ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตลอดปี 2560 นี้จะมี "กรรมการรัฐวิสาหกิจ (บอร์ด)20 แห่ง" ครบวาระการทำงาน ประกอบด้วยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และโรงงานยาสูบ (รยส. หรือ TTM)ที่ครบวาระไปแล้ว เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งกำลังจะมีการสรรหาใหม่
ส่วนวันที่ 20 ก.ค.นี้ จะมีบอร์ด อีก 9 แห่ง ที่หมดวาระพร้อมกัน ประกอบด้วยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ส่วน บอร์ดโรงงานไพ่ (รง.พ.) จะหมดวาระ 21 ก.ค หลัง 1 วัน .
ส่วนองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) องค์การสุรา องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) จะครบวาระพร้อมกัน 23 ก.ค. และต่อด้วย องค์การคลังสินค้า (อคส.) ครบวาระ วันที่ 28 ก.ค. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์) ครบวาระวันที่ 29 ก.ค. ส่วนองค์การเภสัชกรรม (GPO)จะครบวาระวันที่ 18 ส.ค. และองค์การตลาด (อต.) จะครบวาระเป็นองค์กรสุดท้ายของปีนี้ ในวันที่ 29 ธ.ค. โดยทั้งหมดจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี ก่อนเดือนธันวาคม 2560
อย่างวันก่อน คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแต่งตั้ง พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ เป็นประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คนใหม่ แล้วภายหลังมีการสรรหา ก่อนที่จะหมดวาระ เมื่อวันที่ 20 ก.ค.นี้ และมีการแต่งตั้งกรรมการอีก 4 คน คือพล.อ.อ.ยุทธนา สุกุมลจันทร์, นายเจษฎา พรหมจาต , นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ และ นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ พร้อมทั้งแต่งตั้ง นายสุรงค์ บูลกุล เป็นประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)และกรรมการอีก 9 คน คือ พล.ร.อ.ชัยณรงค์ เจริญรักษ์, นางปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล, นายจำเริญ โพธิยอด, นายกฤชเทพ สิมลี , นายจุฬา สุขมานพ , นายฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์, นายประเวศ อรรถศุภผล, นางปรารถนา มงคลกุล และ นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. เป็นต้นไป
วันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ“แนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อให้การสรรหาแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการ (บอร์ด)รัฐวิสาหกิจมีหลักเกณฑ์และโปร่งใส”เพื่อสรรหา บอร์ด 20 แห่ง ที่จะหมดวาระ และอีก 36 แห่ง ที่กำลังจะหมดวาระในปี 2561
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ใช้กฎเกณฑ์ใหม่มาปฏิบัติทันที ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญเพราะรัฐวิสาหกิจมีบทบาทสำคัญต่อประชาชน โดยในเดือนก.ค.60 นี้ จะมีกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ 20 แห่ง ที่จะครบวาระ และภายในต้นปีหน้าอีก 36 รัฐวิสาหกิจที่เหลือ จะครบวาระ ซึ่งการแต่งตั้งจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ โดยภายในต้นปีหน้า คาดว่าจะเปลี่ยนกรรมการรัฐวิสาหกิจตามเกณฑ์ใหม่ครบ 56 แห่ง
ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวมี 9 ข้อ คือ
1. การพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจให้นำสมรรถนะหลัก และทักษะความรู้ที่จำเป็น หรือ Skill Matrix ที่เหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งมาใช้พิจารณา เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้กรรมการตรงกับความต้องการที่แท้จริงในการขับเคลื่อนและพัฒนารัฐวิสาหกิจ แตกต่างจากเดิมที่บางครั้งกรรมการที่เข้าไปเป็นนักกฎหมายทั้งชุด ทั้งทำกิจการโรงไฟฟ้าที่ต้องการผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่องพลังงาน และการเงิน
2. การแต่งตั้งกรรมการอื่นที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง ให้พิจารณาเสนอชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทำงานในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เพื่อให้มีกรรมการจากภาคธุรกิจมากขึ้นช่วยยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจ
3. ห้ามไม่ให้แต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจอื่นเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจอีกแห่ง เว้นแต่กฎหมายกำหนด หรือรัฐวิสาหกิจนั้นถือหุ้นอีกรัฐวิสาหกิจอยู่
4. ไม่แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติม แตกต่างจากอดีตที่นักการเมืองจะแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไป แต่ต่อไปคนการเมืองจะเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจไม่ได้
5. ให้มีผู้แทนกระทรวงการคลังที่เป็นข้าราชการประจำเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการในฐานะผู้ถือหุ้น
6. ให้มีผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดรัฐวิสาหกิจที่เป็นข้าราชการประจำ ซึ่งไม่อยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจนั้น จำนวน 1 คน เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงนโยบายจากกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ และกรณีมีเหตุจำเป็นอาจแต่งตั้งเพิ่มได้อีกไม่เกิน 1 คน
7. กรณีที่กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีผู้ดำรงตำแหน่งใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นเป็นกรรมการ และผู้นั้นจะมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนให้พิจารณามอบหมายผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานในสังกัดที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีเวลา และเหมาะสมกับความต้องการของรัฐวิสาหกิจนั้น โดยทำเป็นคำสั่งมอบอำนาจที่ชัดเจน
8. กรณีกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้หน่วยงานนั้นแต่งตั้งจากบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานเท่านั้น
9. ในกรณีที่ส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการประจำไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หากข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการประจำ ให้แต่งตั้งข้าราชการคนใหม่แทน เว้นแต่พิจารณาเห็นว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในกิจการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะยังคงให้เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่อไปจนครบวาระที่ยังเหลืออยู่ก็ได้
ย้อนกลับไปก่อนหนึ่งวัน ก่อนการประชุมครม. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ก็ได้ย้ำในที่ประชุมว่า กรรมการรัฐวิสาหกิจ "เพิ่มเติม" จะต้องไม่มีการแต่งตั้ง 1. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2. ข้าราชการการเมือง และ 3. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้มาเป็นอีกตามบทสัมภาษณ์จาก บีบีซีไทย ของ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ย้ำว่า มติ คนร. ดังกล่าว ถือเป็นก้าวแรกในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ตามร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ซึ่งอยู่ระหว่างรอส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย
“แนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ และ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... ที่ระบุว่า ไม่ให้ใช้บังคับกับบอร์ดรัฐวิสาหกิจชุดปัจจุบัน แต่ให้ใช้กับการแต่งตั้งบอร์ดชุดหน้า นั้น "เพราะกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง"
เขาบอกกับ บีบีซีไทยว่า ไม่มีการรวบรวมตัวเลขว่ามี "สมาชิก สนช. ข้าราชการการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันอยู่เป็นจำนวนเท่าใด เพราะที่ประชุม คนร. ก็เพียงเห็นชอบในหลักการเรื่องของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต้องเริ่มจากการแต่งตั้งบอร์ดที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ (skill matrix)จึงห้ามบุคคลทั้ง 3 ตำแหน่ง มานั่งควบบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างธรรมาภิบาล และความโปร่งใส
"หากมีบอร์ดรัฐวิสาหกิจคนไหนลาออก หรือพ้นวาระ การแต่งตั้งคนใหม่เข้ามาแทนก็จะยึดตามมติ คนร. นี้" นายเอกนิติ กล่าว
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... จะมุ่งเน้นการปฏิรูปและสร้างกลไกการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการให้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินของประเทศ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีมาตรฐานระดับสากล และสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการองค์กรโดยยึดหลักธรรมาภิบาล และปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองที่ไม่รับผิดชอบ มีสาระสำคัญ เช่น การจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ”ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติขึ้นตามกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้ดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
การจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ”ที่มีอายุ 5 ปี เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกภาพ ชัดเจน และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ การมีกลไกสร้างความโปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูลและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง การมีกระบวนการคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใสและได้มาตรฐาน โดยการกำหนดสมรรถนะหลักเพื่อให้ได้คนดีและคนเก่งมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ การพัฒนาระบบประเมินผล ให้สามารถวัดผลการดำเนินงานตามแผนและนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก และการจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ”เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจและพัฒนารัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ถือหุ้นเชิงรุก (Active shareholder)
กฎหมายฉบับนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น ร่าง พ.ร.บ. ต้องไม่เขียนไปในลักษณะที่ก่อให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนแปลงสถานะของรัฐวิสาหกิจจนพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยต้องตระหนักถึงพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ต้องสร้างระบบการกำกับ ตรวจสอบ ดูแล ให้โปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ และถ่วงดุลกัน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้ง่าย เท่าเทียม และเป็นธรรม ต้องไม่ลิดรอนสิทธิของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และสิทธิสหภาพแรงงาน และมีกานำ ร่าง พ.ร.บ.พัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ. … (ฉบับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ) มาประกอบการพิจาณาในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ต้องจับตาดูว่า กรรมการรัฐวิสาหกิจ 20 แห่ง ที่จะครบวาระในปีนี้ จะมีชื่อใครไปโผล่อยู่บ้าง จะมีนายทหารที่เกษียณอายุราชการ ในปี 2560 หรือ ข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่รัฐกำหนดสเปก มานั่ง บอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นอีกกี่ราย โดยเฉพาะภายในต้นปีหน้า 2561 “บอร์ด”อีก 36 รัฐวิสาหกิจที่เหลือ ก็จะครบวาระเช่นกัน