xs
xsm
sm
md
lg

อดีต รมว.ศธ.รัฐบาล ปชป.หนุน คสช.ปฏิรูปการศึกษา แนะปิดช่องใช้ครูเป็นฐานการเมือง หวั่นแค่จัดสรรอำนาจผู้บริหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต รมว.ศึกษาฯ รัฐบาล ปชป.ให้กำลังใจ คสช.ออกคำสั่ง 2 ฉบับปฏิรูปการศึกษาชาติ แต่ยังไม่ดีที่สุด แนะ 3 ข้อแก้แบบองค์รวม ยึดระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลผู้มีวิชาชีพครู อย่าใช้ครูเป็นฐานการเมือง อาจได้ก้อนอิฐมากกว่าเสียงปรบมือ “หมอวรงค์” หวั่นเป็นเพียงการจัดสรรอำนาจของผู้บริหาร

วันนี้ (22 มี.ค.) มีรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กพรรคประชาธิปัตย์ได้เผยแพร่บทความของนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงกรณีมีคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 10/2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค โดยนายชินวรณ์ระบุว่าคำสั่งครั้งนี้มีผลสะเทือนต่อการปฏิรูปการศึกษา จึงสมควรได้ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ในเบื้องต้น ดังนี้

1.) คำสั่งทั้งสองฉบับนี้ยังมองถึงปัญหาการศึกษาของชาติไม่เป็นองค์รวม ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการที่ไม่มีเอกภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการในแต่ละยุคสมัยไม่มีความรู้แต่อยากชี้ประกอบกับครูและบุคลากรทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ขาดคุณภาพ การแก้ปัญหาการบริหารกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่เป็นองค์รวม

2.) เมื่อมาดูเหตุผลในการประกาศคำสั่ง 2 ฉบับนี้จะเน้นในเรื่องความเรียบร้อย และการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและความไม่เป็นเอกภาพ ก็ต้องยอมรับว่ามีปัญหาดำรงอยู่จริง แต่ไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาในทางสากล คือเรื่องคุณภาพการศึกษา เรื่องการมีส่วนร่วม และเรื่องการกระจายอำนาจการบริหารศึกษา ตลอดถึงระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลผู้มีวิชาชีพครู 3.) ถึงแม้ว่าคำสั่งทั้งสองจะเน้นในการบูรณาการภารกิจในเรื่องการศึกษาของประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารงานโดยประชารัฐ แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้วจุดหลักของคำสั่งทั้งสองเน้นที่การบริหารงานบุคคล เอาอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายมาไว้ที่คนคนเดียว และจัดตั้งองค์ใหม่ในระดับภูมิภาค จำนวนสิบแปดภูมิภาคและจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทั้งที่หน่วยงานเขตพื้นที่ก็ยังคงมีทั้งประถมและมัธยมศึกษา และที่สำคัญคือ หน่วยงานการศึกษาในระดับอาชีวะและระดับมหาวิทยาลัย ไม่ได้เข้ามาร่วมบูรณาการเลย

“ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอด้วยว่า 1.) ผมมองในแง่บวกว่านี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หากจะปฏิรูปการศึกษาควรจะดำเนินการโดยองค์รวมอย่างจริงจัง กล่าวคือปัญหาการศึกษาของชาติในช่วง 10 ปีมานี้อยู่ที่ส่วนกลางคือที่กระทรวง หากยังจัดการศึกษาจากข้างบนลงมาข้างล่างหรือพูดได้เต็มปากว่า 120 ปีที่สู่ความล้มเหลว ปัญหาคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ขาดคุณภาพมากที่สุดไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และศักยภาพการแข่งขัน แต่ส่วนใหญ่ฝ่ายการเมืองไม่กล้าแตะ จึงมาแตะและเตะในระดับล่างคือในระดับภูมิภาคเท่านั้น

2.) การปฏิรูปการเรียนรู้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพครู หากไม่สามารถสร้างครูดีครูเก่งได้ภายใน 10 ปี การศึกษาไทยจะล้มเหลวมากกว่านี้ และหากจะปฏิรูปการศึกษา ต้องปฏิรูปครูมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะครูของครู หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องเป็นที่ยอมรับจริง และต้องมีผลงานทางด้านวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง 3.) การลงทุนทางการศึกษาเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ หากจะปฏิรูปการศึกษาจะต้องดำเนินการให้โปร่งใส ให้ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง การระดมทรัพยากรทางการศึกษาจะต้องรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอาชีวศึกษาต้องจัดร่วมกันกับผู้ประกอบการ

สรุปขอให้กำลังใจกับคณะ คสช.ที่ออกคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ และหวังว่าการแก้ปัญหาการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคควรมีเอกภาพ มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ให้เร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาโดยองค์รวมต่อไป เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เป็นไปตามเป้าประสงค์และมีศักยภาพในการแข่งขันกับสังคมโลกในยุคที่4 หรือยุคดิจิทัลในอนาคต อย่าเป็นเพียงที่เพื่อจะหวังให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นฐานทางการเมือง สุดท้ายท่านจะได้ก้อนอิฐมากกว่าเสียงปรบมือนะครับ”

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า สิ่งที่จะต้องพิจารณาคำสั่งทั้งสองฉบับ จะนำไปสู่การปฏิรูปเชิงคุณภาพของการศึกษาชาติได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ปฏิรูปโครงสร้างทางอำนาจของผู้บริหารเท่านั้น โดยเปลี่ยนจากเหล้าที่อยู่ในขวดปัจจุบัน นำไปใส่ขวดเก่าที่เคยมีมาในอดีต โจทย์ใหญ่ทางคุณภาพการศึกษา คือ ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนนั่นคือ ผอ.โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง หลักสูตร งบประมาณ การบริหาร เพื่อให้เด็กไทยสัมฤทธ์ผลคุณภาพ 7 ด้าน คือ 1. เป็นคนเก่ง ซึ่งเป็นเรื่องทางวิชาการ หลักสูตร ที่เด็กต้องได้รับตามมาตรฐาน 2. เป็นคนดี เป็นเรื่องเชิงคุณธรรม จริยธรรมที่จะต้องกล่อมเกลาตั้งแต่อนุบาลเป็นต้นไป 3. มีวินัย เป็นพื้นฐานของการเคารพกติกา กฏหมายของสังคม 4. มีเหตุมีผล เป็นเรื่องที่ต้องฝึกเด็กให้ใช้เหตุใช้ผล การคิดและวิเคราะห์ เพื่อให้เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ 5. ความสามารถสื่อสารได้สองภาษา 6. ทักษะชีวิต ความสามารถเอาตัวรอดในสังคม นอกตำราเรียน ข้อนี้ทราบว่ากระทรวงศึกษาพยายามทำ และ 7. การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแก่วัย

ถ้าพิจารณาคำสั่ง คสช.ทั้งสองฉบับดังกล่าวจะพบว่ายังไม่ได้ตอบโจทย์ที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่โรงเรียนและห้องเรียน แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้รวมศูนย์การบริหารงานที่แตกกระจายมาอยู่ที่แห่งเดียวภายในจังหวัด ดังนั้น ถ้ารับรู้ถึงเป้าหมายเชิงคุณภาพของการศึกษา จะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่โรงเรียนและห้องเรียน รัฐบาลและ คสช.ต้องไม่หยุดเพียงแค่สองคำสั่งนี้ ต้องมีคำสั่งเพิ่มเติมในการเพิ่มอำนาจ การบริหารบุคคลากร เพิ่มเติมงบประมาณตรงสู่โรงเรียน ยกเลิกการประเมินแบบเก่า โดยหันมาประเมินนักเรียนเพื่อให้เป็นผลงานของครูและ ผอ.โรงเรียน กำหนดเป้าหมายการประเมินแก่ ผอ.โรงเรียน พัฒนาให้โรงเรียนเป็นหัวใจของการศึกษา โดยการสร้างค่านิยมว่า การเป็นผอ.โรงเรียนถือว่าสูงสุด ส่วนระดับจังหวัด ระดับภาคและกระทรวงเน้นที่การเป็นหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกแก่โรงเรียน คอยติดตาม สนับสนุน ประเมินผลตามเป้าหมาย เพื่อสร้างเด็กไทยให้ได้คุณภาพเจ็ดประการนี้

“ถ้ารัฐบาลและคสช.สามารถดำเนินการต่อ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษา ถือว่าคุ้มค่ามากกับภารกิจเพื่อปฏิรูปการศึกษา แต่ถ้าไม่ทำอะไรต่อ มันก็เป็นเพียงการจัดสรรอำนาจของผู้บริหารเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่โรงเรียนและห้องเรียน ระยะยาวปัญหาเดิมๆ ก็จะวนกลับมาอีก” นพ.วรงค์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น