xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา “รื้อปรับการเรียนการสอนสถิติศาสตร์เพื่อประเทศไทย” ก่อนจะเสียหายไปมากกว่านี้

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ภาพจาก pixabay.com
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาสถิติศาสตร์ศึกษาหรือการเรียนการสอนทางสถิติศาสตร์มีปัญหาและความท้าทายหลายประการ

ประการแรก ปัญหาของระบบสถิติทางการของประเทศมีปัญหาหนักมาก ดังที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ได้ศึกษาและนำเสนอแนวทางการปฏิรูประบบสถิติแห่งชาติเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน ซึ่งในรายงานได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ระบบสถิติของประเทศไทยมีปัญหา

1) การขาดเอกภาพในการทำงานด้านสถิติ หลายครั้งประชาชนจะสับสนกับสถิติทางการจากต่างหน่วยงานที่มีตัวเลขขัดแย้งกันเอง ไม่ตรงกัน ไม่เชื่อมโยงกัน

2) บทบาทของสำนักงานสถิติแห่งชาติขาดประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการระบบสถิติและการบริหารจัดการความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน ระบบสถิติไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์เพียงพอ โดยเฉพาะสถิติจังหวัดขาดความเข้มแข็งทางวิชาการและการแสวงหาความร่วมมือไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถเป็นแหล่งสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจของจังหวัดได้

3) หน่วยงานของรัฐมีความรู้ด้านสถิติไม่เพียงพอ ใช้ข้อมูลไม่เป็น เก็บข้อมูลไม่เป็น เชื่อมโยงข้อมูลไม่เป็น วิเคราะห์ข้อมูลไม่เป็น ไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ตัดสินใจ วางแผนนโยบายและประเมินผลได้ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่ตั้งอยู่บนหลักฐานและความรู้เพียงพอ

4) ประเทศไทยมีปัญหาการจัดทำดัชนีชี้วัดระดับนานาชาติ ขาดหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ต้องใช้ข้อมูลมากและประสานงานให้ดีแต่ไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่นี้ ระบบสถิติทางการไม่มีเพียงพอที่จะรองรับการจัดทำดัชนีชี้วัดระดับนานาชาติ ทำให้ประเทศไทยมีปัญหาจากการจัดอันดับระดับนานาชาติทำให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและความดึงดูดนักลงทุนไป

ประการที่สอง นโยบาย Thailand 4.0 ต้องการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy), เศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (Knowledge-based economy) และเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) เพื่อนำประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความแตกฉานทางสถิติและข้อมูลมาสร้างองค์ความรู้ที่นำไปปฏิบัติได้จริง นำไปสร้างโอกาสทางธุรกิจและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ประการที่สาม รัฐบาลต้องการพัฒนาไปสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-government) โดยมีการจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอีเล็กทรอนิคส์ (EGA) เพื่อนำสารสนเทศและการสื่อสารข้อมูลมาใช้ในบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานของรัฐ และภาครัฐต้องนำข้อมูลไปสร้างสารสนเทศเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน

ประการที่สี่ ความแตกฉานด้านข้อมูลและสถิติของนักเรียนไทย จากการสำรวจด้วย PISA พบว่ามีความแตกฉานด้านข้อมูลและสถิติต่ำมาก

ประการที่ห้า การเติบโตของวิทยาการข้อมูล (Data Science) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทแทนที่นักสถิติ หรือในอีกด้านหนึ่งนักคอมพิวเตอร์เข้ามาทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล สร้างสารสนเทศแทนนักสถิติ และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลายได้ดีกว่านักสถิติด้วย เช่น ข้อมูลรูปภาพ วีดีโอ ข้อความ เสียง และ สื่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักสถิติทำไม่ได้ แต่ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์และสำคัญมากต่อการทำงานจริงและการพัฒนาประเทศ ยิ่งในปัจจุบันเริ่มมีการเรียนรู้ของเครื่องจักรแบบอัตโนมัติ (Automated machine learning) ที่พยายามพัฒนาให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คิดเองได้ ว่าควรวิเคราะห์ข้อมูลหรือทำ machine learning ได้เองโดยไม่ต้องอาศัยนักคอมพิวเตอร์หรือนักสถิติด้วยซ้ำไป ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดและคำนึงถึงบทบาทของนักสถิติในอนาคต

ทั้งนี้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยได้กำหนดให้เป็นประเด็นการปฏิรูปคือ การพัฒนาสมรรถนะบุคลากรภาครัฐในด้านสถิติและสารสนเทศ โดยให้เป็นบุคลากรที่มีทักษะในการจัดการข้อมูลสถิติและสารสนเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานทางสถิติของประเทศ แสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางสถิติในภาครัฐมีความอ่อนด้อยทั้งด้านสถิติและสารสนเทศ และในอีกด้านหนึ่งสถิติศาสตร์ศึกษา (Statistical Education) ในประเทศไทยน่าจะมีปัญหาและล้าสมัยจนไม่สามารถสร้างบุคลากรทางสถิติและสารสนเทศได้มีมาตรฐานสากลและทำงานได้จริงจนทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสถิติทางการของประเทศไทย

สมาคมสถิติแห่งประเทศไทย คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เครือข่ายสถิติ มหาวิทยาลัยราชธานี และสถาบันราชภัฎอุบลราชธานี ได้ร่วมกันจัดงาน International Conference on Applied Statistics โดยจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ Reforming Statistical Education for Thailand 4.0 ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 มีวิทยากรคือ 1) ศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิง สุชาดา กีระนันท์ อดีตนายกสมาคมสถิติแห่งประเทศไทย อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบัน นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2) อาจารย์จีราวรรณ บุญเพิ่ม อดีตเลขาธิการสำนักงานสถิติแห่งชาติ อดีตปลัดกระทรวง ICT อดีตประธานบอร์ดซิปป้า กรรมการสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 3) รองศาสตราจารย์ ดร. มนทิพย์ เทียนสุวรรณ จากคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล รักษาการนายกสมาคมสถิติแห่งประเทศไทย 4) อาจารย์ ดร. ธนชาติ ฤทธิ์บำรุง จากมหาวิทยาลัยมหิดล มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาด้าน Business Analytics and Data Science ในภาคเอกชนมายาวนาน และ มี ผมเองเป็นผู้ดำเนินรายการ สามารถรับชมวีดีโอได้ดังลิงค์ต่อไปนี้ https://www.facebook.com/as.nida.ac.th/videos/10154605087860846/

ศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง สุชาดา กีระนันท์ ได้วิพากษ์ว่าการเรียนการสอนสถิติศาสตร์ในประเทศไทย ขาดความทันสมัย ไม่ได้ปรับตัวตามยุคสมัย เน้นการคำนวณแบบคณิตศาสตร์ แทนค่า ใส่สูตรมากเกินไป

ต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์มาให้ใช้

ต้องสอนให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของสถิติศาสตร์ ไม่ใช่สอนเด็กปริญญาตรีสาขาวิชาอื่นๆ จนเด็กนักศึกษาเกลียดกันหมด ไม่เห็นคุณค่าของสถิติศาสตร์

ต้องสอนให้รู้ว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร

นอกจากนี้หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่นเอาไปใช้ทำงานได้จริง ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา ต้องสอนให้นักเรียนเอาไปใช้งานได้จริง ทำอย่างไรให้เรียนให้สนุก เอาไปใช้ได้จริง ประยุกต์ได้จริง ถ้าจะไป Thailand 4.0 ก็จะทำได้ยาก นักสถิติต้องลุกขึ้นมาปรับหลักสูตรปริญญาทางสถิติศาสตร์ได้แล้ว และต้องมีเอกลักษณ์ของตัวเองในแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย

หลักสูตรสถิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีต้องมีความยืดหยุ่น หลักสูตรต้องอ่อนตัวและนักสถิติต้องมีความรู้ในสาขาอื่นๆ ด้วย ต้องมี double major หรือ minor ต้องเรียนเพื่อเอาไปประยุกต์ใช้กับสาขาวิชาอื่นๆ ได้จริง ต้องไม่ทำหลักสูตรแบบไซโลเป็นแท่งลงไปลึกจนพูดกับใครไม่รู้เรื่อง

การเรียนการสอนต้องมีตัวอย่างจริงให้มากที่สุด

ที่สำคัญสุดคือต้องเปลี่ยน mindset ของอาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องพัฒนาหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการของนักศึกษาซึ่งเป็น generation z และภาคธุรกิจ/ภาคราชการ

ประเทศไทยผลิตนักสถิติแบบโบราณทำให้อุปสงค์กับอุปทานไม่ตรงกัน ต้องลุกขึ้นมาปรับหลักสูตรและเปลี่ยนวิธีการสอนของอาจารย์สถิติ ต้องไม่สอนหนังสือแบบเดิม ให้เด็กไปแทนค่า ใส่สูตร คำนวณ แบบนั้นไม่มีทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

รองศาสตราจารย์ ดร.มนทิพย์ เทียนสุวรรณแนะนำว่าต้องมีการปรับหลักสูตรสถิติให้มีความเป็นสากล ต้องเรียนและสอนเป็นภาษาอังกฤษหรือมีความร่วมมือกับต่างประเทศหรือต่างคณะหน่วยงานมากขึ้น ปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับ generation z และต้องสอนให้สนุก ใช้ตัวอย่างจริง ใช้กรณีศึกษาให้มากที่สุด

อาจารย์ ดร.ธนชาติ ฤทธิ์บำรุง ได้วิพากษ์ว่านักสถิติรู้ลึกแต่ไม่รู้กว้างและนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่เป็น เน้นแต่การพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์แต่ทำงานไม่ได้จริง ทั้งๆ ที่สำคัญมากทางธุรกิจต้องการนักสถิติที่นำความรู้ทางสถิติมาประยุกต์ใช้ได้จริง สร้างความสามารถทางการแข่งขันได้จริง ไม่ใช่แต่รู้แต่ตัวเลข ต้องแปลงโจทย์ทางธุรกิจมาเป็นวิธีการทางสถิติได้ และแปลผลทางสถิติกลับมาเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ

อาจารย์จีราวรรณ บุญเพิ่ม ได้เล่าให้ฟังถึงพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระราชปรารภว่าต้องวางแผนพัฒนาประเทศจะต้องใช้ข้อมูลและสถิติเพื่อให้วางแผนได้ตรงตามความเป็นจริง ได้ทรงติดต่อ David Rockefeller ด้วยพระองค์เอง เพื่อมาพัฒนาสำนักงานสถิติแห่งชาติและพัฒนาสถิติศาสตร์ศึกษาในประเทศไทย นักสถิติในหน่วยราชการต้องเป็นเสนาธิการช่วยในการตัดสินใจของภาครัฐ แต่นักสถิติในภาครัฐยังไม่มีความสามารถเพียงพอ ทำให้ผู้บริหารในภาครัฐไม่สามารถนำสถิติและข้อมูลมาใช้ได้จริง เพราะไม่มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครอบคลุม สายงานสถิติในภาครัฐเป็นสายงานรอง ไม่สำคัญ และถูกลดบทบาทลงไปเรื่อยๆ สายงานสถิติไม่จำเป็น ขอยกเลิกและยุบลงไป หายไปจากภาครัฐแทบจะหมด ภาคการศึกษาต้องช่วยปฏิรูปการเรียนการสอนสถิติศาสตร์เพื่อให้สามารถพัฒนาบุคลากรสถิติให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอกับภาครัฐ นักสถิติต้องรอบรู้ ช่างสังเกต ตั้งคำถามเป็น ตั้งโจทย์ได้ ต้องมีความรู้ในสาขาวิชาอื่นๆ ด้วยจึงจะทำงานในภาครัฐและช่วยในการพัฒนาประเทศได้จริง การเรียนการสอนต้องใช้ข้อมูลจริงไม่ใช่ข้อมูลปลอมๆ ต้องสอนให้นักสถิตินำเสนอเป็น ต้องพูดให้ผู้ตัดสินใจเข้าใจได้ สื่อสารเป็นและน่าเชื่อถือ

นักสถิติและนักวิชาการทางสถิติคงต้องช่วยกันรื้อปรับการเรียนการสอนสถิติศาสตร์เพื่อประเทศไทยก่อนจะเสียหายไปมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น