xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กลัวมั้ยหละ พ.ร.ป.คดีอาญานักการเมือง เลิกนับอายุความ-ฟ้องลับหลังได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านวาระ 3 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. … เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผ่านวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อย สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. … เมื่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 176 คะแนน ไม่มีใครคัดค้านแม้แต่เสียงเดียว

อาจเรียกได้ว่านี่เป็นผลงานชิ้นโบแดงอีกชิ้นหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นับจากกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ว่าได้ เพราะเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.นี้ เป็นการขันน็อตกระบวนการพิจารณาคดีที่นักการเมืองเป็นผู้กระทำผิด ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีอยู่ 68 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล มีสาระสำคัญคือการยกเลิกการนับอายุความสำหรับคดีที่นักการเมืองเป็นผู้กระทำผิดในคดีอาญา ซึ่งแต่เดิมนั้นมีการนับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา ทำให้นักการเมืองบางคนที่กระทำความผิดถือโอกาสหลบหนีเพื่อรอให้คดีหมดอายุความลง

ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ จึงบัญญัติเรื่องการนับอายุความใหม่ ไว้ในมาตรา 24/1 ดังนี้

“ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง

ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ”

ทั้งนี้ มาตรา 98 ของประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดอายุความกรณีผู้กระทำผิดหลบหนีคำพิพากษาเอาไว้ โดยหากเลยระยะเวลาที่กำหนดจะลงโทษไม่ได้ เช่น 20 ปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก 20 ปี, 15 ปีสำหรับโทษจำคุกมากกว่า 7 ปีแต่ไม่ถึง 20 ปี เป็นต้น

เมื่อไม่ให้ใช้มาตรา 98 ประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้กับผู้ที่ต้องคำพิพากษาตาม พ.ร.ป.นี้ ก็เท่ากับว่า ต่อไป ถ้านักการเมืองคนไหนถูกพิพากษาโทษไม่ว่าจะหลบหนีไปกี่ปีกี่ชาติ ถ้าไม่สิ้นชีวิตไปเสียก่อนและถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ ก็ต้องถูกลงโทษอยู่ดี

อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีผู้ต้องหาหลบหนี นั่นคือการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้น ถ้าไม่สามารถนำจำเลยมาปรากฏตัวต่อศาล ก็ต้องมีการจำหน่ายคดีหรือหยุดการพิจารณาคดีไว้ก่อน

ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ จึงแก้ไขปัญหานี้ใหม่ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 26 และ 27 ดังนี้

“มาตรา 26 ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุด หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล และอัยการสูงสุด หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล

มาตรา 27 ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 26 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย และให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลการจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด

ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลยและได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้

บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีในเวลาใดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา แต่การมาศาลดังกล่าวไม่มีผลให้การไต่สวนและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไปแล้วต้องเสียไป”

นั่นหมายความว่า ถ้าจำเลยไม่มาศาลตามนัดในวันฟ้องคดี ก็ให้ศาลรับฟ้องไว้ได้ ถ้าได้ออกหมายจับไว้แล้ว หรือศาลเห็นว่าจำเลยจงใจประวิงคดี

นอกจากนั้น ถ้าจำเลยหลบหนีไปหลังจากที่ศาลรับฟ้องไว้แล้ว และศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว 3 เดือน หากยังไม่สามารถจับจำเลยมาศาลได้ ศาลก็มีอำนาจที่จะพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ ได้เปิดทางเอาไว้ โดยในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา จำเลยก็สามารถที่จะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีได้

นอกจากนี้ กรณีที่ศาลได้พิจารณาคดีลับหลังและมีคำพิพากษาแล้ว ยังเปิดโอกาสให้จำเลยมาแสดงตัวต่อศาลขอรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ ตามร่างฯ มาตรา 28 ที่บัญญัติว่า

“ในคดีที่ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาตามมาตรา 27 และมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด และภายหลังจำเลยมีพยานหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ จำเลยจะมาแสดงตนต่อศาลและยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แต่ต้องยื่นเสียภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้ศาลมีอำนาจสั่งรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด การดำเนินการในการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา”

สาระสำคัญอีกประเด็นหนึ่งของร่าง พ.ร.ป.นี้ ก็คือ บทเฉพาะกาล มาตรา 67 ที่ระบุว่า “บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดในคดีที่ยื่นฟ้องไว้ก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับและได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้”

นั่นหมายถึงว่า คดีความต่างๆ ที่ขึ้นสู่ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็จะยังดำเนินคดีต่อไป และประเด็นการนับอายุความหรือการพิจารณาคดีลับหลังตามกฎหมายใหม่ ก็จะสามารถกระทำได้ หากจำเลยหลบหนี

และที่สังคมกำลังจับตาก็คือ คดีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ได้ทำสำนวนไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีได้ เนื่องจากจำเลยหลบหนี อาทิ คดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย, คดีโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2-3 ตัว หรือหวยบนดิน, คดีการจัดซื้อพันธุ์กล้ายางพารา 90 ล้านต้น , คดีการปล่อยกู้เงินให้รัฐบาลพม่าของธนาคารส่งเสริมการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิมแบงก์) เป็นต้น

คดีเหล่านี้ ถ้าว่ากันตามกฎหมายใหม่ อัยการสูงสุดสามารถปัดฝุ่นสำนวนคดีที่ คตส.ทำไว้ มายื่นฟ้องต่อศาลฯ ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีการจับตัวนายทักษิณมาปรากฏตัวต่อศาล

ส่วนคดีการซื้อที่ดินถนนรัชดาภิเษกที่ศาลฯ ได้พิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร เป็นเวลา 2 ปีไว้แล้วนั้น ถ้าเป็นไปตามกฎหมายใหม่ ก็จะไม่มีการนับอายุความในคดีนี้อีก ไม่ว่านายทักษิณจะหลบหนีไปนานแค่ไหน ถ้ามาประเทศไทยเมื่อไหร่ก็ต้องเข้าคุกอยู่ดี

มีเสียงท้วงติงจาก สนช.บางคนในที่ประชุมเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ว่า ระบบวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยได้วางหลักการมาตลอดว่าการพิจารณาคดีต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ไม่ใช่การพิจารณาลับหลัง ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล และการพิจารณาคดีลับหลังเป็นสิทธิของจำเลยในการร้องขอต่อศาล แต่ร่าง พ.ร.ป.นี้ กลับกำหนดไว้ตรงข้าม โดยไม่ให้การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยเป็นสิทธิของจำเลย กฎหมายฉบับนี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติกาสิทธิพลเมืองที่ยูเอ็นได้รับรองไว้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีคำชี้แจงจากนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง สมาชิก สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ว่า การจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการทุจริตเป็นการเฉพาะ โดยการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป เช่น มีการวางแผนก่อนจะกระทำความผิด มีเครือข่ายในการกระทำความผิด มีการตระเตรียมในการกระทำความผิด อันเป็นการทำให้ยากต่อการแสวงหาพยานหลักฐาน

ระบบเดิม เมื่อจำเลยหลบคดีหนี ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีต้องหยุด จนทำให้คดีขาดอายุความ ทำให้ผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองต้องหลุดพ้นจากความรับผิดที่ได้กระทำไว้ ดังนั้น หลักการพิจารณาต่อหน้าจำเลยจึงใช้กับคนทั่วไปแต่ใช้ไม่ได้กับผู้มีอิทธิพล

พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ขัดต่อหลักการสากลแต่อย่างใด เพราะกติกาที่ว่าด้วยสิทธิของความเป็นพลเมืองในเรื่องการได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าศาลก็มีข้อยกเว้นอยู่ นั่นคือการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยสามารถกระทำได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้พยายามนำตัวจำเลยมาแล้วและออกหมายจับ แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมา ถือว่าจำเลยสละสิทธิในการรับการพิจารณาคดีต่อหน้าศาล

ก็เป็นอันว่า หากไม่เกิดเหตุการณ์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ จะบังคับใช้เป็นกฎหมายอย่างแน่นอน ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนี้ จะนำไปใช้กำราบนักการเมืองขี้โกงให้ได้ผลเพียงใด


กำลังโหลดความคิดเห็น