xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้ กม.ลูกคดีอาญานักการเมืองทำคดี “แม้ว” เดินต่อ เตือนคนคิดหนีอาจต้องเผ่นตลอดชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
โฆษก สปท.ชี้ สนช.ผ่านร่างกฎหมายลูกวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ สะเทือนการเมือง ให้ศาลรับฟ้องได้แม้ไม่สามารถนำตัวผู้ถูกกล่าวหามา ถ้าจับไม่ได้ใน 3 เดือนให้พิจารณาคดีลับหลัง ไม่ให้นับเวลาที่หนีรวมกับอายุความ ไม่เว้นโทษจำคุกในอนาคต ให้เดินคดีที่ศาลจำหน่ายไว้ชั่วคราวทั้งหมด ทำคดี “ทักษิณ” เดินต่ออีก 4 คดี เตือนอดีตนายกฯ-รมต.คิดหนีไร้ประโยชน์ อาจต้องเผ่นตลอดชีวิต

วันนี้ (14 ก.ค.) เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn ของนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เขียนข้อความระบุว่า การปฏิวัติใหญ่คดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกิดขึ้นแล้ว แม้คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะอุทธรณ์ได้ในทุกกรณี แตกต่างจากก่อนหน้าที่จำกัดให้อุทธรณ์ได้เฉพาะเมื่อมีข้อเท็จจริงใหม่เท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามกติกาสากลที่นานาอารยประเทศยอมรับกันก็ตาม แต่การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ... เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิวัติที่จะมีผลสะเทือนต่อการเมืองไทยใหญ่หลวงกว่าอย่างแน่นอน

นายคำนูณระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวได้ว่าเป็นระดับปฏิวัติมีโดยสรุปดังนี้ 1. แม้ไม่สามารถนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาล ก็ให้ศาลประทับรับฟ้องได้ - มาตรา 26 2. เมื่อศาลประทับรับฟ้องตาม 1 แล้วให้ศาลออกหมายเรียก และหมายจับ ถ้าจับผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ภายในเวลา 3 เดือน ก็ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลังผู้ถูกกล่าวหาได้ - มาตรา 27 3. เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้วอายุความสะดุดหยุดลง หากผู้ถูกกล่าวหาหนีไประหว่างพิจารณาคดีก็ไม่ให้นับระยะเวลาที่หนีไปรวมอยู่ในอายุความ - มาตรา 24/1 วรรคแรกและวรรคสอง 4. เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วผู้ต้องหาหนีไป ไม่ว่าจะลงโทษจำคุกเท่าใด และผู้ถูกกล่าวหาจะหนีไปนานเท่าใด ก็ไม่เป็นเหตุให้ยกเว้นโทษจำคุกนั้นในอนาคต คือไม่ให้นำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 มาใช้บังคับ - มาตรา 24/1 วรรคสาม 5. คดีเดิมที่ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพราะเหตุไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลอันเป็นกฎเกณฑ์ตามกฎหมายเก่า ให้ดำเนินการกระบวนพิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 ด้วย และคดีที่พิพากษาจำคุกไปแล้วก็จะเข้าเงื่อนไขข้อ 4 - บทเฉพาะกาลมาตรา 67

“มาตรา 67 บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินการใดในคดีที่ยื่นฟ้องไว้ก่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้”

นายคำนูณระบุว่า ทั้ง 3 ประการเป็นการปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการวาระ 2 โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 67 ที่จะส่งผลสะเทือนใหญ่หลวงมาก อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งแม้จะไม่กลับประเทศไทยก็ตาม แต่ก็จะต้องรับผลกระทบถูกดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในคดีที่ศาลจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเพราะเหตุไม่มาศาลต่อไปทันทีตามกฎหมายใหม่นี้อีกประมาณ 4 คดี รวมมูลค่าที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตหลาย ๆ หมื่นล้านบาท และคดีเก่าคดีหนึ่งที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้จำคุกอดีตนายกรัฐมนตรีคนนั้น 2 ปีไม่ว่าท่านจะไม่กลับประเทศอีกนานเท่าใดก็ไม่เป็นเหตุให้ไม่ต้องรับโทษนั้น ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรีหรืออดีตรัฐมนตรีคนอื่นที่กำลังอยู่ในกระบวนพิจารณาคดี หรือถูกฟ้องคดีใหม่ หรือถูกพิพากษาจำคุกไปแล้วหนีไป หากจะคิดหนีต่อไปก็ไร้ประโยชน์ ยกเว้นหนีตลอดชีวิต เป็นเหตุการณ์ที่จะเริ่มเกิดขึ้นภายในปี 2560 นี้

หมายเหตุ : ภาพประกอบคือรายงานกรรมาธิการ ตัวตัดคือที่กรรมาธิการตัดออก ตัวที่ขีดเส้นใต้คือที่กรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่





กำลังโหลดความคิดเห็น