรื่องการกระจายรายได้และของโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน

เจตนาที่จะขัดขวางการใช้ประโยชน์จากแสงแดดที่ธรรมชาติได้จัดสรรมาให้กับมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้รับการยืนยันอีกครั้งหนึ่งจาก 2 ข่าวแปลกๆ เมื่อเร็วๆ นี้

ข่าวแรกซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วเมือง คือความพยายามของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะเก็บค่าสำรองไฟฟ้าจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือที่เรียกกันว่า “ภาษีแดด” และข่าวที่สองซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 1 เดือนให้หลัง คือความพยายามของ กกพ.เจ้าเดิมที่จะเก็บค่าไฟฟ้าในเวลากลางคืนจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าผู้ไม่ได้ติดตั้ง

วิธีคิดของ กกพ. น่าจะอยู่บนฐานที่ว่า ผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (ซึ่งมีจำนวนมากรายขึ้นตามราคาต้นทุนการติดตั้งที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง) เป็นผู้เอาเปรียบหรือเกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ ที่ไม่ได้ติดตั้งและต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงในราคาที่เฉลี่ยแล้วแพงกว่า

นั่นเป็นข้ออ้างของ กกพ. แต่ถ้ากล่าวให้ถึงที่สุดและอย่างง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ ทาง กกพ.พยายามขัดขวางไม่ให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาผู้อยู่อาศัยนั่นเอง ไม่ได้ต่างอะไรกับที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา นี่คือสิ่งที่เหมือนกัน

แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานของรัฐที่ชื่อว่า FBI (Federal Bureau of Investigation หรือ สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ) เข้ามาตรวจสอบแต่ของประเทศไทยเรา ผมเข้าใจว่าคงจะไม่มีนะครับ ถ้าจะมีก็น่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน (มาตรา 230 วรรค 2) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพราะเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพราะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์อย่างเต็มศักยภาพ

อ้อ สิ่งที่ต่างกันอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ภาคประชาชนของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะเข้มแข็ง มีองค์กรทั้งที่ไม่แสวงหากำไร องค์กรของนักศึกษา และองค์กรเชิงธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งพลังงานแสงแดดอีกมากมายร่วมกันเคลื่อนไหว แต่ของประเทศไทยเราในด้านพลังงานค่อนข้างจะน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มองพลังงานอย่างบูรณาการที่เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ

มาที่เรื่อง FBI ตรวจสอบบริษัทผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาในข้อหาขัดขวางนโยบายการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ผมได้รับข้อมูลนี้มาจากบทความในเว็บไซต์ที่ชื่อ thinkprogress.org ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมนี้เอง โดยได้กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐอริโซนาซึ่งเป็นรัฐที่มีโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ

แต่เพื่อให้ภาพข้อมูลที่มีพลังใจได้ปรากฏเป็นภาพแรกของบทความนี้ ผมจึงขอเสนอข้อมูล 6 รัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ได้ติดโซลาร์เซลล์มากที่สุดก่อน ดังภาพครับ

โปรดสังเกตว่ารัฐอริโซนาที่กำลังมีปัญหาเป็นรัฐที่มีความเข้มของแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทยและมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน แต่มีการติดโซลาร์เซลล์ (นับถึงสิ้นปี 2016) จำนวนเกือบ 3 พันเมกะวัตต์ จำนวน 4.5 แสนหลังคาถ้าเฉลี่ยต่อหัวประชากรก็ประมาณ 0.4 กิโลวัตต์ต่อคนซึ่งมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ถ้านับทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า นับจากปี 2007 จนถึง 2016 จำนวนโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งได้เพิ่มขึ้นถึง 43 เท่าตัว โดยรวมกันเกือบ 6 หมื่นเมกะวัตต์ (ข้อมูลจาก Renewables on the Rise : A Decade of Progress Toward a Clean Energy Future)

สำหรับข่าวเรื่อง FBI กำลังตรวจสอบ ผมได้ตัดภาพมาให้ดูเป็นหลักฐานด้วยครับ ในภาพเป็นเหตุการณ์ในรัฐอริโซนา แต่หลังจากผมค้นคว้าเพิ่มเติมก็พบว่าการขัดขวางการติดตั้งโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นหลายรัฐ รวมทั้งรัฐฟลอริดาด้วย

บทความในเว็บไซต์ thinkProgress.org ได้เอ่ยชื่อบริษัทไฟฟ้าที่ขัดขวางการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในรัฐนี้ แต่ผมจะไม่ขอกล่าวซ้ำ

การขัดขวางมีหลายวิธีและหลายครั้ง เช่น ในการเลือกตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าและโทรคมนาคมเมื่อปี 2014 บริษัทไฟฟ้าแห่งนี้ได้สนับสนุนผู้สมัคร 2 คนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท ในปี 2013 บริษัทนี้ก็ให้เงินสนับสนุนกับกลุ่มที่ออกโฆษณาทางโทรทัศน์เพื่อต่อต้านพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดมากกว่านี้นะครับ

หมายเหตุ : คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าและโทรคมนาคมในรัฐอริโซนาเป็น 1 ใน 14 รัฐที่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สำหรับรัฐอื่นๆ มาจากการแต่งตั้งของผู้ว่าการรัฐ

ระบบ Net Metering ในรัฐอริโซนามีมานานแล้วตั้งแต่ปี 1981 แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด เช่น ในปี 2013 มีการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือนกับผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอัตรา 70 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ ซึ่งเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 5 ดอลลาร์ต่อหลังคาต่อเดือน

เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2016 คณะกรรมการกำกับกิจการ (ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกันทั้งหมดรวม 5 คน) ได้ลงมติยกเลิกระบบ Net Metering รายละเอียดของเหตุผลในการยกเลิกตลอดจนการสอบสวนสืบสวนของ FBI ผมจะไม่ขอกล่าวถึงมากกว่านี้นะครับ เพราะมันมีมากเหลือเกิน

ประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับ Net Metering (ซึ่งมีใช้กันใน 16 รัฐ) แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเป็นบริษัทไฟฟ้า มีความต้องการจะรับซื้อในราคาขายส่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งคือผู้สนับสนุนโซลาร์รูฟต้องการจะขายไฟฟ้าที่ตนผลิตได้ในราคาขายปลีก ฝ่ายแรกอ้างว่าตนต้องมีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบระบบสายส่งซึ่งมีค่าใช้จ่าย แต่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าไฟฟ้าที่ตนผลิตได้นั้นเป็นประโยชน์ต่อระบบสายส่ง ไม่เกิดการสูญเสียในสายส่งและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในบางรัฐ เช่น รัฐมินนิโซตา ผู้ผลิตไฟฟ้าจากหลังคาจะได้รับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกเสียด้วยซ้ำ เขาเรียกหลักคิดนี้ว่า “Value of Solar” หรือการให้คุณค่าของดวงอาทิตย์ นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ยังไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามารองรับความต้องการสูงในตอนช่วงสั้นๆ ของกลางวันอีกด้วย

ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2017) บริษัท Tucson Electric Power ขายไฟฟ้าให้กับบ้านอยู่อาศัยในราคาเฉลี่ย 11.44 เซนต์ (หรือ 4.00 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาท/ดอลลาร์) แต่เขาเสนอที่จะรับซื้อจากโซลาร์ฟาร์ม (เพื่อนำไปขายต่อ) ในราคา 6 เซนต์ หรือ 2.10 บาท

ผมไม่แน่ใจว่าอัตรา 2.10 บาทต่อหน่วย ได้มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงแล้วหรือไม่ แต่ผมมีข้อมูลจากองค์กร IRENA ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลได้เสนอรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี จีน ซึ่งมีความเข้มของพลังงานแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย ผู้ชนะการประมูลได้เสนอขายไฟฟ้าในราคาไม่ถึง 3 บาทต่อหน่วยครับ (ดูหลักฐานประกอบ)

แต่ทราบไหมครับว่า กกพ.ของประเทศไทยเรารับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในราคาสูงกว่าคือ 4.12 บาทต่อหน่วย แต่กลับไม่ยอมให้มีระบบ Net Metering ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ ในราคาไม่ถึง 4.12 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องสำคัญของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซที่ก่อปัญหาต่อโลกที่ประเทศเราได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสอีกด้วย

ผมจึงขอตั้งคำถามว่า นี่เป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบายและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่หรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น