xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อบริษัทผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯ ถูก FBI สอบสวน : ข้อหาขัดขวางโซลาร์รูฟ / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
-------------------------------------------------------------------------------
 
เมื่อดูชื่อบทความแล้ว บางท่านอาจจะรู้สึกว่า ผมนำเรื่องไกลตัวมาเขียน จึงไม่น่าสนใจ แต่ผมขอเรียนตั้งแต่ต้นเลยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากที่สุด มันเกี่ยวกับการขัดขวางโดยบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าไม่ให้ประชาชนได้ใช้แสงแดดที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปมาผลิตไฟฟ้าได้
       
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่ผมจะนำมาเล่านี้ มีทั้งส่วนที่เหมือน และส่วนที่แตกต่างจากในบ้านเราซึ่งเราจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคชาวไทย รวมทั้งการเยียวยาปัญหาโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
       
ขอเริ่มต้นจากส่วนที่เหมือนกันก่อนนะครับ เริ่มจากประเทศไทย
       
ขอย้อนไปเมื่อเดือนมกราคม 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่แต่งตั้งโดย คสช.ซึ่งอ้างว่าจะเข้ามาปฏิรูปประเทศไทย ได้ผ่านมติของสภาฯ ด้วยคะแนนท่วมท้น เพื่อให้รัฐบาลเปิดโครงการ “โซลาร์รูฟเสรี” ซึ่งหมายถึงให้ผู้อยู่อาศัยสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้อย่างเสรีโดยไม่จำกัดจำนวน โดยใช้ระบบที่เรียกว่า “Net Metering” ซึ่งหมายถึงการให้ทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านสามารถผลิตได้ในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ใช้เพราะส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน ไหลเข้าสู่สายส่งได้ (ถือเป็นการรับฝากไฟฟ้าไว้ชั่วคราว) และเมื่อถึงเวลากลางคืนก็ให้สามารถถอนคืนไฟฟ้าดังกล่าวกลับมาใช้ในบ้านได้ เมื่อสิ้นเดือนก็คิดบัญชีจ่ายเงินกันตามที่ปรากฏในมิเตอร์
       
ทางรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ส่งมติดังกล่าวไปให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพลังงาน ก็ส่งเรื่องต่อไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
       
คุณรสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.ได้เล่าว่า “ทาง กฟผ.ได้ตอบกลับมาว่า ไม่เอาแบบเสรี ต้องการให้มีโควตาเหมือนเดิมทาง สปช.ก็ได้ทำเรื่องกลับเข้าไปใหม่ว่า ข้อเสนอของ สปช.ไม่ได้ต้องการให้ทางการไฟฟ้าฯ จ่ายเงินพิเศษแบบโซลาร์ฟาร์ม แต่ต้องการให้เปิดเสรีโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม” 
       
โครงการโซลาร์รูฟเสรี ที่ สปช.เรียกอย่างสวยหรูว่า “Quick Win” ก็ได้สะดุดหยุดอยู่เพียงแค่นี้แหละครับ ไม่มีอะไรได้ขยับไม่ว่าอย่างช้าๆ หรือเร็วๆ นอกจากความรู้สึกตั้งข้อสงสัยของผู้บริโภคต่อความจริงใจของภาครัฐที่จะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในเรื่องการกระจายรายได้ และของโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน
       
เจตนาที่จะขัดขวางการใช้ประโยชน์จากแสงแดดที่ธรรมชาติได้จัดสรรมาให้แก่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้รับการยืนยันอีกครั้งหนึ่งจาก 2 ข่าวแปลกๆ เมื่อเร็วๆ นี้
       
ข่าวแรกซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วเมือง คือ ความพยายามของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะเก็บค่าสำรองไฟฟ้าจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือที่เรียกกันว่า “ภาษีแดด” และข่าวที่สองซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 1 เดือนให้หลัง คือ ความพยายามของ กกพ.เจ้าเดิมที่จะเก็บค่าไฟฟ้าในเวลากลางคืนจากผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาในอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าผู้ไม่ได้ติดตั้ง
       
วิธีคิดของ กกพ. น่าจะอยู่บนฐานที่ว่า ผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (ซึ่งมีจำนวนมากรายขึ้นตามราคาต้นทุนการติดตั้งที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง) เป็นผู้เอาเปรียบ หรือเกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ ที่ไม่ได้ติดตั้งแ ละต้องใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงในราคาที่เฉลี่ยแล้วแพงกว่า
       
นั่นเป็นข้ออ้างของ กกพ. แต่ถ้ากล่าวให้ถึงที่สุด และอย่างง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ ทาง กกพ.พยายามขัดขวางไม่ให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาผู้อยู่อาศัยนั่นเอง ไม่ได้ต่างอะไรกับที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา นี่คือสิ่งที่เหมือนกัน
       
แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ในสหรัฐอเมริกามีหน่วยงานของรัฐที่ชื่อว่า FBI (Federal Bureau of Investigation หรือสำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ) เข้ามาตรวจสอบแต่ของประเทศไทยเรา ผมเข้าใจว่าคงจะไม่มีนะครับ ถ้าจะมีก็น่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน (มาตรา 230 วรรค 2) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพราะเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะได้ใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์อย่างเต็มศักยภาพ
       
อ้อ สิ่งที่ต่างกันอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ภาคประชาชนของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างจะเข้มแข็ง มีองค์กรทั้งที่ไม่แสวงหากำไร องค์กรของนักศึกษา และองค์กรเชิงธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งพลังงานแสงแดดอีกมากมายร่วมกันเคลื่อนไหว แต่ของประเทศไทยเราในด้านพลังงานค่อนข้างจะน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มองพลังงานอย่างบูรณาการที่เชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ
       
มาที่เรื่อง FBI ตรวจสอบบริษัทผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาในข้อหาขัดขวางนโยบายการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา ผมได้รับข้อมูลนี้มาจากบทความในเว็บไซต์ที่ชื่อ thinkprogress.org ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมนี้เอง โดยได้กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐแอริโซนาซึ่งเป็นรัฐที่มีโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ
       
แต่เพื่อให้ภาพข้อมูลที่มีพลังใจได้ปรากฏเป็นภาพแรกของบทความนี้ ผมจึงขอเสนอข้อมูล 6 รัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ได้ติดโซลาร์เซลล์มากที่สุดก่อน ดังภาพครับ 
 

 
โปรดสังเกตว่ารัฐแอริโซนาที่กำลังมีปัญหาเป็นรัฐที่มีความเข้มของแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทยและมีประชากรประมาณ 7 ล้านคน แต่มีการติดโซลาร์เซลล์ (นับถึงสิ้นปี 2016) จำนวนเกือบ 3 พันเมกะวัตต์ จำนวน 4.5 แสนหลังคา ถ้าเฉลี่ยต่อหัวประชากรก็ประมาณ 0.4 กิโลวัตต์ต่อคนซึ่งมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ถ้านับทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า นับจากปี 2007 จนถึง 2016 จำนวนโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งได้เพิ่มขึ้นถึง 43 เท่าตัว โดยรวมกันเกือบ 6 หมื่นเมกะวัตต์ (ข้อมูลจาก Renewables on the Rise : A Decade of Progress Toward a Clean Energy Future)

สำหรับข่าวเรื่อง FBI กำลังตรวจสอบ ผมได้ตัดภาพมาให้ดูเป็นหลักฐานด้วยครับ ในภาพเป็นเหตุการณ์ในรัฐแอริโซนา แต่หลังจากผมค้นคว้าเพิ่มเติมก็พบว่า การขัดขวางการติดตั้งโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นหลายรัฐ รวมทั้งรัฐฟลอริดาด้วย
 

 
บทความในเว็บไซต์ thinkProgress.org ได้เอ่ยชื่อบริษัทไฟฟ้าที่ขัดขวางการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในรัฐนี้ แต่ผมจะไม่ขอกล่าวซ้ำ

การขัดขวางมีหลายวิธี และหลายครั้ง เช่น ในการเลือกตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าและโทรคมนาคมเมื่อปี 2014 บริษัทไฟฟ้าแห่งนี้ได้สนับสนุนผู้สมัคร 2 คน ที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท ในปี 2013 บริษัทนี้ก็ให้เงินสนับสนุนแก่กลุ่มที่ออกโฆษณาทางโทรทัศน์เพื่อต่อต้านพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดมากกว่านี้นะครับ

หมายเหตุ : คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าและโทรคมนาคมในรัฐแอริโซนาเป็น 1 ใน 14 รัฐที่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง สำหรับรัฐอื่นๆ มาจากการแต่งตั้งของผู้ว่าการรัฐ

ระบบ Net Metering ในรัฐแอริโซนามีมานานแล้วตั้งแต่ปี 1981 แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด เช่น ในปี 2013 มีการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือนต่อผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในอัตรา 70 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ ซึ่งเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 5 ดอลลาร์ต่อหลังคาต่อเดือน

เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2016 คณะกรรมการกำกับกิจการ (ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกันทั้งหมดรวม 5 คน) ได้ลงมติยกเลิกระบบ Net Metering รายละเอียดของเหตุผลในการยกเลิกตลอดจนการสอบสวนสืบสวนของ FBI ผมจะไม่ขอกล่าวถึงมากกว่านี้นะครับ เพราะมันมีมากเหลือเกิน

ประเด็นสำคัญที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับ Net Metering (ซึ่งมีใช้กันใน 16 รัฐ) แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเป็นบริษัทไฟฟ้า มีความต้องการจะรับซื้อในราคาขายส่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งคือ ผู้สนับสนุนโซลาร์รูฟ ต้องการจะขายไฟฟ้าที่ตนผลิตได้ในราคาขายปลีก ฝ่ายแรกอ้างว่าตนต้องมีหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบระบบสายส่งซึ่งมีค่าใช้จ่าย แต่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าไฟฟ้าที่ตนผลิตได้นั้นเป็นประโยชน์ต่อระบบสายส่ง ไม่เกิดการสูญเสียในสายส่ง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในบางรัฐ เช่น รัฐมินนิโซตา ผู้ผลิตไฟฟ้าจากหลังคาจะได้รับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกเสียด้วยซ้ำ เขาเรียกหลักคิดนี้ว่า “Value of Solar” หรือการให้คุณค่าของดวงอาทิตย์ นอกจากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ยังไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามารองรับความต้องการสูงในตอนช่วงสั้นๆ ของกลางวันอีกด้วย

ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2017) บริษัท Tucson Electric Power ขายไฟฟ้าให้แก่บ้านอยู่อาศัยในราคาเฉลี่ย 11.44 เซนต์ (หรือ 4.00 บาท อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาท/ดอลลาร์) แต่เขาเสนอที่จะรับซื้อจากโซลาร์ฟาร์ม (เพื่อนำไปขายต่อ) ในราคา 6 เซนต์ หรือ 2.10 บาท

ผมไม่แน่ใจว่าอัตรา 2.10 บาทต่อหน่วย ได้มีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงแล้วหรือไม่ แต่ผมมีข้อมูลจากองค์กร IRENA ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลได้เสนอรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี จีน ซึ่งมีความเข้มของพลังงานแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย ผู้ชนะการประมูลได้เสนอขายไฟฟ้าในราคาไม่ถึง 3 บาทต่อหน่วยครับ (ดูหลักฐานประกอบ)
 

 
แต่ทราบไหมครับว่า กกพ.ของประเทศไทยเรารับซื้อจากโซลาร์ฟาร์มในราคาสูงกว่าคือ 4.12 บาทต่อหน่วย แต่กลับไม่ยอมให้มีระบบ Net Metering ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญให้ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้ ในราคาไม่ถึง 4.12 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องสำคัญของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซที่ก่อปัญหาต่อโลกที่ประเทศเราได้ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสอีกด้วย

ผมจึงขอตั้งคำถามว่า นี่เป็นการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่หรือไม่
 
กำลังโหลดความคิดเห็น