xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมโซเชียลมีเดียไม่ต้องเสียภาษี

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


ในขณะที่สื่อไทยทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ กำลังเผชิญหน้ากับ Disruptive Technology หรือ Disruptive Innovation คือ เทคโนโลยีใหม่หรือนวัตกรรมที่ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์เดิม ทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิมๆ ล้มหายตายจากไป เช่นเดียวกันสื่อแขนงเดิมกำลังถูกท้าทายด้วยโซเชียลมีเดียที่ย่อโลกทั้งโลกไว้ในหน้าจอมือถือ

ธุรกิจสื่อในประเทศไทยทุกแขนงเจอภาวะวิกฤตดิ้นรนหนีตายเพราะรายได้ที่ลดลงจากค่าโฆษณา เว้นแต่ไทยพีบีเอสเท่านั้นที่มีเงินจากภาษีบาปปีละ 2,000 ล้านบาทส่งให้ใช้โดยไม่ต้องดิ้นรน เพราะเงินโฆษณาไหลไปที่โซเชียลมีเดียหมดเพราะเข้าถึงผู้คนได้มากกว่า

มีข้อมูลว่า มีคน 1.6 พันล้านคนใช้เฟซบุ๊กทุกวัน ทุกนาทีมีคนโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก 150,000 ครั้ง ทุกนาทีมีคนคลิกไลค์ 500,000 คน 745 ล้านคนเล่นผ่านมือถือ มีคนอัปโหลดภาพวันละ 350 ล้านภาพ มี 890 ล้านคนล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กทุกวัน 75% ของรายได้จากโฆษณาของ Facebook มาจากโฆษณาโทรศัพท์มือถือ

ตลาดโฆษณาที่มีเป้าหมายในการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุดอยู่แล้วก็หันเหจากสื่อแบบเก่าไปสู่โซเชียลมีเดียแทน ผมพบข้อมูลในปี 2559 ที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อเดือนกันยายน ว่า งบโฆษณาในเฟซบุ๊กมีมูลค่าถึง 2,842 ล้านบาท และงบโฆษณาในยูทิวบ์ (Youtube) มีมูลค่าถึง 1,663 ล้านบาท นี่ยังไม่นับรวมถึงไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และอื่นๆ ที่เปิดการซื้อขายผ่านแอพ

แต่รู้ไหมครับว่า ผู้ประกอบการทั้งหมดนี้ไม่ได้เสียภาษีให้ประเทศไทยที่เขาเข้ามาประกอบธุรกิจเลยแม้แต่บาทเดียว

จำได้ว่าข้อมูลล่าสุดมีผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยประมาณ 40 ล้านบัญชี และมีแฟนเพจของคนไทยมากถึง 7 แสนเพจ เป็นประเทศที่ใช้เฟซบุ๊กติดอันดับต้นของโลก คนทั่วไปไม่น้อยอาจจะงงว่า เฟซบุ๊กเขาไม่ได้เก็บค่าใช้บริการแล้วเอารายได้จากไหน

คำตอบก็คือการหาเงินจากเพจที่ต้องการโปรโมต ข้อความที่ต้องการสื่อสารและต้องการโปรโมตเพจนั่นเอง โดยความฉลาดของเฟซบุ๊กก็คือ ทำให้คนที่คลิกไลค์เพจนั้นๆ เห็นข้อความที่เพจโพสต์เพียง 1-2%

หมายความว่า ถ้าคุณไปคลิกไลค์เพจเพจหนึ่งไม่ใช่ว่าคุณจะเห็นข้อความของเพจนั้นโผล่บนกระดานของคุณเสมอไป ไม่ใช่เพจนั้นมีสมาชิกล้านคนส่งข้อความอะไรลงไปแล้วคนล้านคนจะเห็น มีเพียง 1-2% เท่านั้นที่เห็น

แต่ถ้าคุณต้องการให้คนเห็นข้อความมากขึ้นเฟซบุ๊กกำหนดให้คุณซื้อโปรโมต ซึ่งสามารถตั้งค่ากลุ่มเป้าหมายได้ว่าจะให้ใครเห็นโพสต์ของคุณไม่ว่า อายุ, เพศ, ประเทศ หรือแม้กระทั่งการเลือกว่าจะให้แสดงโฆษณาบนอุปกรณ์ใดได้ โดยมีราคาตั้งแต่ไม่กี่สิบบาทเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อยู่ที่เราต้องการให้โปรโมตกี่วันมีคนเห็นประมาณกี่คน ยิ่งเสียเงินมากยิ่งเพิ่มจำนวนคนที่จะเห็นโพสต์ที่เราลงมาก

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเรามีเป้าหมายเพื่อการค้าแม้จะให้เราใช้โครงสร้างพื้นฐานของเขาฟรี แต่ทางอ้อมเฟซบุ๊กก็บีบให้เราเสียเงินให้กับเขานั่นเอง ถ้าเราอยากให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ โดยเฟซบุ๊กมีรายได้จากส่วนนี้ถึง 80% โดยภาพรวมเฟซบุ๊กมีรายได้ 1.4 ล้านดอลลาร์ต่อชั่วโมง

ผมเพียงแต่อธิบายถึงการได้เงินมาของเฟซบุ๊กนะครับ แต่ประเด็นสำคัญคือธุรกรรมที่เฟซบุ๊กทำนั้นเกิดขึ้นในประเทศของเราในกรณีของประเทศอื่นก็เกิดขึ้นในประเทศอื่นก็ว่ากันไป แต่คำถามว่าเมื่อเฟซบุ๊กเข้ามาทำธุรกรรมในประเทศของเรามีรายได้จากประเทศของเรา ทำไมเฟซบุ๊กจึงไม่จ่ายภาษีให้กับประเทศของเรา

หลายประเทศก็กำลังเคลื่อนไหวและออกกฎหมายมารองรับกับมาตรการนี้ ผมคิดว่านี่เป็นการทำธุรกิจแบบเอาแต่ได้ เมื่อไม่นานมานี้อินโดนีเซียประกาศว่าบริษัทต่างชาติที่ให้บริการบนอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชนในอินโดนีเซียต้องทำการเสียภาษีจากรายได้แก่รัฐ มิฉะนั้นอาจถูกบล็อกการให้บริการ หรือจำกัดแบนด์วิดท์ในประเทศ Google, Facebook หรือ Twitter ต้องดำเนินการจัดตั้งสาขา หรือตั้งบริษัทลูกเป็นนิติบุคคล พร้อมทั้งเสียภาษีตามข้อกำหนดของกฎหมายว่าด้วยเรื่องการประกอบธุรกิจของบริษัทต่างชาติในอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งมีข่าวว่าอินโดฯ ตกลงกับกูเกิลได้แล้ว

ผมเห็นด้วยนะครับว่าเราควรจะต้องเก็บภาษีไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เก็บเมื่อภาษีเป็นมาตรฐานสากลที่เขาบังคับใช้กันทั่วโลก คุณจะอ้างเทคโนโลยี โลกาภิวัตน์อะไรก็ตามหลักการง่ายๆ คือ เมื่อคุณมีรายได้คุณต้องจ่ายภาษี แต่แปลกมากพอมีข่าวว่ารัฐไทยของเราจะหาทางเก็บภาษีพวกโซเชียลมีเดียที่เข้ามาทำธุรกรรมในประเทศไทย มีบางคนคัดค้านด้วยตรรกะแปลกๆ เช่นว่า รัฐไทยไม่เข้าใจเทคโนโลยีใหม่ และเหน็บแหนมประเทศตัวเองว่าจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างไร

เอาเถอะแม้ว่านั่นจะเป็นเทคโนโลยีใหม่หรืออะไรก็ตาม กฎหมายของเรายังตามไม่ทัน เราก็แก้กฎหมายให้ทันถ้าเรายึดหลักการว่าการเสียภาษีเป็นหลักการสากลที่ที่ไหนเขาก็ยึดปฏิบัติกันว่า เมื่อสร้างรายได้ในประเทศนั้นต้องเสียภาษีให้กับประเทศนั้น เพราะว่าภาษีเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับรัฐที่นำไปพัฒนาประเทศนั่นเอง เฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ หรือธุรกิจอื่นผ่านแอพ ฯลฯ พวกนี้ก็ไม่ใช่โจรสลัดที่ไหน ผมว่าเขารู้กติกาสากลดีอยู่แล้ว เราก็ออกกฎหมายมารองรับแล้วชักชวนให้เขามาทำให้ถูกกฎหมายของเรา ไม่ว่าจะเข้ามาตั้งบริษัทเพื่อแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายก็ทำไป

แล้วเมื่อรัฐมีภาษีรัฐก็นำไปเสริมสร้างความเจริญเอามาพัฒนาประเทศ รวมถึงโครงสร้างโทรคมนาคม ประเทศพัฒนาคนมีรายได้ผลก็ส่งกลับไปที่ผู้ประกอบการเอกชน ซึ่งหมายความว่า รัฐมีต้นทุนที่ต้องจ่ายพลเมืองของรัฐมีภาระที่ต้องแบก แล้วพวกโซเชียลมีเดียนี่จะเข้ามาชุบมือเปิบอย่างเดียวหรือ

ผมเห็นมีบางคนพยายามถามเหมือนกันว่า จะรู้รายได้ของพวกนี้อย่างไร เขาทำธุรกรรมตรงไหนก็ได้เพื่อระบุให้มาโฆษณาในประเทศไทย สำหรับผมคิดว่าหลักการง่ายๆ คือ ผมเชื่อว่ารายได้จากคนไทยจำนวนหลายพันล้านที่จ่ายเงินให้โซเชียลมีเดียต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ทำธุรกรรมผ่านธนาคารในประเทศไทยนี่แหละ เก็บมันตรงนี้แหละครับให้ได้เสียก่อน ผมว่าไม่ยากเลยที่เราจะตรวจสอบรายได้ที่แท้จริงของโซเซียลมีเดียประเภทต่างๆ ได้เพราะไม่ใช่การทำธุรกรรมใต้ดินหรือตลาดมืด

ว่าไปก็ตลกนะครับแทนที่จะห่วงประเทศตัวเอง แทนที่จะถามว่าเวลาตัวเองทำธุรกรรมมีรายได้ในประเทศนี้ทำไมต้องเสียภาษี รัฐธรรมนูญไทยกำหนดไว้ด้วยซ้ำว่าคนไทยมีหน้าที่เสียภาษีแล้วพวกนี้เป็นใครมาจากไหนเข้ามาทำธุรกรรมมีรายได้จากประเทศของเราแล้วไม่ต้องเสียภาษี พอรัฐบอกจะเก็บภาษีโซเชียลมีเดียกลับมาด่าประเทศตัวเอง

ที่สำคัญเจ้าของบริษัทโซเชียลมีเดียพวกนี้มักจะอวดความเป็นเสรีนิยม ความเท่าเทียม ความยุติธรรม การแข่งขันที่เป็นธรรม ความโปร่งใสกันทั้งนั้น ผมว่าถ้าเราพูดกับเขาตรงๆ เขาน่าจะอายนะครับที่ทำธุรกรรมแล้วเอาเปรียบประเทศที่เขาเข้าไปทำมาหากิน

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น