xs
xsm
sm
md
lg

ค่าเอฟทีไฟฟ้าจะขึ้นอีกแล้วกับข้อสงสัยบางประการ

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศจะขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้าในงวดหน้า (ก.ย.-ธ.ค. 2560) อีก 8.87 สตางค์ต่อหน่วย หลังจากที่ได้ขึ้นไปแล้วในช่วงก่อนนี้จำนวน 12.52 สตางค์ต่อหน่วย ผมสนใจเรื่องนี้เพราะว่า หนึ่ง ทุกๆ 1 สตางค์ต่อหน่วยที่ผู้บริโภคต้องจ่ายรวมกันทั้งปีประมาณ 1,900 ล้านบาท และ สอง ไม่ค่อยมีใครตรวจสอบเรื่องนี้ทั้งๆ ที่เป็นเงินก้อนโต

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้แสดงความสงสัยเป็นจดหมายถึง กกพ.เมื่อคราวที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด บทความนี้ผมได้ค้นคว้าข้อมูลมานำเสนอและขอชวนท่านผู้อ่านมาร่วมกันคิด แต่ก่อนอื่นขอให้ความหมายเรื่องค่าเอฟที (Ft) ไฟฟ้าหรือค่าไฟฟ้าผันแปรก่อน

ค่าเอฟทีไฟฟ้าคือค่าไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้กำหนดไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน (ซึ่งจะถูกปรับเปลี่ยนทุก 3-5 ปี) แต่ค่าเอฟทีไฟฟ้าจะถูกปรับทุก 4 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ

หนึ่ง ค่าซื้อเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

สอง ค่าซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน (เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน 69%)

สาม ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐบาลเช่นค่าส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

การคิดค่าเอฟทีไฟฟ้าเป็นการคิดล่วงหน้า โดยการประมาณการต้นทุนล่วงหน้า เช่น ในขณะนี้ (กรกฎาคม 60) ทาง กกพ.ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่า ปัจจัยทั้ง 3 นี้ของงวดหน้า (ก.ย.-ธ.ค. 60) จะเพิ่มขึ้นจากงวด 4 เดือนก่อนจำนวน 8.87 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งๆ ที่ในงวดก่อนได้เพิ่มขึ้นจากงวดแรกของปีนี้แล้วถึง 12.52 สตางค์ต่อหน่วย

ผมได้รวบรวมข้อมูลค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของปัจจัยทั้ง 3 ในช่วงต่างๆ ของปี 2560 ทั้งจากการประมาณการและจากค่าจริงที่ได้ถูกปรับให้ทันสมัยขึ้น

จากตาราง พบว่า ในช่วง พ.ค.-ส.ค. ค่าประมาณการสูงกว่าความจริง เมื่อนำจำนวนไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศมาหารก็จะได้ว่า โดยเฉลี่ยค่าประมาณการสูงกว่าความจริง 10.47 สตางค์ต่อหน่วย แต่ถ้าย้อนไปถึงช่วง ม.ค.-เม.ย. พบว่าค่าประมาณการต่ำกว่าความจริงเฉลี่ย 6.28 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว ผู้บริโภคได้จ่ายเกินกว่าที่ควรจะเป็นถึง 4.19 สตางค์ต่อหน่วย

สิ่งที่ผมสงสัยก็คือ ถ้าในงวดปัจจุบันผู้บริโภคได้จ่ายเกินความจริงแล้วถึง 4.19 สตางค์ต่อหน่วย แล้วจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟทีอีก 8.87 สตางค์ต่อหน่วย

ข้อสงสัยถัดมา เรื่องราคาถ่านหินนำเข้า เรื่องนี้กรุณาอ่านช้าๆ สักนิดครับ

ผมขอเรียนสรุปในเบื้องต้นก่อนว่า เหตุผลในการขอขึ้นค่าเอฟทีงวดหน้า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าได้ประมาณการว่าราคาก๊าซขึ้นราคา 3.80 บาทต่อล้านบีทียู และถ่านหินนำเข้าจะสูงขึ้นอีก 70.19 บาทต่อตัน (ดูภาพล่างสุด) แต่ทาง กกพ.คงจะลืมไปแล้วว่า ราคาที่ได้ประมาณไว้ในงวดก่อน (พ.ค.-ส.ค.) นั้นสูงกว่าความเป็นจริงถึง 442.34 บาทต่อตัน (ดูภาพล่างสุดอีกครั้ง)

จากข้อสรุปดังกล่าว ผมขอนำภาพหลักฐานมาให้ดูกันครับ ขอเริ่มจากภาพข้างล่างซึ่งมาจากเอกสารประชาสัมพันธ์เมื่อ 19 เมษายน 2560 ทาง กกพ.ได้ระบุว่าราคาถ่านหินนำเข้าในช่วง ม.ค.-เม.ย. 60 เท่ากับ 2,562.81 บาท/ตัน และได้ประมาณการว่าในช่วง พ.ค.-ส.ค. 60 จะเท่ากับ 2,554.79 บาท/ตันคือลดลง 8.02 บาท/ตัน

แต่พอมาถึงเอกสารประชาสัมพันธ์วันที่12 กรกฎาคม 2560 กกพ.ระบุว่าค่าจริงเดือนพ.ค. 60 เท่ากับ 2,108.45 บาท/ตันนั่นคือ ได้ประมาณการสูงกว่าค่าจริงเท่ากับ 446.34 บาท/ตัน (ดูภาพประกอบ)

หมายเหตุ หากผู้อ่านกรุณาอ่านอย่างตั้งใจโดยเริ่มต้นจากราคาถ่านหิน จะพบว่าคำอธิบายที่เขียนกับตัวเลขในตารางจะไม่ตรงกัน แต่มันสลับกันนี่มันสะท้อนอะไรครับ

ผมเชื่อว่า คงมีผู้อ่านบางท่านสงสัยว่า ราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น 3.80 บาทต่อล้านบีทียู กับราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้น 70.19 บาทต่อตันนั้น จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยทั้งระบบเปลี่ยนไปเท่าใด

ผมมีข้อมูลเรื่องก๊าซครับ

จากรายงานประจำปี 2559 ของ กฟผ. (หัวข้อ ข้อมูลและสถิติ) พบว่าก๊าซธรรมชาติ 1 ล้านบีทียู สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยจำนวน 120 หน่วย ดังนั้น ถ้าผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซอย่างเดียว ราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น 3.80 บาทต่อล้านบีทียู จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าทั้งระบบเพิ่มขึ้น 3.17 สตางค์ต่อหน่วย แต่เนื่องจากเราผลิตด้วยก๊าซเพียง 63% ดังนั้น ราคาที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าทั้งระบบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 1.99สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น

สำหรับเรื่องถ่านหินนำเข้า ผมไม่พบข้อมูลของ กฟผ. (พบแต่ข้อมูลลิกไนต์ 1 ตันผลิตไฟฟ้าได้ 1,040 หน่วย) แต่เท่าที่ทราบจากบางรายงานในสหรัฐอเมริกา พบว่า ถ่านหิน 1 ตันผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2,000 หน่วย ดังนั้น ในทำนองเดียวกัน เราจะได้ว่าปัจจัยราคาถ่านหินนำเข้าจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าทั้งระบบเพิ่มขึ้นเพียง 0.25 สตางค์ต่อหน่วย

นั่นคือ ราคาก๊าซและถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าทั้งระบบเพิ่มขึ้นรวมเฉลี่ย 2.24 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายของรัฐก็ประมาณ 0.22 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น แต่ทำไมเขาจะขึ้นถึง 8.87 สตางค์ต่อหน่วย นี่ยังไม่นับที่ผู้บริโภคได้จ่ายเกินมาแล้ว 4.19 สตางค์ต่อหน่วย

ผมขอเรียนอีกครั้งว่า ข้อมูลทั้งหมดในภาพแรกมาจากเว็บไซต์ของ กฟผ. (ซึ่งผมอ้างถึงแล้ว) และข้อมูลในภาพที่สองและที่สามมาจาก กกพ.ไม่มีตัวเลขใดที่ผมยกมาเองเลย ผมเพียงแต่ทำหน้าที่ “แสดง” ให้เห็นปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น ต้องขอบคุณท่านผู้อ่านที่มีความอดทนในการอ่านนะครับ

แต่หากสาวลึกลงไปถึงราคาก๊าซธรรมชาติ (ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 63%) และราคาถ่านหินนำเข้า (ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า 7%) ที่ทั้งสองหน่วยงานนำมาใช้นั้นก็ไม่มีการอ้างอิงเพื่อให้เราสามารถตรวจสอบได้แต่อย่างใด

ไม่มีหน่วยงานใดของรัฐ (นอกจาก กกพ.) รวมทั้งสถาบันวิชาการหรือองค์กรใดมาตรวจสอบว่า ในขณะที่ราคาก๊าซที่ปากหลุมเท่ากับ 179 บาทต่อล้านบีทียู (ในเดือนพ.ค. 60) แต่ราคาที่ทาง กฟผ.รับซื้อเท่ากับ 233 บาทต่อล้านบีทียู (หรือค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการเท่ากับ 30%) นั้น เป็นราคาที่เหมาะสมเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่

นี่หรือครับ ที่เราจะก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0
กำลังโหลดความคิดเห็น