xs
xsm
sm
md
lg

เทใจหนุน “ยาแรง” จำคุก-ยึดทรัพย์ ลับหลังนักการเมืองโกงแล้วเผ่น!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



“หลักก็คือ การให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ สามารถพิจารณาคดีได้ แม้จะไม่มีตัวผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นประเด็นที่จะแตกต่างจากอดีตอย่างชัดเจน คือ จากเดิมโจทก์สามารถฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องมีตัวผู้ถูกกล่าวหามายื่นฟ้องต่อศาล ซึ่งหลักการนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการใช้มาตั้งแต่ใช้ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตั้งแต่ปี 2542 แต่หลังจากฟ้องแล้ว ศาลจะพิจารณาต่อไปได้ต่อเมื่อได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ที่แตกต่างไปในครั้งนี้ ในการยกร่าง พ.ร.บ. ที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ ทางเราเห็นว่าจากบทเรียนที่ผู้ถูกกล่าวหามักจะหลบหนี ก็จะเขียนว่าการฟ้องคดี สามารถฟ้องคดีได้แม้โจทก์หรืออัยการไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามายื่นฟ้อง โดยศาลก็รับฟ้องได้ และแม้จะไม่สามารถได้ตัวจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหามาในวันพิจารณาคดีของศาล ก็ให้ศาลสามารถพิจารณาคดีต่อไปได้”

“ในความเป็นจริงแล้ว คดีพวกนี้ที่เป็นคดีนักการเมือง มีการตรวจสอบคดีมาตั้งแต่ชั้น ป.ป.ช. และอัยการแล้ว และเป็นการดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คนเหล่านี้รู้ทั้งสิทธิ์ รู้ข้อเท็จจริง และคนเหล่านี้ไม่ใช่คนยากจน และใช้โอกาสที่เป็นคนชั้นสูงหลบหนีออกนอกประเทศ ที่มันแตกต่างจากอดีตอย่างชัดเจน ในอดีตการที่ไม่สามารถนำตัวคนมาดำเนินคดีได้ คนหนีคดีจะไปหนีคดีในป่าเขา แต่ปัจจุบันเขาไม่ได้หนีคดีไปอยู่ในป่าเขา แต่ไปดำเนินชีวิตอย่างสุขสบายในต่างประเทศ เรื่องนี้สังคมต้องกลับมาคิดกันว่า คนที่เคยดำรงตำแหน่งในสังคมระดับสูงแต่กลับไม่ยอมรับกฎหมาย เราจึงจะยกร่างกฎหมายเพื่อไม่ให้สังคมหวั่นวิตกว่า กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถไปทำอะไรกับคนระดับสูงได้”

“เราไม่ได้ไปบังคับให้เขาหนี มันเป็นเรื่องเขาตัดสินใจเขาเอง อย่างพวกเราชาวบ้านเวลาศาลเรียกเราจะหนีไปไหน แต่พวกนักการเมืองเขาหนี มันมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เราเห็น “บางคนอาจไปพูดว่าเราใช้ยาแรงเกินไปหรือไม่ แต่ต้องถามสังคมว่ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เราไม่ได้ร่างบนพื้นฐานของสิ่งที่สังคมไม่เคยเจอ บางคนบอกเรื่องหลักการพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย ทำไมไม่ทำแบบต่างประเทศ แต่ถามว่าต่างประเทศเขามีกรณีที่มีการหนีคดีแบบนี้ไหม เขามีปัญหาแบบนี้ไหม”

นั่นเป็นคำพูดของ อุดมรัฐอมฤต ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังการประชุมร่วมกับตัวแทนจากศาลยุติธรรม ที่ทางคณะอนุกรรมการเชิญมาให้ความเห็นและยังมีความเห็นต่างกันบ้างโดยเฉพาะการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้ไม่เกิดความสง่างามในกระบวนการยุติธรรมแบบสากล

แน่นอนว่า เมื่อยังเห็นไม่ตรงกัน และต้องมีการปรับแก้ไขกันจนได้ข้อสรุปตรงกันในที่สุดตามกรอบเวลา อย่างไรก็ดี หากฟังจากความเห็นของสังคมแบบชาวบ้านทั่วไปรับรองว่าเกือบร้อยทั้งร้อยหรือร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องสนับสนุนการใช้ “ยาแรง” ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวที่มีหลักการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่กำลังลุกลามและบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ อีกทั้งสร้างความเบื่อหน่ายรำคาญอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะการทุจริตฉ้อฉลที่เกิดจากพวกนักการเมือง

คำพูดของกรรมาธิการยกร่างกฎหมายดังกล่าวในเรื่องดังกล่าวถือว่า “ตรงใจ” ชาวบ้านหลายคน โดยเฉพาะการดัดหลังพวกนักการเมืองขี้โกง ที่ “รวยแล้วหนี” ความผิดไปต่างประเทศ เพื่อรอให้คดีหมดอายุความ หรือการประวิงเวลาออกไปให้นานที่สุด หรือเพื่อให้หลักฐานลบเลือนไปได้มากที่สุดทำให้ตัวเองพ้นจากความผิด

ที่ผ่านมา ได้เห็นนักการเมืองคำสำคัญหลายคนที่ทำผิดถูกดำเนินคดีในคดีทุจริตได้หลบหนีออกไปต่างประเทศเพื่อให้คดีหมดอายุความ หรือแม้แต่คดีที่ศาลรับฟ้องคดีทุจริตแต่หลังจากนั้นเมื่อจำเลยไม่มาปรากฏตัวต่อศาลก็ต้องจำหน่ายคดีออกไป ทำให้กระบวนการเอาผิดนักการเมืองฉ้อฉลคนดังกล่าวก็ทำไม่ได้ ดังได้เห็นตัวอย่างอยู่ตำตา

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะยังมีข้อโต้แย้งเรื่องของความเป็นสากลในการพิจารณาคดีเช่น หากการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยอาจทำให้วิตกกังวลว่ากระบวนการทางศาลในการพิจารณาคดีไม่สง่างาม แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ก็มีการอุดช่องว่างเอาไว้แล้ว เช่น เปิดช่องมีการแต่งตั้งทนายสู้คดีได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งสามารถให้ยื่นอุทธรณ์ขอความเป็นธรรมหรือรื้อฟื้นคดีพิจารณาใหม่ตามหลักฐานใหม่ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ตามกฎหมาย

แน่นอนว่า หากถามว่า “ยาแรง” แบบนี้น่าจะถูกใจชาวบ้านที่ต้องการเห็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้นหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่านี่แหละ “ใช่เลย” เพราะกับคนโกงไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามก็ไม่สมควรปรานีต้องมีการเด็ดขาด ไม่ต้องปล่อยให้เย้นเย้อยาวนาน อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมต้องมีความรวดเร็วชัดเจน เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือ ความอยุติธรรมนั่นแหละ ขณะเดียวกัน ในความรวดเร็วนั้นก็ต้องมีความยุติธรรมมีความโปร่งใส และต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้และพิสูจน์ตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งแบบนี้แหละน่าจะเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย

ที่ผ่านมา การทุจริตในบ้านเราที่ลุกลามซับซ้อนขึ้นทุกวันได้ทำลายความศรัทธาของประชาชนจนตกต่ำลงเรื่อยๆ จนติดลบ โดยเฉพาะพวกนักการเมืองในสายตาประชาชน ซึ่งในที่สุดมันก็จะไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง เพราะถึงอย่างไรนักการเมือง พรรคการเมืองก็ต้องเป็นองค์กรหลักหรือสถาบันหลักในการสร้างสรรค์และพัฒนาดังนั้ก็ต้องรื่อฟื้นความศรัทธาให้กลับมาโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้บรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นยาวนานมันก็จะย่อมไม่เป็นผลดี และจะเป็นการเปิดช่องให้รูปแบบ “เผด็จการ” เข้ามาครอบงำได้ง่าย ซึ่งแบบนี้แหละคือ ความ “ไม่เป็นสากล” อย่างแท้จริง ในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ บ้านเราได้กำเนิด “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” พ.ศ. 2539 หรือ “ศาลปราบโกง” มีผลบังคับใช้และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา และได้เห็นการพิจารณาตัดสินคดีกับบรรดาข้าราชการทุจริตและใช้อำนาจมิชอบไปแล้วหลายคดี ทุกคดีใช้เวลาในการพิจารณาตัดสินในเวลาไม่นาน ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็เป็นความหวังสร้างพอใจให้กับชาวบ้าน

ดังนั้น หากกรณีของพวกนักการเมืองที่ทุจริตถูกจัดการด้วยกระบวนการยุติธรรมทางศาลได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส ตามที่ก่อนหน้านี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่เคยย้ำว่าจะพยายามออกแบบให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ “ปราบโกง” ได้ด้วย เป็นการเน้นใช้ “ยาแรง” ถึงจะได้ผล มันก็เป็นอีกทางหนึ่งที่น่าจะฟื้นฟูศรัทธาให้กลับมา อีกทั้งยังเป็นการขจัดตัวบ่อนทำลายความเจริญและความมั่นคงของบ้านเมืองอย่างได้ผล ซึ่งการออกแบบแบบนี้แหละที่ถือว่า “ใช่เลย” น่าจะเทใจสนับสนุน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น