xs
xsm
sm
md
lg

ผลการสอบ PISA ปี 2015 เด็กไทยอยู่อันดับที่ 55 : ปฏิรูปการศึกษาด้วยพุทธธรรม

เผยแพร่:   โดย: ดร.โยธิน มานะบุญ และ ศ.นพ.ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

(แฟ้มภาพ)
ดร.โยธิน มานะบุญ
นักวิชาการอิสระ
และ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2549
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย ประจำปี 2551


ผลการสอบ Programme for International Student Assessment (PISA) ปี 2015 ปรากฏว่า เด็กสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 1 เด็กเวียดนามอยู่อันดับที่ 8 และ เด็กไทยอยู่อันดับที่ 55 และเป็นประเด็นร้อนที่ถูกวิพากษ์อยู่ในสังคมไทยในขณะนี้ สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เข้าร่วมนอกจากสิงคโปร์และเวียดนาม ประเทศไทยยังคงมีอันดับที่ดีกว่าอินโดนีเซีย ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจนอยู่ในลำดับที่ใกล้เคียงกับไทยมาก ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความเป็นมาของการสอบ PISA และแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข

PISA เป็นโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ปัจจุบันนี้มีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศ การดำเนินงานของ PISA ในประเทศไทยมี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินโครงการ PISA ในประเทศไทย โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งในและต่างประเทศ

ประเทศไทยไม่ใช่สมาชิก OECD แต่สมัครเข้าร่วมโครงการในฐานะประเทศร่วมโครงการ (Partner countries) โดยเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 (PISA 2000) และดำเนินการต่อเนื่องมาใน PISA 2003, PISA 2006, PISA 2009 และ PISA 2012 โดยจัดการประเมินต่อเนื่องทุกสามปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินงานในโครงการ PISA 2015 และ PISA 2018 ทั้งนี้เพื่อต้องการตรวจสอบคุณภาพของระบบการศึกษา และสมรรถนะของนักเรียนวัยจบการศึกษาภาคบังคับของชาติเกี่ยวกับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต โดยใช้มาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นเกณฑ์ชี้วัด ผลสัมฤทธิ์จากการทำแบบทดสอบและข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน รวมทั้งข้อมูลนโยบาย การบริหารจัดการ และการจัดการเรียนการสอนจากผู้บริหารของโรงเรียนทำให้ได้ข้อมูลคุณภาพการศึกษาของประเทศ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การประเมินและพัฒนานโยบายทางการศึกษาการพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอนของประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติต่อไป

PISA เลือกประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่จบการศึกษาภาคบังคับ การสุ่มตัวอย่างนักเรียนทำตามระบบอย่างเคร่งครัด เพื่อประกันว่านักเรียนเป็นตัวแทนของนักเรียนทั้งระบบ อีกทั้งการวิจัยในทุกขั้นตอนต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ OECD ทุกประเทศต้องทำตามกฎเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การวิจัยมีคุณภาพอยู่ในระดับเดียวกัน และข้อมูลของทุกประเทศมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ และตามข้อตกลงในการดำเนินโครงการ PISA ของ OECD ไม่อนุญาตให้เปิดเผยรายชื่อของโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง สำหรับ PISA ประเทศไทย ได้กำหนดกรอบการสุ่มตัวอย่าง (sampling frame) เป็นนักเรียนอายุ 15 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ขึ้นไป จากโรงเรียนทุกสังกัด

PISA ประเมินสมรรถนะที่เรียกว่า Literacy ซึ่งในที่นี้จะใช้คำว่า “การรู้เรื่อง” และ PISA เลือกประเมินการรู้เรื่องในสามด้าน ได้แก่ การรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และ การรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)

PISA ได้แบ่งการประเมินออกเป็น 2 รอบ กล่าวคือ รอบที่ 1 (Phase I: PISA 2000 PISA 2003 และ PISA 2006) และรอบที่ 2 (Phase II: PISA 2009 PISA 2012 และ PISA 2015) ในการประเมินผลนักเรียนจะวัดความรู้ทั้ง 3 ด้าน แต่จะเน้นหนักในด้านใดด้านหนึ่งในการประเมินแต่ละระยะ กล่าวคือ

1.การประเมินผลระยะที่ 1 (PISA 2000 และ PISA 2009) เน้นด้านการอ่าน (น้ำหนักข้อสอบด้านการอ่าน 60% และที่เหลือเป็นด้าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์อย่างละ 20%)

2.การประเมินผลระยะที่ 2 (PISA 2003 และ PISA 2012) เน้นด้านคณิตศาสตร์ (น้ำหนักข้อสอบด้านคณิตศาสตร์ 60% และด้านการอ่าน และวิทยาศาสตร์อย่างละ 20%)

3.การประเมินผลระยะที่ 3 (PISA 2006 และ PISA 2015) เน้นด้านวิทยาศาสตร์ (น้ำหนักข้อสอบด้านวิทยาศาสตร์ 60% และด้านการอ่าน และคณิตศาสตร์อย่างละ 20%)

นอกจากข้อสอบของ PISA จะประเมินการรู้เรื่อง (Literacy) ในสามด้าน ได้แก่ การรู้เรื่องการอ่าน (Reading Literacy) การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) แล้ว ยังมีการดำเนินการในส่วนของการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน และการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการฯ อีกด้วย (ที่มา : pisathailand.ipst.ac.th)

ผลการสอบ PISA ของประเทศไทยครั้งก่อน ในปี 2012 ปรากฏว่า เด็กไทยได้คะแนนคณิตศาสตร์ในลำดับที่ 50 วิทยาศาสตร์ในลำดับที่ 48 และการอ่านในลำดับที่ 47 อันดับรวมสามวิชาโดยเฉลี่ยอยู่ราวๆ 48-49 ในขณะที่การสอบครั้งล่าสุด ปี 2015 อันดับรวมของประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 55 ลดลงจากครั้งก่อน (ปี 2012) 6-7 อันดับ หากพิจารณาถึงความมุ่งหวังของการสอบ PISA แล้ว แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนในสองประเด็นสำคัญคือ 1. สังคมไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมากในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น และ 2. การศึกษาของไทยประสบผลสำเร็จในการตอบสนองต่อหลักสูตร แต่ล้มเหลวต่อการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงของเด็กไทย ในประเด็นแรกเห็นได้ชัดเจนจากความสำเร็จของเด็กไทยในการแข่งขันทางวิชาการในระดับนานาชาติซึ่งประสบความสำเร็จเยอะแยะมากมาย ทั้งนี้ผู้เขียนยังเชื่อว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนของเด็กเล่านี้คงจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของเด็กสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่งเสียด้วยซ้ำไป แต่เด็กที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ส่วนใหญ่มาก ๆ มาจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียง สำหรับประเด็นที่สองเป็นความจริงอันน่ากลัวของสังคมประเทศไทยคือ การขาดความรู้ความเข้าใจของระบบการศึกษาของไทยในอันที่จะแปลงความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ด้วยเพราะติดยึดต่อการตีกรอบของเนื้อหาวิชา และการประเมินและติดตามผลในเชิงปริมาณ โดยปราศจากการนำบริบทตามแต่ละ ท้องถิ่น (พื้นที่) สถานศึกษา ผู้เรียน และผู้สอน มาออกแบบการประเมินในเชิงคุณภาพ โดยมิให้กลายเป็นภาระของทุกฝ่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แนวทางในการปรับปรุงแก้ไข : ปฏิรูปการศึกษาด้วยพุทธธรรม

ผู้เขียนขอเสนอวิธีปรับปรุงแก้ไขการศึกษาไทยด้วยพุทธธรรม ด้วยการนำเอาคำสอนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 ซึ่งหมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค โดยนำเอาผลการสอบ PISA ได้อันดับที่ 55 เป็นกรณีศึกษา


ทุกข์
- เด็กไทยอยู่อันดับที่ 55
- เยาวชนไทยมีจิตสำนึกสาธารณะน้อย
- เยาวชนไทยมีอิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) น้อย

สมุทัย หรือเหตุแห่งทุกข์
1. ระบบทำให้ครูประเทศไทยทำงานที่ห่างเหินนักเรียน และทำงานประเมินที่เน้นกระบวนการไม่สนใจผลลัพธ์ (ผลการเรียนการสอบของนักเรียน)
2. แบบเรียนและการสอบวัดผล เอื้อต่อการท่องจำ ไม่สนับสนุนการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา
3. สภาพสังคมขาดระเบียบวินัย เห็นเงินและค่านิยมสำคัญกว่าคุณค่าที่แท้จริง เช่น เห็นปริญญาสำคัญกว่าความรู้
4. ขาดการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ในการปลูกฝัง อิทธิบาท 4 โดยพึ่งแต่การศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น
5. สภาพร่างกายและจิตใจของเยาวชนไทย เช่น ขาดอาหาร สภาพสังคมปัจจุบัน

นิโรธทางดับทุกข์
- การเรียนรู้ย่อมพัฒนาคน ให้คิดเป็น ให้รู้เหตุผล รู้คุณค่า รู้ทางสายกลาง และ แก้ปัญหาเป็น
- การเรียนรู้ย่อมพัฒนาคน ให้ทำเป็น
- การเรียนรู้ย่อมพัฒนาคน ให้มีอิทธิบาท 4
- การเรียนรู้ย่อมพัฒนาคนมีคุณธรรม และมีจิตสำนึกสาธารณะ
- บุคคลควรพัฒนาทั้งสุขภาพกายและใจ
- การร่วมแรงร่วมใจกัน ระหว่าง เด็กนักเรียน ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง รัฐบาล และสังคม

มรรคหรือทางดับทุกข์
- แก้ที่ สมุทัย เพื่อให้เกิด นิโรธ ด้วยการ
1. ลด ละ เลิก สิ่งที่เกินจนเป็นภาระ ได้แก่ การประเมินไร้สาระ และงานที่ทำให้ครูต้องห่างจากการดูแลนักเรียน
2. ให้รางวัล ครู เพื่อจูงใจในการสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่ถูกต้อง ได้แก่ ครูที่ให้เวลาและดูแลนักเรียนอย่างมีคุณภาพ สามารถสอนให้ นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น และมีอิทธิบาท 4
3. จัดกระบวนการบริหารจัดการความรู้ ให้ครูที่เก่งในข้อ 2 ถ่ายทอดประสบการณ์
4. จัดผู้ประสบความสำเร็จในสาขาต่าง ๆ เดินสาย ถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดแก่ เยาวชน
5. พัฒนาแบบเรียนให้คิดเป็น ทำเป็นและมีอิทธิบาท 4
6. จัดผู้ประสบความสำเร็จในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะที่คิดเป็น ทำเป็นและมีอิทธิบาท 4 มามีส่วนร่วมในการจัดทำแบบเรียน
7. ส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนคุณธรรมโดยให้นักเรียนร่วมกันคิดสร้างกิจกรรมเพื่อทำความดี โดยให้พ่อแม่มีส่วนร่วม
8. พัฒนาทั้งสุขภาพกายและใจโดยร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครอง
8.1 ปรับสภาพจิตใจ โดยจัดเวลา ทำสมาธิภาวนา เพื่อสร้าง ปัญญา (ภาวนามยปัญญา)
8.2 ปรับสภาพร่างกายเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และสมดุลต่าง ๆ เช่นการพักผ่อน
9. จัดทำแบบเรียนที่มีแบบฝึกหัดในแนวทางเดียวกับข้อสอบของ PISA

ข้อเสนอในการจัดการสอบประเมินผลการเรียนในประเทศ
- ออกข้อสอบการประเมินในระดับชาติ ทั้ง O-net และ A-net ในแนวทางเดียวกับข้อสอบของ PISA

ข้อเสนอในการประเมินระบบการศึกษาของประเทศไทย

นโยบาย
1.First of all do no harm
1.1 การประเมินต้องไม่กินเวลาครูที่จะให้แก่นักเรียน
1.2 องค์กรผู้ประเมินต้องไม่กลายเป็นคนกำหนดแบบเรียนทางอ้อม
1.3 การประเมินต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความคิดนอกกรอบ
1.4 การประเมินต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้นอกตำรา ปัจจุบันวิธีการประเมินใช้แบบฟอร์มที่ออกจากส่วนกลางเป็นหลัก แล้วส่งคนไปตรวจเอกสารว่าครูทำครบตามมาตรฐานที่กำหนดในแบบฟอร์มประเมินหรือไม่ การทำงานแบบนี้ทำให้ ครูต้องใช้เวลาในการตรวจประเมิน เพราะเป็นงานเอกสารเพิ่มเติมจากที่ทำอยู่ ครูจะต้องปรับการสอนของตนให้อยู่ในกรอบของแบบประเมิน ผลเสียคือ ครูไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนนักเรียนแบบใกล้ชิด ไม่สามารถปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น หรือภูมิภาคนั้น ๆ และไม่สามารถใช้ความสามารถที่แตกต่างกันของครูแต่ละคนมาเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนได้

2.การประเมินในระดับโรงเรียนองค์กรผู้ประเมินควรทำงานร่วมกับ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในระดับอาชีวะ และมหาวิทยาลัยองค์กรผู้ประเมินควรทำงานร่วมกับ สภา สมาคม หรือสถาบันวิชาชีพของวิชานั้น ๆ เพื่อให้ผลการประเมินสอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ ของนักเรียน

3.องค์กรผู้ประเมินควรเปลี่ยนแนวทางดำเนินการจากการควบคุมมาตรฐาน เป็นหน่วยงานที่สามารถตรวจหาสาเหตุของปัญหาและปัจจัยของความสำเร็จ โดยสามารถตรวจหาครูและ โรงเรียนที่มีการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐาน ตามมาตรฐาน และดีกว่ามาตรฐาน พร้อมทั้งหาสาเหตุ ในกรณีต่ำกว่ามาตรฐานสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ในกรณีดีกว่ามาตรฐานหากพบสาเหตุว่าเป็นวิธีการสอนของครู องค์กร ควรมีบทบาทให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้ ได้แก่การถ่ายทอดแนวทางการสอนให้แก่ โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป

4.องค์กรผู้ประเมินต้องสร้างวิธีการประเมินที่ส่งเสริมให้ครูและเยาวชนเป็นคนดี
4.1 การทำให้คนคิดดีและทำดีอย่างสม่ำเสมอจะทำให้คนเป็นคนดีได้ การให้ภาระงานเอกสารครูหรือทำงานอื่นที่ละเลยการสอน จะทำให้ครูห่างเหินนักเรียนมีผลทำให้ครูไม่ได้ทำความดีในหน้าที่ของครู ดังนั้นควรเน้นการประเมินครูในการให้เวลาแก่นักเรียนอย่างมีคุณภาพ
4.2สนับสนุนกิจกรรมร่วมกันทำความดี ในรูปแบบโรงเรียนคุณธรรมในระดับโรงเรียน

5.การประเมินจะต้องสามารถทำนายได้ว่านักเรียนจะสามารถทำ ข้อสอบของ PISA ได้หรือไม่

แผนการดำเนินงาน
1.ปรับรูปแบบการประเมิน โดยเปลี่ยนร่วมมือกับ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และ สภา สมาคม หรือสถาบันวิชาชีพในระดับอาชีวะ และมหาวิทยาลัย เพื่อสืบค้นหา ครู และสถาบันการศึกษาที่มีผลการศึกษาดีตามมาตรฐาน และที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
2.จัดผู้มีประสบการณ์ในวิชาและการวินิจฉัยสาเหตุเยี่ยมและศึกษา ครู และสถาบันการศึกษาที่มีผลการศึกษาทั้งดีกว่า เป็นไปตาม และที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (ในระดับโรงเรียนควรเป็น ครู และกุมารแพทย์ที่มีประสบการณ์ เช่น ครูและแพทย์ที่เพิ่งเกษียณ)
3.ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ ผลการเรียนต่ำ และบริหารจัดการความรู้ในกรณีที่ผลการเรียนดี เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่โรงเรียนที่ขาดสาเหตุนั้น
4.พัฒนาวิธีประเมิน การให้เวลาแก่นักเรียนของครูอย่างมีคุณภาพ
5.พัฒนาวิธีประเมิน กิจกรรมโรงเรียนคุณธรรม โดยเน้นการการเผยแพร่กิจกรรมนั้น ๆ ให้สังคมรับทราบ และให้สังคมเข้ามามีมีส่วนร่วม เช่น ใช้ Social media สื่อสารมวลชนในรูปแบบ ต่าง ๆ ฯลฯ

สังคมไทยต้องช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหานี้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น