xs
xsm
sm
md
lg

Thailand 4.0 ข้าราชการไทย 0.4 และการศึกษาไทย 0.04 เราจะเริ่มฝันหรือทำฝันให้เป็นจริง

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ภาพจากยูทูป THAILAND 4.0 by MOC
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือมากว่า Thailand 4.0 จะนำประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียเขาก้าวข้ามไปอย่างงดงามเรียบร้อยแล้ว ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งอุตสาหกรรมอาหารที่เราคิดว่าเราเก่งกว่าเขา แต่ในความเป็นจริงเขาเก่งกว่าเรา ผลิตอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ที่มีคุณค่าทางการตลาดมากกว่าเราและนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรจากไทยไปเพิ่มมูลค่าและส่งออกไปทั่วโลก โดยมีข้อได้เปรียบคือ Halal ทำให้ส่งออกได้ง่ายในประเทศตะวันออกกลาง

สำหรับ Thailand 4.0 นั้น รัฐบาล คสช. วางแผนพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based economy) คือเศรษฐกิจที่เราจะไม่เป็นมือปืนรับจ้างผลิต ไม่เป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) ผลิตของให้คนอื่นไปติดตรายี่ห้อ ได้ราคาดีขึ้นกว่าเดิมมากมาย ไม่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่ไม่มีการแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ต้องส่งออกสินค้า/บริการที่มีคุณค่า ใช้ความรู้มากๆ และคนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ง่ายๆ นอกจากนี้ Thailand 4.0 ยังผลักดันในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เนื่องจากธุรกรรมจะเกิดบนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นมีมูลค่าการเติบโตสูงมาก และประเทศไทยยังมีการพัฒนาในเรื่องนี้ไม่เพียงพอ

ปัญหาที่น่าคิดคือประเทศไทยเราจะทำให้ Thailand 4.0 ได้สำเร็จหรือไม่ ในเมื่อข้าราชการไทยไม่ได้เป็น 4.0 แต่เป็น 0.4 ทุกวันนี้ในระบบราชการ ข้าราชการอายุเฉลี่ยประมาณ 47 ปี พีระมิดอายุของข้าราชการไทยเป็นพีระมิดหัวคว่ำ คือข้าราชการส่วนใหญ่อายุเท่ากับ 55 ปีขึ้นไป อายุข้าราชการแรกเข้าเฉลี่ยเท่ากับ 31.5 ปี เป็นคนรุ่นเก่าที่ไม่ได้เป็น Digital native แต่เป็น Digital immigrant คือการอพยพเข้ามาในโลกดิจิทัลแต่จริงๆ แล้วเติบโตมาในยุค Analog ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือคุณภาพของข้าราชการไทยนั้นตกต่ำลง อาชีพข้าราชการไม่ได้เป็นที่นิยมอีกต่อไป ทั้งๆ ที่รายได้ค่อนข้างดีและมีความมั่นคงมากกว่าภาคเอกชนมาก เคยมีรายงานคะแนนสอบวิชาความรู้ความสามารถทั่วไปหรือภาค ก จากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเวียนไปตามหน่วยราชการ แสดงคะแนนเฉลี่ยของผู้สมัครเข้ารับราชการจำแนกตามรายชื่อสถาบันอุดมศึกษา ก็กลับกลายเป็นว่าสถาบันการศึกษาที่ได้คะแนนสอบภาค ก โดยเฉลี่ยต่ำๆ นิยมสอบเข้ารับราชการ ส่วนสถาบันการศึกษาชั้นนำที่นักศึกษาส่วนใหญ่สอบได้คะแนนภาค ก สูงๆ สอบผ่านภาค ก มากๆ มีผู้สมัครสอบจำนวนหยิบมือ ภาค ก นั้นวัดความสามารถทางภาษา (Verbal) ตัวเลขและคณิตศาสตร์ (Numerical) และการให้เหตุผล (Reasoning) อันสะท้อนเชาวน์ปัญญาของมนุษย์ได้พอสมควรในระดับหนึ่ง เรื่องนี้เลยกลายเป็นการสะท้อนปัญหาว่าราชการไทยไม่ได้คนเก่งสมัครเข้าไปรับราชการเท่าที่ควร และยิ่งเมื่อดูผลงานของหน่วยราชการยิ่งไม่น่าจะแปลกใจ การขับเคลื่อนการทำงานภาครัฐเช่น นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) ที่ต้องการให้เกิดการทำงานที่รวดเร็ว ลดขั้นตอน ใช้ IT เข้ามาช่วยทำให้ข้าราชการทำงานได้เร็ว มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ค่อนข้างไม่ได้ผลจริง การผลักดันนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาลทำได้อย่างยากลำบากมาก

ปัญหาใหญ่คือข้าราชการไทยขาดทั้งความแตกฉานด้านข้อมูล (Data literacy) และความพร้อมด้านดิจิทัล (Digital readiness) ลองเข้าไปตามหน่วยราชการจะพบว่าหน่วยราชการนั้นมีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) มากที่สุด แต่ไม่เคยนำออกมาใช้ ไม่ได้นำออกมาวิเคราะห์ให้เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อนำไปสู่การวางแผนนโยบายสาธารณะอย่างมีหลักฐาน ไม่ได้นำออกมาวิเคราะห์เพื่อประเมินผลโครงการอย่างที่ควรจะทำ ขาดความรู้ความสามารถในด้านนี้อย่างรุนแรง ที่สำคัญไม่อยากจะเปิดเผยข้อมูลให้เป็นข้อมูลเปิด (Open data) ด้วย ประเทศไทยหาข้อมูลเปิดได้ยากลำบากกว่าในต่างประเทศอย่างมาก การทำให้ข้อมูลภาครัฐเป็นข้อมูลเปิดจะทำให้การตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนทำได้ง่าย เกิดความโปร่งใส ภาครัฐไทยนอกจากจะไม่พร้อมในเรื่องความแตกฉานด้านข้อมูลแล้วยังไม่อยากเปิดเผยข้อมูลอีกด้วย เพราะกลัวว่าความลับทางราชการจะรั่วไหลหรือไม่อยากให้ใครมาตรวจสอบได้ก็ไม่ทราบ ในฝั่งไอทีของราชการไทยก็มีปัญหาความพร้อมทางด้านดิจิทัล

นอกจากนี้ด้วยเหตุที่ความรู้ทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และความพร้อมด้านดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก คนที่เข้าไปรับราชการมีแนวโน้มที่จะตกยุคได้ไวมาก เนื่องจากงานมีความมั่นคงมากจนเกินไปจนไม่ต้องดิ้นรนที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การพัฒนา Software หรือโครงการ IT ของภาครัฐ เน้นกระบวนการตรวจสอบตาม Term of reference ทำให้อิงกับ Software Development Methodology แบบเดิมๆ ที่ต้องวิเคราะห์ระบบแล้วออกแบบระบบและเขียนโปรแกรมไปตามที่เขียนไว้ใน Term of reference ในการว่าจ้าง เรียกว่า Water fall model คือทำไปตามลำดับขั้นตอน แต่หลายครั้งการได้ความต้องการของผู้ใช้ (User requirement) ก็ไม่ตรง ออกแบบระบบมาไม่ดีพอ แต่ก็ต้องตะบี้ตะบันทำกันตาม TOR จนกว่าจะเสร็จและนำมาใช้จริงไม่ได้ ภาคเอกชนนั้นก้าวข้ามไปถึง Agile development หรือการพัฒนาซอฟท์แวร์อย่างรวดเร็ว โดยกระบวนการย้อนกลับไปมาและความร่วมมือระหว่างทีมหลายคน มีการแก้ไขขยาย/ลด/ปรับ requirement และการออกแบบอย่างรวดเร็ว ย้อนกลับไปมาระหว่างการทดสอบ software และการใช้งานจริง ค่อยๆ ขยับจากการทดสอบขนาดเล็กแล้ว scale up ขึ้นมาตามลำดับ วิธีการแบบนี้หากนำไปใช้ในระบบราชการ คงถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบอย่างหนักและไม่มีหน่วยราชการไหนกล้าทำเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ท้ายที่สุดมีแนวโน้มที่ผลงานจะดีมากกว่า สาเหตุหนึ่งคือไม่กล้าเพราะกลัวผิดระเบียบ แต่ที่หนักกว่าคือไม่เข้าใจวิธีการและไม่เคยทำมาก่อนเป็นต้น

เรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านรู้สึกขบขันคือการที่ประเทศไทยจะเป็น Thailand 4.0 แต่เรายังเน้นการถ่ายเอกสารบัตรประชาชนเป็นอาจิณในการติดต่อราชการ ซึ่งต้องขอยกย่องในความพยายามแก้ไขปัญหานี้ของรัฐบาล ทั้งๆ ที่บัตรประชาชนของไทยนั้นลงทุนสูงมาก เป็น smart card ได้แล้ว แต่ไม่ได้ทำให้มัน smart และเอาไปใช้งานอย่างอื่นได้อย่างไร เรื่องความล้าหลังของราชการสำหรับยุคดิจิทัล โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับพาณิชย์อีเล็คทรอนิคส์ยังมีอีกมาก และคงต้องรีบแก้ไขให้ทันท่วงที เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมก้าวไปข้างหน้า

แต่สิ่งที่น่าจะสำคัญกว่าการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายให้รองรับ Thailand 4.0 คือการพัฒนาข้าราชการไทย 0.4 ให้เป็นข้าราชการไทย 4.0 สิ่งที่ต้องเร่งคือการประเมินทดสอบข้าราชการไทยในด้าน Data literacy และ Digital readiness แล้วพัฒนา ซึ่งควรใช้ระบบ Coaching ซึ่งอาจจะต้องร่วมกับภาคอุดมศึกษาและภาคเอกชนในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ที่น่าห่วงที่สุดคือการศึกษาไทย 0.04 ประเทศไทยใช้จ่ายเงินงบประมาณด้านการศึกษามากเหลือเกินแต่ผลสัมฤทธิ์กลับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไม่ว่าจะ PISA หรือคะแนน TOEFL เฉลี่ยของไทย ในส่วนของ PISA นั้นคะแนนความแตกฉานทางคณิตศาสตร์และข้อมูลของประเทศไทยก็อยู่ในระดับต่ำ การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเป็นเพียงการเปลี่ยนโครงสร้างทำให้ข้าราชการครูมีตำแหน่งสูงขึ้น เช่นจากมีข้าราชการระดับ 11 จากปลัดกระทรวงเพียงคนเดียวก็มีข้าราชการระดับ 11 เพิ่มมาอีกสี่ห้าตำแหน่ง แต่โดยเนื้อหาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้นกับการศึกษา ปัญหาใหญ่สุดคือความรู้ความสามารถของครู เราไม่ได้คนเก่งมาเป็นครู และระบบการฝึกหัดครูของเราก็เน้นไปที่การสอนวิชาครูมากกว่าการมีเนื้อหาที่ถูกต้องแม่นยำก่อนที่จะไปสอน การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปครูให้มีความรู้ความสามารถมากกว่านี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ซึ่งมีปัญหาใกล้เคียงกับข้าราชการตำรวจ ซึ่งการโยกย้ายตำแหน่งต้องอาศัยพลังพิเศษบางประการใช่หรือไม่ เรื่องนี้ร่ำลือกันมายาวนาน และไม่เคยจางหายไปจากวงการครูไทยเลยแม้แต่สักครั้งเดียว

Thailand 4.0 จะไม่มีทางสำเร็จเลย หากข้าราชการไทยยังเป็นระบบ 0.4 และการศึกษาไทยยังเป็นระบบ 0.04 ขอฝากรัฐบาลไปลองคิดว่าจะแก้ปัญหาสองอย่างนี้อย่างไร หากจะทำให้ Thailand 4.0 ประสบความสำเร็จได้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น