ยังคงเดินหน้าปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความรักในอักษรอย่างต่อเนื่อง สำหรับอาจารย์พิภพ ธงไชย หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับโครงการ “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” อ.พิภพ ผลิโปรเจกต์ขึ้นมาอีกหนึ่งโครงการ “ส่งความสุขด้วยหนังสือ สู่เด็กยากจน และเด็กป่วยในโรงพยาบาล” สานฝันปั้นเด็กไทยให้รักการอ่านอย่างยั่งยืน
อย่างที่หลายคนอาจจะเคยได้รับรู้กันมาแล้วสำหรับภารกิจที่อาจารย์พิภพ ธงไชย แห่งชายคา “มูลนิธิเด็ก” ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง กับโครงการดีๆ ที่นำหนังสือดีๆ ไปส่งให้ถึงมือเด็กที่ต้องการหนังสืออ่าน และเป็นเด็กที่รักการอ่านโดยแท้จริง และโครงการดังกล่าวนั้นก็นำมาซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เด็กจำนวนพันๆ คน จากหลายจังหวัด หลายโรงเรียน ได้อ่านหนังสือที่ส่งไปในนามของโครงการแล้ว หลายคนเขียนไปรษณียบัตรตอบกลับมาขอบคุณผู้บริจาค พร้อมทั้งบรรยายความรู้สึกดีๆ หลังจากที่ได้รับและได้อ่านหนังสือ
ณ วันนี้ อาจารย์พิภพ ได้ดำเนินงานขึ้นมาอีกหนึ่งโครงการ ในชื่อว่า “ส่งความสุขด้วยหนังสือ สู่เด็กยากจน และเด็กป่วยในโรงพยาบาล” ด้วยมุ่งหวังเสริมพลังวัฒนธรรมการอ่านให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยความเชื่อว่า นี่คือหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปการศึกษาโดยแท้จริง
• อยากให้อาจารย์เล่าถึงโครงการส่งความสุขด้วยหนังสือสู่เด็กยากจน และเด็กป่วยในโรงพยาบาลในเบื้องต้นหน่อยครับ
ตรงนี้ มันเกิดจากการที่ผมตระหนักอยู่เสมอว่า เราจะปฏิรูปการศึกษาอย่างไร หรือจะผลักดันให้เด็กเข้าโรงเรียนให้ 100 เปอร์เซ็นต์ไปเลย แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเด็กรักการอ่านหรือไม่ เด็กมีหนังสือดีๆ ที่จะอ่านหรือไม่ เราจะประสบความล้มเหลว เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าหนังสือที่ถูกบังคับให้เด็กอ่านคือหนังสือแบบเรียนในโรงเรียนซึ่งน่าเบื่อหน่ายมาก พวกเราก็เรียนกันมา ผมยังต้องไปแอบอ่านหนังสือบันเทิงในสมัยผมเด็กๆ เช่น อินทรีแดง เป็นต้น ตอนเป็นวัยรุ่นก็อ่านหนังสือที่เป็นความคิดความอ่าน เป็นเรื่องสั้น นวนิยาย แล้วก็ทำให้ทัศนคติของเรากว้างไกล นี่คือความจำเป็นในการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน แต่ไม่ใช่หนังสือนอกเวลาเรียนที่ครูจัดให้
เราพบว่าตอนนี้การศึกษาไทย ที่เราล้มเหลวคือคนไทยไม่อ่านหนังสือ ไม่ใช่แค่เด็กนะ คนไทยส่วนใหญ่เลย อ่านหนังสือน้อย เมื่ออ่านหนังสือน้อย การที่จะกล้าคิด กล้าพูด มันก็น้อยลงไปอีกอย่างที่เรารู้กัน ถ้าเราไม่ทำให้เด็กใฝ่รู้ ใฝ่อ่าน และเราไม่สร้างนิสัยตอนนี้ เราจะไปสร้างเมื่อไหร่ล่ะ แล้วถามหน่อยว่าเด็กในโรงเรียนถูกสร้างให้เป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่อ่านหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ถูกสร้าง อันนี้เราก็พบอยู่แล้ว
• มาถึงโครงการที่อาจารย์ดำเนินการอยู่ ถามสักนิดนะครับว่าทำไมเราถึงจำเป็นจะต้องบริจาคหนังสือให้กับเด็กได้โอกาสแล้วคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์อย่างไร
คนสงสัยเยอะมากว่าเราไปจัดบริจาคหนังสือให้เด็กได้โอกาส ก็คิดว่าไปได้เด็กแค่คนเดียวคนก็นึกว่ามันจะเป็นประโยชน์เฉพาะหรือเปล่า ผมอยากจะเรียนอย่างนี้นะครับว่าเราไม่ได้ส่งหนังสือให้เด็กแบบเหวี่ยงแห เราเจาะจงเลือกเด็กที่รักการอ่าน และอยากอ่านหนังสือมาก แต่ไม่มีหนังสือให้อ่าน คนก็ถามอีก หนังสือในห้องสมุด เด็กๆ ไม่อ่านเหรอ ไปดูจากความเป็นจริงเถอะครับ ในโลกของความเป็นจริงของโรงเรียน ครูจะล็อกกุญแจ เพราะ หนึ่ง หนังสือกลายเป็นทรัพย์สินของครูหรือของโรงเรียนไป สอง เด็กไม่เคยบอกว่าตัวเองอยากอ่านหนังสืออะไรกับครู เพราะครูก็ไม่เคยซื้อหนังสือที่เด็กอยากอ่านมาไว้ในห้องสมุด เพราะฉะนั้น เด็กก็จะเข้าห้องสมุดน้อย
ประการต่อไปก็คือเด็กเข้าห้องสมุดน้อยอยู่แล้ว หนังสือในห้องสมุดก็น้อยอยู่แล้ว ความเชื่อมโยงกับหนังสือในห้องสมุดกับการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่เชื่อมโยงกันเลย อันนี้ล่ะก็คือผลที่ทำให้เด็กไทยไม่อ่านหนังสือ ถ้าเทียบกับเด็กญี่ปุ่น เด็กฟินแลนด์ เด็กในยุโรป หรือเทียบกับเด็กจีน เขาอ่านหนังสือมากกว่าเราเยอะ บางคนก็บอกว่าพวกเราเป็นสังคมพูด คนจึงไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่จริง
ประเด็นสำคัญคือเราอยากจะหาช้างเผือก ช้างเผือกที่ไม่ใช่เรียนเก่งได้เกรด 3.4 หรือ 4 แต่ไม่อ่านหนังสือ เราพบเยอะแยะแล้ว แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่อ่านหนังสือ จบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แล้วก็ไม่อ่านหนังสือ แต่เรารู้ว่ามีเด็กที่อยากอ่านหนังสือ และเรารู้ว่ามีผู้ใหญ่ที่อยากอ่านหนังสือ และอ่านหนังสือเป็นนิสัย แล้วเราก็ไปพบว่าพวกผู้ใหญ่ที่อยากอ่านหนังสือต้องขวนขวาย ต้องพยายามหาหนังสือมาอ่านมาก
เพราะฉะนั้น เราก็ไม่อยากให้เด็กที่รักการอ่าน จะต้องใช้ความพยายามมากกว่านั้น เราก็เข้าถึงตัวเลย ถ้าคุณอยากอ่าน เราเข้าถึงตัว แล้วเราก็ไปเสาะแสวงหาสำนักพิมพ์ดีๆ ที่พิมพ์หนังสือดีๆ มีสาระ แล้วเราก็บอกกับเด็กว่า มีรายการหนังสืออย่างนี้เธออยากอ่านไหม ระยะแรก เราเอาหนังสือของสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก เป็นการ์ตูนที่ได้รางวัล หรือนิทานจินตนาการส่งไปให้เด็กก่อน 50 เล่ม ใส่ตู้ส่งไปที่รถเข็นนิทานให้เด็กป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเราพบว่าเด็กป่วยในโรงพยาบาลจะนอนอยู่เฉยๆ ญาติพี่น้องมาเยี่ยมก็คุยกันจนไม่มีเรื่องจะคุย พอเราเอารถเข็นไปใส่ในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วย เด็กเกิดความกระตือรือร้นอ่านกันเลยนี่ เราไปได้ 1,000 กว่าโรงพยาบาล 1,000 กว่ารถเข็นแล้ว ถ้าถัวเฉลี่ยว่าเด็กคนหนึ่งอยู่โรงพยาบาลประมาณ 6 เดือน แล้วเด็กคนหนึ่งเวียนอ่านหนังสือประมาณ 150 คน 150 คูณรถเข็น 1,000 กว่าคัน จะเป็นคนอ่านเท่าไหร่
พอเด็กได้อ่านหนังสือ เด็กก็จะติดใจ ถามหน่อยเมื่อเด็กติดใจ กลับไปบ้านจะมีหนังสือให้อ่านไหม ในบ้านคนไทยก็เห็นนี่ครับ ไม่มีตู้หนังสือ เรามีตู้เสื้อผ้า มีตู้กับข้าว แต่ไม่มีตู้หนังสือ โรงเรียนก็ไม่สนับสนุนให้เด็กอ่านหนังสือนอกจากตำราเรียนที่บังคับให้เรียนด้วย พ่อแม่เองก็มีทัศนคติแบบเดียวกัน โลกทัศน์หรือความคิดสร้างสรรค์ก็จะแคบ ถ้าเราไปอ่านประวัติบุคคลสำคัญที่เป็นนักคิดในโลก เราจะเห็นว่าเกิดมาจากการอ่านหนังสือทั้งนั้นเลย
แล้วอย่าลืมว่าเราหาเด็กที่เป็นช้างเผือกเมื่อกี้แล้วสามารถติดตามเด็กคนนี้ ไปจนถึงจบ ม.6 แล้วหาหนังสือให้เขาอ่านจนกระทั่งเป็นนิสัย อะไรจะเกิดขึ้น เขาก็จะเป็นคนรักการอ่าน ทัศนคติเขาก็จะกว้างขึ้น เขาก็จะเกิดความคิด พอเกิดความคิดมันก็ทำให้กล้าคิด คนไทยนี่ไม่กล้าคิดนะ แม้แต่คิดยังไม่ค่อยกล้าเลย เหมือนผู้ชายจะไปจีบผู้หญิง ยังไม่กล้าบอกความรักกับผู้หญิงเลย ไม่ต้องพูดเรื่องอื่นหรอก
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้เขาอ่าน เขาก็จะใฝ่รู้ ใฝ่อ่าน และกล้าคิด และต่อไปก็ต้องมีเวทีให้เขากล้าพูด ถามว่าความกล้าคิดกล้าพูดจะเอามาจากไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากการอ่านหนังสือ หนังสือจะเป็นตัวที่ทำให้เขาเกิดความคิดความอ่าน แล้วก็เกิดการกล้าคิดแล้วทำให้รักหนังสือ
บางคนอาจจะพูดว่าให้กับเด็กเฉพาะคน ตู้หนังสือก็อยู่กับเด็กคนเดียว แต่จริงๆ เรามียุทธศาสตร์นะ เราเจาะเลย หมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้านนะ ไม่ใช่ตำบล อาจจะมีเด็กสัก 10 คน แล้วเราก็ให้ตู้หนังสือไป แล้วเราก็บอกเธอต้องแบ่งหนังสือกันอ่านนะ เราพยายามให้ตู้หนังสือมีหนังสือที่แตกต่างกัน แล้วเธออยากอ่านอะไร ให้ขอมา เราก็ติดต่อกับทางสำนักพิมพ์ต่างๆ อย่างเช่นสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ที่มีหนังสือดีๆ เยอะ เราก็ส่งไป แล้วเด็กตรงนั้น เราเจาะไว้ 10 คน ให้แลกเปลี่ยนกันอ่านแล้วก็กลายเป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้าน เราก็เปิดให้เด็กคนอื่นๆ ที่อยากอ่านหนังสือแต่ไม่ได้รับตู้หนังสือมาอ่านด้วย
พอเด็กคนนี้ให้เพื่อนๆ มาอ่านหนังสือ มันก็จะถูกส่งต่อไปยังโรงเรียนด้วย ซึ่งจะไม่มีครูมาขวางกั้น และไม่มีพ่อแม่ขวางกั้น เพราะเราเข้าถึงพ่อแม่แล้วเราเอาใจพ่อแม่ด้วย พ่อแม่ทำเกษตรอยากได้หนังสือ เราก็จะส่งไปให้ เช่น หนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่
ก็อยากจะบอกว่า ที่ท้วงติงมาว่าให้เด็กเฉพาะคน ก็ได้เด็กเฉพาะคน นั้นไม่จริง เด็กพวกนี้จะสร้างเครือข่าย อันที่จริง สังคมไทยมีการสร้างเครือข่ายห้องสมุดประจำหมู่บ้านกันมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้วนะ 30-40 ปี ผลปรากฏว่าล้มเหลวนะครับ ลองกับมูลนิธิเด็ก ลองกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ดูว่าจะมีประสิทธิภาพไหม ผมทำมาแล้วปีสองปี มันมีประสิทธิภาพขึ้น คือหนึ่ง ได้เด็กที่รักการอ่านหนังสือจริงๆ สอง เด็กแบ่งหนังสือให้คนอื่นอ่าน สาม เด็กกลายเป็นบรรณารักษ์ เด็กสร้างเครือข่าย พอเกิดเป็นเครือข่ายมากๆ เข้า เราก็เชิญพวกเขามาเข้าค่าย 100 กว่าคน
• โครงการล่าสุดที่อาจารย์ทำก็คือ “ส่งความสุขด้วยหนังสือ สู่เด็กยากจนและเด็กเจ็บป่วยในโรงพยาบาล” ที่ร่วมกับทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ มีความพิเศษแตกต่างอย่างไรบ้างครับ และสำหรับผู้สนใจจะบริจาค จะบริจาคอย่างไรได้บ้าง
มีความพิเศษที่สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์พิมพ์หนังสือดีๆ ครับ พอๆ กับสำนักพิมพ์ของมูลนิธิเด็ก แต่สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์พิมพ์ได้มากกว่า เพราะมีบรรณาธิการที่เข้มแข็ง กองบรรณาธิการที่เข้มแข็ง เราก็อยากได้หนังสือของสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ส่งไปให้เด็ก แต่ว่าเราไม่มีเงิน เราก็บอกให้คนบริจาคสัก 500 บาทได้ไหม เดี๋ยวบรรณาธิการเขาก็เลือกหนังสือมาลดราคาให้แล้วก็ส่งไปให้เด็ก แต่ถ้าพ่อแม่พี่น้องบอกว่า 500 บาท มันน้อยไป จะบริจาคมา 1,000 หรือมากกว่านั้น ก็ไม่ว่ากันนะ (หัวเราะ)
• อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าถึงความสำเร็จที่ผ่านมาครับ เพราะเห็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากเด็กๆ
ใช่เลยครับ เด็กหลายคนมาก เขียนไปรษณียบัตรมา อย่างเช่นฉบับหนึ่ง เขียนมาว่า “ผมดีใจมากที่ผมได้ตู้หนังสือ ขอบคุณครับที่จะส่งหนังสือให้ผมตลอด” หรืออีกหนึ่งฉบับ บอกว่า “ขอบคุณที่ให้หนังสือดีๆ มาอ่าน จากที่อ่านหนังสือไม่ค่อยออก ผมเริ่มอ่านหนังสือออกคล่องกว่าเดิม” นี่สำคัญมากนะครับ เพราะเราเจอข้อมูลว่าเด็กไทยจบ ป.6 แล้วยังอ่านหนังสือไม่คล่องก็มีเยอะ และเด็กคนนี้ยังบอกอีกว่า “ได้อ่านหนังสือแล้ว ผมรู้สึกมีความสุขมาก” การศึกษาไทยไม่ค่อยดูความสุขนะ เราสนใจแต่เกรดว่า 4 หรือ 3.5 แต่เด็กมีความสุขหรือเปล่าไม่รู้ วันนี้ เด็กบอกว่าอ่านหนังสือแล้วมีความสุข มีเรื่องสนุก ให้ข้อคิด ลองนึกดูสิครับ เด็กเหล่านี้ ถ้าได้อ่านหนังสือไปจนจบ ม.6 หรือมหาวิทยาลัย อะไรจะเกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ ไปจินตนาการเองนะครับ ไม่ต้องให้ผมบอก
• อาจารย์คาดหวังกับโครงการที่ทำอยู่ทั้งหมดนี้อย่างไรบ้างครับ
ผมว่า “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” รวมถึง “รถเข็นนิทาน” จะเป็นตัวปฏิรูปการศึกษา ผมเชื่อโดยสนิทใจว่าต่อให้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษายังไงก็แล้วแต่ แต่ถ้าผลผลิตของระบบการศึกษาไทยหรือโรงเรียนไทย ไม่อ่านหนังสือ เจ๊ง... เจ๊งก็คือเราจะเต็มไปด้วยคนที่ไม่มีความคิดความอ่าน สอง เราจะไม่มีนักเขียนที่จะเขียนหนังสือดีๆ เพราะเขียนไปก็ไม่มีคนอ่าน พอไม่มีคนอ่าน ก็ไม่มีคนซื้อ ดูซิว่าประเทศไทยจะเป็นยังไง
ถ้าไปดูฟินแลนด์ก็ดี เยอรมนีก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี หรืออเมริกาก็ดี เขาอ่านหนังสือนะครับ เขาไม่ใช่มีโรงเรียนดีๆ แล้วก็มีครูดีๆ เท่านั้น แต่เขาอ่านหนังสือ แล้วเขาไม่อ่านหนังสือเฉพาะในโรงเรียน พ่อแม่ก็อ่านหนังสือ เราดูหนังฝรั่งใช่ไหม พ่อแม่ก่อนเข้านอนจะต้องถือหนังสือไปอ่าน แต่ทำไมหนังไทยและละครไทยจึงไม่มีฉากแบบนี้บ้าง แต่จะว่าไปแล้วจะตำหนิแต่คนไทยก็ไม่ได้ พ่อแม่ไทยมักจะใช้วิธีเล่านิทาน ร้องเพลงกล่อมลูก เพราะฉะนั้นเรากลายเป็นสังคมที่ใช้การพูดเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ เรากำลังอยากจะเปลี่ยนสังคมใหม่มาเป็นอ่านแทน (ยิ้ม)
เรื่อง : ทีมข่าวสัมภาษณ์
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
อย่างที่หลายคนอาจจะเคยได้รับรู้กันมาแล้วสำหรับภารกิจที่อาจารย์พิภพ ธงไชย แห่งชายคา “มูลนิธิเด็ก” ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง กับโครงการดีๆ ที่นำหนังสือดีๆ ไปส่งให้ถึงมือเด็กที่ต้องการหนังสืออ่าน และเป็นเด็กที่รักการอ่านโดยแท้จริง และโครงการดังกล่าวนั้นก็นำมาซึ่งผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เด็กจำนวนพันๆ คน จากหลายจังหวัด หลายโรงเรียน ได้อ่านหนังสือที่ส่งไปในนามของโครงการแล้ว หลายคนเขียนไปรษณียบัตรตอบกลับมาขอบคุณผู้บริจาค พร้อมทั้งบรรยายความรู้สึกดีๆ หลังจากที่ได้รับและได้อ่านหนังสือ
ณ วันนี้ อาจารย์พิภพ ได้ดำเนินงานขึ้นมาอีกหนึ่งโครงการ ในชื่อว่า “ส่งความสุขด้วยหนังสือ สู่เด็กยากจน และเด็กป่วยในโรงพยาบาล” ด้วยมุ่งหวังเสริมพลังวัฒนธรรมการอ่านให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยความเชื่อว่า นี่คือหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปการศึกษาโดยแท้จริง
• อยากให้อาจารย์เล่าถึงโครงการส่งความสุขด้วยหนังสือสู่เด็กยากจน และเด็กป่วยในโรงพยาบาลในเบื้องต้นหน่อยครับ
ตรงนี้ มันเกิดจากการที่ผมตระหนักอยู่เสมอว่า เราจะปฏิรูปการศึกษาอย่างไร หรือจะผลักดันให้เด็กเข้าโรงเรียนให้ 100 เปอร์เซ็นต์ไปเลย แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าเด็กรักการอ่านหรือไม่ เด็กมีหนังสือดีๆ ที่จะอ่านหรือไม่ เราจะประสบความล้มเหลว เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าหนังสือที่ถูกบังคับให้เด็กอ่านคือหนังสือแบบเรียนในโรงเรียนซึ่งน่าเบื่อหน่ายมาก พวกเราก็เรียนกันมา ผมยังต้องไปแอบอ่านหนังสือบันเทิงในสมัยผมเด็กๆ เช่น อินทรีแดง เป็นต้น ตอนเป็นวัยรุ่นก็อ่านหนังสือที่เป็นความคิดความอ่าน เป็นเรื่องสั้น นวนิยาย แล้วก็ทำให้ทัศนคติของเรากว้างไกล นี่คือความจำเป็นในการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน แต่ไม่ใช่หนังสือนอกเวลาเรียนที่ครูจัดให้
เราพบว่าตอนนี้การศึกษาไทย ที่เราล้มเหลวคือคนไทยไม่อ่านหนังสือ ไม่ใช่แค่เด็กนะ คนไทยส่วนใหญ่เลย อ่านหนังสือน้อย เมื่ออ่านหนังสือน้อย การที่จะกล้าคิด กล้าพูด มันก็น้อยลงไปอีกอย่างที่เรารู้กัน ถ้าเราไม่ทำให้เด็กใฝ่รู้ ใฝ่อ่าน และเราไม่สร้างนิสัยตอนนี้ เราจะไปสร้างเมื่อไหร่ล่ะ แล้วถามหน่อยว่าเด็กในโรงเรียนถูกสร้างให้เป็นคนใฝ่รู้ ใฝ่อ่านหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ถูกสร้าง อันนี้เราก็พบอยู่แล้ว
• มาถึงโครงการที่อาจารย์ดำเนินการอยู่ ถามสักนิดนะครับว่าทำไมเราถึงจำเป็นจะต้องบริจาคหนังสือให้กับเด็กได้โอกาสแล้วคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์อย่างไร
คนสงสัยเยอะมากว่าเราไปจัดบริจาคหนังสือให้เด็กได้โอกาส ก็คิดว่าไปได้เด็กแค่คนเดียวคนก็นึกว่ามันจะเป็นประโยชน์เฉพาะหรือเปล่า ผมอยากจะเรียนอย่างนี้นะครับว่าเราไม่ได้ส่งหนังสือให้เด็กแบบเหวี่ยงแห เราเจาะจงเลือกเด็กที่รักการอ่าน และอยากอ่านหนังสือมาก แต่ไม่มีหนังสือให้อ่าน คนก็ถามอีก หนังสือในห้องสมุด เด็กๆ ไม่อ่านเหรอ ไปดูจากความเป็นจริงเถอะครับ ในโลกของความเป็นจริงของโรงเรียน ครูจะล็อกกุญแจ เพราะ หนึ่ง หนังสือกลายเป็นทรัพย์สินของครูหรือของโรงเรียนไป สอง เด็กไม่เคยบอกว่าตัวเองอยากอ่านหนังสืออะไรกับครู เพราะครูก็ไม่เคยซื้อหนังสือที่เด็กอยากอ่านมาไว้ในห้องสมุด เพราะฉะนั้น เด็กก็จะเข้าห้องสมุดน้อย
ประการต่อไปก็คือเด็กเข้าห้องสมุดน้อยอยู่แล้ว หนังสือในห้องสมุดก็น้อยอยู่แล้ว ความเชื่อมโยงกับหนังสือในห้องสมุดกับการเรียนการสอนในห้องเรียนไม่เชื่อมโยงกันเลย อันนี้ล่ะก็คือผลที่ทำให้เด็กไทยไม่อ่านหนังสือ ถ้าเทียบกับเด็กญี่ปุ่น เด็กฟินแลนด์ เด็กในยุโรป หรือเทียบกับเด็กจีน เขาอ่านหนังสือมากกว่าเราเยอะ บางคนก็บอกว่าพวกเราเป็นสังคมพูด คนจึงไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่จริง
ประเด็นสำคัญคือเราอยากจะหาช้างเผือก ช้างเผือกที่ไม่ใช่เรียนเก่งได้เกรด 3.4 หรือ 4 แต่ไม่อ่านหนังสือ เราพบเยอะแยะแล้ว แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่อ่านหนังสือ จบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แล้วก็ไม่อ่านหนังสือ แต่เรารู้ว่ามีเด็กที่อยากอ่านหนังสือ และเรารู้ว่ามีผู้ใหญ่ที่อยากอ่านหนังสือ และอ่านหนังสือเป็นนิสัย แล้วเราก็ไปพบว่าพวกผู้ใหญ่ที่อยากอ่านหนังสือต้องขวนขวาย ต้องพยายามหาหนังสือมาอ่านมาก
เพราะฉะนั้น เราก็ไม่อยากให้เด็กที่รักการอ่าน จะต้องใช้ความพยายามมากกว่านั้น เราก็เข้าถึงตัวเลย ถ้าคุณอยากอ่าน เราเข้าถึงตัว แล้วเราก็ไปเสาะแสวงหาสำนักพิมพ์ดีๆ ที่พิมพ์หนังสือดีๆ มีสาระ แล้วเราก็บอกกับเด็กว่า มีรายการหนังสืออย่างนี้เธออยากอ่านไหม ระยะแรก เราเอาหนังสือของสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก เป็นการ์ตูนที่ได้รางวัล หรือนิทานจินตนาการส่งไปให้เด็กก่อน 50 เล่ม ใส่ตู้ส่งไปที่รถเข็นนิทานให้เด็กป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งเราพบว่าเด็กป่วยในโรงพยาบาลจะนอนอยู่เฉยๆ ญาติพี่น้องมาเยี่ยมก็คุยกันจนไม่มีเรื่องจะคุย พอเราเอารถเข็นไปใส่ในโรงพยาบาลในหอผู้ป่วย เด็กเกิดความกระตือรือร้นอ่านกันเลยนี่ เราไปได้ 1,000 กว่าโรงพยาบาล 1,000 กว่ารถเข็นแล้ว ถ้าถัวเฉลี่ยว่าเด็กคนหนึ่งอยู่โรงพยาบาลประมาณ 6 เดือน แล้วเด็กคนหนึ่งเวียนอ่านหนังสือประมาณ 150 คน 150 คูณรถเข็น 1,000 กว่าคัน จะเป็นคนอ่านเท่าไหร่
พอเด็กได้อ่านหนังสือ เด็กก็จะติดใจ ถามหน่อยเมื่อเด็กติดใจ กลับไปบ้านจะมีหนังสือให้อ่านไหม ในบ้านคนไทยก็เห็นนี่ครับ ไม่มีตู้หนังสือ เรามีตู้เสื้อผ้า มีตู้กับข้าว แต่ไม่มีตู้หนังสือ โรงเรียนก็ไม่สนับสนุนให้เด็กอ่านหนังสือนอกจากตำราเรียนที่บังคับให้เรียนด้วย พ่อแม่เองก็มีทัศนคติแบบเดียวกัน โลกทัศน์หรือความคิดสร้างสรรค์ก็จะแคบ ถ้าเราไปอ่านประวัติบุคคลสำคัญที่เป็นนักคิดในโลก เราจะเห็นว่าเกิดมาจากการอ่านหนังสือทั้งนั้นเลย
แล้วอย่าลืมว่าเราหาเด็กที่เป็นช้างเผือกเมื่อกี้แล้วสามารถติดตามเด็กคนนี้ ไปจนถึงจบ ม.6 แล้วหาหนังสือให้เขาอ่านจนกระทั่งเป็นนิสัย อะไรจะเกิดขึ้น เขาก็จะเป็นคนรักการอ่าน ทัศนคติเขาก็จะกว้างขึ้น เขาก็จะเกิดความคิด พอเกิดความคิดมันก็ทำให้กล้าคิด คนไทยนี่ไม่กล้าคิดนะ แม้แต่คิดยังไม่ค่อยกล้าเลย เหมือนผู้ชายจะไปจีบผู้หญิง ยังไม่กล้าบอกความรักกับผู้หญิงเลย ไม่ต้องพูดเรื่องอื่นหรอก
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้เขาอ่าน เขาก็จะใฝ่รู้ ใฝ่อ่าน และกล้าคิด และต่อไปก็ต้องมีเวทีให้เขากล้าพูด ถามว่าความกล้าคิดกล้าพูดจะเอามาจากไหน ส่วนหนึ่งก็มาจากการอ่านหนังสือ หนังสือจะเป็นตัวที่ทำให้เขาเกิดความคิดความอ่าน แล้วก็เกิดการกล้าคิดแล้วทำให้รักหนังสือ
บางคนอาจจะพูดว่าให้กับเด็กเฉพาะคน ตู้หนังสือก็อยู่กับเด็กคนเดียว แต่จริงๆ เรามียุทธศาสตร์นะ เราเจาะเลย หมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้านนะ ไม่ใช่ตำบล อาจจะมีเด็กสัก 10 คน แล้วเราก็ให้ตู้หนังสือไป แล้วเราก็บอกเธอต้องแบ่งหนังสือกันอ่านนะ เราพยายามให้ตู้หนังสือมีหนังสือที่แตกต่างกัน แล้วเธออยากอ่านอะไร ให้ขอมา เราก็ติดต่อกับทางสำนักพิมพ์ต่างๆ อย่างเช่นสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ที่มีหนังสือดีๆ เยอะ เราก็ส่งไป แล้วเด็กตรงนั้น เราเจาะไว้ 10 คน ให้แลกเปลี่ยนกันอ่านแล้วก็กลายเป็นห้องสมุดประจำหมู่บ้าน เราก็เปิดให้เด็กคนอื่นๆ ที่อยากอ่านหนังสือแต่ไม่ได้รับตู้หนังสือมาอ่านด้วย
พอเด็กคนนี้ให้เพื่อนๆ มาอ่านหนังสือ มันก็จะถูกส่งต่อไปยังโรงเรียนด้วย ซึ่งจะไม่มีครูมาขวางกั้น และไม่มีพ่อแม่ขวางกั้น เพราะเราเข้าถึงพ่อแม่แล้วเราเอาใจพ่อแม่ด้วย พ่อแม่ทำเกษตรอยากได้หนังสือ เราก็จะส่งไปให้ เช่น หนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่
ก็อยากจะบอกว่า ที่ท้วงติงมาว่าให้เด็กเฉพาะคน ก็ได้เด็กเฉพาะคน นั้นไม่จริง เด็กพวกนี้จะสร้างเครือข่าย อันที่จริง สังคมไทยมีการสร้างเครือข่ายห้องสมุดประจำหมู่บ้านกันมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้วนะ 30-40 ปี ผลปรากฏว่าล้มเหลวนะครับ ลองกับมูลนิธิเด็ก ลองกับสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ดูว่าจะมีประสิทธิภาพไหม ผมทำมาแล้วปีสองปี มันมีประสิทธิภาพขึ้น คือหนึ่ง ได้เด็กที่รักการอ่านหนังสือจริงๆ สอง เด็กแบ่งหนังสือให้คนอื่นอ่าน สาม เด็กกลายเป็นบรรณารักษ์ เด็กสร้างเครือข่าย พอเกิดเป็นเครือข่ายมากๆ เข้า เราก็เชิญพวกเขามาเข้าค่าย 100 กว่าคน
• โครงการล่าสุดที่อาจารย์ทำก็คือ “ส่งความสุขด้วยหนังสือ สู่เด็กยากจนและเด็กเจ็บป่วยในโรงพยาบาล” ที่ร่วมกับทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ มีความพิเศษแตกต่างอย่างไรบ้างครับ และสำหรับผู้สนใจจะบริจาค จะบริจาคอย่างไรได้บ้าง
มีความพิเศษที่สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์พิมพ์หนังสือดีๆ ครับ พอๆ กับสำนักพิมพ์ของมูลนิธิเด็ก แต่สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์พิมพ์ได้มากกว่า เพราะมีบรรณาธิการที่เข้มแข็ง กองบรรณาธิการที่เข้มแข็ง เราก็อยากได้หนังสือของสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ส่งไปให้เด็ก แต่ว่าเราไม่มีเงิน เราก็บอกให้คนบริจาคสัก 500 บาทได้ไหม เดี๋ยวบรรณาธิการเขาก็เลือกหนังสือมาลดราคาให้แล้วก็ส่งไปให้เด็ก แต่ถ้าพ่อแม่พี่น้องบอกว่า 500 บาท มันน้อยไป จะบริจาคมา 1,000 หรือมากกว่านั้น ก็ไม่ว่ากันนะ (หัวเราะ)
• อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าถึงความสำเร็จที่ผ่านมาครับ เพราะเห็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากเด็กๆ
ใช่เลยครับ เด็กหลายคนมาก เขียนไปรษณียบัตรมา อย่างเช่นฉบับหนึ่ง เขียนมาว่า “ผมดีใจมากที่ผมได้ตู้หนังสือ ขอบคุณครับที่จะส่งหนังสือให้ผมตลอด” หรืออีกหนึ่งฉบับ บอกว่า “ขอบคุณที่ให้หนังสือดีๆ มาอ่าน จากที่อ่านหนังสือไม่ค่อยออก ผมเริ่มอ่านหนังสือออกคล่องกว่าเดิม” นี่สำคัญมากนะครับ เพราะเราเจอข้อมูลว่าเด็กไทยจบ ป.6 แล้วยังอ่านหนังสือไม่คล่องก็มีเยอะ และเด็กคนนี้ยังบอกอีกว่า “ได้อ่านหนังสือแล้ว ผมรู้สึกมีความสุขมาก” การศึกษาไทยไม่ค่อยดูความสุขนะ เราสนใจแต่เกรดว่า 4 หรือ 3.5 แต่เด็กมีความสุขหรือเปล่าไม่รู้ วันนี้ เด็กบอกว่าอ่านหนังสือแล้วมีความสุข มีเรื่องสนุก ให้ข้อคิด ลองนึกดูสิครับ เด็กเหล่านี้ ถ้าได้อ่านหนังสือไปจนจบ ม.6 หรือมหาวิทยาลัย อะไรจะเกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ ไปจินตนาการเองนะครับ ไม่ต้องให้ผมบอก
• อาจารย์คาดหวังกับโครงการที่ทำอยู่ทั้งหมดนี้อย่างไรบ้างครับ
ผมว่า “ตู้หนังสือในบ้านเด็ก” รวมถึง “รถเข็นนิทาน” จะเป็นตัวปฏิรูปการศึกษา ผมเชื่อโดยสนิทใจว่าต่อให้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษายังไงก็แล้วแต่ แต่ถ้าผลผลิตของระบบการศึกษาไทยหรือโรงเรียนไทย ไม่อ่านหนังสือ เจ๊ง... เจ๊งก็คือเราจะเต็มไปด้วยคนที่ไม่มีความคิดความอ่าน สอง เราจะไม่มีนักเขียนที่จะเขียนหนังสือดีๆ เพราะเขียนไปก็ไม่มีคนอ่าน พอไม่มีคนอ่าน ก็ไม่มีคนซื้อ ดูซิว่าประเทศไทยจะเป็นยังไง
ถ้าไปดูฟินแลนด์ก็ดี เยอรมนีก็ดี ญี่ปุ่นก็ดี หรืออเมริกาก็ดี เขาอ่านหนังสือนะครับ เขาไม่ใช่มีโรงเรียนดีๆ แล้วก็มีครูดีๆ เท่านั้น แต่เขาอ่านหนังสือ แล้วเขาไม่อ่านหนังสือเฉพาะในโรงเรียน พ่อแม่ก็อ่านหนังสือ เราดูหนังฝรั่งใช่ไหม พ่อแม่ก่อนเข้านอนจะต้องถือหนังสือไปอ่าน แต่ทำไมหนังไทยและละครไทยจึงไม่มีฉากแบบนี้บ้าง แต่จะว่าไปแล้วจะตำหนิแต่คนไทยก็ไม่ได้ พ่อแม่ไทยมักจะใช้วิธีเล่านิทาน ร้องเพลงกล่อมลูก เพราะฉะนั้นเรากลายเป็นสังคมที่ใช้การพูดเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้ เรากำลังอยากจะเปลี่ยนสังคมใหม่มาเป็นอ่านแทน (ยิ้ม)
สำหรับผู้สนใจจะร่วมบริจาค สามารถติดต่อแสดงความจำนงได้ที่ 1. inbox : FB สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ 2. ID Line : baan_athit 3. ID Line@ : @baan_athit 4. โทรศัพท์ 08-2782-8353, 08-2782-8356 5.ร่วมบริจาคที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ศูนย์สิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 13 - 24 ตุลาคมนี้ ที่บูท M01 โซน C1 |
เรื่อง : ทีมข่าวสัมภาษณ์
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ