xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องส่งลูกเรียนเมืองจีน?/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หัวเรื่องข้างบนนี้คือคำถามที่ดิฉันได้ยินบ่อยมาก แล้วตามมาด้วยคำถามต่อเนื่องและข้อแสดงความคิดเห็นอีกมากมาย ทั้งที่เห็นด้วยและมองว่ามาถูกทาง ทั้งที่ไม่เห็นด้วย ด้วยสารพัดเหตุผล แถมยังตบท้ายด้วยความหวังดีอย่างยิ่งว่าอย่าส่งลูกไปเลย ทั้งยังแนะประเทศสกุลภาษาอังกฤษที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนักให้พิจารณา

เหตุผลของคนที่เห็นด้วย ส่วนใหญ่บอกว่าประเทศจีนมาแรง เป็นประเทศมหาอำนาจ อนาคตจีนรุ่งแน่ และอีกสารพัด ฯลฯ

ส่วนเหตุผลคนที่ไม่เห็นด้วย บอกว่า ประเทศจีนไม่น่าอยู่ ห้องน้ำไม่น่าเข้า คนจีนชอบแซงคิว ถึงขนาดบางคนถามว่าเห็นข่าวนักท่องเที่ยวชาวจีนเรื่องคลิปอาหารบุฟเฟ่ต์ไหม หรือเรื่องที่วัดร่องขุ่น และอื่น ๆ อีกมากมายในมุมของพฤติกรรม

ทุกความเห็นที่ได้รับ ดิฉันรู้สึกเฉย ๆ และไม่ได้รู้สึกนึกคิดว่าต้องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับใคร เพราะดิฉันเชื่อว่าการที่คนเราจะเลือกหนทางชีวิตการศึกษาแบบไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของใคร หรือควรจะเชื่อใคร แต่ต้องขึ้นอยู่กับตัวลูกเป็นสำคัญ

เพียงแต่รู้สึกสะดุดกับเหตุผลของคนที่ไม่เห็นด้วย และพยายามโน้มน้าวว่าอย่าส่งลูกไปเรียนเลย ทุกคนให้เหตุผลบนพฤติกรรมของคนและภาพลักษณ์ภายนอกที่ไม่ชอบ

แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง “การศึกษาของจีน” เลยว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร !

ใช่หรือไม่ว่า เรามักตัดสินคนที่ “เปลือก” จนเคยชิน เรามักจะถูกครอบด้วยวิธีคิดว่าประเทศศิวิไลซ์เท่านั้นจึงจะดูดี และมาตรฐานศิวิไลซ์ของบ้านเราส่วนใหญ่คือตะวันตก

พลันทำให้นึกถึงงานที่ตัวเองเคยไปร่วมเป็นพิธีกรในงาน “อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” จัดโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งได้มีการนำผลสำรวจของ OECD (ผู้จัดการทดสอบ PISA) ในการจัดอันดับระบบการศึกษาที่มีความเท่าเทียมกันทางคุณภาพของโรงเรียน มีทั้งหมด 65 ประเทศ

การศึกษาครั้งนั้น พบว่า เซี่ยงไฮ้มีระบบการศึกษาอันดับ 1 ของโลก ทั้งผลการสอบและในแง่ความเท่าเทียมทางคุณภาพของโรงเรียนมากที่สุด จึงถูกจัดอันดับว่าเป็นระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดช่องว่างคุณภาพระหว่างสถานศึกษาภายใน 3 ปี ทำให้เด็กส่วนใหญ่มีสัมฤทธิผลทางการศึกษาใกล้เคียงกันได้

ในอดีต ประเทศจีนก็เคยประสบปัญหามากมายเรื่องการศึกษาจนทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปการศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวและจริงจัง จนวันนี้ก้าวขึ้นมายืนอยู่บนแถวหน้า ไม่ใช่เรื่องของโชคแน่

ส่วนเรื่องพฤติกรรมของชาวจีนจำนวนหนึ่งที่เป็นข้อกังขาต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นเรื่องที่คนในชาติเขาต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่ทำให้เราเหมาว่าเขาเป็นอย่างนี้ทั้งประเทศ และสรุปเอาว่าไม่น่าส่งลูกไปเรียน

กว่าลูกดิฉันจะตัดสินใจไปเรียนต่อประเทศจีนหลังจบชั้นมัธยมศึกษา ไม่ใช่เรื่องวันสองวัน แต่ผ่านการพิจารณาและเตรียมการมาไม่น้อยกว่า 4 ปี โดยปรึกษากันในครอบครัวตลอด เริ่มตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ว่าจะเลือกเรียนมัธยมปลายแผนไหน วิทย์หรือศิลป์ ศิลป์คำนวณหรือศิลป์ภาษา สุดท้ายก็มาลงเอยที่ศิลป์ภาษาจีน ในตอนแรกลูกก็เหมือนคนอื่น ๆ โดยทั่วไปที่มองประเทศจีนด้วยแว่นตะวันตก จวบจนกระทั่งซัมเมอร์ช่วงปิดเทอมหลังมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ไปเรียนที่เมืองเฉิงตู มหาวิทยาลัยเสฉวนด้วยระยะเวลา 1 เดือน เมื่อได้เจอประเทศจีนยุคปัจจุบันมุมมองของลูกก็เริ่มเปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปมากขึ้นเมื่อซัมเมอร์ปีต่อมาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แม้จะเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ เพียง 15 วัน แต่ก็ทำให้เขาได้เห็นประเทศจีนในแทบทุกด้าน ทั้งด้านความทันสมัยด้านคมนาคม ด้านการแซงคิว และด้านอากาศขมุกขมัวที่ปักกิ่ง จนเริ่มเบนเข็มมาที่เซี่ยงไฮ้ และได้เดินทางไปดูสภาพที่มหาวิทยาลัย 2 แห่งในเซี่ยงไฮ้เมื่อปลายปีที่แล้ว

การเดินทางที่ยาวนานของเด็กแต่ละคนต่อการเรียนในโรงเรียนจนจบระดับชั้นมัธยมปลายและจะเรียนต่อระดับปริญญาตรีในสาขาใด มหาวิทยาลัยไหน อยู่ที่ใด ไม่สำคัญเท่าเราวางเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างไร และเหมาะกับเด็กหรือไม่

เหตุผลมากมายที่เด็กไทยเรียนหนังสือในระบบแล้วยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไรเพราะ…

หนึ่ง - เรียนตามพ่อแม่

พ่อแม่ว่าอย่างไรก็เรียนอย่างนั้น เนื่องเพราะเด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้จักตัวเอง ส่วนใหญ่เดินตามที่พ่อแม่ออกแบบชีวิตให้ มักไม่ค่อยรู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไรจริง ๆ เด็กจำพวกนี้เมื่อออกไปทำงานจริง มักจะเปลี่ยนงานบ่อย เพราะเมื่อทำงานที่นี่ก็รู้สึกไม่ใช่ ทำงานที่นั่นก็รู้สึกไม่เหมาะ บางคนอาจค้นหาตัวเองไปตลอดชีวิตก็มี

สอง - เรียนตามเพื่อน

ต้องยอมรับว่าเด็กจำนวนไม่น้อยที่คิดแบบนี้ เพราะขาดการชี้แนะที่เหมาะสม และเมื่อยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี ก็จะเลือกตามเพื่อนก็แล้วกัน

สาม - เรียนเพราะสถาบันดูดี

มีไม่น้อยที่เด็กเลือกเพราะชื่อสถาบัน โดยไม่สนใจว่าจะเรียนคณะที่ตัวเองชอบไหม หรือเรียนรายวิชาอะไรบ้าง ขอให้เป็นคณะอะไรก็ได้ แต่อยู่สถาบันนี้ก็พอแล้ว

สิ่งที่ตามมาก็คือ เด็กไม่ได้เรียนเพื่อตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร และชอบอะไร และสุดท้ายเมื่อเรียนจบแล้ว ก็จะต้องเผชิญปัญหาเรื่องทำงานในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ หรือทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนจบมา ฯลฯ

โดยส่วนตัวดิฉันก็ไม่เชื่อเรื่องการศึกษาในระบบอย่างเดียวที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิต และการประสบความสำเร็จในชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ที่สารพัดกระดาษที่บอกเล่าว่าเด็กเรียนจบจากที่ไหน หรือสารพัดรางวัลที่บอกว่าเด็กได้รับรางวัลอะไรบ้างเท่านั้น

จะดีกว่าไหมถ้าเราฟังเสียงลูก และเปิดโอกาสให้เขาเรียนในสิ่งที่ชอบ ในสิ่งที่เขาถนัด และวางแผนเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน มิใช่เรียนตามกระแส หรือเรียนตามความชอบหรือไม่ชอบ แต่เราควรสอนและสนับสนุนให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ที่ถนัด และมีเป้าหมายชัดเจน

จะเป็นเมืองจีน เมืองไทย หรือเมืองไหน ก็ขอให้อยู่ที่ตัวลูกเป็นสำคัญ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น