xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินผลงานรัฐบาลบางแง่มุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
"ปัญญาพลวัตร"

ไม่ว่าใครบริหารประเทศในโลกสมัยใหม่ย่อมถูกประเมินผลงานเป็นธรรมดา การประเมินผลการทำงานของรัฐบาลมาจากหลากหลายกลุ่มในสังคม กลุ่มที่ประเมินผลแล้วมีโอกาสเผนแพร่ความคิดต่อสาธารณะให้ได้ยินเสียงหรือได้อ่าน มักจะเป็นสื่อมวลชนและนักวิชาการ แต่ที่จริงแล้วพลเมืองผู้สนใจความเป็นไปของบ้านเมืองก็มักประเมินผลการทำงานของรัฐบาลอยู่เสมอ เพียงแต่อาจประเมินภายในกลุ่มด้วยกันเอง และไม่มีโอกาสเผยแพร่ผลการประเมินต่อสาธารณะ ในภาพรวมๆการประเมินผลการทำงานรัฐบาลของประชาชนมักกระทำโดยการสำรวจจากสำนักโพลล์ทั้งหลาย ซึ่งทำโดยความต้องการของสำนักโพลล์เอง หรือทำตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง ซึ่งอาจเป็นรัฐบาลเองหรือฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาลก็ได้

การประเมินผลการปฏิบัติงานนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมของผู้ประเมิน เพราะว่าในการประเมินผู้ประเมินต้องกำหนดกรอบความคิด ประเด็น และตัวชี้วัดการประเมิน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ประเมินจะนำค่านิยม ความชอบหรือไม่ชอบของตนเองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประเมิน และสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อการกำหนดประเภทและขอบเขตของข้อมูลที่ถูกเลือกมาใช้ในการวิเคราะห์

การประเมินและตัดสินว่ารัฐบาลทำงานสำเร็จหรือล้มเหลว จึงมีแนวโน้มขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้ประเมินต่อรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร หากผู้ประเมินมีทัศนคติดีต่อรัฐบาล การเลือกประเด็น ตัวชี้วัด ย่อมมีแนวโน้มไปในทางที่ให้ผลการประเมินออกมาดี ในทางกลับกันหากผู้ประเมินมีทัศนคติทางลบต่อรัฐบาล ประเด็นและผลลัพธ์ของการประเมินย่อมออกมาทางไม่ดี มีผู้ประเมินบางคนพยายามสร้างภาพความเป็นกลางในการกำหนดประเด็นและตัวชี้วัด เพื่ออ้างว่าตนเองประเมินโดยปราศจากอคติในทางชอบหรือไม่ชอบต่อรัฐบาล แต่นั่นยากจะเป็นจริงได้

เนื่องจากงานของรัฐบาลมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงยากที่จะประเมินให้ครอบคลุมทุกประเด็น ผู้ประเมินจึงหยิบยกประเด็นที่ตนเองสนใจหรือมีความเชี่ยวชาญมาใช้สำหรับการประเมิน แน่นอนว่าย่อมมีขอบเขตและข้อจำกัดอยู่มาก และหากไม่ใช้การวิจัยประเมินผลอย่างเป็นระบบ ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ก็เป็นเพียงการรับรู้ที่ปรากฏออกมาในเรื่องเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่พลเมืองผู้สนใจความเป็นไปของบ้านเมืองประเมินผลการทำงานของรัฐบาลก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปในสังคมยุคใหม่ของประเทศที่พอจะมีกลิ่นอายของประชาธิปไตยอยู่บ้าง ดังนั้นในฐานะพลเมืองคนหนึ่งผมจึงขอมีส่วนร่วมในการประเมินผลการทำงานของรัฐบาลในบางเรื่องบางประเด็นเท่าที่รับรู้อยู่บ้าง

ขอเริ่มจากเรื่องอันเป็นเหตุที่ทำให้มีการเกิดขึ้นของรัฐบาลนี้ก่อน ซึ่งมีอยู่สามประเด็นคือ การเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมจนรัฐบาลปกติไม่สามารถดำเนินงานได้ การทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลเดิม และการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสามประเด็นนี้สำหรับประเด็นแรกนั้นผมเห็นว่ารัฐบาลดำเนินการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองลดลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด และสามารถทำให้มีการบริหารประเทศต่อไปตามครรลองของรัฐสมัยใหม่

รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญความขัดแย้งทางการเมืองโดยสร้างกลไกการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มที่เคยอยู่ในวงจรของความขัดแย้งขึ้นมา กลุ่มที่ได้รับการผนวกรวมเข้าสู่กระบวนการนี้คือพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่มีบทบาทนำในการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จะได้รับการประมวลและสรุปออกมาเป็นแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน แต่จะมีประสิทธิผลในเชิงปฏิบัติมากน้อยเพียงใดเป็นเรื่องยากจะคาดการณ์ได้ เพราะว่าแต่ละกลุ่มต่างก็มีความคิด ความเชื่อ และผลประโยชน์แตกต่างกัน อีกทั้งยังคงยึดติดกับความคิดของตนเองอย่างค่อนข้างเหนียวแน่น และมีปัจจัยอื่น ๆ ทั้งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยแปรผันอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมาได้อยู่เสมอ

สำหรับเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น รัฐบาลได้มีการดำเนินการอยู่หลายเรื่องทั้งโดยการใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญ สั่งการโยกย้ายข้าราชการ ปลด และพักงานนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ แต่ก็ทำได้เพียงผิวเผินเท่านั้น และยังมีข้อครหาเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติอีกด้วย การทุจริตในแวดวงราชการยังคงดำรงอยู่ต่อไปในแทบทุกระดับ แม้กระทั่งในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงเองก็มีข่าวทำนองนี้ออกมา และสร้างความกังขาแก่ประชาชนอญุ่ไม่น้อย ยกเว้นก็แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่ประชาชนจำนวนหนึ่งยังคงให้ความเชื่อถือในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

ด้วยความจริงที่ว่า การทุจริตฝังรากลึกในความคิด ความเชื่อ และบรรทัดฐานการปฏิบัติของสังคมไทยในทุกระดับ และมีความพัวพันกับกลุ่มคนจำนวนมากที่ใช้อำนาจและงบประมาณของรัฐโดยตรงอย่างข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ทั้งยังเชื่อมโยงกับนักธุรกิจ และแม้กระทั่งประชาชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องจำนวนมาก การจัดการกับปัญหานี้ให้บรรเทาลงไปจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และมีความซับซ้อนมาก เป็นเรื่องที่ต้องการเจตจำนงทางการเมืองของกลุ่มผู้นำประเทศอย่างแรงกล้าในการจัดการกับปัญหา ต้องการกลไกเชิงองค์การ การบริหาร และกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ต้องการกลุ่มบุคคลที่ตรงไปตรงมา มีความกล้าหาญทางจริยธรรม และหยัดยืนทุ่มเทการทำงานอย่างเกาะติดและต่อเนื่อง และต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและสื่อมวลชนในการตรวจสอบและป้องกันอย่างกระตือรือร้น หากกอปรด้วยเงื่อนไขเหล่านี้จึงพอจะมีความหวังอยู่บ้าง แต่เท่าที่เห็น ผมประเมินว่า รัฐบาลยังขับเคลื่อนและดำเนินการสร้างเงื่อนไขที่กล่าวมาได้ไม่ดีพอ

ในส่วนของการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลได้ดำเนินการจัดการกับกลไกและกลุ่มผู้ล่วงละเมิดได้ตามสมควร โดยการสั่งปิดเครือข่ายสารสนเทศที่ล่วงละเมิดได้เป็นจำนวนมากและดำเนินคดีกับผู้ละเมิดอย่างเข้มข้น นับว่าในเรื่องนี้รัฐบาลทำได้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ

นอกเหนือจากสามเรื่องที่เป็นประเด็นจุดเริ่มของการเข้ามามีอำนาจแล้ว ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกหลายประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณา เพราะว่าเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลรับผิดชอบในการบริหารประเทศแล้ว ไม่ว่าเข้ามาโดยวิถีทางใด ก็ต้องแก้ปัญหาและบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศต่อสาธารณะ ทั้งปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องสืบเนื่องเรื้อรังในสังคมไทย

รัฐบาลที่ผ่านมาของสังคมไทยมีความเคยชินกับการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตและการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น รัฐบาลนี้ก็ไม่แตกต่างกัน แนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจก็เป็นไปแนวทางเดิม ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดในแง่ความชอบธรรมของการเข้าสู่อำนาจ การตกต่ำของสถานการณ์เศณษฐกิจระดับโลก และความสามารถของทีมเศรษฐกิจที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือแตกต่างจากรัฐบาลเดิม ๆ ทำให้คนจำนวนมากมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้ว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ รัฐบาลพยายามสื่อสารกับสาธารณะว่าการเติบโต ทั้งการส่งออกและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่ทางภาคเอกชนดูเหมือนมีเรื่องราวและข้อมูลที่แตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาลประกาศออกมา ตกลงก็เลยไม่รู้ว่า ข้อมูลของฝ่ายใดถูกหรือผิดกันแน่

รัฐบาลมีความพยายามนำเสนอยุทธศาสตร์ที่หวือหวาเชิงการปฏิรูปอย่างไทยแลนด์ 4.0 มีการประกาศเศรษฐกิจพิเศษ และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ด้วยหวังจะใช้เป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีความพยายามใช้นโยบายประชารัฐ โดยดึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยในระดับชาวบ้าน ส่วนผลที่เกิดขึ้น จะยิ่งทำให้โอกาสการแสวงหากำไรของบริษัทเอกชนเหล่านั้นเพิ่มขึ้น หรือ จะทำให้ประชาชนรายเล็กรายน้อยเข้มแข็งขึ้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง

การจัดการกับเงินกู้นอกระบบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลทำ เรื่องนี้รัฐบาลพลเรือนในอดีตบางรัฐบาลเคยทำมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาลนี้ ผลลัพธ์จะเป็นแบบไฟไหม้ฟาง หรือไฟสุมขอน อีกไม่นานก็พอจะเห็นร่องรอยอยู่บ้าง

รัฐบาลพยายามทำทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาการขูดรีดของนายทุนเงินกู้ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการคมนาคมและการขนส่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มขึ้น และการแก้ไขกฎระเบียบให้น้อยลงเพื่อสร้างความสะดวกแก่นักลงทุน แต่ทว่าการสร้างระบบจัดโครงสร้างเชิงสถาบันที่เอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืนไม่ว่าเรื่องข้าว เรื่องยาง เรื่องปาล์ม และพืชผลเกษตรอื่นๆ ยังไม่ค่อยปรากฎให้เห็นในสาธารณะมากนัก ไม่ว่าเรื่องการพัฒนา วิจัย และส่งเสริมการผลิตปุ๋ยภายในประเทศ ให้มีคุณภาพดีและราคาถูก หรือ การจัดระบบกลไกเพื่อสร้างเสถียรภาพแก่ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญของคนไทยให้มีความยั่งยืน ที่เห็นก็เป็นเพียงการพยายามผลักดันการทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งตอบสนองต่อกลุ่มทุนมากกว่าเกษตรกรรายย่อย

ในด้านการศึกษา มีการใช้มาตรา ๔๔ เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างการบริหารองค์การ และการบริหารบุคคล แต่เท่าที่ติดตามดู กลับทำให้ชวนคิดว่า ยิ่งแก้ ยิ่งถอยหลังหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะโครงสร้างที่แก้ไขเป็นการหันกลับไปใช้โครงสร้างที่คล้ายคลึงกับอดีตที่ยาวไกลมาก แนวทางที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ ผมประเมินว่าเป็นแนวทางที่ไร้สมรรถภาพและไม่สามารถทำให้การศึกษาไทยหลุดพ้นจากวังวนของความเสื่อมถอยทางปัญญาและจริยธรรมได้

ด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษ คงเขียนได้ประมาณนี้ สรุปว่าในภาพรวมๆ แล้วเห็นความพยายามและความตั้งใจทำงานของรัฐบาล แต่กรอบคิดใหญ่ของบริหารประเทศไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก บางเรื่องกลับถอยหลังไปหลายก้าว บางเรื่องทำตามกระแสโลกาภิวัฒน์ บางเรื่องทำอย่างผิวเผิน บางเรื่องก็ยากแก่การสำเร็จ และมีบางเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วนแต่กลับไม่ทำ

สรุปแล้ว รัฐบาลนี้ก็ทำงานแบบมาตรฐานทั่วไปของรัฐบาลไทยในอดีต ที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่เสมอไม่ว่ามาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐประหารก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น