xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงคุณภาพการศึกษาเด็กไทยเทียบเวทีโลก เล็งปรับหลักสูตรการเรียนสอนภาษาอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีรับฟัง แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2574) ที่จ.ขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เวทีรับฟังแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2574) ที่ขอนแก่น เลขาธิการสภาการศึกษา ห่วงคุณภาพการศึกษาเด็กไทยเทียบกับอาเซียน และระดับสากลยังอยู่ในขั้นไม่น่าพอใจ ยกผลสอบ PISA ไทยติดอันดับที่ 49 ของโลก ชี้สาเหตุจากนโยบายสร้างโอกาสทางการศึกษา มีโรงเรียนมากแต่ไม่มีคุณภาพ เล็งปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน ปรับปรุงการสอนภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม

วันนี้ (22เม.ย.) ที่ห้องคอนเวนชัน 2 โรงแรมเซ็นทารา แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองขอนแก่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ยุทธศาสตร์และมาตรการของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2574) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อนำเสนอทิศทางแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งระดมความคิดเห็นเพื่อเป็นแม่บทด้านพัฒนาการศึกษาแห่งชาติในระยะเวลาดังกล่าว โดยมี ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน และระดับสากล ว่า คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน และประเทศอื่นทั่วโลกยังถือว่าอยู่ในขั้นไม่น่าพอใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการสอบพิซ่า PISA ซึ่งเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย เราได้อันดับที่ 49 ของโลก ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกัน มีหลายเรื่องที่เราอยู่ในอันดับต้น แต่หลายเรื่องก็อยู่ในอันดับท้ายๆ

สาเหตุเกิดจากระบบการศึกษาของไทยที่สร้างโอกาสให้เด็ก คือ มีโรงเรียนจำนวนมากเพียงพอต่อเด็ก แต่คุณภาพทางการศึกษาของนักเรียน และโรงเรียนยังไม่ดีพอ โดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือโอเน็ต คะแนนยังไม่สูงเท่าที่ต้องการ คะแนนยังมีความแตกต่างกันมากระหว่างโรงเรียนในเมือง กับโรงเรียนในชนบท หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ กับโรงเรียนขนาดเล็ก

ดร.กมล กล่าวต่อว่า ส่วนกระบวนการแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการไป 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก ปรับหลักสูตรการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใหม่ที่เรียกว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เน้นให้เด็กได้เรียนรู้ศึกษาด้วยตนเอง เรียนรู้พัฒนา 4 ด้าน คือพัฒนาด้านร่างกาย พัฒนาสมอง พัฒนาฝีมือ และพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม

ส่วนที่สอง คือ ปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่มีความรู้ทางภาษามากขึ้น และสุดท้าย ปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กับครูที่เก่ง ที่มีคุณภาพ

ที่สำคัญขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาจังหวัด หรือ กศจ. ทำให้แต่ละจังหวัดสามารถกำหนดทิศทางการศึกษาของตนเองได้ สามารถกำหนดแผนพัฒนาโดยปิดจุดอ่อนแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ภาพรวมคุณภาพการศึกษาต่อจากนี้ไปในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า จะพัฒนาสมรรถนะทางการศึกษาของเด็กไทยให้เทียบเท่ากับประเทศอาเซียน และระดับสากล

ดร.กมล กล่าวถึงแผนพัฒนาทางการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มองการพัฒนา 4 เรื่องใหญ่ คือ การพัฒนาครู พัฒนาผู้บริหาร เพราะว่าครู หรือบุคลากรมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ส่วนที่สอง มองเรื่อง การปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน เดิมเคยเรียนหลายวิชาเกินไปทำให้เด็กเกิดความเครียด และไม่ได้พัฒนาเด็กแบบองค์รวม ในยุคใหม่จะต้องปรับปรุงหลักสูตร

ส่วนที่สาม เรื่องระบบการบริหารจัดการ เช่น การบริหารเขตพื้นที่ การบริหารโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และส่วนสุดท้าย คือ การใช้งบประมาณ การระดมทุนเพื่อการศึกษา หรือการลดภาษีของภาคเอกชนมาใช้เพื่อการศึกษา นำมาสนับสนุนให้ระบบการศึกษาของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ ทุกคนจะต้องปรับตัว ทั้งผู้บริหารการศึกษา โดยเฉพาะตัวครูจะต้องปรับปรุงตัวให้มากขึ้น มุ่งมั่นทำงานมากขึ้น พยายามบูรณาการทุกภาคส่วนมาช่วย จะทำให้แผนพัฒนาการศึกษาของไทยมีคุณภาพ


ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น