ศูนย์ศรีราชา - รมช.ศึกษาฯ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การจัดการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ณ ห้องประชุม สถาบันไทย-เยอรมัน นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ชี้การศึกษาไทยต้องปรับใหม่ ด้วยการเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนรายวิชาด้านบริหารธุรกิจตั้งแต่ ม.ต้น-ปลาย เพื่อให้นักเรียนยุคใหม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ตั้งแต่จบการศึกษา ม.ต้น
วันนี้ (12 ต.ค.) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรองหัวหน้าคณะรัฐมนตรีส่วนหน้า เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การจัดการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ซึ่งวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดขึ้น ณ ห้องประชุม สถาบันไทย-เยอรมัน นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดปาฐกถาพิเศษดังกล่าวว่า เกิดจากการที่วิทยาลัยฯ มีส่วนร่วมกับคณะทำงานของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการวิจัยค้นพบรายวิชาด้านบริหารธุรกิจที่สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย
โดยผลการวิจัยเน้นรูปแบบการพัฒนาเนื้อหาแบบบูรณาการเกี่ยวกับความรู้ที่ใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และนับว่าเป็นวาระสำคัญของประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียนที่จะต้องรวมตัวเป็นครอบครัวเดียวกัน ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้กรอบการทำงานร่วมกันใน 3 เสาหลัก คือ การเมืองและความมั่นและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก
หลังคณะรัฐมนตรี มีมติกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยใน 10 เขตพื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดตาก สงขลา มุกดาหาร สระแก้ว ตราด เชียงราย กาญจนบุรี หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ที่มีชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อาณาจักรกัมพูชา และมาเลเซีย เพื่อสร้างฐานการผลิตที่เชื่อมโยงกับอาเซียน และการพัฒนาชายแดน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาจึงถือเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค และเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา จึงมีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติด้วยการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็ก และเยาวชนให้มีความรู้ทักษะ และสมรรถนะในการทำงาน และการประกอบอาชีพที่เหมาะสมต่อบริบทของพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จึงต้องมีการระดมความคิดไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครูผู้ปกครอง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยที่ผ่านมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมต่อรายวิชาทางธุรกิจ และตรงตามความต้องการของพื้นที่ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมการศึกษา ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย จะต้องมีการเรียนทางบริหารธุรกิจ แบบสอดคล้องต่อเนื่องในด้านการตลาด การขาย การผลิต การบัญชี การเงิน ทรัพยากรบุคคล และการสร้างเครือข่ายธุรกิจจนได้ออกมาเป็น 14 วิชา 78 บท จำนวน 1,501 ชั่วโมง และเมื่อนักเรียนจบการศึกษาในระดับมัธยมต้น ก็สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นระบบ supply chain ที่สอดคล้องต่อเนื่องในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือเข้าทำงานในบริษัทที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้
ขณะที่ประเทศไทย กำลังเดินหน้ายกเครื่องโครงสร้างในหลายๆ มิติ ตามแผนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความเข้มแข็ง และยั่งยืน รวมทั้งการสร้างผลผลิตสำคัญซึ่งก็คือ ทุนมนุษย์ ให้เป็นแกนหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องมีการบูรณาการในรายวิชาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การตลาด การขาย การผลิต การบัญช การเงิน ทรัพยากรบุคคล และการสร้างเครือข่ายธุรกิจเครือข่ายเยาวชนที่เป็นต้นทุนมนุษย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป” พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากจบการปาฐกถาพิเศษแล้ว วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ยังจัดการเสวนาเรื่อง “แรงงานไทย ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดย นายจิรวัฒน จุลศิริวัฒนวงศ์ อดีตสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี และอดีตแรงงานจังหวัดชลบุรี รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแรงงานจากองค์กรต่างๆ อีกด้วย